วันจันทร์, ธันวาคม 05, 2565

‘กษัตริย์กระฎุมพี’ (bourgeois monarchy) โจทย์ที่ท้าทายอย่างมากในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในห้วงเวลาเช่นนี้

หนังสือ Royal Capitalism: Wealth, Class, and Monarchy in Thailand โดย ปวงชน อุนจะนำ

:: ทุน-กษัตริย์ ::

ว่ากันว่ากรอบการวิเคราะห์อำนาจผ่าน ‘ทุน’ เป็นกรอบการวิเคราะห์ที่จางหายไปในการมองการเมืองไทยช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา ทำไมคุณถึงเลือกทำความเข้าใจสถาบันกษัตริย์ผ่านทุน

มีหลายสาเหตุที่ทำให้ผมหันมาสนใจความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์และทุน

สาเหตุแรก ในรอบหลายปีที่ผ่านมา สังคมและแวดวงวิชาการมีแนวโน้มที่จะมองทุกอย่างแบ่งออกเป็นขั้วตรงข้ามคือ มีขั้วตรงข้ามระหว่างทุนสามานย์ที่โลภมากเห็นแก่ตัวกับกษัตริย์ผู้ทรงศีลธรรมซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความพออยู่พอกิน มีการแบ่งขั้วตรงข้ามระหว่างการศึกษารัฐและตลาด ฝั่งหนึ่งศึกษาแค่เรื่องรัฐ อีกฝั่งก็ศึกษาแค่เรื่องตลาดแยกออกไปเลย รวมไปถึงการมองเศรษฐกิจการเมืองและวัฒนธรรมแบบแยกส่วนออกจากกัน ดังนั้นผมเลยพยายามศึกษาสถาบันกษัตริย์โดยเชื่อมโยงเข้ากับทุน และมองความสัมพันธ์ระหว่างสองตัวแสดงนี้จากทั้งมุมเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมร่วมกันไป

นอกจากนี้ เรามักจะมองว่าตลาด ทุน และความมั่งคั่งไม่ค่อยเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ หรือละเลยตรงจุดนี้ไปหากเทียบกับความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับสถาบันกษัตริย์ ศาสนากับสถาบันกษัตริย์ หรือประชาธิปไตยกับสถาบันกษัตริย์ นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ผมอยากเต็มเติมช่องโหว่ตรงนี้ด้วยการศึกษาทุนกับสถาบันกษัตริย์

สาเหตุที่สอง ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีกระแสที่มองว่ามาร์กซิสม์เป็นอุดมการณ์หรือทฤษฎีที่ตายไปแล้ว ไม่สำคัญ ในหมู่ฝ่ายซ้ายเองก็ต้องเผชิญกับสภาวะ ‘ซ้ายซึมเศร้า’ หรือ ‘ซ้ายอกหัก’ โดยเฉพาะหลังการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยและหลังช่วงทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมา ไม่เพียงเท่านั้น ฝ่ายซ้ายในไทยหลายคนก็เปลี่ยนไปสมาทานแนวคิดแบบกษัตริย์นิยม สภาวะเช่นนี้ทำให้ผมสนใจนำทฤษฎีมาร์กซิสม์มาช่วยอธิบายปรากฏการณ์สังคมไทย เพื่อกระตุ้นให้แวดวงวิชาการและสังคมหันมาให้ความสนใจกับทฤษฎีมาร์กซิสม์กับการประยุกต์ใช้ทฤษฎีนี้ในการศึกษาเศรษฐกิจการเมืองไทยให้มากขึ้น

สาเหตุที่สาม คือการผงาดขึ้นมาของแนวคิดโพสต์โมเดิร์นและแนวศึกษาแบบชาติพันธุ์วรรณา (ethnography) ซึ่งแม้ว่าการศึกษาการเมืองเชิงอัตลักษณ์ กลุ่มชาติพันธุ์ หรือผู้ถูกกดขี่จะเป็นสิ่งที่ดีในสังคมไทย แต่ในหลายครั้งมีแนวโน้มที่นักวิชาการเลือกจะสนใจการเมืองในระดับท้องถิ่น การเมืองในชีวิตประจำวัน และการเมืองในระดับจุลภาค แล้วกลับละเลยประเด็นปัญหาการเมืองที่สำคัญ ส่งอิทธิพลในวงกว้าง และอยู่ตรงหน้าอย่างชัดแจ้งอย่างสถาบันกษัตริย์และความมั่งคั่งของสถาบันกษัตริย์

สาเหตุสุดท้าย หลายครั้งเวลามีการนำทฤษฎีวิพากษ์ทุนนิยมมาใช้อธิบายสังคมไทย เราวิพากษ์แต่ระบบทุนนิยมอย่างเป็นนามธรรม หรืออย่างมากก็วิพากษ์บรรษัทข้ามชาติ วิพากษ์สหรัฐฯ ในฐานะมหาอำนาจ วิพากษ์เจ้าสัวซีพี แต่เราเลือกที่จะมองข้ามหรือไม่มองสถาบันกษัตริย์และสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ซึ่งมั่งคั่งและความร่ำรวยไม่ต่างจากบรรษัทข้ามชาติแต่อย่างใด

หากไม่มองสถาบันกษัตริย์ผ่านทุน เราจะพลาดการมองเห็นอะไรไปบ้าง

หากไม่มองกษัตริย์ผ่านกรอบการวิเคราะห์ทุนนิยม มีแนวโน้มว่าเราจะมองกษัตริย์ผ่านแค่มิติการเมืองและวัฒนธรรมเท่านั้น และจะพลาดการมองสถาบันกษัตริย์ในมิติเศรษฐกิจไป เราจะคิดว่าสถาบันกษัตริย์ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของทุนนิยม ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาของความเหลื่อมล้ำ การผูกขาด การกดขี่ขูดรีด การลดทอนสวัสดิการสังคม การเปิดโรงงานใหม่ การตกงาน หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ หรือการที่รัฐให้สัมปทานกับบริษัทเอกชน รวมทั้งจะมองไม่เห็นว่าสถาบันกษัตริย์เกี่ยวข้องกับการบริโภคสินค้า การโฆษณาสินค้า และวัฒนธรรมป็อปในชีวิตประจำวัน ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วสถาบันกษัตริย์ผนวกตัวเองและกลืนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยมเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ การละเลยความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างทุนและสถาบันกษัตริย์ทำให้เรามองไม่เห็นคำถามสำคัญเหล่านี้

คำถามแรกคือ เวลาเราต่อสู้กับทุน ต่อต้านนายทุน ประท้วง และเรียกร้องให้มีการปฏิรูปทุนนิยม เราต้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ด้วยหรือไม่

คำถามที่สอง เวลาที่เราเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ การปฏิรูปที่ว่านี้จะประสบความสำเร็จโดยไม่ปฏิรูประบบทุนนิยมได้หรือไม่

ตอนนี้ดูเหมือนว่า การปฏิรูปทั้งสองมักจะถูกมองแยกขาดออกจากกัน คำถามที่ดูเหมือนจะละเลยไปก็คือ หากจะปฎิรูปสถาบันกษัตริย์ แล้วต้องทำอย่างไรต่อกับทุนนิยม หรือหากจะลดความเหลื่อมล้ำ จะต้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อย่างไร

ทุนและระบบทุนนิยมไม่ใช่เรื่องใหม่ในไทย แต่งานที่ศึกษาความเกี่ยวพันกันระหว่าง ‘ทุน’ และ ‘สถาบันกษัตริย์’ ก็มีไม่มากนัก งานของคุณที่ว่าด้วย ‘กษัตริย์กระฎุมพี’ สนทนาหรือถกเถียงอะไรกับงานว่าด้วยทุนในช่วงที่ผ่านมา ทั้งงานว่าด้วยระบบทุนนิยมโลก การสะสมทุนของระบบทุนนิยมไทย และพลวัตทุนของสถาบันกษัตริย์เอง

เริ่มจากงานที่ว่าด้วยระบบทุนนิยมโลกต่อการเมืองไทย งานประเภทนี้ให้ความสนใจกับบรรษัทข้ามชาติ การลงทุนของต่างชาติ ความร่วมมือระหว่างนายทุนไทยและนายทุนต่างชาติ ข้าราชการและนักการเมืองไทย แต่งานประเภทนี้ไม่ได้รวมสถาบันกษัตริย์เข้าไปในการศึกษา

คำถามสำคัญคือ สถาบันกษัตริย์มีความสำคัญอย่างไรกับทุนนิยมต่างชาติ สถาบันกษัตริย์กับนายทุนต่างชาติเกี่ยวข้องกันอย่างไร สถาบันกษัตริย์เกี่ยวข้องอย่างไรกับการที่บรรษัทข้ามชาติชื่อดังอย่าง Toyota Honda BMW Nestle Philips หรือ Microsoft มาลงทุนในไทย หรือที่ใกล้ตัวที่สุดอย่างเรื่องวัคซีน การที่แอสตร้าเซนเนก้า บริษัทยาและชีวเภสัชภัณฑ์ระดับข้ามชาติมาเปิดโรงงานในไทย โดยร่วมมือกับบริษัทท้องถิ่นอย่างสยามไบโอไซเอนซ์ สถาบันกษัตริย์เกี่ยวข้องอย่างไร ทำไมนายทุนต่างชาติต้องเข้าเฝ้าฯ ทำไมนายทุนไทยที่ดูแลบริษัทลูกของ Honda ต้องพา CEO Honda จากสำนักงานใหญ่ที่ญี่ปุ่นไปเข้าเฝ้าฯ

ปรากฏการณ์ที่ว่านี้เป็นแค่ธรรมเนียมเฉยๆ หรือเกี่ยวข้องกับการสะสมทุนด้วย ทุนได้ประโยชน์อะไรจากกระบวนการนี้ ทำไมนายทุนต่างชาติต้องเชิญราชนิกูลไปเปิดโรงงานด้วย แล้วทำไมคนที่ตัดริบบิ้นเปิดโรงงานคนแรกต้องเป็นราชนิกูล ไม่ใช่นักการเมืองหรือดารานักร้องทั่วไป มิติเหล่านี้ถูกละเลยในงานที่ว่าด้วยทุนไทยกับทุนโลก ไม่ค่อยมีการกล่าวถึงสถาบันกษัตริย์เท่าไหร่ หรือจะบอกว่าไม่กล่าวถึงเลยก็ได้ เพราะเรามักมองสถาบันกษัตริย์ราวกับว่าไม่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการทุนนิยมจนเป็นธรรมเนียม

งานที่ว่าด้วยการสะสมทุนของทุนนิยมไทยมักสนใจไปที่ความสัมพันธ์ระหว่างนายทุน ทหาร ข้าราชการ และเทคโนแครต สนใจการให้สัมปทาน ระบบอุปถัมภ์ และคอร์รัปชันของคนกลุ่มนี้ เช่นว่าเทคโนแครตสนิทกับใคร หรือให้สัมปทานกับทุนไหน แต่เมื่อไม่ได้รวมสถาบันกษัตริย์เข้าไปในการศึกษา คำถามสำคัญที่ไม่ถูกถามคือ ฝ่ายวังมีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับการให้สัมปทาน ระบบอุปถัมภ์ การคอร์รัปชัน หรือไม่ นี่เป็นคำถามที่สำคัญอย่างมาก กรณีวัคซีนเป็นตัวอย่างที่ดีเพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว จะเห็นว่ารัฐเอาเงินไปลงทุนให้บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ที่มีความสัมพันธ์อันดีกับทุนข้ามชาติ เป็นบริษัทหลักในการผลิตวัคซีน ซึ่งอาจจะถูกหรือผิดก็ได้ เพียงแต่เราไม่มีหลักหรือวิธีคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้เลย

ส่วนงานที่ว่าด้วยพลวัตทุนของสถาบันกษัตริย์จะให้ความสำคัญกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งสำคัญมาก เพราะทุนที่สถาบันกษัตริย์ถือในฐานะทรัพย์สินอยู่นั้นมีขนาดมหาศาล แต่สำหรับผม ความสัมพันธ์ระหว่างทุนและกษัตริย์ไปไกลกว่าแค่สำนักงานทรัพย์สินฯ เช่น การลงทุนส่วนพระองค์ การถือหุ้นของสมาชิกราชวงศ์ในตลาดหลักทรัพย์ การบริจาคของภาคเอกชนให้กับสถาบันกษัตริย์ รวมไปถึงงบประมาณที่สถาบันกษัตริย์ได้รับจากภาครัฐ ซึ่งอย่างหลังเพิ่งกลายมาเป็นประเด็นร้อนในช่วงสองปีที่ผ่านมา เพราะงบประมาณสถาบันกษัตริย์มากเกินไปอย่างไม่ได้สัดส่วนกับงบประมาณที่สำคัญต่อกิจการสาธารณะ

เวลาที่เรามองสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เรามักจะมองว่าทรัพย์สินเหล่านั้นคือทุนทางเศรษฐกิจ แต่สถาบันกษัตริย์มีทุนทางสังคมและทุนทางวัฒนธรรมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย นำมาสู่คำถามว่าทำไมสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จึงอยู่นอกเหนือความสนใจของสังคมมาเนิ่นนานทั้งๆ ที่สะสมทุนมานาน และไม่ได้ถูกตั้งคำถามเท่าที่ควรจนกระทั่งเกิดปรากฏการณ์การประท้วงของคนรุ่นใหม่ ที่เริ่มตั้งคำถามกับความมั่งคั่งของพระราชทรัพย์ที่ต่างจากทรัพย์สินของมหาชนส่วนใหญ่

ความพยายามของผมคือการต่อจิกซอว์ให้ได้ระหว่างมิติทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของสถาบันกษัตริย์ หลายครั้งเวลามีการอธิบายความมั่งคั่งของสถาบันกษัตริย์ มีแนวโน้มที่เราจะละเลยมิติอื่นๆ ไป เช่น ทำไมกษัตริย์สามารถตักตวงและสะสมทุนได้มากขนาดนี้ ในขณะที่ภาพลักษณ์ที่ปรากฏในสื่อกลับตรงกันข้าม หรือพระราชอำนาจเกี่ยวกับพระราชทรัพย์อย่างไร ทรัพย์ของกษัตริย์เกี่ยวกับพระเกียรติหรือความนิยมกษัตริย์ในวัฒนธรรมป็อปอย่างไร ตรงนี้ขาดการอธิบายไป เพราะฉะนั้น งานของผมพยายามมองแบบเป็นองค์รวม (totality) ต่อจิกซอว์ให้ได้ระหว่างการเมืองของชนชั้นนำและการเมืองในระดับชีวิตประจำวัน



หากใส่บทบาทของสถาบันกษัตริย์ลงไปในสมการการสะสมทุนไทย ความเข้าใจต่อการสะสมทุนจะเปลี่ยนไปหรือไม่ สถาบันกษัตริย์เป็นเพียงแค่ตัวละครที่ยังไม่ได้ถูกนับรวมในสมการ หรือพอนับรวมสถาบันกษัตริย์ลงไปแล้ว ความเข้าใจต่อการสะสมทุนจะเปลี่ยนไป

ในเชิงกรอบคิด เวลาอธิบายรัฐไทยผ่านกรอบแนวคิดรัฐราชการ การเมืองจะถูกมองแบบขาวดำในเชิงศีลธรรม มีตัวร้าย มีนายทุนสามานย์ ไร้ศีลธรรม ฉ้อฉล อย่างเวลาพูดเรื่องระบบอุปถัมภ์หรือคอร์รัปชัน ตัวร้ายตัวเป้งคือข้าราชการ นักธุรกิจ นักการเมืองโกงกินบ้านเมืองที่มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับนักธุรกิจ และปล่อยสัมปทานให้กับเจ้าสัวยักษ์ใหญ่

แต่พอนับสถาบันกษัตริย์ที่ได้ชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์ของศีลธรรม ธรรมาภิบาล และความโปร่งใสเข้ามาในสมการ จะพบว่าเราไม่สามารถมองการเมืองแบบขาวดำ หรือฟันธงได้ว่าใครคือตัวเอกหรือตัวร้ายในการเมืองไทย เพราะจริงๆ แล้วสถาบันกษัตริย์มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับระบบราชการ นักการเมือง และเจ้าสัวนายทุนทั้งหลาย

ยกตัวอย่างกรณีอดีตนายกฯ ทักษิณขายหุ้นชินคอร์ปฯ โดยไม่เสียภาษี ในกรณีนี้ทักษิณคือนักการเมืองขายชาติ ไร้ศีลธรรม และฉ้อฉลสิ้นดี แต่ถ้าพิจารณาดีลการขายชินคอร์ปฯ ให้ลึกลงไป จะเห็นว่าโบรกเกอร์ที่มีบทบาทช่วยให้การซื้อขายประสบสำเร็จคือธนาคารไทยพาณิชย์ที่มีสำนักงานทรัพย์สินฯ ถือหุ้นใหญ่อยู่ รวมทั้งมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับเทมาเส็ก รัฐบาลสิงคโปร์ และกลุ่มทุนของอดีตนายกฯ ทักษิณ

เวลาที่นับรวมสถาบันกษัตริย์เข้าไปในสมการด้วย จะนำไปสู่การคิดใหม่ (rethinking) ทั้งกับบทบาทของสถาบันกษัตริย์และกับการวิเคราะห์ทุนไทย ถ้าเราสามารถมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันฯกับนายทุนยักษ์ใหญ่อย่างเครือเจริญโภคภัณฑ์ กระทิงแดง เบียร์ช้าง ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือกระทั่งทุนของทักษิณที่หลายคนโจมตีอย่างหนักว่าร่ำรวยจากสัมปทานของรัฐ เราจะไม่มองเศรษฐกิจการเมืองแบบขาวดำหรือตัดสินด้วยค่านิยมเชิงศีลธรรมอีกต่อไป

:: พลวัตกษัตริย์กระฎุมพี ::

ว่ากันว่าสถาบันกษัตริย์จะสลายไปเมื่อระบบทุนนิยมพัฒนา แต่คุณกลับเสนออย่างเฉพาะเจาะจงว่า สถาบันกษัตริย์ไทยโดยเฉพาะในรัชสมัยของในหลวง ร. 9 เติบโตขึ้นจากระบบทุนนิยม อยากให้ช่วยขยายความสักหน่อย

ช่วงปลายปี 2008 นิตยสาร Forbes รายงานว่ากษัตริย์ไทยร่ำรวยที่สุดในโลก และการจัดอันดับในอีก 2-3 ปีต่อมาตั้งแต่ปี 2008-2011 กษัตริย์ไทยก็ยังได้รับการจัดอันดับว่าร่ำรวยที่สุดในโลก นี่คือปริศนาสำคัญที่ต้องตอบให้ได้ว่า ทำไมทุนนิยมไทยเติบโตอย่างมากในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา แต่คนที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศกลับไม่ใช่นายทุน แต่คือกษัตริย์

ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมา เกิดปรากฏการณ์การผงาดขึ้นของชนชั้นกระฎุมพี และการเข้ามามีบทบาทของชนชั้นนี้อย่างเต็มตัวในสังคมไทย ซึ่งกลายเป็นว่าเป็นจังหวะประจวบเหมาะพอดีกับช่วงที่พระราชอำนาจของกษัตริย์เริ่มขึ้นมามีอิทธิพลในการเมืองและสังคมอีกด้วยด้วย นี่คืออีกปริศนาหนึ่งที่ต้องต่อจิกซอว์ให้ได้

อีกอย่างหนึ่งที่นำไปสู่การตั้งคำถามต่อทุนนิยมในสมัยรัชกาลที่ 9 คือเวลาดูข่าวพระราชสำนัก นอกจากจะมีช่วงรายงานพระราชกรณียกิจ โครงการหลวง หรือคณะทูตเข้าเฝ้าฯ แล้ว ช่วงที่มีให้เห็นเป็นประจำแต่ผู้ชมอาจจะไม่ค่อยสนใจก็คือช่วงที่นายทุนเข้าเฝ้าฯ กษัตริย์หรือพระบรมวงศานุวงศ์ คำถามที่มักจะถูกละเลยก็คือทำไมนายทุนต้องเข้าเฝ้าฯ ในพานที่นายทุนถวายกษัตริย์มีอะไรวางอยู่ ถ้าบนพานคือเงินบริจาคให้กษัตริย์ เงินที่ว่านี้คิดเป็นจำนวนเท่าไหร่ ใครบริหารและจัดการเงินเหล่านี้ เงินเหล่านี้ถูกนำไปใช้ประโยชน์เพื่อกิจการสาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพในระดับไหน และทำไมนายทุนถึงอยากให้ภาพของการเข้าเฝ้าฯ เผยแพร่ต่อสาธารณะในข่าวพระราชสำนัก นี่เป็นจิกซอว์ที่ผมว่าน่าสนใจแต่กลับถูกละเลยไป

สถาบันกษัตริย์คือสถาบันที่นายทุนเข้าหาและโคจรรอบ ไม่ได้เป็นเพียงแค่สถาบันที่แสดงบทบาทเชิงประเพณีหรือวัฒนธรรมตามบทบาทที่ควรจะเป็นของสถาบันกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่ในทางปฏิบัติ สถาบันกษัตริย์แสดงบทบาทที่สำคัญและทรงอิทธิพลมากในตลาด เป็นผู้ลงทุนและผู้ผลิตในตลาด เป็นคู่ค้ากับนายทุน เชื่อมนายทุนเข้าหากัน และเป็นแหล่งความชอบธรรมเชิงอุดมการณ์ของชนชั้นนายทุนด้วย ดังนั้นผมมองว่าระหว่างเจ้าฟ้ากับเจ้าสัว วังกับบริษัท พระราชทรัพย์กับตลาดหลักทรัพย์มีอะไรเกี่ยวข้องกัน

หากเราต้องการเข้าใจทุนนิยมไทย เราต้องไขปริศนาเหล่านี้ให้ได้ เราจะเข้าใจทุนนิยมไทยไม่ได้ถ้าไม่ทำความเข้าใจสถาบันกษัตริย์ เช่นเดียวกัน เราจะไม่เข้าใจสถาบันกษัตริย์ได้เลยหากเราละเลยเรื่องทุน

เวลาพูดถึงบทบาทสถาบันกษัตริย์ในการเมืองไทย เรามักมีหมุดหมายสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่พลวัตอำนาจทางการเมืองของสถาบันกษัตริย์มีการเปลี่ยนแปลง เช่น หลัง 14 ตุลาหรือหลังพฤษภา 35 แต่หากมองผ่านกรอบของทุน พลวัตของ ‘กษัตริย์กระฎุมพี’ เปลี่ยนไปในทิศทางเดียวกันพลวัตของอำนาจไหม

ในทางการเมือง เรามักปักหมุดหมายสำคัญไว้ที่เหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญๆ เช่น การปฏิวัติ 2475 การขึ้นมามีอำนาจของจอมพลสฤษดิ์ในปี 2500, 14 ตุลา 16, 6 ตุลา 19, พฤษภา 35, รัฐประหาร 49 หรือว่ารัฐประหาร 57 แต่ในเชิงเศรษฐกิจและพลวัตความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์และนายทุน หลายครั้งไม่ได้สัมพันธ์กับหมุดหมายทางการเมืองเสียทีเดียว

ความมั่งคั่งและความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับนายทุนจะสัมพันธ์กับไทม์ไลน์และหมุดหมายสำคัญทางเศรษฐกิจมากกว่า อย่างช่วงที่เศรษฐกิจบูมมากในทศวรรษที่ 1980-1990 สิ่งที่เกิดขึ้นคือการเติบโตของชนชั้นกระฎุมพีอย่างเป็นบ้าเป็นหลัง หลังจากที่เริ่มก่อตัวมาตั้งแต่ช่วงสมัยสงครามเย็นที่สหรัฐฯ อัดฉีดงบประมาณการพัฒนาในไทย และมีการเปลี่ยนผ่านจากการผลิตที่เน้นกสิกรรมมาเป็นการผลิตแบบอุตสาหกรรมหนักเต็มตัว ดังนั้น ในทางเศรษฐกิจ ผมจึงมองไทม์ไลน์การเติบโตและปรับภาพลักษณ์ครั้งใหญ่ของกษัตริย์กระฎุมพีว่าเริ่มตั้งแต่ยุคพลเอกเปรมที่เริ่มเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยและเศรษฐกิจบูมเป็นต้นมา

อีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญคือวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ 2540 หากมองจากกรอบทางการเมือง คนมักจะให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญปี 2540 มากกว่า ซึ่งก็สำคัญเช่นกัน แต่ผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ในแง่ที่ว่ามันเปิดโอกาสให้สถาบันกษัตริย์ได้แสดงวิสัยทัศน์ทางเศรษฐกิจต่อสาธารณะ ที่เราเรียกขานกันว่า ‘ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง’ ซึ่งเป็นพระราชดำรัสของพระองค์ก่อนปี 2540 มีร่องรอยการวิพากษ์ทุนนิยม ต่อต้านทุน กลับไปหาเกษตรชุมชนมาก่อนแล้ว แต่วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เป็นโอกาสให้สถาบันกษัตริย์ปรับเปลี่ยนอุดมการณ์ให้ร่วมสมัยมากขึ้น น่าสนใจมากขึ้น จนเศรษฐกิจพอเพียงกลายเป็นอุดมการณ์สำคัญของสถาบัน ซึ่งหลังจากนี้ ความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นกลางในเมืองและคนในชนบทที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จะนำไปสู่วิกฤตความขัดแย้งระหว่างเสื้อเหลืองและเสื้อแดงในทศวรรษที่ 2550

หากมองสายธารประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ชนชั้นกระฎุมพีจัดว่าเป็นตัวแปรสำคัญทางการเมือง หากกระฎุมพีเลือกฝ่ายทางการเมืองใด ฝ่ายนั้นจะมีชัยในการกุมอำนาจทางการเมือง ในกรณีไทย เหตุใดชนชั้นกระฎุมพีจึงเลือกจับมือกับชนชั้นศักดินาอย่างสถาบันกษัตริย์?

พลวัตเช่นนี้เกิดขึ้นทั้งกับกระฎุมพีระดับสากลและกระฎุมพีไทย และพลวัตของกระฎุมพีสากลและไทยยังเกี่ยวพันกันด้วย

ในโลกตะวันตก ชนชั้นกระฎุมพีที่เริ่มก่อตัวในศตวรรษที่ 17-18 เรียกได้ว่าเป็นกระฎุมพีที่ก้าวหน้า มีการก่อปฏิวัติกระฎุมพี ทำลายระบอบศักดินาและสถาปนาระบอบสาธารณรัฐ หรือหากกษัตริย์ยังพอจะเหลือที่ทางภายใต้ระบอบใหม่ของกระฎุมพี พระองค์ก็จะต้องยอมรับการถูกจำกัดบทบาทในระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่เมื่อชนชั้นกรรมกรเริ่มก่อตัวขึ้นในศตวรรษที่ 19 เริ่มมีการประท้วงเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ ภราดรภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่ชนชั้นกระฎุมพีเคยเรียกร้องและประกาศว่าทุกคนต้องมีอย่างเสมอหน้า

กลับกลายเป็นว่าชนชั้นแรงงานไม่ได้รับผลพลอยได้ตรงนี้ และกลายเป็นว่าชนชั้นกระฎุมพีตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมาเริ่มกลายเป็นชนชั้นทีมีความเป็นปฏิกิริยายิ่งขึ้นและเริ่มโอบรับอุดมการณ์อนุรักษนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะในศตวรรษที่ 21 เราจะเห็นปรากฏการณ์ระดับโลกที่กระฎุมพีทั้งในสหรัฐฯ หรือยุโรปกลายเป็นฝ่ายปฏิกิริยา (reactionary) ยิ่งขึ้นไปอีก มีการต่อต้านผู้อพยพ ต่อต้านการเรียกร้องค่าแรง เหยียดผิว เหยียดเพศ คลั่งชาติ หรือคลั่งศาสนา

พลวัตความเปลี่ยนแปลงของชนชั้นกระฎุมพีในโลกตะวันตกสำคัญต่อการทำความเข้าใจวิธีคิดของกระฎุมพีไทย เพราะเมื่อเทียบกับระดับโลกแล้ว ทุนนิยมไทยเติบโตช้า ชนชั้นกระฎุมพีก็เติบโตช้า คือโตมาในจังหวะที่ไม่เหลือกระฎุมพีเสรีนิยมก้าวหน้าในโลกแล้ว

ในขณะเดียวกัน ชนชั้นกระฎุมพีไทยก็มีพลวัตในตัวเองเช่นกันที่ทำให้หันไปเป็นฝ่ายปฏิกิริยาและจับมือกับสถาบันที่ดำรงอยู่มาตั้งแต่ยุคศักดินาอย่างสถาบันกษัตริย์ แม้ว่ากระฎุมพีจะมีช่วงที่ก้าวหน้ามากหลังการปฏิวัติ 2475 เพราะกระฎุมพีข้าราชการกล้าคานอำนาจสถาบันกษัตริย์ หรืออาจพอกล่าวได้ว่าในช่วง 14 ตุลา, 6 ตุลา และหลัง 6 ตุลาถือว่าเป็นช่วงก้าวหน้าของกระฎุมพีไทย อย่างไรก็ตาม ช่วงระยะหลังที่ผ่านมา กระฎุมพีไทยกลายเป็นฝ่ายปฏิกิริยา สมาทานอุดมการณ์ชาตินิยม กษัตริย์นิยม คลั่งชาติ และเริ่มมีอิทธิพลและพฤติกรรมไม่ต่างจากศักดินาในอดีต เพราะส่วนหนึ่งเติบโตขึ้นมาในยุคเศรษฐกิจทุนนิยมเติบโตแบบก้าวกระโดด

การที่กระฎุมพีหันไปหาชนชั้นศักดินาเป็นปรากฏการณ์ระดับโลก ผมเสนอในหนังสือ Royal Capitalism ว่า ในร่างของกระฎุมพีมี 2 วิญญาณที่ย้อนแย้งกันสิงอยู่ วิญญาณแรกคือวิญญาณของคนที่เชื่อมั่นในความสามารถส่วนบุคคล ตั้งใจทำงาน ขยัน ประหยัด และอดทนเพื่อสะสมทุน แต่อีกวิญญาณหนึ่งคือ วิญญาณที่หลงใหลและประทับใจในวัฒนธรรมของเจ้า กิริยามารยาทแบบชนชั้นสูง อยากจะเข้าไปส่วนหนึ่งของ royal society กระฎุมพีอังกฤษก็มีกลิ่นอายแบบนี้เหมือนกัน ความฝันของนักธุรกิจชื่อดัง นักฟุตบอล ผู้จัดการทีมชื่อดังที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเซอร์ นักวิชาการ หรือข้าราชการระดับสูงคือการได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งใน royal society

ส่วนความย้อนแย้งของกระฎุมพีไทยเริ่มเกิดขึ้นในระยะหลังที่กระฎุมพีขาดความมั่นใจ มีความกังวลในการประกอบกิจการ เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 40 ชนชั้นกระฎุมพีเริ่มท้อแท้ต่อความไม่แน่นอนของระบบทุนนิยมประจวบเหมาะกับอุดมการณ์เศรษฐกิจพอเพียงของกษัตริย์รัชกาลที่ 9 ภาพลักษณ์ของพระองค์ตอบโจทย์ได้ทั้ง 2 วิญญาณของกระฎุมพี ในแง่หนึ่ง พระองค์ทรงสนับสนุนให้ขยัน ประหยัด อดทน พอเพียง แต่ในอีกแง่หนึ่ง ด้วยเลือดขัตติยะและพระจริยวัตรอันงดงามของพระองค์ ก็ทำให้กระฎุมพีประทับใจดั่งต้องมนตร์สะกด นี่คือความประจวบเหมาะทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้น

อีกประการหนึ่งที่สำคัญคือ การเมืองไทยในรอบหลายปีที่ผ่านมามีความไร้เสถียรภาพ เกิดกลุ่มการเมืองจากทุนใหม่อย่างทักษิณ เกิดการรัฐประหาร มีการประท้วง เกิดขบวนการการเมืองรากหญ้าอย่างคนเสื้อแดง สถานการณ์เช่นนี้ทำให้กระฎุมพีขาดเสาหลักในการยึดมั่น และเสาหลักที่กระฎุมพีเลือกที่จะยึดให้มั่นไม่ยอมปล่อยในยามวิกฤตคือสถาบันกษัตริย์ ซึ่งปรากฏการณ์เช่นนี้เคยเกิดขึ้นแล้วในก่อนช่วง 6 ตุลาที่มีการประท้วงของนักศึกษาและชนชั้นแรงงานอย่างที่เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน เสนอไว้แล้วในบทความที่ชื่อว่า ‘Withdrawal Symptoms’ (หรือ ‘บ้านเมืองของเราลงแดง’ ในฉบับแปล)
 


การสะสมความมั่งคั่งของสถาบันกษัตริย์ส่งผลอย่างไรบ้างต่ออิทธิพลของสถาบันกษัตริย์ในภูมิทัศน์การเมืองไทย

ในขณะที่พระราชอำนาจมีพลวัตเปลี่ยนแปลงตามช่วงเวลา แต่เงินทอง ทรัพย์สิน และทุนจะยังคงอยู่ต่อไป

ไทยมีพระมหากษัตริย์ที่ได้รับความนิยมในหมู่มหาชนอย่างมากก็จริง แต่ความนิยมในตัวบุคคลไม่ได้แปรไปเป็นความนิยมที่มีต่อสถาบันกษัตริย์ในภาพรวม ซึ่งช่วงเปลี่ยนผ่านรัชสมัยก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าความนิยมไม่ได้ส่งต่อมาในรัชกาลปัจจุบัน พระราชอำนาจก็เช่นกัน กษัตริย์อาจมีพระราชอำนาจสูงในระบอบการเมืองหนึ่ง แต่อาจลดลงในระบอบการเมืองต่อไปก็ได้ เมื่อเผด็จการทหารที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกษัตริย์ถูกประท้วง พระราชอำนาจที่เคยยึดโยงกับระบอบเผด็จการทหารก็อาจลดลงไปพร้อมการล่มสลายของระบอบไปได้เหมือนกัน

แต่พระราชทรัพย์จำนวนมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นเงินทอง หุ้นที่ถือในบริษัทใหญ่ ที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ที่ดินราคาแพงกลางกรุงเทพฯ และพระราชวัง ทรัพย์สินเหล่านี้เปลี่ยนมือไม่ง่าย เลือนหายไปไม่ง่าย อีก 10-20 ปีข้างหน้าทรัพย์สินเหล่านี้ก็ยังคงอยู่ และมีแนวโน้มที่สถาบันกษัตริย์จะสืบทอดความมั่งคั่งเหล่านี้ไปเรื่อยๆ ให้กับสมาชิกราชวงศ์

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพระราชทรัพย์แล้ว จะแก้ไขอีกครั้งก็ทำได้ไม่ง่าย อย่างเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาที่มีการออก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ เปลี่ยนชื่อผู้ถือหุ้นของปูนซิเมนต์ไทยและธนาคารไทยพาณิชย์มาเป็นพระปรมาภิไธยของรัชกาลที่ 10 หากจะเปลี่ยนกลับก็ทำได้ยาก นอกเสียจากว่าจะมีการต่อต้านจากมหาชนครั้งใหญ่ หรือต้องมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองแบบ 2475 ถึงจะสามารถเปลี่ยนแปลงการจัดการสมบัติของกษัตริย์ครั้งใหญ่ได้อีกครั้ง

หากสถาบันกษัตริย์มีอำนาจทางเศรษฐกิจมาก เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในสถาบัน ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนผ่านรัชสมัย หรือมีเรื่องส่วนพระองค์ มักส่งผลสะเทือนต่อทิศทางการเมืองเรื่องทุนและการลงทุนด้วย เมื่อเสถียรภาพระหว่างสถาบัน กองทัพ และนายทุนลดลง ก็นำไปสู่การตั้งคำถามในหมู่นายทุนได้ว่าควรลงทุนหรือไม่ ทุกครั้งที่มีข่าวอ่อนไหวเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ เช่น อาการประชวร หุ้นในตลาดก็ตก

การขยับของสถาบันกษัตริย์ในตลาดการลงทุนยังส่งผลกระทบต่อการลงทุนในภาพรวมด้วย เมื่อสถาบันกษัตริย์ active ในตลาด การเป็นพันธมิตรหรือเลิกเป็นพันธมิตรของสถาบันฯ กับกลุ่มทุนใดกลุ่มทุนหนึ่งก็ส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนของนายทุนกลุ่มอื่นหรือนายทุนต่างชาติ เพราะฉะนั้น การสะสมทุนของสถาบันกษัตริย์ในระยะยาวย่อมนำมาสู่สภาวะดังกล่าว

แล้วเมื่อกษัตริย์กลายเป็นกระฎุมพีเสียเอง ซ้ำมีความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับทุน อะไรคือสิ่งที่ตามมาเมื่อทุนทำงานเสริมหนุนอำนาจของสถาบันกษัตริย์

อย่างแรกคือ สถาบันกษัตริย์มีอิสระทางการเงินสูง

การมีอิสระทางการเงินเป็นเรื่องสำคัญ อย่างภรรยาที่ต้องขอเงินสามีตลอดเวลาก็ไม่ค่อยมีอิสระในการทำอะไร หรือกระทรวง ทบวง กรมที่ต้องอาศัยงบประมาณรัฐในการดำเนินงานแต่ละปีก็ขยับอะไรมากไม่ค่อยได้ แต่ในเมื่อรายได้และความมั่งคั่งของสถาบันกษัตริย์มาจากการลงทุนผ่านสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เป็นหลัก ไม่ใช่งบประมาณจากรัฐบาล สถาบันกษัตริย์จึงไม่จำเป็นต้องสนใจเสียงของ ส.ส. ส.ว. หรือรัฐบาลซึ่งเป็นผู้พิจารณางบประมาณสถาบันพระมหากษัตริย์ สถาบันพระมหากษัตริย์สามารถใช้จ่ายอย่างไรก็ได้โดยปราศจากการตรวจสอบ ไม่ต้องกังวลกับการตัดงบประมาณในรัฐสภา หรือไม่ต้องใส่ใจกับการประท้วงจากมหาชน

ในทางกลับกัน หากรายได้หลักของสถาบันกษัตริย์มาจากงบประมาณรัฐ ความมั่งคั่งของสถาบันกษัตริย์จะขึ้นอยู่กับการเพิ่มงบ-ตัดงบของรัฐสภา หากใช้งบเกินดุล รัฐสภาก็พิจารณาลดงบประมาณในปีถัดมาได้ ซึ่งนี่คือสิ่งที่ควรจะเป็นในระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ

ที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์ หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่รัชกาลที่ 7 ประกาศสละราชสมบัติก็เพราะรัฐบาลคณะราษฎรพยายามโยกสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ให้มาอยู่ภายใต้การจัดการของรัฐบาล และนั่นทำให้สถาบันกษัตริย์ต้องยึดโยงกับรัฐบาลและสภา ไม่ใช่ว่าจะจับจ่ายใช้สอยอย่างไรก็ได้

อย่างที่สอง เจ้าและเจ้าสัวที่มีอำนาจและเงินมหาศาลเป็นพันธมิตรกัน ซึ่งเจ้าสัวไม่ได้มีแต่เงินอย่างเดียว แต่มีอำนาจทางสังคมด้วย แต่ความเป็นพันธมิตรกันทำให้สถาบันกษัตริย์ไม่ต้องกังวลว่านายทุนเหล่านี้จะเป็นนายทุนก้าวหน้าที่จะมาทำลายความมีอภิสิทธิ์ทางเศรษฐกิจของสถาบันกษัตริย์ตามแนวคิดการปฏิวัติกระฎุมพี

ผลลัพธ์ที่ตามมาอีกอย่างหนึ่งคือ นายทุนและภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการเผยแพร่อุดมการณ์กษัตริย์นิยม ปกติการเผยแพร่อุดมการณ์กษัตริย์นิยมจะกระทำผ่านช่องทางของรัฐอย่างสื่อของหน่วยงานรัฐและแบบเรียน แต่ลองสังเกตดูว่าในวาระต่างๆ บริษัทห้างร้านทั้งหลายพร้อมใจกันตั้งซุ้มเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งไม่ได้มีอำนาจใดๆ มาบังคับเสียด้วยซ้ำ ยิ่งทุนอยู่ในชีวิตประจำวันของเรามากเท่าไหร่ทั้งแอปพลิเคชัน โทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต ซีรีส์ การบริโภค ช่องทางต่างๆ อุดมการณ์กษัตริย์นิยมก็ยิ่งอยู่รอบตัวเรามากเท่านั้น

เมื่อสถาบันกษัตริย์และนายทุนมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้น การเปลี่ยนแปลงสังคม ประท้วง ปฏิรูปหรือเรียกร้องประชาธิปไตยกลายเป็นโจทย์ที่ไม่ง่ายนัก เวลาที่ขบวนการต้องการพันธมิตรร่วม อย่างน้อยเจ้าสัวนายทุนทั้งหลายไม่เอาด้วยแล้วกับเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ในแง่นี้ หนึ่งโจทย์สำคัญที่อาจเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จของขบวนการในระยะยาวก็คือ จะทำอย่างไรให้ส่วนหนึ่งของชนชั้นนำหันมาอยู่ฝ่ายขบวนการ หากไม่ใช่กระฎุมพีสายนายทุน ก็เป็นกระฎุมพีหัวก้าวหน้าหรือกระฎุมพีปัญญาชนก็ได้ หรืออย่างน้อย ทำให้ชนชั้นนำเห็นใจขบวนการและลดการสนับสนุนอำนาจชนชั้นนำเก่าลง

รัฐประหารเกี่ยวพันอย่างไรกับอำนาจของกษัตริย์กระฎุมพี

ในการวิเคราะห์ผ่านทฤษฎีมาร์กซิสม์ วิกฤตเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นก่อนวิกฤตทางการเมือง วิกฤตเศรษฐกิจคือสิ่งที่ก่อร่างมาก่อนนานแล้ว ส่วนวิกฤตการเมืองเสมือนเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ระเบิดออกมาว่าวิกฤตถึงจุดแตกหักและชี้ขาดแล้ว

การเมืองไทยก็เช่นกัน รัฐประหารถือเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่กองทัพและชนชั้นนำไม่สามารถทนได้ ต้อง ‘ล้างไพ่’ ครั้งใหญ่ แม้ว่าคุณทักษิณและกลุ่มทุนของคุณทักษิณใกล้ชิดกับสถาบัน ชินคอร์ปฯ รักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับพระราชวัง แต่นโยบายประชานิยมของทักษิณก็มีมิติที่ให้ผลประโยชน์กับมหาชนคนส่วนใหญ่ของประเทศ และไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือนโยบายไปปลุกให้มหาชนส่วนหนึ่งของประเทศกระตือรือร้นมากขึ้น อยากจะลืมตาอ้าปากมากขึ้นในทางเศรษฐกิจ นโยบายของทักษิณก็พร้อมจะอัดฉีดเงินให้ชาวบ้าน และอยากลืมตาอ้าปากมากขึ้นทางการเมือง เริ่มตระหนักว่าตนเองมีสิทธิที่จะเลือกใครก็ได้มาบริหารประเทศ

สภาพเช่นนี้ทำให้โครงการสังคมสงเคราะห์และความช่วยเหลือจากพระราชวัง กองทัพ หรือจากความร่วมมือระหว่างเจ้าสัวกับราชนิกูลเริ่มไม่ได้ผล เพราะในช่วงรัฐบาลทักษิณ หากชาวบ้านต้องการอะไร ความต้องการจะถูกนำไปทำนโยบาย และนโยบายเหล่านี้มาจากการเลือกนักการเมืองอย่างคุณทักษิณขึ้นมาบริหารประเทศ การเมืองเริ่มเข้าใกล้กับระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทนอย่างควรจะเป็นมากขึ้น กองทัพอาจถูกลดบทบาทในการพัฒนา เครือข่ายราชสำนักถูกทักษิณข้ามหน้าข้ามตา อีกทั้งทักษิณมีแนวโน้มที่จะเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนพวกพ้องด้วย ไม่ใช่แค่มหาชน เพราะฉะนั้นในสายตาของชนชั้นนำไทย ซึ่งมีสถาบันกษัตริย์เป็นศูนย์กลาง การ ‘ล้างไพ่’ ครั้งใหญ่จึงต้องเกิดขึ้น

การล้างไพ่ครั้งที่หนึ่งคือ รัฐประหารปี 2549 แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเกิดขบวนการคนเสื้อแดงขึ้นมา หรือต่อให้มวลชนจำนวนมหาศาลนี้ถูกปราบอย่างโหดร้ายทารุณ พวกเขาก็เลือกคุณยิ่งลักษณ์ที่ออกนโยบายเอื้อต่อมหาชนอีก เลย ‘ล้างไพ่’ อีกครั้ง คราวนี้เอาให้หนักเลย โดยการทำรัฐประหารเมื่อปี 2557 และให้ คสช. ที่นำโดยคุณประยุทธ์สืบทอดอำนาจ ซึ่งก็ยังไม่มีแนวโน้มเลยว่าจะลงจากอำนาจเมื่อไหร่ มีการออกยุทธศาสตร์ 20 ปี มีการออกแบบรัฐธรรมนูญ มีการออกแบบโครงสร้างการเมืองที่ฝ่ายตรงข้ามจะพลิกเข้าสู่อำนาจได้ยากมาก

รัฐประหารครั้งที่ผ่านมาก็เป็นการกระชับอำนาจของสถาบัน เช่น พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2561 ซึ่งถ่ายโอนอำนาจของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปอยู่ในมือของในหลวงโดยตรง ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นได้ยากในรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามปกติ แต่สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ถ้าเป็นรัฐบาลที่มาจากกองทัพ



ในเมื่อสถาบันกษัตริย์และทุนมีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นจนแทบแยกออกจากกันไม่ได้ อะไรคือสิ่งที่ประชาชนต้องเผชิญ

อย่างแรกคือ หากประชาชนต้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ แต่ชนชั้นนายทุนไม่เอาด้วย ประชาชนจะขาดแนวร่วมสำคัญ เพราะนายทุนถือเป็นตัวแสดงที่สำคัญทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจ

อย่างที่สอง หากเราอยากปฏิรูประบบเศรษฐกิจครั้งใหญ่ อยากได้รัฐสวัสดิการอย่างที่มีข้อเรียกร้องเกิดขึ้นในรอบหลายปีที่ผ่านมา ต้องเก็บภาษีคนรวยเพื่อกระจายความมั่งคั่งให้มากขึ้น แต่ถ้าสถาบันกษัตริย์ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอก็เป็นไปได้ยาก เพราะคงไม่เป็นการกล่าวเกินเลยหากจะกล่าวว่าในบ้านเมืองเรา การที่กษัตริย์จะทรงรับสั่งว่าพระองค์จะ ‘เอา’ หรือ ‘ไม่เอา’ อะไรถือว่าเป็นวาระระดับชาติ นอกจากนั้น กษัตริย์ก็ถือเป็นกลุ่มทุนหนึ่งในตลาดเช่นกันและมีทรัพย์สินที่มั่งคั่ง เพราะฉะนั้นการขึ้นภาษีคนรวยย่อมกระทบต่อความมั่งคั่งของสถาบันกษัตริย์ด้วย นั่นจึงเป็นเรื่องที่ยากมากหากสถาบันกษัตริย์จะหันมาสนับสนุนการปฏิรูประบบเศรษฐกิจครั้งใหญ่หรือส่งเสริมรัฐสวัสดิการ

นอกจากนี้ หากเราจะตีแผ่ปัญหาของความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์กับนายทุน ตรวจสอบการบริจาคว่านายทุนทั้งหลายบริจาคให้กษัตริย์กี่ร้อยกี่พันล้าน ตรวจสอบโครงการหลวง ตรวจสอบความไม่โปร่งใสระหว่างรัฐ-กษัตริย์-ทุน อย่างเรื่องสัญญาผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 เรื่องเหล่านี้ทำได้ยากเพราะกฎหมายมาตรา 112 กลายเป็นว่าประชาชนสามารถตั้งคำถามได้จำกัด สถาบันกษัตริย์เป็นเสมือนผู้คุ้มกันทางอุดมการณ์ไม่ให้วิพากษ์กลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ได้ตรงจุด

ผมขอยกการเปรียบเทียบแบบคู่ขนานว่า อุดมการณ์ราชาชาตินิยมสำคัญมากในไทย การวิพากษ์สถาบัน หรือเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันเท่ากับชังชาติ ฉันใดก็ฉันนั้นหากวิพากษ์ทุนใหญ่และศึกษาการสะสมทุนในแบบเจาะลึกมากๆ ทั้งซีพี เบียร์ช้าง เซ็นทรัล เราจะพบว่ากลุ่มทุนเหล่านี้ล้วนมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับสถาบันกษัตริย์ สิ่งที่จะตามมาคือการวิพากษ์ทุนอาจเป็นการวิพากษ์สถาบันกษัตริย์ไปด้วย และถ้าคุณชังทุนก็เท่ากับว่าคุณชังสถาบันกษัตริย์ไปด้วย

ความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์และทุนยังทำให้ประชาชนเสียโอกาสในการเรียกร้องสวัสดิการจากรัฐ หากดูประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับนายทุนไทยในช่วงรัชกาลที่ 9 สิ่งหนี่งที่เกิดขึ้นคือ สถาบันกษัตริย์และทุนมักใช้แนวทางเสรีนิยมใหม่ที่เน้นให้ปัจเจกบุคคลจัดการตนเอง ดูแลตนเอง รัฐไม่ค่อยมีงบในการจัดสรรสวัสดิการ วิธีเดียวที่ประชาชนจะลืมตาอ้าปากหรืออยู่รอดได้ คือการหวังพึ่งโครงการหลวงหรือกิจการสังคมสงเคราะห์ของราชนิกูล ซึ่งเป็นโครงการที่เอกชนและนายทุนทั้งหลายเข้าไปมีส่วนร่วม หรือหากไม่ได้มีส่วนร่วมโดยตรง นายทุนก็ตั้งโครงการขึ้นมา เช่น เบียร์สิงห์ของบุญรอดบริวเวอรี่ก็ตั้งโครงการสังคมสงเคราะห์ช่วยเหลือชาวบ้านขึ้นมาโดยอิงกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

นายทุนไม่ต้องการให้มีรัฐสวัสดิการ เพราะบทบาทสังคมสงเคราะห์ของนายทุนจะหายไป โดยเฉพาะบทบาทที่ราชนิกูลเข้าไปมีส่วนร่วมในการแจกผ้าห่ม แจกถุงยังชีพ แจกน้ำดื่ม จัดซื้อวัคซีน เพราะฉะนั้นสิ่งที่ประชาชนจะเสียประโยชน์ไปคือ สวัสดิการต่างๆ จากรัฐ เช่น การเรียนฟรี รักษาโรคภัยไข้เจ็บฟรี หรือโอกาสที่จะได้วัคซีนฟรีถ้วนหน้า มิติตรงนี้จะหายไปตราบเท่าที่เรายังปล่อยให้ทุนกับเจ้าครองอำนาจอยู่ทั้งในตลาดและในทางการเมือง

:: กษัตริย์กระฎุมพีท่ามกลางกระแสการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ::

เมื่อเปลี่ยนผ่านรัชสมัย สถานะความเป็น ‘สถาบันกษัตริย์กระฎุมพี’ ในสมัยรัชกาลที่ 10 เปลี่ยนไปจากสมัยรัชกาลที่ 9 อย่างไรบ้าง ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์และทุน เปลี่ยนไปอย่างไร อุดมการณ์กระฎุมพีของสถาบันยังทำงานเหมือนเดิมอยู่หรือไม่ ต่างจากสมัยรัชกาลที่ 9 อย่างไร

หนึ่งในข้อวิพากษ์วิจารณ์ต่อข้อเสนอกษัตริย์กระฎุมพีที่ผมได้รับคือ กษัตริย์กระฎุมพีเกิดขึ้นแค่ในสมัยรัชกาลที่ 9 เท่านั้น เพราะภาพลักษณ์ของกษัตริย์รัชกาลที่ 9 โดดเด่นและทรงมีพระบารมีสูงเป็นกรณีพิเศษ และเมื่อเปลี่ยนผ่านสู่รัชสมัยใหม่ ความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างทุนและกษัตริย์จะหายไปเพราะความนิยมในสถาบันกษัตริย์ลดลง

อย่างไรก็ตาม ผมไม่ได้อธิบายบทบาทของกษัตริย์กระฎุมพีหรือความสัมพันธ์ระหว่างทุนกับกษัตริย์เพียงแค่ในเชิงภาพลักษณ์อย่างเดียว ผมอธิบายในเชิงความสัมพันธ์ทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ หรือความสัมพันธ์ระหว่างสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์กับกลุ่มทุนต่างๆ ด้วย

หากถามว่าความเป็นกษัตริย์กระฎุมพีในรัชกาลที่ 10 แตกต่างจากรัชกาลที่ 9 อย่างไร ที่ตรงประเด็นเลยคือ ภาพลักษณ์ของทั้งสองพระองค์แตกต่างกัน จุดต่างอีกอย่างหนึ่งคือการจัดการความมั่งคั่ง ในสมัยรัชกาลที่ 9 กษัตริย์เลือกทีมงานบริหารสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่เป็นมืออาชีพ อย่างมือหนึ่งที่ดูแลพระราชทรัพย์มาอย่างยาวนานกว่า 30 ปีคือจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา แต่ในสมัยรัชกาลที่ 10 จะต่างออกไปตรงที่ว่ามีแนวโน้มที่จะรวมศูนย์อำนาจในการจัดการทรัพย์สินมากขึ้น คืออำนาจรวมอยู่ที่กษัตริย์ และมีการแต่งตั้งให้นายทหารคนสนิทและไว้วางพระทัยเข้าไปดูแล นั่นก็คือพลอากาศเอก สถิตย์พงษ์ สุขวิมล แทนที่จะเป็นนักบริหารธุรกิจมืออาชีพ

ส่วนจุดที่เหมือนกันคือความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างชนชั้นนายทุนกับกษัตริย์ยังคงอยู่ ยังคงมีการบริจาคหรือการขอเข้าเฝ้าของนายทุนระดับยักษ์ใหญ่ของไทย หรือกระทั่งนายทุนต่างประเทศ รวมไปถึงการพระราชทานเครื่องราชฯ ให้กับคนที่จงรักภักดีต่อสถาบันอยู่ การพระราชทานเครื่องราชฯ ระดับสูงให้แก่เจ้าสัวใหญ่ไม่กี่ตระกูล อย่างเจ้าสัวซีพี เจ้าของเบียร์ช้าง กลุ่มทุนเซ็นทรัล ฯลฯ ยังมีอยู่ตามปกติ แม้ในช่วงที่กระแสปฏิรูปสถาบันกษัตริย์กำลังขึ้นสูงในหมู่มวลชน ไหนจะการบอยคอตสินค้าของคนรุ่นใหม่ แต่กลุ่มทุนทั้งหลายดูเหมือนจะไม่ไขว้เขวในการเป็นพันธมิตรทางการเมืองกับสถาบันฯ

ในฐานะคนที่สนใจเรื่องทุน อะไรคือสิ่งที่ต้องจับตามอง

ต้องยอมรับว่า พระบารมีของในหลวงรัชกาลที่ 9 ยังคงทรงพลังอยู่ เช่น ในสื่อต่างๆ ยังคงอิงกับพระบรมราโชวาทของรัชกาลที่ 9 หรือแบบเรียนจะต้องมีการอิงสถาบันกษัตริย์กับรัชกาลที่ 9 ตลอด คำถามคือ พระบารมีของรัชกาลที่ 9 จะยังคงอยู่ต่อไปอีกนานหรือไม่

อย่างที่สอง การที่เกิดกระแสกระฎุมพีกลายเป็น ‘สลิ่มกลับใจ’ ออกมาต่อต้านประยุทธ์ เช่นคุณลูกนัท (ธนัตถ์ ธนากิจอำนวย) ทายาทเศรษฐีชื่อดังที่ออกมาต้านคุณประยุทธ์ คำถามคือ การต่อต้านประยุทธ์และรัฐบาลเผด็จการทหารจะนำไปสู่การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ไปด้วยหรือไม่ เพราะการประท้วงของคนรุ่นใหม่เริ่มจากการต่อต้านรัฐบาลเผด็จการก่อน แล้วค่อยผลักเพดานไปถึงการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ หรือจะกลายเป็นว่ากระฎุมพีที่ต่อต้านประยุทธ์เลือกที่จะหยุดอยู่ที่การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเท่านั้น แต่ไม่เรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

ประเด็นสุดท้ายคือ ผู้ที่ต้องการให้เกิดการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในตอนนี้ต้องการปฏิรูปแค่รัชกาลปัจจุบันหรือไม่ พูดอีกอย่างคือมีปฏิกิริยาเชิงลบต่อตัวบุคคลเท่านั้น แต่ยังไม่ต้องการปรับเปลี่ยนเชิงสถาบัน หรือจะไปไกลกว่านั้นและพร้อมจะก้าวข้ามตัวบุคคล นั่นก็คือพวกเขาต้องการให้เกิดการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ครั้งใหญ่ จัดวางพระราชอำนาจและพระราชทรัพย์อย่างที่ควรจะเป็นภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ เพื่อให้ผลของการปฏิรูปจะยังคงอยู่ในระยะยาว ไม่ว่าจะผ่านไปกี่รัชกาลหลังจากนี้ก็ตาม

จากการประท้วงของคนรุ่นใหม่ที่นำไปสู่ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ คุณมองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไรบ้าง

ผมมองว่าคนรุ่นใหม่สร้างคุณูปการอย่างมากต่อการเมืองไทยสมัยใหม่ ประการแรกคือ ทำให้การพูดถึงสถาบันกษัตริย์กลายเป็นเรื่องปกติทั่วไปมากขึ้น เป็นเรื่องที่พูดถึงได้โดยไม่ต้องคอยเซ็นเซอร์ตัวเอง และเป็นเรื่องที่วิพากษ์ได้อย่างตรงไปตรงมามากขึ้นในที่พื้นที่สาธารณะ

อย่างไรก็ตาม อาจจะต้องบอกว่าคนรุ่นใหม่เป็นหนี้คนเสื้อแดง ก่อนหน้านี้คนเสื้อแดงก็วิพากษ์สถาบันกษัตริย์ แต่ด้วยบริบททางสังคมในช่วงนั้นและการใช้กำลังของฝ่ายทหารปราบปรามอย่างดิบเถื่อน ทำให้คนเสื้อแดงต้องเอ่ยถึงสถาบันกษัตริย์โดยใช้คำเปรียบเปรยในเพลง วรรณกรรม การพ่นสี การประท้วง แต่คุณูปการของคนรุ่นใหม่คือ ผู้คนจำนวนไม่น้อยในสังคมตอนนี้พร้อมที่จะเอ่ยชื่อกษัตริย์และสถาบันกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมามากขึ้น จากที่แต่ก่อนเอ่ยเพียงแค่ ‘คนที่คุณรู้ว่าใคร’ หรือ ‘สถาบัน’ และเริ่มมีการวิพากษ์อย่างตรงไปตรงมาในที่สาธารณะ แทนที่จะทำกันในที่ลับ บนโต๊ะทานข้าว หรือข้างที่กดน้ำในที่ทำงาน อย่างที่เคยทำกันในอดีต

อีกหมุดหมายหนึ่งคือการตัดสินใจไปประท้วงหน้าสำนักงานใหญ่ไทยพาณิชย์ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งสำคัญมาก เพราะก่อนหน้านี้ คนมักมองว่าขบวนการคนรุ่นใหม่ต้องการไล่ประยุทธ์หรือปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในทางการเมือง แต่พื้นที่ของการประท้วงในครั้งนั้นคือ หน้าสำนักงานใหญ่ของกลุ่มทุนขนาดใหญ่มาก ซึ่งเป็นเสาหลักสำคัญในการสะสมความมั่งคั่งของสถาบันกษัตริย์ ในอนาคต ขบวนการต้องไม่ละเลยความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับทุน และต้องระวังไม่ให้การประท้วงด้วยแนวทางนี้มลายหายไป แก้รัฐธรรมนูญก็สำคัญ แต่การผลักดันประเด็นเหล่านี้คู่ขนานกันไปด้วยถือเป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกัน

อย่างสุดท้ายที่เป็นนิมิตหมายที่ดีทางการเมืองและผมชอบมากโดยส่วนตัวคือ การบอยคอตสินค้า บริการ หรือร้านอาหารที่ผู้บริหารเป็นฝ่ายอนุรักษนิยม มีทัศนคติที่ไม่ก้าวหน้า แบนสื่อที่เป็นปฏิปักษ์ต่อขบวนการประชาธิปไตย หรือการตามเช็กบิล ตรวจสอบจุดยืนทางการเมืองของคนดังที่เคยไปร่วมประท้วง กปปส. ซึ่งมีอุดมการณ์กษัตริย์นิยม นี่คือการทำให้เศรษฐกิจ การบริโภคในชีวิตประจำวันกลายเป็นเรื่องที่แยกไม่ออกจากการเมืองบนท้องถนน ซึ่งปกติเรามักจะมองเป็นเรื่องแยกขาดจากกัน

หากมองผ่านแนวคิดกษัตริย์กระฎุมพี อะไรคือสิ่งที่นำไปสู่การเกิดขบวนการคนรุ่นใหม่ กล่าวได้ไหมว่าขบวนการคนรุ่นใหม่กำลังอยู่ในสถานะ ‘ผู้ถูกกดขี่’ อย่างที่ขบวนการคนเสื้อแดงเผชิญเมื่อทศวรรษที่ 2550

ผมคิดว่าปรากฏการณ์ที่คนรุ่นใหม่เริ่มสนใจการเมืองและออกมาประท้วงครั้งใหญ่ของทศวรรษนี้ล้อไปกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นกับคนเสื้อแดง

คนเสื้อแดงส่วนมากนับได้ว่าเป็นผู้ที่ถูกกดขี่ เพราะเป็นชนชั้นแรงงาน ทำอาชีพที่ใช้แรงงาน อาชีพที่เสียเปรียบทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นกรรมกร ชาวนาชาวไร่ หรือคนที่ทำอาชีพในภาคอุตสาหกรรมบริการเช่น หมอนวด คนขายพวงมาลัย คนขับแท็กซี่

ส่วนม็อบราษฎรที่ส่วนมากเป็นขบวนการของคนรุ่นใหม่ นิสิตนักศึกษา เยาวชน ในทางทฤษฎี พวกเขาคือกลุ่มคนที่เรียกว่า ‘the proletariat in the making’ หรือกรรมาชีพที่กำลังก่อตัวอยู่ และถ้าพวกเขาเข้าไปในตลาดแรงงานในอนาคตอันใกล้ พวกเขาก็จะมีชะตาชีวิตไม่ต่างจากเสื้อแดง อาจจะดีกว่านิดหน่อย แต่ใครจะไปรู้ว่าในอนาคตพวกเขาก็อาจจะเป็นเหมือนคนเสื้อแดงก็ได้

ปัญหาของการเมืองไทยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาคือพระราชวัง กองทัพ นายทุน ไม่ค่อยฟังเสียงคนส่วนใหญ่ ประชาชนเลือกพรรคการเมืองที่เสนอนโยบายแก้ไขปัญหาปากท้องขึ้นมา เพราะต้องการความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ปรากฏว่าชนชั้นนำก็หาทางล้มกระดาน นี่คือโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับคนเสื้อแดงที่อกหักมาก่อน โดนล้อมปราบมาก่อน เจ็บจริงตายจริง

คนรุ่นใหม่ก็กำลังเผชิญสิ่งเดียวกัน และหมุดหมายสำคัญคือการยุบพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งต่อให้ไม่ได้กาให้พรรคอนาคตใหม่ คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยก็เอาใจช่วยนักการเมืองรุ่นใหม่อย่างธนาธร ปิยบุตร พรรณิการ์ ให้เข้าไปเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง การยุบพรรค พรากสิทธิทางการเมืองคือชะตากรรมที่คนเสื้อแดงเผชิญมาก่อน

ตราบใดที่การเมือง เศรษฐกิจ สังคมยังเป็นเช่นนี้ เขามองไม่ออกเลยว่าพอเข้าตลาดแรงงานไปแล้วจะจ่ายหนี้ที่กู้ค่าเรียนอย่างไร หรือถ้าไม่นับเงินกู้ ค่าเรียนก็มาจากพ่อแม่ที่น่าจะเป็นชนชั้นกลางและชนชั้นแรงงานทั้งนั้น เขาก็เป็นหนี้ แล้วก็มองไม่เห็นอนาคตเลยว่าจะใช้หนี้ได้อย่างไรเมื่อเข้าสู่ตลาดแรงงาน

สวัสดิการของรัฐที่มีก็ลดลงไปทุกวันๆ อย่างการที่มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ไม่ให้รัฐเข้ามาอุ้มสถาบันการศึกษาเพื่อตัดงบ ก็คือการปล่อยให้การศึกษาเป็นเรื่องของใครของมัน ผมเชื่อว่าคนรุ่นใหม่เหลืออดแล้ว ทั้งหมดนี้คือภาวะ perfect storm หรือคลื่นลูกใหญ่ที่ถาโถมการเมืองไทยในรอบปีที่ผ่านมา



อะไรคือสิ่งที่ทำให้คนรุ่นใหม่ดันเพดานทะลุไปถึงการเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ รวมไปถึงการวิพากษ์ความมั่งคั่งและทรัพย์สินของสถาบันกษัตริย์ได้

ผมมองว่าคนรุ่นใหม่มีอภิสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูลอย่างที่คนรุ่นก่อนไม่มี ไม่ว่าจะเป็นอินเทอร์เน็ต ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก การเข้าถึงวัฒนธรรมป็อปได้มากกว่า มีการศึกษาที่ถือว่าก้าวหน้ากว่าเมื่อเทียบกับคนเสื้อแดง มีโอกาสจะเห็นความย้อนแย้งในบ้านเมืองได้มากกว่า ความย้อนแย้งที่ว่านี้หมายถึงสิ่งที่ได้รับการปลูกฝัง หรือประชาสัมพันธ์เป็นอย่างหนึ่ง แต่สิ่งที่เห็นในโลกออนไลน์กลับเป็นอีกอย่างหนึ่ง ยิ่งไปกว่านั้น คนเสื้อแดง นักเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือนักวิชาการที่ย้ายไปอยู่ต่างแดนก็เคลื่อนไหวทางการเมืองหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลจากต่างประเทศให้คนที่อยู่ในไทย นี่ยิ่งทำให้ความย้อนแย้งชัดแจ้ง ถึงจุดหนึ่ง ผมคิดว่าคนรุ่นใหม่ก็ทนไม่ได้กับความย้อนแย้งของบ้านเมือง และอยากจะเปลี่ยนแปลงประเทศ

และที่สำคัญคือ กรณีการยุบพรรคอนาคตใหม่ที่กลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายสำหรับคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเลือกหรือไม่ได้เลือกพรรคอนาคตใหม่ก็ตาม ก่อนการยุบพรรคอนาคตใหม่ พรรคเล่นการเมืองแบบกระฎุมพีเสรีนิยม พยายามก้าวข้ามขั้วการเมืองสีเสื้อ ไม่แตะสถาบันกษัตริย์ กองทัพ แต่เมื่อเกิดกรณียุบพรรค ท่าทีพรรคเปลี่ยนทันที พรรคมีความถอนรากถอนโคน (radical) มากขึ้น มองแก่นปัญหาการเมืองไทยทะลุ

หลังกรณียุบพรรค คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยที่ทนไม่ได้กับสภาวะการเมืองที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ย่ำอยู่กับที่และไม่มีความก้าวหน้า เริ่มมีกระแสการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เข้มข้นมากขึ้นกว่าเดิมว่าใครอยู่เบื้องหลังการเมืองไทย มีการถกเถียงในทางความคิดมากขึ้น ผ่านแนวทางการวิเคราะห์ทางการเมืองที่มีนักวิชาการกรุยทางมาก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรัฐเร้นลึก (deep state) เครือข่ายกษัตริย์ หนังสือ ประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง ของธงชัย (วินิจจะกูล) ที่ตีพิมพ์มาก่อนหน้านี้หลายปี ก็กลายเป็นดั่งคัมภีร์ที่คนรุ่นใหม่ถือเอาเข้าไปอ่านตอนร่วมกิจกรรมประท้วง

นี่คือจังหวะการเมืองที่ประจวบเหมาะพอดี ผมมองว่าการจะแก้ปัญหาการเมืองให้ตรงจุด ต้องตีตะปูให้ตรงหัว ไม่ใช่เฉี่ยวไปเฉี่ยวมาตลอด ถ้าจะตีตะปูให้ตรงหัวต้องพูดถึงเรื่องสถาบันกษัตริย์ด้วย ไม่ใช่แค่วิพากษ์ประยุทธ์ กองทัพ หรือศาลรัฐธรรมนูญ

การจะคลายปมเงื่อนทางการเมืองคือต้องตีตะปูให้ตรงจุด ในบรรดาพรรคฝ่ายประชาธิปไตยอย่างพรรคเพื่อไทยก็มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนว่าจะไม่ขับเคลื่อนเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์แน่นอน และก็เริ่มกลับมาได้รับความนิยมในหมู่คนรุ่นใหม่จากการกลับมาของ ‘โทนี วูดซัม’

การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์คือทิศทางที่น่าจะก้าวหน้าที่สุดแล้วของพรรคการเมือง สำหรับกรณีพรรคเพื่อไทยก็ยังติดอยู่ตรงที่ว่า คุณทักษิณมีอิทธิพลค่อนข้างสูงต่อพรรค และคุณทักษิณก็ทำให้มวลชนของพรรคผิดหวังหลายครั้ง คุณทักษิณกับคุณยิ่งลักษณ์มีโอกาสที่จะสนับสนุนการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ แต่ก็เลือกที่จะไม่พูดถึง

ในอนาคต หากพรรคเพื่อไทยยังเลือกที่จะมองไม่เห็นหรือไม่แตะงบประมาณสถาบันกษัตริย์ อำนาจในรัฐธรรมนูญ หรือประเด็นอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ ก็มีแต่จะเสื่อมความนิยมลง การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เป็นประเด็นที่สำคัญมากสำหรับคนรุ่นใหม่ เพราะมันน่าอึดอัดที่ระบอบการเมืองไม่ก้าวไปข้างหน้า พอตั้งคำถามต่อกลุ่มทุนแล้วสุดท้ายก็ไปลงเอยว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสถาบันกษัตริย์ ยังไม่นับว่ามีคนเสื้อแดงที่ผิดหวังมานานแล้วกับการที่เพื่อไทยเลือกที่จะเฉยเมยต่อประเด็นสถาบันกษัตริย์

ในอนาคต ตราบเท่าที่มวลชนพยายามจะทำให้การพูดถึงสถาบันกษัตริย์เป็นเรื่องปกติทั่วไปและยอมรับได้ในสังคม อย่างน้อยพรรคการเมืองต้องฟังมวลชนและตามมวลชนมากขึ้น ส่วนพรรคที่ไม่ตามก็มีแนวโน้มที่จะเสื่อมความนิยมลงในที่สุด

ในเส้นทางสู่ประชาธิปไตยกว่า 89 กว่าปีที่ผ่านมา ‘สถาบันกษัตริย์กระฎุมพี’ ที่รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์และทุนเกี่ยวพันกับการเปลี่ยนผ่านหรือการถดถอยของประชาธิปไตยไทยอย่างไรบ้าง

ในหนังสือ Royal Capitalism ผมเสนอว่า สถาบันกษัตริย์ไม่ได้มีจุดยืนทางการเมืองประชาธิปไตยที่ชัดเจน สถาบันกษัตริย์พร้อมจะปรับเปลี่ยนจุดยืนได้ตลอด อย่างตอนนี้เผด็จการทหารครองอำนาจ กษัตริย์ก็เป็นพันธมิตรกับกองทัพ แต่พอกระแสประชาธิปไตยมาแรง ประชาชนประท้วงไล่ทหารให้กลับกรมกอง กษัตริย์ก็พร้อมที่จะอยู่ในกระแสประชาธิปไตย เพราะฉะนั้น ไม่ว่าประชาธิปไตยจะเดินหรือถอยหลังก็ตาม สถาบันกษัตริย์ไม่ใช่ความหวังของการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย

หนึ่งในหลักการสำคัญหรือแก่นของประชาธิปไตยคือความเท่าเทียม ไม่ว่าจะยากดีมีจน ทุนคนก็มีสิทธิมีเสียงเท่าเทียมกันในการเลือกตั้งผู้แทน แต่แก่นของระบอบกษัตริย์ตั้งอยู่บนฐานของความสูงต่ำ ยศถาบรรดาศักดิ์ ความเหลื่อมล้ำ อภิสิทธิ์มาพร้อมกับสายเลือดและสืบทอดผ่านสายเลือด มีการแบ่งลำดับชนชั้นชัดเจนว่าใครคือเจ้า ใครคือสามัญชน กระทั่งในหมู่เจ้าก็ยังมีการจัดลำดับสูงต่ำกันอีก

ในสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ที่มหาชนทุกคนเท่าเทียมกัน สถาบันกษัตริย์ดำรงอยู่อย่างลักลั่น แต่ตราบเท่าที่สถาบันกษัตริย์เล่นบทบาทรอง เป็นแค่สัญลักษณ์เชิงประเพณี วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์เท่านั้น สถาบันกษัตริย์ก็สามารถดำรงอยู่กับระบอบประชาธิปไตยได้

ดังนั้น ในกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย เราควรคาดหวังไปที่พลังของมหาชน การสร้างรัฐบาล รัฐสภาและพรรคการเมืองที่เข้มแข็งมากกว่า ในทางกลับกัน ภาวะถอยหลังกลับของประชาธิปไตยในช่วงที่ผ่านมา เรารู้ว่าสถาบันไหนที่สร้างความชอบธรรมให้แก่กองทัพ กลุ่มผู้ประท้วงอนุรักษนิยมอย่าง กปปส. ที่พาประชาธิปไตยถดถอย ไม่เอาหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงเท่ากันทุกคน และที่สำคัญ เสาหลักที่ขบวนการอนุรักษนิยมเหล่านี้ยึดโยงคืออุดมการณ์กษัตริย์นิยม ในแง่นี้ อุดมการณ์ที่เกื้อหนุนให้ประชาธิปไตยถดถอยก็คืออุดมการณ์กษัตริย์นิยม

ว่ากันว่าระบบเศรษฐกิจทุนนิยมไปด้วยกันได้ดีกับการเมืองประชาธิปไตย เพราะฉะนั้น สถาบันกษัตริย์ที่เป็นกษัตริย์กระฎุมพีควรจะไปได้ดีกับระบอบประชาธิปไตยด้วยไหม

เราจะมีภาพติดตาว่าระบบทุนนิยมมักจะไปได้ดีกับระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะมีประเทศที่ทุนนิยมก้าวหน้าที่มีความเป็นประชาธิปไตยสูง เคารพสิทธิเสรีภาพ มีรัฐธรรมนูญที่เข้มแข็ง มีพรรคการเมืองที่เข้มแข็งอย่างฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา หรือกลุ่มประเทศนอร์ดิก

อย่างไรก็ดี นั่นเป็นเพียงสายธารหนึ่งเท่านั้น ทุนนิยมและประชาธิปไตยไม่จำเป็นต้องผูกติดกันเป็นปาท่องโก๋ มีประเทศที่ทุนนิยมก้าวหน้ามากแต่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องสิทธิเสรีภาพและความเป็นประชาธิปไตยอยู่เหมือนกันอย่างสิงคโปร์ หรืออย่างยุคนี้ก็ไม่มีใครกล้าปฏิเสธแล้วว่าจีนไม่ใช่ทุนนิยมและไม่มีชนชั้นกระฎุมพีจำนวนมหาศาลที่มั่งคั่งร่ำรวยมากที่สุด แต่กระนั้น จีนก็ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย

นี่เป็นปัญหาสำคัญในแง่ที่ว่ากระฎุมพีไทยมองจีนเป็นแบบอย่าง ไม่ต้องมีประชาธิปไตยเศรษฐกิจก็โตได้ ประชาธิปไตยวุ่นวาย เสียงมหาชนประท้วงหนวกหู ให้พลเอกประยุทธ์ครองอำนาจต่อจะเป็นอะไรไป หรือต่อให้เป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็เข้ากับระบบทุนนิยมได้ อย่างกษัตริย์ซาอุดิอาระเบียก็ลงทุนในตลาดน้ำมันเหมือนกัน

ในศตวรรษที่ 21 มีทางเลือกโมเดลทุนนิยมอื่นๆ หลากหลายขึ้น ส่วนไทยจะเลือกเดินไปในทิศทางไหน ก็ขึ้นอยู่กับว่าประชาชนต้องการแบบไหน ซึ่งก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่เชื่อว่าประชาธิปไตยไม่สำคัญตราบใดที่ปากท้องยังอิ่ม เม็ดเงินยังไหลเวียน ไม่มีการประท้วงทางการเมือง กลายเป็นว่าเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน เสรีภาพสื่อกลายเป็นเรื่องรองลงไปจากเรื่องเศรษฐกิจ

มีคำกล่าวที่ว่า “ทุนนิยมที่ก้าวหน้า ดีกว่าศักดินาที่ล้าหลัง” แล้ว ‘ทุนนิยมภายใต้ราชูปถัมภ์’ ก้าวหน้ากว่า ‘ศักดินา’ หรือไม่

ถ้าตอบแบบสั้นๆ คือใช่ ทุนนิยมภายใต้ราชูปถัมภ์ย่อมดีกว่าระบบศักดินาเมื่อ 2-3 ร้อยปีก่อนแน่นอน และระบบศักดินาก็ดีกว่าสังคมทาส เฉกเช่นเดียวกันกับการที่ผมเชื่อว่า สังคมนิยมย่อมดีกว่าทุนนิยม นี่คือการมองประวัติศาสตร์ในแง่ที่ว่า สังคมมีการพัฒนาต่อไปข้างหน้าเรื่อยๆ

แต่ถ้าตอบแบบยาว กระทั่งนักคิดคนสำคัญอย่างคาร์ล มาร์กซ์เองก็ตระหนักดีว่า การมองว่าทุนนิยมก้าวหน้ากว่าศักดินาเป็นอะไรที่ค่อนข้างฉาบฉวย ภายใต้ระบบทุนนิยม สิ่งที่ปรากฏอยู่ตรงหน้าเหมือนจะก้าวหน้า มาร์กซ์ได้กล่าวไว้ว่า ชนชั้นแรงงานคือมหาชนในระบบทุนนิยมดูเหมือนจะได้รับการ ‘ปลดปล่อย’ ให้มี ‘อิสระเสรีภาพ’ แรงงานสามารถเดินเหินไปที่ไหนก็ได้ จะสมัครงานที่ไหนก็ได้ ไม่พอใจลาออกก็ได้ ตื่นมาจะทำงานก็ได้ หรือถ้าขี้เกียจจะไม่ไปทำงานก็ได้ ในขณะที่ในระบบศักดินา แรงงานคือไพร่ที่ถูกบังคับต้องทำงานในที่นา ถูกเจ้าขุนมูลนายกดขี่ เฆี่ยนตี

แต่ภายใต้ฉากหน้าของความก้าวหน้าและอิสรภาพในระบบทุนนิยม กลับมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมืองที่ยังกดทับอยู่ ไม่ว่าจะอย่างไร แรงงานตื่นมาก็ต้องไปทำงาน เพราะไม่เช่นนั้นจะไม่มีอะไรกิน และแม้ว่าโรงงานจะให้ค่าแรงน้อย ไม่พอซื้ออาหารและดำรงชีพ อยากจะลาออกแต่ก็ลาออกไม่ได้ ต่อให้ถูกกดขี่แค่ไหน พรุ่งนี้ตื่นมาก็ต้องไปทำงาน นี่คือการกดขี่ขูดรีดและลิดรอนอิสรภาพภายใต้ระบบทุนนิยม นอกจากนั้น ทุนนิยมก็ยังมีความล้าหลังในแบบของมัน อย่างเช่นการที่ความรุนแรงก็ยังถูกนำมาใช้เสมอในตอนที่ความขัดแย้งทางชนชั้นปะทุออกมาจนนายทุนไม่สามารถควบคุมได้ เช่น การที่ตำรวจใช้อำนาจปราบปรามและสลายการประท้วงนัดหยุดงานของชนชั้นแรงงาน

ยิ่งไปกว่านั้น ระบบทุนนิยมยังพยายามแยกการเมืองออกจากเศรษฐกิจอย่างแยบยล คนจน แรงงาน กรรมกรมีสิทธิทางการเมือง มีสิทธิเลือกตั้งได้โดยไม่ตั้งอยู่บนเพศ สีผิว ศาสนา แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่แรงงานออกมาประท้วงเรียกร้องค่าแรง นั่นคือเรื่องใหญ่และเป็นเรื่องที่ชนชั้นนายทุนยอมไม่ได้

ระบบทุนนิยมไทยในยุคปัจจุบันที่สถาบันกษัตริย์มีบทบาทสำคัญก็มิติที่ก้าวหน้าเหมือนกัน เรามีเสรีภาพในการบริโภค เราจะดูซีรีส์เกาหลีหรือเดินห้างก็ได้ ไม่ต้องอยู่ในระบบศักดินาที่ต้องถูกบังคับให้สักเลก ถูกบังคับให้ทำงาน 6 เดือนให้วัง อีก 6 เดือนทำงานให้เจ้าขุนมูลนาย อำนาจไม่ได้รวมศูนย์อยู่ที่สถาบันกษัตริย์เหมือนในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์อีกต่อไป เรามีรัฐธรรมนูญ มีนักการเมืองที่เป็นตัวแทนประชาชน มีกระบวนการยุติธรรม องค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ เรามีองค์กรภาคประชาสังคม

แต่คำถามสำคัญคือ ภายใต้เปลือกนอกที่ประชาชนมี ‘เสรีภาพทางการเมือง’ เรามีสิทธิเลือกผู้นำได้ 100% จริงหรือไม่ รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ที่ผ่านการลงประชามติ ตกลงแล้วเสียงของใครดังกว่ากันระหว่างประชาชน 10 กว่าล้านคนที่โหวตรับหรือเสียงของกษัตริย์ในการรับสั่งให้พิจารณาทบทวนแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตรา หรือการจัดงบประมาณของรัฐบาลที่สุดท้ายขึ้นอยู่กับ ส.ส. ที่ประชาชนเลือกเข้าสภาจริงหรือไม่ นี่ยังไม่ต้องพูดถึง ‘เสรีภาพทางเศรษฐกิจ’ ที่ดูจะเป็นอภิสิทธิ์ของคนร่ำคนรวยเท่านั้น ในขณะที่คนหาเช้ากินค่ำทั้งหลายในยุคปัจจุบันไม่มีทางเข้าถึง

ปัจจุบัน ทุนนิยมไทยก้าวหน้าและเป็นเรื่องที่เราต้องยินดีว่าทุกวันนี้เราก้าวหน้ากว่าหลายร้อยกว่าปีก่อน แต่ภายใต้เปลือกนอก ผมเชื่อว่ามีมิติที่ล้าหลังอยู่ และเราต้องพยายามตีแผ่ให้เห็นมิติที่เป็นปัญหาของทุนนิยมไทย

เราควรเริ่มปฏิรูปสถาบันกษัตริย์จากจุดไหน อะไรคือเงื่อนไขที่ขาดไม่ได้หากจะปฏิรูปสถาบันให้ดำรงอยู่ต่อไปในระบอบประชาธิปไตยได้อย่างมีเสถียรภาพ

สิ่งที่ขาดไม่ได้หากจะรักษากระแสการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้ยั่งยืนได้คือ ต้องตระหนักว่า การต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งการปฏิรูปต้องใช้พลังร่วมกัน (collective power) ไม่ใช่การต่อสู้ของเพียงแค่ใครคนใดคนหนึ่ง ต้องไม่ปล่อยให้คนที่ออกมาพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์กลายเป็นเหยื่อของรัฐไทยอย่างโดดเดี่ยวอย่างที่เคยเป็นมาก่อนหน้ากระแสการประท้วง ซึ่งตรงนี้เชื่อว่าขบวนการทำได้ดีมากอยู่แล้ว ตอนนี้ไม่ว่าใครโดนคดี ก็จะช่วยกันส่งเสียง ช่วยกันปกป้อง และช่วยให้กำลังใจซึ่งกันและกัน

อีกโจทย์ที่สำคัญคือ แม้ขบวนการจะบอกว่า #ให้มันจบที่รุ่นเรา ซึ่งถ้าจบในรุ่นได้ก็ดี เพียงแต่ว่าการต่อสู้ทางการเมืองคือการต่อสู้ระยะยาว อาจจะไม่จบในรุ่นเราก็ได้ อาจจะอีกหลายสิบปีหรืออีกหลายรัชกาลก็ได้ ไม่มีใครรู้ อาจจะเกิดปัญหาซ้ำแล้วซ้ำเล่า อย่างความเหลื่อมล้ำหรือการที่กษัตริย์ในรัชกาลต่อๆ ไป ยังคงมีพระราชอำนาจหรือพระราชทรัพย์มาก

ยิ่งไปกว่านั้น ตราบเท่าที่ทุนยังเข้มแข็ง นายทุนมีอำนาจทางเศรษฐกิจการเมืองที่เข้มแข็ง สถาบันกษัตริย์ยังสนิทกับทุนอย่างแนบแน่น แถมสถาบันกษัตริย์ยังเล่นบทนายทุนเอง การต่อสู้ครั้งนี้ไม่ง่าย ต่อให้ปรับอำนาจของสถาบันกษัตริย์ในเชิงการเมืองหรือวัฒนธรรมได้ แต่โจทย์ที่รออยู่คือจะทำอย่างไรกับอำนาจของสถาบันกษัตริย์ในตลาด และถ้าตระหนักได้ว่าการต่อสู้คราวนี้ไม่ง่าย ในระยะยาว คำถามสำคัญคือ ต้องทำอย่างไรไม่ให้กระแสการปฏิรูปสถาบันหายไป และดำรงอยู่ต่อไปอย่างมั่นคง

อย่างหนึ่งคือต้องมีการส่งต่ออุดมการณ์และความคิดไม่ให้กระแสการปฏิรูปหายไป แต่อีกอย่างที่สำคัญคือต้องมีการจัดตั้งที่ดี มีพรรคการเมืองที่ดีที่ตอบโจทย์การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ได้ มีองค์กรหรือสถาบันบางอย่างทำให้การต่อสู้ครั้งนี้ดำเนินต่อเนื่องไปได้ ซึ่งผมมั่นใจว่า ณ ตอนนี้ คนรุ่นใหม่ก็พยายามรักษาพลังของขบวนการไว้ แต่ทำอย่างไรให้ขบวนการมีความเป็นสถาบันมากขึ้น การที่คนรุ่นใหม่นิยมขบวนการเคลื่อนไหวแบบแกนนอนไม่ใช่เรื่องผิด เป็นการเคลื่อนไหวที่มีความเป็นประชาธิปไตยสูงเสียด้วยซ้ำ แต่การนำ (leadership) ก็เป็นเรื่องสำคัญ

ในระยะยาว หากถามว่าจะทำอย่างไรให้สถาบันกษัตริย์ดำรงอยู่คู่ราชอาณาจักรไทยตราบนานเท่านาน ขอตอบว่า ทางออกของประเทศที่สถาบันกษัตริย์ผ่านการพิสูจน์จากกาลเวลามาแล้วอย่างสหราชอาณาจักรจะเป็นทางออกที่ดี อังกฤษผ่านยุคที่ล้มสถาบันกษัตริย์และกอบกู้สถาบันกษัตริย์ขึ้นมาใหม่ แต่สุดท้าย ทางออกที่ลงตัวที่สุดคือการจำกัดอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจของสถาบันกษัตริย์ เหลือเพียงแค่บทบาทเชิงสัญลักษณ์ ซึ่งนี่ไม่ใช่ทางออกใหม่ คณะราษฎรพยายามผลักดันให้สถาบันกษัตริย์มีสถานะเช่นนี้มานานแล้ว นี่คือสิ่งที่ต้องสานต่อกันต่อไป

แต่ความน่ากังวลก็คือ เมื่อใดก็ตามที่สถาบันกษัตริย์ไม่ยอมหยุดบทบาทไว้แค่นั้น ปรารถนาจะนำสถาบันไปผูกติดกับระบบการเมืองหรือเจ้าสัวนายทุนใหญ่ทั้งหลาย ประวัติศาสตร์ก็เคยเผยให้เห็นแล้วว่า เมื่อกระแสการเมืองเปลี่ยนทิศย่อมเกิดความผันผวนและความสุ่มเสี่ยง ไม่ว่าผู้นำจะเป็นเผด็จการทหารหรือพลเรือน เมื่อมหาชนประท้วงรัฐบาลและนายทุนแล้วระบอบการเมืองเกิดความเปลี่ยนแปลง การที่สถาบันกษัตริย์ ‘นำไข่ทุกใบมาใส่ในตะกร้าเดียว’ ที่พร้อมจะแตก จะกลายเป็นโศกนาฏกรรมที่พสกนิกรไทยจำนวนไม่น้อยไม่อยากให้เกิดขึ้น นั่นก็คือสถาบันกษัตริย์ไม่ได้ดำรงอยู่คู่สังคมไทยอีกต่อไป

แล้วเราจะปฏิรูป ‘กษัตริย์กระฎุมพี’ ในระบบทุนนิยมอย่างไร

หากถามว่า ในอนาคตอันใกล้ ไทยจะยังมีระบบทุนนิยมไหม ก็ต้องตอบว่ายังมีทุนนิยมในไทย และเจ้าสัวไทยก็ยังคงมั่งคั่งร่ำรวยอยู่ เช่นเดียวกัน สถาบันกษัตริย์ก็จะยังดำรงอยู่ ยังมีบทบาทในตลาด และยังถือครองความมั่งคั่ง แต่อย่างน้อยสิ่งที่เราพอจะทำได้ในระยะสั้นก็คือ การสร้างกระบวนการตรวจสอบและถ่วงดุล งบประมาณสถาบันกษัตริย์ต้องผ่านรัฐสภา ให้รัฐสภามีสิทธิเพิ่มงบ-ตัดงบกษัตริย์ หรือหากจะมีการประกาศใช้กฎหมายฉบับไหนที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ ก็ต้องผ่านการพิจารณาของรัฐสภาเสมอ ไม่ใช่ว่าไม่มีกฎระเบียบหรือกระบวนการควบคุมจนสภาเป็นเพียงแค่ตรายาง

ในประเทศอื่นที่มีสถาบันกษัตริย์อย่างอังกฤษหรือญี่ปุ่นก็ยังมีความเป็นอภิสิทธิ์ชน ทุนก็ยังมีอยู่ การกดขี่ก็มีอยู่ แต่ผมขอทิ้งท้ายไว้ว่า ในอังกฤษและญี่ปุ่น การต่อสู้กับนายทุนเป็นเรื่องที่เหน็ดเหนื่อยและยากลำบากก็จริง แต่อย่างน้อยสถาบันกษัตริย์ไม่ได้ลงมาเล่นบทบาทนายทุนเอง

ส่วนในไทย เราต้องเหนื่อยเป็นสองเท่า เพราะสถาบันกษัตริย์แยกไม่ออกจากทุน และสถาบันกษัตริย์เองก็เป็นนายทุนด้วย ชนชั้นแรงงานก็ต้องเผชิญกับทั้งเจ้าของบริษัทที่พร้อมจะปราบแรงงานที่ประท้วงค่าแรงอยู่และกษัตริย์กระฎุมพี ดังนั้นตัวแบบหนึ่งที่ไทยน่าจะเอามาใช้ก็คือ การให้กษัตริย์รับเงินเดือนจากรัฐในฐานะแหล่งรายได้เดียว ให้พระราชวังเป็นทรัพย์สินของรัฐ ตัดพระราชกรณียกิจที่เกี่ยวข้องกับกิจการสาธารณะและให้รัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบเองทั้งหมด ตัดโครงการหลวงเพราะทับซ้อนกับส่วนราชการ นี่คือปรับให้กษัตริย์กลับไปอยู่เหนือการเมืองและเศรษฐกิจ นี่คือโจทย์ที่ท้าทายอย่างมากในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในห้วงเวลาเช่นนี้

ที่มา 1O1
เจ้าฟ้า-เจ้าสัว: จากความมั่งคั่งบนสายสัมพันธ์ สู่การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ‘ปวงชน อุนจะนำ’
ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล 
  13 Aug 2021