วันศุกร์, มกราคม 10, 2568

วิเคราะห์ปัจจัย การช่วยนายหวัง ซิง ดาราชาวจีน จากเมืองสแกมเมอร์ เหตุใดรวดเร็วกว่ากรณีอื่นมาก


นายหวัง ซิง ดาราจีนที่เพิ่งถูกช่วยเหลือออกมาจากเมืองสแกมเมอร์ติดชายแดน จ.ตาก

9 มกราคม 2025
บีบีซีไทย

นายหวัง ซิง หรือ ซิง ซิง นักแสดงชาวจีนถูกช่วยเหลือออกจากเมืองสแกมเมอร์ติดชายแดน จ.ตาก ของไทยภายในระยะเวลา 2 วัน หลังจากครอบครัวแจ้งเรื่องไปยังทางการของจีน และแฟนสาวเผยแพร่เรื่องนี้ลงในเว่ยป๋อ (Weibo) ซึ่งเป็นสื่อสังคมออนไลน์ยอดนิยมในจีน เมื่อวันที่ 5 ม.ค. ที่ผ่านมา

จากการคัดกรองผ่านกระบวนการกลไกส่งต่อระดับชาติ หรือ NRM (National Referral Mechanism) พบว่าดาราจีนรายนี้คือผู้เสียหายจากกระบวนการค้ามนุษย์ เนื่องจากถูกหลอกลวงให้แคสติ้ง (casting) บทนักแสดงในประเทศไทย ก่อนถูกล่อลวงให้เดินทางข้ามแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน จากนั้นถูกโกนหัวและทดสอบให้ทำงานในลักษณะคอลเซ็นเตอร์ จากข้อมูลที่ทาง พล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จเรตำรวจแห่งชาติ ยืนยันกับบีบีซีไทย

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าผู้ที่ถูกหลอกลวงให้ไปทำงานในเมืองสแกมเมอร์เหล่านี้จะถูกช่วยเหลือออกมาอย่างรวดเร็วเช่นนายหวัง ซิง ทุกรายไป ดังนั้น ในกรณีนี้จึงน่าสนใจว่าปัจจัยใดบ้างที่มีส่วนทำให้ดาราจีนวัย 31 ปีผู้นี้ถูกช่วยเหลือออกมาอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับเหยื่อรายอื่น ๆ

บีบีซีไทยพูดคุยกับนายกัณวีร์ สืบแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อจากพรรคเป็นธรรม รวมถึง นายจารุวัฒน์ จิณห์มรรคา รองประธานมูลนิธิเอ็มมานูเอล ซึ่งมีประสบการณ์เกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้คนออกมาจากเมืองสแกมเมอร์ติดชายแดนไทย ถึงกรณีที่เกิดขึ้น

ระยะเวลา 2 วัน ถือว่าเร็วมากหรือไม่ ?

นายจารุวัฒน์ ผู้ช่วยเหลือเหยื่อที่ถูกหลอกลวงไปทำงานออนไลน์ในเมืองสแกมเมอร์รอบชายแดนไทยมากกว่า 2,700 รายในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา บอกว่าจากประสบการณ์การทำงานของเขา การช่วยเหลือผู้เสียหายภายในระยะเวลา 2 วันนั้นถือเป็นระยะเวลาที่รวดเร็วมาก โดยเขาระบุว่าเหตุที่ทำให้กรณีนี้ช่วยเหลือออกมาได้รวดเร็วมีความเป็นไปได้ 2 กรณี คือ
ทราบชื่อและพิกัดสถานที่ของเหยื่อที่ขอความช่วยเหลือมาอย่างชัดเจน และช่วยหาลู่ทางให้เหยื่ออาศัยช่องโหว่จากการรักษาความปลอดภัยที่ไม่เข้มงวด เพื่อกระโดดหนีออกจากตึกหรือปีนรั้วสูงออกมา โดยมีทีมงานของเขารอรับอยู่ข้างนอก
ผู้เสียหายยอมให้ครอบครัวจ่ายค่าไถ่ตัวเป็นเงินราว 200,000-500,000 บาท เพื่อนำตัวออกมา และประสานให้ตัวเขาเข้าไปรอรับกลับ

"แต่นี่คือช่วงเวลาที่เหยื่อได้รับความช่วยเหลือนะครับ ไม่นับรวมที่เขาต้องอยู่ในเมืองสแกมเมอร์ต่าง ๆ ซึ่งอาจหลายสัปดาห์ หลายเดือน ก่อนหน้านี้" นายจารุวัฒน์ กล่าว พร้อมกับเห็นด้วยว่ากรณีการช่วยเหลือนายซิง ซิง นั้นมี "ความรวดเร็วจริง ๆ" ซึ่งเขามองว่าเป็นเพราะเหยื่อเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงจึงส่งผลให้กระบวนการช่วยเหลือรวดเร็วกว่าปกติ

นายหวัง ซิง หายตัวไปเมื่อวันที่ 3 ม.ค. และถูกช่วยเหลือออกมาได้ในวันที่ 7 ม.ค. นั่นหมายความว่าเขาถูกช่วยเหลือหลังเดินทางเข้าไปในเมียนมาได้เพียง 4 วันเท่านั้น

ด้านนายกัณวีร์ สส.พรรคเป็นธรรม มองว่าความรวดเร็วที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะ "มีการแทรกแซงจากรัฐบาลจีน หลังจากทางครอบครัวเข้าไปแจ้งความกับทางการจีนให้ตามหาญาติที่สูญหายไปและตกเป็นเหยื่อของขบวนการนำพาและค้ามนุษย์"

"เราเห็นว่าเมื่อมีการแทรกแซงของรัฐบาลจีน มันก็เกิดความร่วมมือกันอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นจากฝั่งจีน ไทย หรือกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ในเมียนมา" สส.จากพรรคเป็นธรรมกล่าว

นอกจากนี้เขายังเห็นว่าอีกหนึ่งแรงกระตุ้นที่ทำให้ปัญหานี้คลี่คลายอย่างรวดเร็วยังเป็นเพราะกระแสข่าวที่ดังมากในจีนและประเทศไทย ซึ่งทำให้ทางการไทยกังวลอย่างมากว่าอาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ และทำให้นักท่องเที่ยวจีนไม่มีความเชื่อมั่นในเรื่องความปลอดภัย

การช่วยเหลือเหยื่อโดยปกติใช้เวลานานแค่ไหน ?

เมื่อวันที่ 6 ม.ค. สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยและสถานกงสุลใหญ่จีนประจำเชียงใหม่ ออกมายืนยันว่าได้รับคำร้องขอความช่วยเหลือจากสมาชิกครอบครัวของบุคคลที่เกี่ยวข้อง และกำลังติดต่อสื่อสารอย่างใกล้ชิดกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องของไทยและสมาชิกครอบครัวของบุคคลนั้น โดยให้ความช่วยเหลือที่จำเป็นและพยายามค้นหาที่อยู่ของบุคคลนั้นอย่างเต็มที่

นายกัณวีร์บอกว่าก่อนหน้านี้ไม่พบการดำเนินการใด ๆ ของสถานทูตจีนในลักษณะนี้เลย

"วันนี้เรามีข้อมูลของคนจีนที่เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์อยู่ประมาณ 3,900 กว่าคนขึ้นไปอยู่ในฝั่งเมียนมา แต่เป็นเพราะไม่มีการแทรกแซงของรัฐบาลจีน มันก็เลยทำให้คนติดอยู่ที่นั่นเยอะแยะมากมาย" เขาบอก และเสริมด้วยว่าจำนวนผู้เสียหายทั้งหมดอยู่ที่ราว 6,000 คน จาก 20 สัญชาติ ซึ่งรอคอยการช่วยเหลืออยู่ และตัวเขามีข้อมูลพิกัดทั้งหมด

ด้านนายจารุวัฒน์บอกว่าการช่วยเหลือผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงไปทำงานให้กับขบวนการหลอกลวงออนไลน์นั้นมีความยากง่ายแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ

เขาอธิบายว่าสำหรับประเทศกัมพูชา หากเหยื่อถูกนำตัวไปไว้ในตึกสแกมเมอร์ตรงเมืองปอยเปต ซึ่งเป็นแหล่งคัดกรองว่าเหยื่อแต่ละคนน่าจะมีศักยภาพส่งต่อไปทำงานด้านใด หรือถูกกักขังไว้ให้สแกนใบหน้าโอนเงินบัญชีใหม่ จะค่อนข้างช่วยเหลือออกมาได้ง่าย หากทราบชื่อ พิกัดที่อยู่ที่แน่นอน โดยส่วนใหญ่มักสามารถอาศัยช่องโหว่จากการรักษาความปลอดภัยหลบหนีออกมาได้

แต่หากเหยื่อถูกส่งต่อไปยังเมืองบาเว็ตและสีหนุวิลล์ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ การช่วยเหลือจะใช้เวลายาวนานขึ้น รวมถึงกระบวนการประสานงานก็ซับซ้อนมากขึ้นไปด้วย

"ตำรวจจะเข้าไปทำอะไรในเมืองนั้นไม่ได้เลยนอกจากมีคำสั่งอนุญาตมาจากรัฐบาล[กัมพูชา]ข้างบน ตำรวจทั่วไปไม่สามารถขอเข้าไปดูหรือตรวจเช็คได้" รองประธานมูลนิธิเอ็มมานูเอลบอก พร้อมกับอธิบายเพิ่มเติมว่าการช่วยเหลือเหยื่อทุกครั้ง เขาต้องประสานงานกับทางการของประเทศต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย เพราะไม่อาจทำได้โดยตัวเองเพียงลำพัง

ส่วนการช่วยเหลือเหยื่อที่ถูกหลอกลวงไปในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศลาว ตรงข้าม อ.เชียงแสน จ.เชียงราย นายจารุวัฒน์มองว่าในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาแทบไม่มีคนไทยถูกหลอกลวงให้ไปทำงานที่นั่นแล้ว เนื่องจากทางการไทย-ลาว มีความพยายามที่ดีร่วมกันเพื่อป้องกันขบวนการลักลอบนำพา พร้อมกับช่วยกันประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้คนไทยรับทราบ

แต่กระนั้นก็ยังพบชาวแอฟริกาใต้ ชาวเคนยา และชาวเอธิโอเปีย ที่ถูกหลอกลวงเข้าไปทำงานเป็นสแกมเมอร์ และขอความช่วยเหลือมายังมูลนิธิฯ ทว่าแต่ละเคสก็ใช้เวลานานหลายเดือนถึงจะนำตัวออกมาได้ เนื่องจากทางการของประเทศเพื่อนบ้านรวมถึงบริษัททุนจีนผู้ควบคุมดูแลพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษบริเวณนี้ไม่ได้กระตือรือร้นตอบสนองคำขอประสานงานการช่วยเหลือมากนัก


นายจารุวัฒน์ ที่มีประสบการณ์ช่วยเหลือเหยื่อจากเมืองสแกมเมอร์รอบชายแดนไทยกว่า 2,700 คน ระบุว่า การช่วยเหลือเหยื่อจากเมืองสแกมเมอร์ริมแม่น้ำเมย ถือว่ายากที่สุด

เมื่อโฟกัสมายังฐานสแกมเมอร์ฝั่งชายแดนไทยริมแม่น้ำเมยบริเวณรัฐกะเหรี่ยง ประเทศเมียนมา ซึ่งติดกับชายแดน จ.ตาก รองประธานมูลนิธิเอ็มมานูเอลบอกว่าเป็นพื้นที่ที่ช่วยเหลือออกมาได้ "ยากมาก ยากมากถึงมากที่สุด"

เขาอธิบายว่าการประสานงานเบื้องต้นจะใช้ขั้นตอนทางการ คือ ให้สถานทูตหรือสถานกงสุลของเหยื่อส่งหนังสือไปยังทางการเมียนมา จากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลกลางเมียนมาใน จ.เมียวดี คอยประสานงานกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ที่ดูแลฐานที่ตั้งของเหล่า "บอสชาวจีน" ซึ่งควบคุมตัวเหยื่อไว้

"ก็คือต้องตามหาให้ได้ว่าเหยื่ออยู่กับบอสคนไหน และบอสคนนั้นตั้งบริษัทอยู่ในพื้นที่กองกำลังชนกลุ่มน้อยกองไหน ซึ่งบางครั้งก็ติดต่อได้บ้างไม่ได้บ้าง ก็กินระยะเวลาออกไปอีก" นายจารุวัฒน์ กล่าว

"บางครั้งก็ต้องหาช่องทางคู่ขนานอื่น ๆ เช่น เครือข่ายภาคประชาสังคมด้วยกัน ดูว่าใครพอรู้จักคนที่ควบคุมพื้นที่ตรงนั้น เพื่อให้เขาไปคุยกับบอส แล้วดูว่าบอสมีเงื่อนไขอะไรบ้าง บางทีก็ต้องขู่ว่าสถานทูตฯ เขาทำหนังสือมานะ ปล่อยออกมาเถอะ ซึ่งก็ใช้เหตุผลนี้ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง" เขาเล่าถึงความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น "ก็คือต้องใช้ทั้งช่องทางที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ มันจึงใช้เวลานานมาก ๆ เรียกได้ว่ามากกว่า 6 เดือนขึ้นไปกว่าจะช่วยออกมาได้ในแต่ละเคส"

รองประธานมูลนิธิเอ็มมานูเอลบอกด้วยว่าระยะเวลาที่นานมากขึ้น หมายถึงความทรมานของเหยื่อที่ยาวนานมากขึ้นด้วย

"ผมไม่เคยพบบอสสัญชาติอื่นเลย มีแต่สัญชาติจีนทั้งนั้น เป็นคนจีนทั้งหมด" เขากล่าว "พวกนี้ไม่ใช่คนดีอะไรเลย ทำทุกอย่างตั้งแต่การหลอกลวง ค้ามนุษย์ และเรียกค่าไถ่"

จะเร่งรัดให้การช่วยเหลือรวดเร็วขึ้นได้อย่างไร

นายจารุวัฒน์กล่าวว่าเขาอยากให้ทุกเคสการช่วยเหลือได้รับการประสานงานอย่างรวดเร็วเหมือนกรณีนายหวัง ซิง แต่จะดีมากกว่านี้หากสามารถกำจัดขบวนการนำพาซึ่งใช้ไทยเป็นฐาน และตัดตอนบอสต่าง ๆ ที่ดำเนินการหลอกลวงผู้คนจากบริเวณชายแดนไทยให้ได้

"ปัญหานี้จะไม่หมดไป หากเราไม่จัดการกับต้นตอของปัญหา เพราะผู้คนก็จะถูกหลอกลวงมาเรื่อย ๆ" เขากล่าว

ด้าน สส.จากพรรคเป็นธรรมบอกว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่า "คนที่ทำธุรกิจสแกมเมอร์ คอลเซ็นเตอร์ และกาสิโนในฝั่งโน้นคือคนจีนสีดำและสีเทา รัฐบาลจีนต้องเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยอย่างแน่นอน แต่กลไกต่าง ๆ อาจต้องปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่าเดิม"

นายกัณวีร์เสนอว่าควรให้สถานทูตของเหยื่อแต่ละประเทศที่ตั้งอยู่ในไทย เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการช่วยเหลือให้มากขึ้นกว่าเดิม และร่วมกันกับทางการไทยเพื่อหากลไกการช่วยเหลือที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้สามารถนำตัวผู้เสียหายออกมาได้เร็วที่สุด โดยมีไทยรับบทเป็นเจ้าภาพ

เมื่อถามต่อว่าในเมื่อเป็นกรณีหลอกลวงคนต่างชาติด้วยกันโดยใช้ไทยเป็นทางผ่าน แล้วเหตุใดประเทศไทยจึงต้องเป็นตัวตั้งตัวตีในเรื่องนี้ สส.จากพรรคเป็นธรรมบอกว่า ไทยจะมีภาพลักษณ์ด้านสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมดีขึ้นมากในเวทีโลกในทันที และปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศไทยถูกขบวนการนำพาและค้ามนุษย์ใช้ประโยชน์ตั้งแต่ช่วงต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งสร้างความเสื่อมเสียให้กับประเทศจนถึงตอนนี้

"ช่วงต้นน้ำคือเราให้ฟรีวีซ่า พวกมิจฉาชีพก็นำไปโฆษณาว่าเรามีฟรีวีซ่า เข้ามาได้เลยนะ แล้วเดี๋ยวมาทำงานด้วยกัน ดังนั้นการให้ฟรีวีซ่าก็ต้องมาดูกันใหม่ว่ามีกลไกติดตามผู้เดินทางเข้าประเทศหรือไม่

ช่วงกลางน้ำ คือ เมื่อเขาเดินทางไปยังเมืองชายแดนของเราเพื่อเตรียมออกไปประเทศเพื่อนบ้าน เรามีวิธีการห้ามปราม เตือน หรือช่วยสกัดกั้นอย่างไรได้บ้าง เพราะสุดท้ายแล้วเมื่อช่วยเหลือออกมา เขาก็ต้องกลับเข้ามายังไทย ทำให้เราเป็นประเทศปลายน้ำอยู่ดี ก่อนจะเข้าสู่กลไกคัดกรองเหยื่อจากการค้ามนุษย์ต่อไป" นายกัณวีร์อธิบาย

เขาเห็นว่าหากทำได้เช่นนี้ การช่วยเหลือก็จะรวดเร็วมากขึ้น และช่วยป้องกันประเทศไทยไม่ให้กลายเป็นฐานทำงานของขบวนการนำพาและขบวนการค้ามนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับเมืองสแกมเมอร์รอบชายแดน รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวว่าจะไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพรอบแดน เมื่อพวกเขาเดินทางมาเยือนประเทศไทย

https://www.bbc.com/thai/articles/crmnm178ev2o