วันเสาร์, มีนาคม 29, 2568

กลุ่มนักกิจกรรม - องค์กรสิทธิฯ รวมตัวเดินขบวนยื่นหนังสือถึง รมต.กระทรวงยุติธรรม หวังยุติความรุนแรงในเรือนจำ - ยุติการย้ายผู้ต้องขังการเมือง หลังพบเหตุ จนท.ใช้ความรุนแรงกับผู้ต้องขัง ระหว่างกิจกรรมเกิดแผ่นดินไหว แต่ทั้งหมดปลอดภัยดี


ไข่แมวชีส added 39 new photos to the album: 28 มี.ค. 68 Justice Hunt กระทรวงยุติธรรม.
10 hours ago
·
กลุ่มนักกิจกรรม - องค์กรสิทธิฯ รวมตัวเดินขบวนยื่นหนังสือถึง รมต.กระทรวงยุติธรรม หวังยุติความรุนแรงในเรือนจำ - ยุติการย้ายผู้ต้องขังการเมือง หลังพบเหตุ จนท.ใช้ความรุนแรงกับผู้ต้องขัง ระหว่างกิจกรรมเกิดแผ่นดินไหว แต่ทั้งหมดปลอดภัยดี
28 มีนาคม 2568 เวลา 13.00 น. ที่กระทรวงยุติธรรม นำโดยกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ, กลุ่ม 24 มิถุนาเพื่อประชาธิปไตย, สหภาพคนทำงาน, Act Young Club, มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF),​ กลุ่มทะลุแก๊ซ และกลุ่มไฟรามทุ่ง จัดกิจกรรม “Justice Hunt: ส่องแสงตามหายุติธรรม” ร่วมยื่นหนังสือถึง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม หวังยุติความรุนแรงในเรือนจำ ยุติการย้ายผู้ต้องขังการเมือง และคืนสิทธิประกันตัวให้ผู้ต้องขังการเมือง โดยมี สมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นตัวแทนรับหนังสือ
.
.
เวลา 13.00 น. มวลชนนัดหมายแต่งกายชุดสีดำและเตรียมอุปกรณ์ส่องสว่าง รวมตัวกันที่ปั๊มแก๊ส PTT-NGV ถนนแจ้งวัฒนะ ก่อนเดินขบวนราว 300 เมตร ไปยังกระทรวงยุติธรรมเพื่อยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม โดยระหว่างการเดินขบวนมีการแสดงออกกล่าวปราศรัยขอให้มีการหยุดย้ายผู้ต้องขังการเมือง พร้อมทวงคืนนิรโทษกรรมประชาชน พร้อมถือตะเกียงนำหน้าขบวน มวลชนร่วมถือป้ายผู้ต้องขังการเมือง ก่อนที่จะเดินขบวนมาถึงกระทรวงมาถึงกระทรวงยุติธรรมในเวลา 13.20 น.
.
ระหว่างมวลชนเริ่มทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ เปิดไฟฉายส่องหาความยุติธรรม พบว่ามีเหตุการณ์แผ่นดินไหวเกิดขึ้น จึงมีประกาศอพยพให้ออกมานอกอาคาร มวลชนที่มาทำกิจกรรม รวมถึงเจ้าหน้าที่ได้ทยอยอพยพ จนบริเวณด้านนอกรวมถึงป้ายรถเมล์เต็มไปด้วยผู้คนจำนวนมาก ส่วนรถไฟฟ้าสายสีชมพูที่อยู่ด้านหน้ากระทรวงฯ ได้หยุดให้บริการ แต่ทั้งหมดยังคงปลอดภัย ไม่พบผู้ได้รับบาดเจ็บ
.
อย่างไรก็ตาม การยื่นหนังสือยังคงดำเนินต่อ โดยย้ายมาเป็นบริเวณหน้าอาคารกระทรวงยุติธรรม โดยมี สมยศ พฤกษาเกษมสุข กลุ่ม 24 มิถุนาเพื่อประชาธิปไตย เป็นตัวแทนยื่นหนังสือ โดยกล่าวว่า “กระทรวงยุติธรรมยังมีความมืดมนอยู่ มีนักโทษการเมืองติดคุกอยู่ 40 คน ยังไม่ได้ได้รับสิทธิการประกันตัว ในวันนี้พวกเรามาเรียกร้องเพื่อให้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ผลักดันการนิรโทษกรรมให้กับประชาชน และปล่อยตัวนักโทษการเมือง
.
“และที่สำคัญ ขณะนี้กรมราชทัณฑ์ได้ย้ายผู้ต้องขังการเมือง ที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีไปอยู่เรือนจำบางขวาง ซึ่งเป็นแดนประหารชีวิต จึงเกรงว่าอาจจะเกิดอันตรายต่อนักโทษการเมือง จึงมาเรียนขอให้รัฐมนตรีสั่งการกรมราชทัณฑ์ว่าให้นักโทษการเมืองได้คุมขังในที่เดียวกัน เพราะนักโทษการเมืองไม่ใช่อาชญากร นักโทษการเมืองเป็นเพียงผู้ที่เห็นต่าง และปรารถนาดีต่อบ้านเมือง”
.
ต่อมา ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ เป็นตัวแทนอ่านข้อเรียกร้องจากศูนย์ทนายฯ และพ่อของผู้ต้องขังการเมือง ระบุโดยสรุปเป็น 4 ข้อ คือ 1. ขอเรียกร้องให้การรักษาพยาบาลมีประสิทธิภาพต่อผู้ต้องขังที่ได้รับบาดเจ็บ 2.ตรวจสอบและดำเนินการทางวินัยและกฎหมายต่อเจ้าหน้าที่ผู้กระทำความผิด 3.ให้มีการสร้างเรือนจำเฉพาะสำหรับควบคุมตัวผู้ต้องขังการเมือง เพื่อความปลอดภัยไม่ให้ถูกคุกคามหรือทำร้าย และ 4. ดำเนินการปรับปรุงเรือนจำให้มีมาตรฐานเดียวกัน คือสิทธิผู้ต้องขังในการพบทนายความ ญาติ การสื่อสาร และการเข้าถึงการรักษาพยาบาล
.
การยื่นหนังสือดังกล่าวมีเหตุสืบเนื่องมาจากกรณีเจ้าหน้าที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ได้ใช้ความรุนแรงต่อผู้ต้องขังคดีการเมือง 4 ราย ระหว่างการอารยะขัดขืนอย่างสงบเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2568 และมีคำสั่งย้ายผู้ต้องขังจำนวน 3 รายไปยังเรือนจำกลางบางขวางและแยกแดน
.
ระบุว่าแม้กรมราชทัณฑ์จะยืนยันว่าเป็นเพียงการบริหารจัดการทั่วไปตามนโยบายกระทรวง แต่หากไม่มีมาตรการป้องกันผลกระทบที่ชัดเจน ย่อมถือว่าละเมิดหลักการสากล และอาจเข้าข่ายเลือกปฏิบัติทางการเมืองได้ ทั้งที่ผู้ต้องขังบางรายยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด แต่ย้ายไปเรือนจำที่มีความเข้มงวดมากขึ้น
.
การกระทำดังกล่าวไม่เพียงขัดต่อหลักการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ยังขัดกับ ICCPR มาตรา 14 วรรค 2 ที่ไทยเป็นภาคี ซึ่งระบุว่าผู้ต้องหาจะต้องถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าผิด หากมีการใช้ความรุนแรงระหว่างการย้ายจริง ซึ่งจะขัดกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน (UNCAT) ส่วนการย้านไปรวมกับนักโทษเด็ดขาด ถือว่าขัดกฎแมนเดลา ข้อที่ 11
.
.
หนังสือที่ประชาชนและองค์กรต่าง ๆ รวม 19 รายชื่อ ร่วมกันยื่นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ระบุรายละเอียดดังต่อไปนี้
“เรื่อง สิทธิประกันตัว นิรโทษกรรมประชาชน สิทธิผู้ต้องขังการเมือง
.
เรียน นายทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
.
ในช่วงรัฐเผด็จการ 2549-2566 มีการใช้มาตรา 112 จับกุมคุมขังผู้รักชาติ รักประชาธิปไตยจำนวนมาก อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและขัดต่อ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง ระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีแพทองธาร พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้ว่าเมื่อเป็นรัฐบาลแล้วจะดำเนินการเพื่อปล่อยนักโทษการเมือง ขณะนี้มีนักโทษการเมืองถูกคุมขัง 44 คน ต้องทุกข์ทรมานแสนสาหัส จำนวนหนึ่งเป็นผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดี ไม่ได้รับสิทธิการประกันตัวไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเพียงพอ เป็นเหตุให้มีการอดอาหารเรียกร้องสิทธิประกันตัวจนเสียชีวิต
.
นักโทษการเมืองคือนักโทษทางความคิด ซึ่งใช้สิทธิเสรีภาพ เพื่อการปฏิรูปการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยการปล่อยนักโทษการเมืองจะเป็นการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน และนิติรัฐให้ดีขึ้น เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน กลุ่มโมกหลวง กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย สหภาพคนทำงาน มูลนิธิผสานวัฒนธรรม แอคยังคลับ ไฟรามทุ่ง ทะลุแก๊ส จึงขอเรียกร้องต่อกระทรวงยุติธรรมดังต่อไปนี้
.
1. อำนวยความยุติธรรม ปกป้องสิทธิในกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้มีการประกันตัว ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ว่า ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษา อันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้" รวมทั้ง แก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 106 - 119 ทวิ ว่าด้วยเรื่องการปล่อยตัว ชั่วคราว เนื่องจากศาลใช้ดุลยพินิจสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราว (108/1) โดยปราศจากหลักฐานและข้อเท็จจริงของผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลย ทำให้ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้รับสิทธิประกันตัวและไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการ ยุติธรรมอันเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560
.
2. ผลักดันให้สภาผู้แทนราษฎร บรรจุวาระการพิจารณาผ่านความเห็นชอบการนิรโทษกรรมประชาชน ทุกกรณี อันเป็นการปกป้องสิทธิเสรีภาพและยุติความขัดแย้งในสังคมไทย
.
3. การย้ายผู้ต้องขังนักโทษการเมืองจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพไปยังเรือนจำอื่น ๆ อาจเสี่ยงต่ออันตรายและเป็นการทรมานได้ ดังนั้นขอให้กรมราชทัณฑ์ ยุติการโยกย้ายนักโทษการเมือง นำนักโทษการเมืองที่ถูกย้ายไปเรือนจำอื่นๆกลับมาที่คุมขังเดียวกัน เพื่อให้เข้าถึงความยุติธรรมและความปลอดภัยในชีวิต
.
จึงเรียนมาเพื่อโปรดดำเนินการ
ขอแสดงความนับถืออย่างสูง
.
(รายชื่อญาติและองค์กรแนวร่วมผู้ร้องเรียน)
1. โมกหลวงริมน้ำ
2. กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย
3. ทะลุแก๊ส
4. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม Cross Cultural Foundation
5. เยาวชนเพื่อสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียม Act Young Club
6. สหภาพคนทำงาน
7. ไฟรามทุ่ง
8. สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)
9. สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
10. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
11. เสมสิกขาลัย
12. เทพดรุณ สุรฤทธิ์ธำรง
13. ภัควดี วีระภาสพงษ์
14. พริม มณีโชติ
15. ศิวกร ม่วงสวัสดิ์
16. ฉัตรชัย พุ่มพวง
17. นลินี นิโครธ
18. กลุ่มยืนหยุดทรราช เชียงใหม่
19. ปพิชญานันท์ จารุอริยานนท์ (คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน - ครช.)”

https://www.facebook.com/eggcatcheese/posts/973615721586650