วันศุกร์, ธันวาคม 02, 2565

#ปลดล็อกท้องถิ่น คืออะไร? สำคัญอย่างไร? สรุปจบในโพสต์เดียว


iLaw
12h

#ปลดล็อกท้องถิ่น คืออะไร? สำคัญอย่างไร? สรุปจบในโพสต์เดียว
.
เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 โลกออนไลน์มีการติดแฮชแท็ก “ปลดล็อกท้องถิ่น” ซึ่งสืบเนื่องมาจากการประชุมร่วมของรัฐสภาซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มีนัดพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... หรือ ร่างแก้รัฐธรรมนูญ ที่ประชาชนร่วมกันเข้าชื่อเสนอไม่น้อยกว่า 76,000 รายชื่อ โดยมี ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ ประธานคณะก้าวหน้า เป็นผู้นำในการเสนอร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว
.
โดยเหตุที่โลกออนไลน์ติดแฮชแท็กปลดล็อกท้องถิ่นก็เพราะว่า ร่างแก้รัฐธรรมนูญที่ถูกเสนอ มีชื่อเรียกว่า “ร่างแก้รัฐธรรมนูญ #ปลดล็อกท้องถิ่น” เนื่องจากสาระสำคัญของร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ การเขียนหมวดการปกครองส่วนท้องถิ่นใหม่ โดยให้ท้องถิ่นมีอิสระมากขึ้นในการจัดทำบริการสาธารณะ และมีอิสระในทางการคลัง เช่น การได้รับการจัดสรรงบประมาณในสัดส่วนร้อยละ 50 จากรายได้ของรัฐบาล และให้ท้องถิ่นมีอิสระในการหารายได้มากขึ้น เป็นต้น
.
อย่างไรก็ดี หลังการชี้แจงและอภิปรายในสภานานกว่า 12 ชั่วโมง ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาได้แจ้งกับสมาชิกว่า จะทำการลงมติว่ารัฐสภาจะรับหลักการร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวไว้พิจารณาต่อหรือไม่ในวันที่ 7 ธันวาคม 2565 ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนทุกคนตามได้ทันว่า ร่างแก้รัฐธรรมนูญปลดล็อกท้องถิ่นคืออะไร สำคัญอย่างไร เราจึงข้อสรุปรายละเอียดของเรื่องนี้ไว้เป็นข้อๆ ตามลำดับ ดังนี้
.
1. แนวคิดเรื่องให้ท้องถิ่นจัดการตนเอง เริ่มปรากฏให้เห็นตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ผ่านการการจัดตั้งสุขาภิบาลเมื่อปี 2440 อันเป็นความพยายามของรัฐที่ต้องการดึงเอาคนและทุนในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการบำรุงท้องถิ่นของตัวเอง แต่การปกครองดังกล่าวยังเป็นการปกครองโดยรัฐส่วนกลางมากกว่าการปกครองตนเองโดยคนท้องถิ่น เนื่องจากผู้ทำการปกครองสุขาภิบาลในขณะนั้นได้แก่บุคคลซึ่งทางราชการเป็นคนแต่งตั้ง
.
2. จุดเปลี่ยนที่สำคัญที่ทำให้แนวคิดให้ท้องถิ่นจัดการตนเอง หรือ แนวคิดเรื่องการกระจายอำนาจ เติบโตคือช่วงหลังเหตุการณ์ประท้วงพฤษภาทมิฬ ปี 2535 ที่ประชาชนมีความตื่นตัวในเรื่องระบอบประชาธิปไตย และคาดหวังให้มีการปฏิรูปทางการเมืองจนนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2540 โดยมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการกระจายอำนาจอย่างชัดเจน
.
3. หลังจากรัฐธรรมนูญ ปี 2540 มีผลบังคับใช้ จึงเป็นผลให้รัฐบาลและรัฐสภาต้องตรากฎหมายเพื่อทำให้การกระจายอำนาจเกิดขึ้นจริง จนกลายมาเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปี 2542 ที่ให้มี ‘คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น’ มากำหนดรายละเอียดอำนาจหน้าที่ในการจัดระบบบริการสาธารณะระหว่างรัฐกับ อปท. และระหว่าง อปท.ด้วยกัน รวมถึงวางแนวทางการถ่ายโอนภารกิจอำนาจหน้าที่ และรายได้ต่างๆ จากรัฐบาลกลางลงสู่ท้องถิ่น
.
4. อย่างไรก็ดี แม้รัฐธรรมนูญ ปี 2540 และกฎหมายลูกที่ออกตามมาจะบีบบังคับให้เกิดการกระจายอำนาจ แต่ในความเป็นจริง การกระจายอำนาจกลับเป็นไปอย่างเนิบช้า การถ่ายโอนภารกิจจากส่วนราชการให้แก่ อปท. ตาม ‘แผนปฏิบัติการกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น’ ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ อาทิ ภารกิจด้านการจัดระเบียบชุมชน สังคม และการรักษาความสงบเรียบร้อยที่มีการถ่ายโอนได้ไม่ถึงร้อยละ 40 ของภารกิจที่ต้องถ่ายโอน ทำให้ในทางปฏิบัติ แม้จะมีการเลือกตั้งผู้บริหารและสภาท้องถิ่น แต่ท้องถิ่นก็ยังขาดอำนาจในการจัดการตนเอง
.
5. ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สะท้อนให้เห็นว่า ท้องถิ่นยังขาดอำนาจในการจัดการบริการสาธารณะด้วยตัวเอง คือ กรุงเทพมหานคร ที่แม้จะเป็นการปกครองในรูปแบบพิเศษ แต่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ก็ไม่ได้มีอำนาจในการจัดการปัญหาในทุกเรื่องได้ด้วยตัวเอง อย่าง รถไฟฟ้าใต้ดิน หรือรถไฟฟ้ามหานคร (MRT) เป็นการดำเนินการของบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ ไม่ได้อยู่ภายใต้การจัดการและอำนาจของผู้ว่าฯ กทม. แต่อย่างใด
.
6. นอกจากการกระจายอำนาจผ่านการถ่ายโอนภารกิจจากส่วนกลางจะเป็นไปอย่างล่าช้า การกระจายอำนาจยังถูกตัดตอนผ่านฝีมือของคณะรัฐประหาร เริ่มตั้งแต่หลังรัฐประหารในปี 2549 สภานิติบัญญัติแห่งชาติในสมัยนั้นได้แก้ไข พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ โดยยกเลิกเงื่อนไขที่รัฐบาลต้องจัดสรรรายได้ให้ อปท. ไม่น้อยกว่าร้อยละ 35 ของรายได้รัฐบาล ทำให้แม้ได้รับการถ่ายโอนภารกิจจากรัฐส่วนกลาง แต่ก็ขาดทรัพยากรในการดำเนินการในภารกิจที่ถูกคาดหมายให้สำเร็จลุล่วง จนกลายเป็นว่า การปกครองส่วนท้องถิ่นถูกมองในแง่ร้ายและไม่ได้รับความสนใจ เนื่องจากขาดทั้งอำนาจและทรัพยากรที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง
.
7. ต่อมา หลังการรัฐประหารในปี 2557 การกระจายอำนาจได้เข้าสู่สภาวะถดถอยครั้งสำคัญ เนื่องจากคณะรัฐประหาร ในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เข้ามาแทรกแซงและตัดตอนการกระจายอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นการแทรกแซงผ่านการสั่งให้ผู้บริหารท้องถิ่นหยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้ข้าราชการส่วนภูมิภาคเข้ามาปฏิบัติหน้าที่แทน หรือการแช่แข็งตำแหน่งผู้บริหารและสภาท้องถิ่น ไม่ให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยให้อยู่ภายใต้การกำกับของรัฐราชการส่วนกลาง
.
8. นอกจากนี้ คสช. ยังใช้อำนาจเข้าแทรกแซงและควบคุมการใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างเข้มงวด รวมถึงบีบบังคับให้ท้องถิ่นดำเนินการตามแผนของรัฐบาล โดยไม่ให้อิสระทางการเงินการคลังและทางนโยบายอย่างเพียงพอ รวมถึงมีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์จากการคืนตำแหน่งให้ผู้บริหารท้องถิ่น โดยใช้กลไกการเมืองท้องถิ่นมาสร้างคะแนนนิยมให้กับฝ่ายคณะรัฐประหารอีกด้วย
.
9. ยิ่งไปกว่านั้น ภายใต้สภานิติบัญญัติแห่งชาติที่มาจาก คสช. ยังมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับการกระจายอำนาจ โดยการออกกฎหมายเพิ่มอำนาจให้กับรัฐส่วนกลางในการควบคุมการบริหารงานท้องถิ่น อีกทั้ง ในรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่มาจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมาจากการแต่งตั้งของ คสช. ก็มีการเขียนลดทอนเรื่องความเป็นอิสระในการจัดการตนเองของท้องถิ่น รวมถึงเปิดช่องให้มีผู้บริหารท้องถิ่นที่ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งอีกด้วย
.
10. ข้อมูลจาก ‘101 PUB’ – 101 Public Policy Think Tank ระบุว่า ในสองทศวรรษของการกระจายอำนาจ ท้องถิ่นยังถูกควบคุมโดยส่วนกลาง ถูกมอบหมายภารกิจเยอะ แต่ทรัพยากรน้อย ทั้งงบประมาณ อำนาจหน้าที่ และกำลังคน อีกทั้ง ท้องถิ่นยังไม่มีอิสระในการจัดหารายได้ต้องพึ่งพางบจากส่วนกลางที่มาพร้อมเงื่อนไขหรือถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้น จนไม่ได้มีอิสระในการใช้งบประมาณเพื่อจะแก้ปัญหา
.
11. ต่อมาในช่วงการเลือกตั้ง ปี 2562 พรรคอนาคตใหม่ที่นำโดย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้ประกาศนโยบาย “ยุติระบบราชการรวมศูนย์” โดยเสนอว่าจะจัดการกับกฎหมายในยุคคสช. ที่ขัดขวางการกระจายอำนาจ และสร้างหลักประกันในการกระจายอำนาจไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยจะผลักดันให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นหลังถูกแช่แข็งมานาน และจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงอำนาจที่ทับซ้อนกันระหว่างราชการส่วนภูมิภาคกับท้องถิ่น รวมถึงจะเพิ่มเงินและคนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบท้องถิ่นให้มากขึ้น
.
12. แต่ก่อนที่พรรคอนาคตใหม่จะได้ดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการกระจายอำนาจ พรรคก็ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคเสียก่อน ในปี 2563 ทำให้ธนาธรและอดีตกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ต้องออกมาขับเคลื่อนการเมืองผ่านมูลนิธิคณะก้าวหน้า โดยยังคงจุดยืนเดิมคือ การยุติรัฐราชการรวมศูนย์และสนับสนุนการกระจายอำนาจ และผลักดันให้มีผู้สมัครเลือกตั้งผู้บริหารและสภาท้องถิ่นในนามคณะก้าวหน้าในชื่อแคมเปญ “เขย่าท้องถิ่น”
.
13. ต่อมาในปี 2565 คณะก้าวหน้า เปิดตัวข้อเสนอแก้รัฐธรรมนูญ ที่ชื่อว่า “ปลดล็อคท้องถิ่น” พร้อมเชิญชวนให้ประชาชนมาร่วมลงชื่อเสนอซึ่งต้องการรายชื่อไม่น้อยกว่า 50,000 รายชื่อ โดยร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เสนอให้เขียนหมวดการปกครองส่วนท้องถิ่นขึ้นใหม่ โดยกำหนดให้ “รัฐต้องจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินแบบกระจายอำนาจ และต้องให้ความเป็นอิสระแก่ท้องถิ่น” และยัง “พลิก” หลักการปกครองแผ่นดิน ให้กระจายอำนาจเป็นหลัก และให้อำนาจกับราชการส่วนกลางเป็นข้อยกเว้น
.
14. ในวันที่ 11 กรกฎาคม 2565 พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ในฐานะผู้เชิญชวนเสนอกฎหมาย พร้อมด้วย พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการสื่อสารและการรณรงค์นโยบาย พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้เชิญชวนเสนอกฎหมาย ได้ร่วมกันนำรายชื่อประชาชน 80,772 รายชื่อ ที่ร่วมลงชื่อแคมเปญ ขอคนละชื่อ ปลดล็อกท้องถิ่น เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น ไปยื่นต่อประธานรัฐสภา เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป
.
15. ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ร่างแก้รัฐธรรมนูญปลดล็อกท้องถิ่นได้รับการบรรจุในระเบียบวาระ โดยมี ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า เป็นผู้นำเสนอเป็นคนแรก โดยระบุว่า “ถ้าจะมีชุดนโยบายสักชุดที่จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ยกระดับบริการสาธารณะให้ประชาชนดีกว่านี้ได้พร้อมกัน นั่นคือการกระจายอำนาจ ลดการรวมศูนย์ของส่วนกลาง”
.
16. ประธานคณะก้าวหน้า กล่าวว่า ปลดล็อกท้องถิ่นคือเครื่องจักรทางเศรษฐกิจตัวใหม่ของประเทศไทย โดยการให้อำนาจและอิสระกับท้องถิ่นในการบริหารจัดการตนเอง เพราะไม่มีใครรู้ปัญหามากกว่าคนในพื้นที่ รักบ้านของตัวเองมากกว่าคนในพื้นที่ และอยากเห็นบ้านของตัวเองพัฒนามากกว่าคนในพื้นที่ และคนที่มาจากการเลือกตั้ง ย่อมมีแรงจูงใจในการตอบสนองประชาชนมากกว่าผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งจากส่วนกลาง
.
17. ด้าน ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ได้ชี้แจงถึงที่มาของร่างแก้รัฐธรรมนูญปลดล็อกท้องถิ่นในสภาว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังมีอำนาจและภารกิจอย่างจำกัด และบางครั้งก็ซ้ำซ้อนกับอำนาจของราชการส่วนกลางจนไม่สามารถแก้ปัญหาของประชาชนได้ จึงต้องจัดความสัมพันธ์ใหม่ให้ท้องถิ่นดำเนินการทุกอย่างได้และให้ราชการส่วนภูมิภาคเป็นแค่พี่เลี้ยงสนับสนุน รวมถึงเพิ่มรายได้ของ อปท. ให้เพียงพอ และมีอิสระในการหารายได้ จนสามารถลงทุนพัฒนาท้องถิ่นได้
.
18. หลังการนำเสนอและชี้แจงของ ธนาธร และ ปิยบุตร บรรดา ส.ว. ได้เปิดอภิปรายพร้อมวิพากษ์วิจารณ์ว่าข้อเสนอดังกล่าวเป็นข้อเสนอสุดโต่ง หวังสร้างรัฐอิสระ ทำไม่ได้จริง และบางเรื่องเป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญบังคับให้รัฐบาลทำอยู่แล้ว และมีการพาดพิงถึงกรณีการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคที่จะกระทบต่อกำนันผู้ใหญ่บ้าน
.
19. ด้าน ปิยบุตร แสงกนกกุล ได้ชี้แจงหลัง ส.ว.วิพากษ์วิจารณ์ว่า กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน อยู่ในการปกครองส่วนท้องที่ ดังนั้น การยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคจึงไม่เกี่ยวอะไรกัน และที่สำคัญ คือ การจะปฏิรูประบบราชการด้วยการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค ประชาชนจะต้องเป็นคนตัดสินผ่านการทำประชามติ
.
20. นอกจากนี้ วีระศักดิ์ เครือเทพ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในผู้ชี้แจงร่างแก้รัฐธรรมนูญปลดล็อกท้องถิ่น ยังอธิบายด้วยว่า ที่ผ่านมาท้องถิ่นมีงบไม่เพียงพอต่อการลงทุนพัฒนา โดย อปท. กว่าร้อยละ 60 มีงบพัฒนาพื้นที่ปีละไม่ถึง 10 ล้านบาท และได้รับส่วนแบ่งรายได้จากรัฐบาลแค่ร้อยละ 29 ต่อปี ในขณะที่งานวิจัยระบุว่า เพื่อให้ท้องถิ่นสามารถจัดทำบริการสาธารณะได้ตามที่กฎหมายกำหนด จำเป็นที่จะต้องเพิ่มส่วนแบ่งรายได้จากรัฐบาลเป็นร้อยละ 45 ต่อปี
.
21. วีระศักดิ์ เครือเทพ ระบุด้วยว่า การที่ร่างแก้รัฐธรรมนูญปลดล็อกท้องถิ่นเสนอให้แบ่งสัดส่วนรายได้จากส่วนกลางมาท้องถิ่นร้อยละ 50 ไม่ได้เป็นตัวเลขที่สูงเกินจริง พร้อมชี้ด้วยว่า การแบ่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล มาให้ท้องถิ่นก็เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะมีความเป็นธรรมทางภาษี เมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจเกิดในพื้นที่ท้องถิ่น ท้องถิ่นก็ควรเป็นผู้ได้รับภาษีนั้นเพื่อพัฒนาหรือซ่อมแซมพื้นที่ของตัวเอง
.
22. หลังสมาชิกอภิปรายจนครบแล้ว ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ได้กล่าวสรุปคนสุดท้าย โดยระบุว่า สิ่งที่บรรดาสมาชิกรัฐสภาควรกลัวไม่ใช่กลัวว่าถ้าร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านจะเกิดอะไรขึ้น แต่ควรกลัวว่า ถ้าร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่าน แล้วประเทศไทยจะต้องเสียโอกาส เชื่องช้า เหลื่อมล้ำ และก้าวไม่ทันโลกอีกนานแค่ไหน
.
23. ธนาธร ย้ำว่า ร่างแก้รัฐธรรมนูญปลดล็อกท้องถิ่นไม่สุดโต่งเกินไป ในทางกลับกัน ข้อเสนอดังกล่าวกลับล่าช้าเกินไป จนมีคนต้องรอคอยการพัฒนา เช่น ที่จังหวัดจันทบุรีมีประชาชนที่รอคอยการสร้างสะพานลอยข้ามถนนสี่เลนถึง 834 วัน หรือที่ร้อยเอ็ด มีคนเขียนโครงการของบประมาณมาปรับปรุงระบบชลประทาน รอมาหลายสิบปีแล้วก็ยังไม่ได้ แล้วบอกพวกเขาว่าให้รอต่อไป การปล่อยให้ปัญหาพื้นฐานเหล่านี้ ที่ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในการแก้ปัญหา ต้องเรื้อรังมาเป็นสิบๆ ปี นั่นต่างหากคือความสุดโต่ง
.
24. หลัง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กล่าวสรุปจบ ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้นัดหมายให้สมาชิกทุกคนมาลงมติร่างแก้รัฐธรรมนูญ ปลดล็อกท้องถิ่น ในวันที่ 7 ธันวาคม 2565 เวลา 9.30 น. โดยการลงมติครั้งนี้จะเป็นการลงมติแบบขานชื่อรายคน ถ้าหากร่างแก้รัฐธรรมนูญได้รับเสียงเห็นชอบไม่ถึงกึ่งหนึ่งของรัฐสภา หรือ ได้รับเสียงเห็นชอบจาก ส.ว. ไม่ถึงหนึ่งในสาม ร่างดังกล่าวก็จะตกไป จึงต้องหลุดว่า ปลดล็อกท้องถิ่นจะได้ไปต่อในรัฐสภาสมัยนี้ หรือ สมัยหน้า
ข้อมูลอ้างอิง
https://plus.thairath.co.th/topic/spark/101402
https://101pub.org/two-decades-decentralization/
https://ilaw.or.th/node/6129
https://voicetv.co.th/read/2C8H6OKCr


ธนาธร อภิปรายครั้งแรกในสภา หวังเปลี่ยนประเทศด้วยการ "ปลดล็อกท้องถิ่น" : Matichon TV

Nov 30, 2022

วันที่ 30 พ.ย.65 นาย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า อภิปรายนำเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 14 การปกครองท้องถิ่น หรือร่างปลดล็อกท้องถิ่น โดยระบุตอนหนึ่งว่า ร่างฯ ปลดล็อกท้องถิ่นคือเครื่องจักรทางเศรษฐกิจตัวใหม่ของประเทศไทย โดยมีหลักใหญ่ใจความ 3 เรื่อง เรื่องที่ 1 คืออำนาจและอิสระในการบริหาร ยึดหลักอำนาจเป็นของประชาชน ประชาชนเลือกตัวแทนของตัวเอง ร่างฯ นี่คือการทำให้หลักการนี้ชัดเจนโดยไม่ต้องตีความอีก ว่าอำนาจในการให้บริการสาธารณะเป็นของใคร นี่คือการทำให้ท้องถิ่นมีอิสระและอำนาจเต็มที่ในการออกแบบพัฒนาท้องถิ่นของตัวเอง เพราะไม่มีใครรู้ปัญหามากกว่าคนในพื้นที่ รักบ้านของตัวเองมากกว่าคนในพื้นที่ อยากเห็นบ้านของตัวเองพัฒนามากกว่าคนในพื้นที่ และคนที่มาจากการเลือกตั้ง ย่อมมีแรงจูงใจในการตอบสนองประชาชนมากกว่าผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งจากส่วนกลางแน่นอน 
นายธนาธรกล่าวว่า เรื่องที่ 2 คือการจัดสรรงบประมาณที่เป็นธรรมเหมาะสม ร่างฯ นี้เสนอให้มีการจัดสรรงบประมาณอย่างเป็นธรรมและเพียงพอต่อการปฏิบัติภารกิจที่ได้รับอย่างมีประสิทธิภาพ จากที่ได้รับส่วนแบ่งงบประมาณร้อยละ 30 ในปัจจุบัน ให้เป็นร้อยละ 50 ในอนาคต การจัดสรรงบประมาณใหม่เช่นนี้ ทำให้ท้องถิ่นไม่ต้องวิ่งเต้นหางบประมาณอีกต่อไป งบประมาณมาอยู่ใกล้ประชาชนมากที่สุดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ประชาชนเข้าถึงงบประมาณได้ผ่านตัวกลางเดียวคือบัตรเลือกตั้ง เลือกคนที่จะมาใช้งบพัฒนาพื้นที่ด้วยตัวเอง สามารถแก้ปัญหาในพื้นที่ ออกแบบการจัดบริการสาธารณะแบบที่ประชาชนต้องการได้ด้วยตัวเอง 
“ลองจินตนาการดูว่าประเทศไทยมี 7,255 ตำบล ถ้าทุกตำบลมีโรงเรียนที่มีคุณภาพ หลักสูตรสอดคล้องกับงานในพื้นที่ สอนทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ไปพร้อมๆ กันได้ มีสวนสาธารณะให้ผู้คนมาใช้ชีวิต มีพื้นที่สีเขียวที่เป็นปอดให้ชุมชน มีศูนย์เด็กเล็กที่มีคุณภาพ มีน้ำประปาที่ไม่ใช่แค่ใสสะอาด แต่ยังดื่มได้ด้วย มีการคมนาคมสาธารณะที่ดีในราคาที่เข้าถึงได้ มีห้องสมุดที่มีคุณภาพ มีการจัดเก็บขยะที่มีการแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ได้มาตรฐานกรมควบคุมมลพิษ ถ้าทุกตำบลมีบริการสาธารณะแบบนี้ ประเทศไทยจะเปลี่ยนไปมากขนาดไหน? นี่คือประเทศไทยที่เราทุกคนจินตนาการถึงได้ คำถามคือเราอยากสร้างอนาคตแบบนี้ร่วมกันหรือไม่ เรากล้าฝัน ทะเยอทะยานที่จะสร้างสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยหรือไม่ การจัดสรรงบประมาณและอำนาจให้เป็นทำ จะทำให้เราทำสิ่งเหล่านี้ได้ภายใน 10-15 ปี” ธนาธรกล่าว 
“ผมขอให้ทุกท่านเห็นแก่ผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน โหวตผ่านร่างฯ ปลดล็อกท้องถิ่น เพื่อให้ท้องถิ่นได้ทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิตพื้นฐานของประชาชนได้อย่างรวดเร็ว และให้ผู้แทนราษฎรได้ทำหน้าที่ในสภา ออกกฎหมาย ต่างฝ่ายต่างจะได้ทำหน้าที่ของตนอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด”