ข้อมูลจาก Nattharavut Kunishe Muangsuk กลับไปค้นดูคำพิพากษาของศาลทหารกลาง คดีนักเรียนเตรียมทหารชั้นปี ๑ ภคพงศ์ ตัญกาญขน์ ถูกรุ่นพี่สองคนทำธำรงวินัย ให้เอาหัวโหม่งพื้นท่าแกงการู (จิงโจ้) จนหมดสติ แล้วต่อมาเสียชีวิต
“ในสำนวนระบุเหตุการณ์ ๒๒ – ๒๓ สิงหาคม นตท.ภคพงศ์ต้องรักษาตัว ๕-๗ วัน อัยการศาลทหาร ซึ่งเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๙, ๒๙๕ คือฟ้องว่า กระทำโดยประมาท ไม่ได้เจตนา
คดีนี้ จึงไม่ใช่เป็นคดี ‘กระทำการโดยประมาทให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย’ ซึ่งเกิดขึ้นต่อเนื่องจากบุคคล-กลุ่มบุคลเดียวกัน จนถึงวันที่ ๑๖-๑๗ ตุลาคม ถึงวาระสุดท้ายของ นตท.ภคพงศ์ ซึ่งต้องฟ้องด้วย ป.อ.มาตรา ๒๙๑ อัตราโทษจำคุกไม่เกินสิบปี ปรับไม่เกินสองแสนบาท”
ณัฐวุฒิบอกว่าเมื่อกลับไปดูจุดเริ่มต้นของคดีนี้ เมื่อเดือนมีนา ๒๕๖๒ ยิ่งเห็นความผิดปกติ เพราะพ่อ-แม่ของ ‘น้องเมย’ ไปฟ้องที่ สน.พญาไท “คดี สั่งฟ้อง ๒ นักเรียนเตรียมทหาร ข้อหาทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
และฟ้องครูฝึก ข้อหากระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย คดีอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาล มทบ.๑๒ จังหวัดปราจีนบุรี แต่เมื่อคดีอยู่ในมืออัยการศาลทหาร “ชื่อครูฝึกหายไป” คำพิพากษาศาลชั้นต้นกลายเป็นคนละข้อหา
“ตัดสินว่าผิดตาม ป.อ.มาตรา ๓๙๐ คือกระทำการโดยประมาททำให้เป็นอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ เป็นลหุโทษ” แล้วพอถึงศาลชั้นกลาง (อุทธรณ์) ครอบครัวปฏิเสธที่จะรับการชดใช้ “ค่าเสียหายบางส่วน” ขอต่อสู้คดีเพื่อหาความจริงต่อไป
คดีในชั้นอุทธรณ์ ปรากฏว่าจำเลยซึ่งเป็นรุ่นพี่ของผู้ตาย ชื่อหายไปจากสำนวนหนึ่งคน เหลือเพียงคนเดียวที่ได้รับราชการตำรวจก้าวหน้าตลอดมาจนยศ ร.ต.ท. ทั้งที่ในเอกสารบันทึกการสอบปากคำจำเลยสองคนของกลาโหม ยอมรับว่าลงมือทำร้ายทั้งคู่
คงทราบกันบ้างแล้วว่าคดีในศาลทหาร ผู้เสียหายไม่สามารถเป็นโจทก์ หรือตั้งทนายได้ ต้องให้อัยการเท่านั้นดำเนินการ ดังนั้นเมื่อมีการชันสูตรศพ แล้วพบว่าอวัยวะของผู้ตายหายไปหลายอย่าง หมายเรียกแพทย์ไปชี้แจงสองครั้งก็เงียบหาย
นี่ละพระเดชพระคุณ ความยิ่งใหญ่เหนือประชาชนของทหาร