วันพฤหัสบดี, มกราคม 23, 2568

#ความรู้รอบเอว 🟥รู้หรือไม่ ราโชมอนมี 2 เวอร์ชั่นใหญ่ ๆ


กิ๊ฟจังนั่งเล่า
Yesterday
·
#ความรู้รอบเอว หลายวันมานี้แอดใช้คำว่า “ราโชมอน” 羅生門 (ประตูผี) บ่อยมาก จนหลายคนสงสัยมันคืออะไร?

วันนี้จะมาเล่าตอนดึก เผื่อทุกคนจะมาอ่านตอนเช้าค่า

รู้หรือไม่ ราโชมอนมี 2 เวอร์ชั่นใหญ่ ๆ ?

อันแรก นิยายสั้นราโชมอน (羅生門) ของ 芥川龍之介 (อะคุตากาวะ ริวโนะสุเกะ) บิดาแห่งเรื่องสั้นญี่ปุ่น
- อะคุตากาวะ เขียนนิยายไปมากกว่า 300 เรื่อง แต่ก็จบชีวิตตนเองในวัย 35 ปี ด้วยโรคต่างๆ รุมเร้าและปัญหาทางด้านจิตใจ
- ราโชมอน ของอะคุตากาวะตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1915 เรื่องราวเกิดขึ้นในยุคเฮอัน ณ ประตูราโชมอนทางทิศใต้ของเมืองเกียวโต

เนื้อเรื่องย่อ ราโชมอน ฉบับ อะคุตากาวะ
- เรื่องระหว่างหญิงชราทำวิกขายจากศพ และ ชายรับใช้
- ในเรื่องต่างฝ่ายต่างหาเหตุผลที่จะเอาตัวรอด
①ชายรับใช้เพิ่งถูกไล่ออกมาหลบฝนอยู่ใต้ประตูราโชมอน เขากำลังลังเลว่าอาจต้องกลายเป็นโจรเพื่อเอาชีวิตรอด

②หญิงชราดึงเส้นผมออกจากศพ - > อ้างทำเพื่อความอยู่รอด นำเส้นผมไปทำวิกขาย อีกอย่างศพที่เธอกำลังเอาผมนั้นเคยเป็นคนชั่วตอนมีชีวิตอยู่

③เมื่อได้ยินหญิงชรา ชายรับใช้ตัดสินใจว่าการขโมยก็เป็นสิ่งที่ยอมรับได้เพื่อความอยู่รอด เขาจึงแย่งชิงเสื้อผ้าของหญิงชราและหายไปในความมืด….

เอวัง
✼••┈┈┈┈••✼••┈┈┈┈••✼

อันที่สอง คือ ภาพยนตร์ญี่ปุ่นเรื่องราโชมอน (羅生門)

- สร้างขึ้นในปี 1950 กำกับโดยคุโรซาวะ อากิระ
- 1 ในผลงานชิ้นเอกของเขาและเป็นภาพยนตร์ที่สร้างชื่อเสียงให้กับวงการภาพยนตร์ญี่ปุ่นในระดับนานาชาติ
- ถึงกับมีบัญญัติคำศัพท์ว่า “Rashomon” และ “Rashomon Effect ปรากฏการณ์ราโชมอน” ในภาษาอังกฤษเลยทีเดียว
- เกือบทุกครั้งที่เราพูดถึงคำว่าราโชมอน เราจะหมายถึงเวอร์ชั่นนี้กัน \_(・ω・`)ตรงนี้สำคัญ

สิ่งที่หลายคนไม่ทราบกันก็คือ ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้มีแนวเรื่องหลักมาจากเรื่องราโชมอน เวอร์ชั่นนิยายด้านบนของอะคุตากาวะ แต่จริงๆแล้วคนเขียนบท เขียนเรื่องนี้จาก “ในป่าละเมาะ” (藪の中 - Yabu no Naka)“ ของคนเขียนคนเดียวกัน คือ อะคุตากาวะ ริวโนะสุเกะ
- แต่เนื่องจากเนื้อหาสั้นเกินไปทำเป็นภาพยนตร์ไม่ได้ผู้กำกับคุโรซาวะ อากิระ จึงสั่งให้นักเขียนบทไปเติมเนื้อเรื่องโดยเอาเรื่องบางส่วนจากราโชมอน ฉบับนิยายมาผสม
✼••┈┈┈┈••✼••┈┈┈┈••✼

—-> ก่อนจะไปถึงเวอร์ชั่นภาพยนตร์มาลองอ่านเนื้อเรื่องย่อของ “ในป่าละเมาะ” ของอะคุตากาวะ กันดูค่ะ

“ในป่าละเมาะ” (藪の中 - Yabu no Naka)
- ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1922 (หลังนิยายราโชมอน) โดย อะคุตากาวะ ริวโนะสุเกะ

เนื้อเรื่องย่อ ”ในป่าละเมาะ“
- เรื่องราวเกี่ยวกับการตายของซามูไรคนหนึ่ง
—> ผ่านคำให้การของพยานหลายคน
—-> โดยแต่ละคนให้ข้อมูลที่ขัดแย้งกัน

เริ่มเรื่องพบศพซามูไร ในป่าไผ่ใกล้เมืองเกียวโต

①คำให้การแรกมาจากคนตัดฟืนที่พบศพ
“พบศพชายคนหนึ่งถูกแทงด้วยดาบที่หน้าอก เลือดแห้งกรังแล้ว ไม่พบอาวุธในที่เกิดเหตุ”

② คำให้การจากพระ
“พบเห็นซามูไรและภรรยาเดินทางผ่านป่าก่อนเกิดเหตุ”

③โจร: “สารภาพว่าเป็นคนฆ่าซามูไร”

④ แม่ของภรรยาซามูไร: “ลูกสาวและลูกเขยเดินผ่านบริเวณนั้น”

ส่วนสำคัญของเรื่องคือคำให้การของตัวละครหลัก 3 คน

1. โจร: สารภาพว่าล่อลวงซามูไรเข้าป่า มัดเขาไว้ แล้วข่มขืนภรรยาของเขาต่อหน้า ท้าดวลดาบกับซามูไร -> จนฆ่าซามูไรตาย

2. ภรรยาของซามูไร: หลังถูกข่มขืน เข้าใกล้สามี แต่สามีมองเธอด้วยสายตาเย็นชา ทำให้เธอเสียสติ บอกสามีว่าจะขอฆ่าเขาก่อนแล้วเธอจะตามไป แทงสามีตาย→สิ้นสติไป

3. วิญญาณของซามูไร (ผ่านร่างทรง): หลังเหตุการณ์หลับนอน ภรรยาตะโกนบอกให้โจรฆ่าเขา ตกตะลึงกับพฤติกรรมของภรรยา ภรรยาหนีตามโจรไปด้วย ทำให้เขาใช้มีดสั้นของภรรยาฆ่าตัวตายเพื่อรักษาเกียรติ แต่มีใครสักคนมาดึงเอามีดสั้นไป

เรื่องสั้นนี้นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับธรรมชาติของความจริงและการรับรู้ของมนุษย์
- ผู้อ่านต้องตั้งคำถามว่าความจริงที่แท้จริงคืออะไร และเราสามารถเชื่อใครได้บ้าง
- อะคุตากาวะใช้เทคนิคการเล่าเรื่องที่ซับซ้อนเพื่อ ให้ผู้อ่านได้ติดตามและคิดตามด้วย

แก่นเรื่อง คือ แต่ละคนมักจะเล่าเรื่องในแบบที่เป็นประโยชน์กับตัวเองมากที่สุด
- โจรต้องการจะบอกว่าตัวเองเก่ง ฆ่าซามูไรได้
- หญิงสาวพูดเพื่อให้ตัวเองดูดี
- ซามูไร ยอมบอกว่าตัวเองฆ่าตัวตายดีกว่าถูกโจรฆ่า เพื่อปกป้องเกียรติ
✼••┈┈┈┈••✼••┈┈┈┈••✼

*⃤࿐*
วนลงข้างทางไปหลายรอบแล้วมาฟังราโชมอน เวอร์ชั่นภาพยนตร์ที่โด่งดัง และถูกพูดถึงมากที่สุดโดยผู้กำกับคุโรซาวะ อากิระ

- ถ่ายทำในเมืองเกียวโต ปี 1950
- มีการทดลองใช้เทคนิคการถ่ายภาพที่แปลกใหม่ เช่น การหันกล้องเข้าหาดวงอาทิตย์
- ใช้เทคนิคการเล่าเหตุการณ์เดียวกันผ่านมุมมองของตัวละครหลายคน ทำให้ผู้ชมต้องตัดสินใจเองว่าความจริงคืออะไร

เนื้อเรื่องย่อ ราโชมอน ฉบับ ภาพยนตร์ โดยผู้กำกับคุโรซาวะ อากิระ
- เรื่องราวเกิดขึ้นในยุคเฮอัน ณ ประตูราโชมอนในเมืองเกียวโต เกิดคดีฆาตกรรมและข่มขืนขึ้นในป่า

ฉากเปิดเรื่อง (ฉากในภาพของโพสต์นี้)
1. ฝนตกหนักที่ประตูราโชมอนในเมืองเกียวโตซึ่งเป็นซากปรักหักพัง

2. คนตัดฟืนและพระกำลังหลบฝนอยู่ใต้ประตู

3. ชาวบ้านธรรมดาคนหนึ่งเข้ามาร่วมหลบฝนและสนทนากับทั้งสอง


เล่าเรื่องย้อนหลัง

4. คนตัดฟืนและพระเริ่มเล่าเรื่องราวที่เพิ่งได้ยินมาจากศาลเกี่ยวกับคดีฆาตกรรมและข่มขืน โดยมีคำให้การจากพยานหลายคน

5. พระทำหน้าที่เป็นผู้เล่าเรื่องคนสำคัญ โดยเล่าถึงคำให้การต่างๆ ที่ได้ยินในศาล และแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ทั้งสามคนทำท่างุนงงและสับสนกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น

พยานที่พูดไม่ตรงกันเลย

1. โจรทาโจมารุ: หลังจากข่มขืนภรรยาของซามูไร ก็ฆ่าซามูไรในการต่อสู้อย่างสมเกียรติ ฆ่าอีกฝ่ายด้วย “มีดฝังมุก”

2. ภรรยาของซามูไร: หลังจากถูกทาโจมารุข่มขืน เธอแทงสามีตายด้วย “มีดฝังมุก” ในช่วงที่เธอหมดสติ (ลืมตามาสามีก็ตายแล้ว)

3. วิญญาณของซามูไร (ผ่านร่างทรง): ฆ่าตัวตายด้วยมีดฝังมุกของภรรยา หลังจากที่เธอถูกข่มขืนและตกลงใจจะไปกับโจร

4. คนตัดฟืน: เปิดเผยว่าเห็นเหตุการณ์ทั้งหมด แต่ไม่ได้บอกความจริงในศาล
คำให้การครั้งแรก
- เขาพบศพของซามูไรในป่า
- เห็นหมวกของภรรยาซามูไร เชือกที่ถูกตัด และเครื่องรางติดอยู่
- วิ่งหนีออกจากที่เกิดเหตุทันทีที่พบศพ

คำให้การครั้งที่สอง
คนตัดฟืนยอมรับว่าโกหกในคำให้การแรกเพราะไม่อยากเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับคดี และเล่าเรื่องใหม่ว่า:
- เขาแอบดูเหตุการณ์ทั้งหมดอยู่หลังพุ่มไม้
- หลังโจรข่มขืนภรรยาซามูไรก็คุกเข่าอ้อนวอนขอให้นางแต่งงานด้วย
- ภรรยาปล่อยสามีที่ถูกมัด + คาดหวังให้สามีฆ่าโจร
- ซามูไรกลับดูถูกภรรยา ทำให้นางโกรธและดูหมิ่นซามูไร และ โจร
- ทั้งสองชายต่อสู้กันอย่างเสียไม่ได้
- ซามูไรพลาดล้มทับ “ดาบ” ตัวเองจนเสียชีวิต

คำให้การรอบสองนี้ขัดแย้งกับคำให้การของตัวละครอื่นทั้งหมด

ตอนจบ
ฝนหยุดตก แสงแดดส่องผ่านประตูราโชมอน

มีคนนำทารกมาทิ้งไว้ที่บันไดประตูราโชมอน

ชาวบ้านธรรมดา ที่นั่งคุยอยู่กับพระและชายตัดฟืนเมื่อสักครู่ พยายามขโมยเสื้อผ้าและเครื่องรางของทารก → อ้างว่าพ่อแม่ของทารกคงไม่ได้สนใจเด็กมากนักถึงได้ทิ้งไว้ → ต้องทำเพื่อความอยู่รอด

คนตัดฟืน/พระพยายามห้าม

ชาวบ้านธรรมดา ถาม คนตัดฟืนว่าเขาทำอะไรกับ “มีดฝังมุก” ที่โจรยอมรับว่าทิ้งไว้ในที่เกิดเหตุ และมันหายไปไหน

คนตัดฟืนนิ่งเงียบ เป็นการยอมรับกลาย ๆ ว่าเขานั่นแหละที่เป็นคนขโมยไปและการที่เขาให้การว่าอาวุธคือดาบก็เพื่อจะเบนความสนใจ

คนตัดฟืนตัดสินใจรับเลี้ยงทารกนั้น แม้ว่าตนเองจะมีลูกอยู่แล้ว 6 คน

พระ ปลื้มปริ่ม เริ่มมีความหวังในมนุษยชาติอีกครั้ง หลังจากที่สิ้นศรัทธาไปก่อนหน้านี้ (ในเรื่องพระจะเป็นเหมือนตัวดำเนินเรื่องคุยเรื่องคุณธรรมความดีของมนุษย์และความรู้สึกสิ้นหวังในความเห็นแก่ตัวของมนุษย์)

คนตัดฟืนอุ้มทารกเดินจากไปท่ามกลางแสงแดด พร้อมกับเสียงดนตรีประกอบที่ยิ่งใหญ่…

The end ?…. จบจริงหรือ ….
✼••┈┈┈┈••✼••┈┈┈┈••✼

นี่แหละค่ะ ทุกคนปรากฏการณ์ราโชมอน หรือจะพูดง่ายๆ “ทุกคนพูดเอาดีเข้าตัวหมด”
“เป็นความจริงแต่ไม่ใช่ความจริงทั้งหมด”

สำหรับคำว่าราโชมอนนี้ เราสามารถใช้ได้กับหลายกรณีไม่ได้แค่เฉพาะในภาพยนตร์เท่านั้น แต่เรายังใช้ไปถึงในการสืบพยานต่างๆในคดีได้ด้วย

“เพราะทุกคนมักจะพูดในมุมของตัวเองและเป็นมุมที่ทำให้ตัวเองดูดี”

คนฟังจึงต้องฟังอย่างมีวิจารณญาณ ตั้งสติก่อนบุกไปทัวร์ ฟังให้จบก่อน ถ้ายังสับสนก็หยุดรถทัวร์ไว้ เป็นผู้ฟังที่ดีก็พอแล้ว

ขอบคุณค่ะ

ใครอ่านจบบ้างลงชื่อด้วยนะคะ
พิมพ์อะไรตกไปมึนบ้างก็บอกได้นะคะเพราะยาวมากเลย

#กิ๊ฟจังนั่งเล่า #ราโชมอน

https://www.facebook.com/photo/?fbid=1218469292968333&set=a.254200992728506