วันจันทร์, พฤศจิกายน 04, 2567

ย้อนดูกฎหมายนิรโทษกรรมของไทย 23 ฉบับ เว้นโทษให้คณะรัฐประหารไปแล้วถึง 11 ครั้ง


ประเทศไทยเคยมี #กฎหมายนิรโทษกรรม มาแล้ว 23 ฉบับ 😮
.....
iLaw
10 hours ago
·
ช่วงปลายปี 2566 ถึงช่วงต้นปี 2567 ประเด็นการนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองเริ่มเป็นที่พูดถึงของคนในสังคม หลังสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จากพรรคก้าวไกล พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรครวมไทยสร้างชาติ และภาคประชาชน เสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมสี่ฉบับ แต่ละฉบับยังมีเนื้อหาที่แตกต่างกันออกไปในหลายประเด็น โดยเฉพาะประเด็นสำคัญที่เป็นเรื่องถกเถียง คือการนิรโทษกรรมคดีความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
.
เมื่อย้อนดูประวัติศาสตร์ ประเทศไทยมีกฎหมายนิรโทษกรรม 23 ฉบับ นิรโทษกรรมให้คณะรัฐประหาร 11 ครั้ง นิรโทษกรรมให้ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงหกครั้ง สี่ครั้งจากหกครั้งเป็นการนิรโทษกรรมแก่ผู้ที่ใช้กำลังต่อสู้เพื่อหวังสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่ไม่สำเร็จ จึงมีความผิดในฐานกบฏ นอกจากกรณีดังกล่าว มีสามครั้งที่นิรโทษกรรมความผิดสืบเนื่องมาจากการชุมนุมใหญ่ โดยไม่มีขอบเขตด้านความผิด ไม่มีข้อยกเว้นว่าจะไม่นิรโทษกรรมให้ความผิดฐานใด
.
โดยในกฎหมายนิรโทษกรรมความผิดที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์การชุมนุม 6 ตุลาคม 2516 และพฤษภาคม 2534 ยัง “เหมาเข่ง” นิรโทษกรรมบุคคลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหมายความว่า ไม่ใช่แค่ผู้ชุมนุมเท่านั้นที่จะได้รับการลบล้างความผิด แต่ “เจ้าหน้าที่รัฐ” ที่กระทำความผิด ไม่ว่าจะฆ่าหรือทำร้ายร่างกายผู้ชุมนุม ก็ได้รับการนิรโทษกรรมไปด้วย
.
1) นิรโทษกรรมจากการชุมนุม 14 ตุลาคม 2516
.
การชุมนุมดังกล่าว เป็นการชุมนุมเพื่อขับไล่รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร และเรียกร้องให้จัดทำรัฐธรรมนูญ โดยการชุมนุมในครั้งนี้มีสาเหตุมาจากความไม่พอใจในการสืบทอดอำนาจในหมู่จอมพล จากอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สู่จอมพลถนอม กิตติขจร ประกอบกับปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง บรรดานักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชน จึงออกมาชุมนุมกัน โดยเริ่มจากการเรียกร้องรัฐธรรมนูญของกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ เมื่อ 5 ตุลาคม 2516 ในวันถัดมา กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญเดินแจกใบปลิวและหนังสือ โดยมุ่งหมายเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญ โดยเดินจากสนามหลวงไปถึงประตูน้ำ ทว่ากลับถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งข้อหามั่วสุมชักชวนให้มีการชุมนุมทางการเมือง ทำให้สถานการณ์ยิ่งตึงเครียดขึ้นกว่าเดิม จนนำไปสู่การชุมนุมและอภิปรายโจมตีรัฐบาลในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่ 8-13 ตุลาคม 2516 นำไปสู่การเดินขบวนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผ่านถนนราชดำเนิน ไปยังลานพระบรมรูปทรงม้า
.
การชุมนุมทอดยาวไปถึง 14 ตุลาคม 2516 ทว่าในช่วงประมาณตีห้า เมื่อผู้ชุมนุมเริ่มสลายตัว ทหารและตำรวจก็ใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมุนอย่างรุนแรง ทำให้ผู้ชุมนุมแตกรังและหนีเอาตัวรอด การปราบปรามผู้ชุมนุมยกระดับขึ้นเมื่อรัฐบาลให้ใช้รถถังและเฮลิคอปเตอร์เข้ามาปราบปรามเหตุการณ์ดังกล่าว พร้อมทั้งออกมาตรการเคอร์ฟิว ห้ามประชาชนออกนอกเคหสถานตั้งแต่สี่ทุ่มถึงตีห้าครึ่ง ปิดสถานศึกษาในกรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ การใช้ยาแรงของรัฐต่อผู้ชุมนุม ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและร่างกายของผู้ชุมนุมจนท้ายที่สุด จอมพลถนอม กิตติขจร ประกาศลาออกจากตําแหน่งนายกฯ ในคืนนั้น 19.15 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดํารัสทางวิทยุและโทรทัศน์ ขอให้ทุกฝ่ายระงับเหตุแห่งความรุนแรง และมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ องคมนตรี และนายกพุทธสมาคมแห่งประเทศไทย เป็นนายกฯ แต่ผู้ชุมนุมก็ยังไม่ยอมถอย วันที่ 15 ตุลาคม 2516 ผู้ชุมนุมบางส่วนยังคงยืนยันชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทางด้านเจ้าหน้าที่รัฐก็ใช้กำลังและอาวุธปราบปรามผู้ชุมนุมอย่างรุนแรง ทำให้ทหารและตำรวจบางส่วนไม่เห็นด้วยกับการกระทำเช่นนี้และเกิดความขัดแย้งในรัฐบาล จนท้ายที่สุดจอมพลถนอม กิตติขจร จอมพล, ประภาส จารุเสถียร และพ.อ.ณรงค์ กิตติขจร (บุตรชายจอมพลถนอม บุตรเขยจอมพลประภาส) ก็หนีออกนอกประเทศไทยไป
.
ต่อมา 16 พฤศจิกายน 2516 จึงมีการประกาศใช้พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชน ซึ่งกระทำความผิดเกี่ยวเนื่องกับการเดินขบวน เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2516 พ.ศ. 2516 กำหนดว่าการกระทำของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชน ที่เกี่ยวเนื่องกับการเดินขบวนเมื่อ 13 ตุลาคม 2516 และกระทำระหว่าง 8-15 ตุลาคม 2516 หากการกระทำนั้นผิดกฎหมาย ให้ผู้กระทำความผิดพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง
.
2) นิรโทษกรรมจากการชุมนุม 6 ตุลาคม 2519
.
ในการชุมนุมดังกล่าวมีนักศึกษาประชาชนถูกฆ่าโดยเจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มจัดตั้งฝ่ายขวา ซ้ำผู้ที่รอดชีวิตมายังถูกจับกุมภายในวันเดียวกันนั้นเอง และมีการใช้ศาลทหารดำเนินคดีกับกลุ่มนักศึกษาและผู้ชุมนุม ผ่านไปเกือบสองปี 16 กันยายน 2521 จึงมีการประกาศใช้ พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 พ.ศ. 2521 นิรโทษกรรมการกระทำความผิดของบุคคลที่กระทำระหว่างวันที่ 4-6 ตุลาคม 2519 ไม่ว่าจะได้กระทำในหรือนอกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หากการกระทำนั้นผิดกฎหมาย ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิด ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวไม่ได้กำหนดกรอบฐานความผิดที่จะได้รับการนิรโทษกรรม หมายความว่า สำหรับผู้ที่กระทำความผิดฐานฆ่าหรือทำร้ายผู้ชุมนุม ก็จะ “เหมาเข่ง” ได้รับนิรโทษกรรมไปด้วย นอกจากการนิรโทษกรรมแล้ว กฎหมายดังกล่าวยังกำหนดให้ศาลปล่อยตัวจำเลยที่อยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีด้วย และให้จำเลยพ้นความรับผิดตามกฎหมายดังกล่าว
.
3) นิรโทษกรรมจากการชุมนุมพฤษภาทมิฬ การชุมนุมดังกล่าวเป็นการชุมนุมเพื่อขับไล่พลเอกสุจินดา คราประยูร นายกฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่รัฐประหารโค่นรัฐบาลพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2534 โดยมีพลเอกสุนทร คงสมพงษ์ (บิดาของพลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์) เป็นหัวหน้ารสช. หลังจากนั้นจึงประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2534กำหนดให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่มาจากการแต่งตั้งของสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ซึ่งก็คือบรรดารสช. โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ และตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้น จนจัดทำรัฐธรรมนูญ 2534 ออกมาสำเร็จ
.
หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2534 ในวันที่ 9 ธันวาคม 2534 ประเทศไทยก็เข้าสู่บรรยากาศการเลือกตั้งภายใต้กติกาของรัฐธรรมนูญดังกล่าว แน่นอนว่ารสช. ก็สร้างกลไกการสืบทอดอำนาจเอาไว้ โดยหนึ่งในกลไกนั้นคือ พรรคสามัคคีธรรม ซึ่งชนะการเลือกตั้งเมื่อ 22 มีนาคม 2535 และสามารถรวบรวมเสียงจากพรรคอื่นๆ จัดตั้งรัฐบาลได้ โดยสภาผู้แทนราษฎร โหวตเลือกพลเอกสุจินดา คราประยูร เป็นนายกฯ
.
การชุมนุมขับไล่พลเอกสุจินดา คราประยูร นายกฯ ที่มาจากกลไกสืบทอดอำนาจ เริ่มตั้งแต่ 17 พฤษภาคม 2535 และชุมนุมต่อเนื่องหลายวัน จน 20 พฤษภาคม 2535 เจ้าหน้าที่ใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุม รัฐบาลจึงประกาศเคอร์ฟิว ช่วงดึกของคืนนั้นเองก็มีการฉายรายการโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ โดยสัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานองคมนตรี และพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรี นำพลเอกสุจินดา คราประยูร และพลตรีจำลอง ศรีเมือง เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นสัญญาณของการหันหน้าเข้าหากันเพื่อความสงบของบ้านเมือง สถานการณ์ในวันต่อมาจึงดีขึ้น
.
23 พฤษภาคม 2535 จึงมีการประกาศใช้พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมกันระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 พ.ศ. 2535 นิรโทษกรรมการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมระหว่าง 17-21 พฤษภาคม 2535 ซึ่งเป็นอีกครั้งที่ “เหมาเข่ง” ยกเว้นความผิดให้ทั้งฝ่ายผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่รัฐที่ฆ่าหรือทำร้ายผู้ชุมนุม 

วันถัดมา พลเอกสุจินดา คราประยูร ก็ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่เส้นทางของพระราชกำหนดนิรโทษกรรมดังกล่าวไม่ได้จบลงง่ายๆ ส.ส. 154 คนได้เสนอเรื่องไปยังคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยว่าพระราชกำหนดดังกล่าวไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2534 มาตรา 172 วรรคหนึ่ง กล่าวคือ ไม่เป็นประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ หรือความปลอดภัยสาธารณะ หรือความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ แต่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญก็ชี้ว่า พระราชกำหนดดังกล่าวเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2534 มาตรา 172 วรรคหนึ่ง อย่างไรก็ตาม 7 ตุลาคม 2535 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรก็ไม่อนุมัติพระราชกำหนดดังกล่าว ทำให้พระราชกำหนดดังกล่าวตกไป ไม่ได้เป็นพระราชบัญญัติใช้จะใช้บังคับต่อไป แต่ก็ไม่กระทบกับการนิรโทษกรรมที่ได้เกิดขึ้นไปแล้วระหว่างที่ใช้พระราชกำหนดดังกล่าว
.
.
.
ย้อนดูกฎหมายนิรโทษกรรมในอดีต
(https://www.ilaw.or.th/articles/4873)