วันจันทร์, พฤษภาคม 06, 2567

บันทึกเยี่ยมบัสบาส คดี ม.112: “สำหรับคนที่อยู่ในคุกแล้ว จดหมายมันสำคัญต่อจิตใจ เป็นการต่อกำลังใจให้ ไม่ควรปิดกั้นเกินไป”- บันทึกเยี่ยม มาย-บุ๊ค-มาร์ค-ธี : อยากให้คนข้างนอกรู้ว่า คนข้างในกำลังต่อสู้อยู่ทุกวัน


ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
15h ·

บันทึกเยี่ยมบัสบาส คดี ม.112: “สำหรับคนที่อยู่ในคุกแล้ว จดหมายมันสำคัญต่อจิตใจ เป็นการต่อกำลังใจให้ ไม่ควรปิดกั้นเกินไป”
.
.
เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2567 ที่เรือนจำกลางเชียงราย ทนายความเข้าเยี่ยม “บัสบาส” มงคล ถิระโคตร นักกิจกรรมในจังหวัดเชียงรายวัย 30 ปี ที่ถูกศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาลงโทษจำคุก 50 ปี ในคดี #มาตรา112 และศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวระหว่างฎีกา ทำให้เขาถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 18 ม.ค. 2567 โดยกรณีของบัสบาสนับเป็นคดีมาตรา 112 ที่ถูกลงโทษสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์
.
บัสบาสยกหูโทรศัพท์ผ่านวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ในชุดนักโทษสีฟ้า ผมสั้นเตียน เขาเริ่มต้นบทสนทนาด้วยเรื่องสภาพอากาศว่า “ในนี้ร้อนมาก ร้อนจัด” พร้อมหัวเราะ ก่อนบอกว่าสภาพของเขาตอนนี้ก็ยังเหมือนเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
.
บัสบาสคุยเรื่องการยุติการอดอาหารประท้วง หลังจากดำเนินไปเกือบ 2 เดือน ว่าเขาก็ได้เรียนรู้สภาพการอดอาหารในเรือนจำว่าเป็นยังไง หลังจากเคยเคลื่อนไหวอดอาหารอยู่ภายนอกมาแล้ว ช่วงท้าย ๆ ก่อนยุติในครั้งนี้ ค่าน้ำตาลในเลือดของเขาต่ำลงไปมาก เขาก็เห็นว่าเจ้าหน้าที่เรือนจำที่นี่ให้ความสำคัญกับเรื่องชีวิตผู้ต้องขังมาก มีการมาดูอาการและเจาะเลือดทุกวัน เพราะเข้าใจว่าน่าจะมีปัญหา หากมีใครเสียชีวิตข้างในนี้ ตอนนี้เขาก็กลับมาฟื้นฟูร่างกายให้ดีขึ้น
.
บัสบาสย้ำอีกถึงสิ่งที่เขาเป็นกังวล เช่นเดียวกับการเยี่ยมคราวก่อน ในเรื่องที่มีเจ้าหน้าที่รัฐนอกเครื่องแบบไปตามหาครอบครัวเขาถึงที่บ้าน เขาบอกว่าก่อนหน้านี้ไม่เคยมีการไปถามกับเพื่อนบ้านมาก่อน หากเจ้าหน้าที่มาติดตามเพราะมีขบวนเสด็จ ก็อาจจะให้พ่อหลวง (ผู้ใหญ่บ้าน) มาถามที่บ้านโดยตรง หากเกิดอะไรขึ้นที่บ้านตอนนี้ เขาก็กังวลว่าจะไม่มีใครช่วยดูได้
.
.
บัสบาสเล่าถึงสภาพภายในเรือนจำ ว่าโดยรวม ๆ เขาคิดว่าเรือนจำเหมือนโรงเรียนกินนอน ตื่นเช้ามาก็เริ่มสวดมนต์ มีการให้กล่าวคำปฏิญาณ “เราคนไทยต้องรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ด้วยชีวิต” จากนั้นก็ให้ไปเคารพธงชาติ แต่ช่วงนี้ เขาก็ให้หลีกเลี่ยง เพราะแดดร้อนจัดและยังมีปัญหาฝุ่นควัน เปลี่ยนไปเคารพธงชาติใต้ตึกแทน แต่บัสบาสก็เห็นว่าใต้ตึกก็ยังเผชิญปัญหาฝุ่นควันอยู่ดี
.
จากนั้นก็ให้ผู้ต้องขังแยกย้ายไปตามกองงาน แต่ตอนนี้เขายังไม่ได้ถูกจัดให้อยู่ในกองงาน เลยหาเวลานำหนังสือเก่า ๆ ในตู้หนังสือมาอ่าน ตู้หนังสือนี้เป็นคล้าย ๆ ตู้โทรศัพท์ ในแดนของเขาคือแดน 4 มีตั้งอยู่ 2 ตู้ ซึ่งก็ไม่ได้มีมากนัก ช่วงที่ผ่านมาเขาก็หยิบมาอ่านวนไปมา เป็นพวกนวนิยายเก่า ๆ หนังสือจิตวิทยา ธรรรมะ ส่วนหนังสือประเภทที่เขาสนใจ เท่าที่ไล่ดู น่าจะมีประมาณแค่ 4-5 เล่มเท่านั้น ได้แก่ เล่มชีวประวัติของอาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์, หนังสือบันทึกภรรยาของเลนิน, การ์ตูนสามก๊ก กับการ์ตูนคอมมิกไทย
.
บัสบาสบอกว่าอยากได้หนังสือใหม่ ๆ มาอ่านบ้าง ก่อนหน้านี้เขาพยายามถามผู้คุมขอให้นำหนังสือใหม่ ๆ มาบ้าง ก็มักจะได้รับเหตุผลเพียงแต่ว่าที่นี่เป็นเขตควบคุมพิเศษ ส่งเข้ามาลำบาก แต่เขาก็อยากให้คนข้างนอกลองส่งเข้ามา แต่ยังไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร
.
จากนั้นกิจวัตรประจำวัน ตอนบ่าย 2 ก็จะให้กินข้าว และเข้าหอนอนตอน 4 โมง ในเรือนนอน ตอนนี้ก็เริ่มมีติดทีวี แต่ก็เปิดพวกคลิปที่อัดมา เป็นพวกรายการบันเทิงหรือหนังให้ดู แต่ไม่ได้มีข่าวสารอะไร ทุกวันก็จะเป็นแบบนี้วนไปเรื่อย ๆ
.
“ตอนนี้ก็จำเจมาก ถ้าไม่มีกองงานก็คุยกับเพื่อน ๆ ในแดน” บาสเล่าว่าเขาเริ่มรู้จักเพื่อน ๆ ในแดน คุยกันได้ เมาท์กันได้ “คนคุกนี่ขี้เมาท์นะ คุยกันแป๊บเดียวก็รู้กันทั้งแดนแล้ว” เขาบอก
.
ช่วงสงกรานต์เริ่มมีกิจกรรมแข่งตระกร้อกัน แต่เขาไม่ได้เล่น เขาอยากเล่นไปทางฟุตบอลหรือดนตรีมากกว่า แต่ด้านในไม่มีอุปกรณ์ให้ เขาแจ้งผู้คุมอยู่เหมือนกันว่าอยากให้นำเครื่องดนตรีอะไรก็ได้มาให้ผู้ต้องขังที่สนใจด้านนี้ได้ใช้เวลากับกิจกรรมเหล่านี้
.
สภาพที่ว่างของชีวิตในเรือนจำนี้ บัสบาสบอกว่าทำให้เขาฟุ้งซ่านเหมือนกัน คิดนู้นคิดนี่ไปเรื่อย ประกอบกับโรคซึมเศร้าที่เขารักษาอยู่แล้ว ทำให้อาการดาวน์หนักขึ้นเหมือนกัน
.
.
บทสนทนากลับมาเรื่องการติดต่อสื่อสารกับภายนอก เขาบอกว่าที่คุยกับทนายเรื่องการส่งจดหมายบ่อย เพราะที่เรือนจำนี้ยังค่อนข้างเป็นปัญหามาก เรือนจำที่กรุงเทพฯ ทราบว่ามีระบบ domimail ที่ช่วยในการติดต่อสื่อสารกับญาติหรือคนภายนอกได้เร็ว แต่ที่นี้ยังไม่มี และเรื่องนี้ก็ไม่ใช่เหตุเพราะเขาอยากได้จดหมายจากข้างนอกขนาดนั้น แต่เขาเห็นว่าผู้ต้องขังคนอื่น ๆ ก็ถูกลิดรอนสิทธิเรื่องนี้ แต่ไม่มีใครกล้าออกมาพูด
.
“สำหรับคนที่อยู่ในคุกแล้ว จดหมายมันสำคัญต่อจิตใจนะ เป็นการต่อกำลังใจให้ ไม่ควรปิดกั้นทั้งหมดเกินไป”
.
บัสบาสเล่าต่อว่าบางคนไม่เคยได้รับจดหมายอะไร ก็เอาแต่เหม่อลอย รอจดหมายของตัวเอง เขาจึงอยากให้ที่นี่ใช้บรรทัดฐานเดียวกับเรือนจำอื่น ๆ เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบ อ่านก่อนก็ไม่เป็นไร แต่ไม่ใข่การปิดกั้น จำกัดเฉพาะญาติตั้งแต่ต้น ส่งกลับออกมาก็ไม่ได้ ก่อนหน้านี้เขาส่งจดหมายไปหาพ่อตั้งแต่ช่วงก่อนสงกรานต์แล้ว แต่ที่ถามล่าสุด คุณพ่อก็ยังไม่ได้รับแต่อย่างใด
.
ช่วงท้าย บัสบาสสอบถามถึงสถานการณ์ทางการเมืองภายนอก เขายังสนใจการเสนอกฎหมายนิรโทษกรรม ว่าดำเนินไปถึงขั้นไหน แนวทางจะไปทางไหน กระแสสังคมเป็นอย่างไร ท่าทีของพรรคเพื่อไทยเป็นอย่างไร เขาหวังว่าพรรคเพื่อไทยจะทำอะไรได้มากกว่านี้ แต่ก็ดูเหมือนน่าจะต้องผิดหวัง
.
“ผมน่าจะต้องอยู่ไปยาว ๆ แล้ว น่าจะยาวแล้วใช่ไหม” คือถ้อยคำที่เขาเปรยออกมา หลังทราบสถานการณ์ แต่คดีของเขายังไม่สิ้นสุด โดยในเดือนนี้ จะมีการยื่นฎีกาคำพิพากษาคดีของเขาต่อไป
.
.
อ่านบนเว็บไซต์ (https://tlhr2014.com/archives/65204)
......

(https://www.facebook.com/lawyercenter2014/posts/847858770517928?ref=embed_post)

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
Yesterday
·

บันทึกเยี่ยม มาย-บุ๊ค-มาร์ค-ธี : อยากให้คนข้างนอกรู้ว่า คนข้างในกำลังต่อสู้อยู่ทุกวัน
.
.
ระหว่างวันที่ 25-29 เม.ย. 2567 ทนายความเดินทางไปเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เข้าเยี่ยม 4 ผู้ต้องขังคดีครอบครองวัตถุระเบิด ได้แก่ ‘มาย ชัยพร’, ‘ธี’ ถิรนัย,‘บุ๊ค’ ธนายุทธ และ ‘มาร์ค’ ครั้งนี้ มายย้อนภาพถึงชีวิตการทำงานด้านไฟฟ้า และช่วงติดกำไล EM ที่ทำให้ยากลำบากต่อการหางานทำ ก่อนจะสรุปว่าหากได้ออกไปจะใช้ทุกทักษะที่มีเริ่มต้นชีวิตใหม่ ขณะที่ ธี ผู้ต้องขังคดีเดียวกับมาย ก็กำลังเคร่งเครียดกับการนัดฟังคำพิพากษาอุทธรณ์ ด้วยรอมาเกือบหนึ่งปีแล้ว และอยากทราบความชัดเจน
.
บุ๊ค ศิลปินฮิพฮอพพูดถึงเรื่องราวในเรือนจำช่วงสงกรานต์ที่เขามีโอกาสแสดงเพลง และได้รับเสียงเชียร์กำลังใจจากเพื่อน ๆ ผู้ต้องขัง ที่ถึงกับตั้งความหวังให้เป็นตัวแทนในการถ่ายทอดเรื่องความยุติธรรมต่อไป ส่วนมาร์คที่อยู่กองงานช่างบำรุง อัพเดตว่าช่วงนี้ไม่ค่อยมีงานอะไรให้ซ่อมนัก แต่มันช่วยฆ่าเวลา และก็ช่วยให้อยู่ง่ายขึ้น
.
.
อ่านบันทึกเยี่ยมทั้งหมดบนเว็บไซต์: https://tlhr2014.com/archives/66794