วันพฤหัสบดี, ธันวาคม 08, 2565

ถึงวันนี้ อำนาจ 'สว.ตู่ตั้ง' ขวางความก้าวหน้าของภาคประชาชน ยังคงเหนียวแน่น

ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปลดล็อคท้องถิ่นที่เสนอโดยประชาชน (เข้าชื่อเกิน ๘ หมื่นคน) ถูก สว.ตู่ตั้ง ปัดตกตั้งแต่ยกแรกเมื่อวานนี้ เป็นอีกหลักฐาน ‘Exhibit A’ ของการสืบทอดอำนาจรัฐประหารอีกครั้ง โดยมิพักเงี่ยฟังเสียงประชาชน

แม้ใช้ ชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านฯ เป็นหน้าม้ากล่าวหาร่าง กม.ปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น ซึ่งจะมอบอำนาจการบริหารและจัดสรรงบมาณแก่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง ว่าเป็นการล้มล้างการปกครองส่วนภูมิภาค หรือดึงอำนาจไปจากส่วนกลาง

ผลการลงมติโดย สว.๑๘๙ คน ไม่รับหลักการร่างฯ ดังกล่าว ทั้งที่มี ส.ส.รับร่างฯ นี้ ๒๔๘ คน แม้จะงดออกเสียง ๑๑๙ คน แสดงว่า สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ยังคงปกปักรักษาอำนาจคณะรัฐประหารไว้อย่างเหนียวแน่น

ด้วยอำนาจพิเศษเหนือหลักการ เพื่อประชาชนที่นอกจากจะให้ สว.ตู่ตั้งนี้มีสิทธิเสียงในการตัดสินว่าใครควรเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ยังให้อำนาจยับยั้งร่างกฎหมายสำคัญซึ่งพวกเขาเห็นว่าขัดต่อผลประโยชน์ของการครอบครองอำนาจในส่วนกลาง

บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ฉบับ คสช.จัดให้กำหนดว่าร่างกฎหมายสำคัญจะต้องได้รับความเห็นชอบจาก สว.จำนวน ๑ ใน ๓ หรือ ๘๔ คน จึงจะผ่านได้ ไม่ใยดีว่าเสียงสนับสนุนร่างนั้นจะมากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส. ๕๐๐ คนหรือไม่

ไอลอว์ เปิดสถิติทางนิติบัญญัติ ตั้งแต่พฤศจิกา ๖๓ ถึงธันวา ๖๕ ว่ามีการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ๒๖ ข้อเสนอ มาจากทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และภาคประชาชน มีเพียงร่างเดียวที่ผ่านความเห็นชอบของ ๘๔ สว. คือข้อเสนอแก้ไขระบบเลือกตั้ง

มีข้อสังเกตุว่าร่างฯ ที่ผ่านเสนอโดยประชาธิปัตย์ พรรคร่วมรัฐบาล แต่ฉบับของฝ่ายค้านจากพรรคเพื่อไทยไม่ผ่าน แม้จะมีเนื้อหาอย่างเดียวกันเด๊ะ แสดงว่า สว.ตู่ตั้งนี้เลือกที่รักมักที่ชัง เอาแต่พรรคร่วมรัฐบาลของหัวหน้า คสช.

หากไม่มี สว.ตู่ตั้งอย่างน้อย ๘๔ คนคอยถ่วงความเจริญทางนิติบัญญัติละก็ ข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ๑๓ ร่าง จะได้ผ่านการรับรองในรัฐสภาไปแล้ว ๖ ฉบับในนั้นเป็นข้อเสนอ ปิดสวิตซ์อำนาจเลือกตัวนายกฯ  กับ ๔ ฉบับเป็นร่างที่ประชาชนเสนอ

พฤติกรรมของ สว.ที่ผ่านมาเหล่านั้น เป็นการปกป้องอำนาจของตนเอง ที่ได้มาโดยมิชอบต่อหลักปกครองอันเป็นประชาธิปไตย และเชื่อได้ว่าจะต้องมีความพยายามยืดอำนาจเช่นว่า ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ก่อนที่อายุขัย ๕ ปีจะสิ้นสุดลง อย่างแน่นอน

(https://www.facebook.com/iLawClub/posts/pfbid06nSroSv)