วันพฤหัสบดี, ธันวาคม 01, 2565

กฎหมายเลือกตั้ง ผ่านทุกด่านเรียบร้อย เหลือแต่ทูลเกล้าฯ​และประกาศใช้ มองเห็นอนาคตการเลือกตั้ง กรอบเวลาช้าสุด ไม่เกิน 7 พ.ค. 66


iLaw
15h

ศาลรัฐธรรมนูญเคาะ ร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เตรียมทูลเกล้าฯ ประกาศใช้
.
30 พฤศจิกายน 2565 ศาลรัฐธรรมนูญนัดลงมติวินิจฉัย กรณีประธานรัฐสภาส่งความเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภารวม 105 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่..) พ.ศ. .... (ร่างกฎหมายเลือกตั้งฯ) มาตรา 25 และมาตรา 26 มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 93 และมาตรา 94 หรือไม่ และตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่
.
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ วินิจฉัยว่า ร่างกฎหมายเลือกตั้งฯ ตราขึ้นโดยถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 132 และร่างกฎหมายเลือกตั้งฯ มาตรา 25 ไม่มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 93 และมาตรา 94
.
นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 วินิจฉัยว่า ร่างกฎหมายเลือกตั้งฯ มาตรา 26 ไม่มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 93 และมาตรา 94
.
สำหรับขั้นตอนต่อไปหลังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีต้องนำร่างกฎหมายเลือกตั้งฯ ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ก็ใช้บังคับเป็นกฎหมาย ทำให้รายละเอียดสำหรับกติกาการเลือกตั้งครั้งหน้า มีความชัดเจนอย่างเป็นทางการ และเดินหน้าตามกรอบเวลาไปสู่การเลือกตั้งในปี 2566 ได้
.
.
สำหรับที่มาของคดีนี้ ย้อนกลับไปปี 2564 รัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องระบบเลือกตั้งสำเร็จ โดยใช้บัตรเลือกตั้งสองใบ สิ่งที่ตามมาคือต้องแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งให้สอดคล้องกับหลักใหญ่ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ
.
ร่างกฎหมายเลือกตั้ง ถูกเสนอเข้ารัฐสภาจากผู้เสนอหลายฝ่าย เดิมในร่างที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) และรัฐสภารับหลักการในวาระหนึ่ง กำหนดสูตรคำนวณที่นั่งส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ “หาร 100” ต่อมาในการพิจารณารายมาตรา วาระสอง
.
ลงมติกลับ "พลิกล็อก" ในวาระที่สองได้ออกมาเป็น “สูตรหาร 500” ตามข้อเสนอของระวี มาศฉมาดล ส.ส.พรรคพลังธรรมใหม่ โดยได้รับเสียงสนับสนุนจากทั้ง ส.ว. และส.ส. พรรคใหญ่ฝ่ายรัฐบาล
.
แต่ท้ายที่สุดก็ยังเจอเทคนิคที่ ส.ส. จากทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคพลังประชารัฐ ไม่แสดงตนเข้าร่วมการประชุมทำให้องค์ประชุมไม่ครบ และ "สภาล่ม" ครั้งแล้วครั้งเล่า จนมาถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2565 ซึ่งเป็นวันที่จะครบ 180 วันของกำหนดเวลาการพิจารณากฎหมายเลือกตั้ง เมื่อครบกำหนดเวลาแล้วพิจารณาให้แล้วเสร็จไม่ได้ กฎหมายเลือกตั้งจึง "พลิกล็อก" อีกครั้งกลับไปใช้ “สูตรหาร 100” อีกครั้ง ตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ มาตรา 132 (1) เป็นไปตามร่างกฎหมายเลือกตั้ง ฉบับที่ครม.เสนอในวาระหนึ่ง
.
แม้ว่าร่างกฎหมายเลือกตั้ง จะผ่านรัฐสภามาได้แล้ว เมื่อส่งต่อไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อให้ความเห็นแล้ว และกกต. ก็ไม่ได้มีข้อทักท้วงต่อร่างกฎหมายฉบับนี้ แต่ร่างกฎหมายก็ยังไม่ได้ประกาศใช้ เมื่อส.ส. และส.ว. รวม 105 คน นำโดยระวี มาศฉมาดล ผู้เสนอสูตร "หาร 500” เข้าชื่อกันเสนอประธานรัฐสภา เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่างกฎหมายเลือกตั้งฉบับนี้ ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จนเป็นคดีนี้
.
.
ย้อนอ่านที่มาของคดีนี้ได้ที่ https://ilaw.or.th/node/6292