เครนยกคานสะพานถล่ม ถนนพระราม 2 พังถล่มลงมา มีผู้บาดเจ็บ 10 ราย เสียชีวิตแล้ว 4 ราย#MONONews #คานถล่ม #ถนนพระราม2 pic.twitter.com/eUCVvoEt2V
— Mono News (@mthai) November 29, 2024
ส่อง 3 ปัจจัย ทำก่อสร้างบนถนนพระราม 2 เกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อนบ่อยครั้ง
อุบัติเหตุดังกล่าว มีผู้เสียชีวิตและคาดว่าเสียชีวิตรวม 6 ราย เป็นคนงานของบริษัท พีเอสซีไอ คอนสตรัคชั่น จำกัด
29 พฤศจิกายน 2024
อุบัติเหตุคานก่อสร้างถนนพระราม 2 ช่วง อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ถล่มจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ผู้เชี่ยวชาญจากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย คาดว่าอุบัติเหตุเกิดขึ้นขณะกำลังมีการประกอบกล่องคอนกรีตเซกเมนต์ โดยจะต้องตรวจสอบสาเหตุอย่างละเอียดอีกครั้งว่าเกิดจากการวิบัติของโครงสร้างส่วนใด ส่วนการรื้อถอนสถานที่เกิดเหตุคาดว่าต้องใช้เวลาหลายวัน
ตัวแทนส่วนราชการในจังหวัดสมุทรสาคร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย และบริษัทผู้รับเหมา ร่วมหารือถึงแผนการกู้ที่เกิดเหตุที่จุดบัญชาการชั่วคราว โดยเบื้องต้นได้มีการระดมรถเครนขนาดใหญ่จำนวน 3 คัน ซึ่งคาดว่าจะเข้าพื้นที่ได้ในช่วง 15.00 น. วันนี้ (29 พ.ย.)
ตามการรายงานของประชาสัมพันธ์จังหวัดสมุทรสาคร ล่าสุดเมื่อ 17.00 น. เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้มีผู้เสียชีวิตและคาดว่าเสียชีวิตรวม 6 ราย เป็นคนงานของบริษัท พีเอสซีไอ คอนสตรัคชั่น จำกัด แบ่งเป็นคนไทย 2 ราย ชาวเมียนมา 2 ราย
สำหรับผู้สูญหายจำนวน 2 ราย ซึ่งคาดว่าเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ เป็นชายสัญชาติเมียนมาทั้งสองคน
ขณะที่ผู้ได้รับบาดเจ็บถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล จำนวน 9 ราย ปัจจุบันออกจากโรงพยาบาลแล้ว 3 ราย และยังคงรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 6 ราย
ก่อนหน้านี้ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เคยลั่นวาจาไว้เมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมาว่า ได้เรียกผู้รับเหมาโครงการก่อสร้างบนถนนพระราม 2 เข้ามาพูดคุย และให้ทุกรายยืนยันว่า ในเดือน มิ.ย. 2568 แล้วเสร็จ ยกเว้นทางหลวงพิเศษช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ตอน 4 และ 6 เนื่องจากมีการแก้ไขแบบ และเป็นจุดขึ้นลงทำให้เสร็จปลายปี 2568
การให้คำมั่นดังกล่าวเกิดขึ้น เมื่อเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทางสังคมออนไลน์ถึงความล่าช้าของการก่อสร้าง และอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นนับไม่ถ้วนในการก่อสร้างโครงการต่าง ๆ บนถนนเส้นนี้
ล่าสุดเมื่อเกิดอุบัติเหตุระลอกใหม่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ระหว่างการประชุม ครม. นอกสถานที่ที่ จ.เชียงใหม่ มอบหมายให้นายสุริยะ ลงพื้นที่เกิดเหตุเพื่อหาสาเหตุ
นายสุริยะกล่าวว่า จะเร่งประสานกับกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เพื่อกำหนดมาตรการลดอุบัติเหตุในระหว่างงานก่อสร้างโครงการของรัฐให้เป็นรูปธรรมภายในปีนี้ โดยในส่วนของบริษัทผู้รับเหมาชั้นพิเศษ จะมีมาตรการที่เรียกว่า “สมุดพก” บันทึกไว้ว่าทำผิดตรงไหนบ้าง ทั้งความล่าช้า หรืออุบัติเหตุที่ทำให้เสียชีวิต เช่น กรณีทำให้เกิดอุบัติเหตุจนเสียชีวิต จะมีมาตรการไม่ให้ผู้รับเหมารายนี้รับงาน 2-4 ปี
“เราต้องมีความเด็ดขาดกับผู้รับเหมา แต่ที่ผ่านมาตัวมาตรการเหล่านี้ยังไม่มี เราประกาศไป แต่ยังไม่มีออกมาเป็นรูปธรรม ซึ่งเรื่องการควบคุมส่วนหนึ่งอยู่ที่กรมบัญชีกลางที่เราจะไปพูดคุยกัน ถ้ามีมาตรการออกมาจะทำให้ปัญหาลดน้อยลงไป 80-90% แน่นอน” รองนายกฯ และ รมว.คมนาคม กล่าว
บีบีซีไทยรวบรวมข้อมูลล่าสุดของอุบัติเหตุและแผนการกู้และรื้อถอนที่เกิดเหตุ
เกิดอะไรขึ้น
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในเวลาราว 04.07 น. ของวันนี้ (29 พ.ย.) เมื่อคานสะพานที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างทางยกระดับพังถล่มลงมา
จุดเกิดเหตุอยู่ที่ถนนพระราม 2 กิโลเมตรที่ 21 ขาออกกรุงเทพฯ บริเวณหมู่ 4 ต.นาดี อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ใกล้ตลาดมหาชัยเมืองใหม่
กรมทางหลวง (ทล.) รายงานต่อ รมว.คมนาคม ว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจากคานปูน (Segment) และเครน (Launching Gantry Crane) ซึ่งเป็นชิ้นส่วนและอุปกรณ์ที่ใช้ก่อสร้างทางยกระดับ โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 สายทางยกระดับบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ตอน 1 ถล่ม ขณะที่กำลังเชื่อมคานปูนเข้าด้วยกัน
นายมนตรี วงศ์วิวัฒน์ รอง ผอ.แขวงทางหลวงสมุทรสาคร กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่ทำให้ทรัส (Launching Truss) ถล่มลงมาได้ ต้องรอให้ทางวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ เข้ามาตรวจสอบ
สื่อมวลชนหลายสำนัก อาทิ สถานีโทรทัศน์ช่อง 3, เอ็นบีที รายงานโดยอ้างคำให้สัมภาษณ์จากหัวหน้าคนงาน กล่าวว่า ตอนเกิดเหตุ ทุกคนกำลังทำงานอยู่ด้านบน ช่วงที่กำลังจะย้ายมาทำงานอีกฟากหนึ่งของตัวยกแผ่นปูน จู่ ๆ ตัวโครงก็ถล่มลงมา โดยไม่มีสัญญาณใด ๆ ทำให้ลูกน้องตกลงมาเสียชีวิต และเชื่อว่าบางคนน่าจะถูกทับอยู่ใต้ซากคานที่ถล่มลงมา
“ตอนนั้นผมก็ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ที่จำได้คือภาพที่ลูกน้องตกลงมาเสียชีวิตและบาดเจ็บ” หัวหน้าคนงานกล่าว
สาเหตุเบื้องต้นจากการประเมินของผู้เชี่ยวชาญ
นายวุฒินันท์ ปัทมวิสุทธิ์ ประธานสาขาวิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) ให้สัมภาษณ์สื่อที่จุดบัญชาการเหตุเกี่ยวกับสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุว่า จากการประเมินด้านนอกบริเวณหน้างานก่อสร้างและสอบถามข้อมูลจากผู้คุมงาน คาดว่าอุบัติเหตุเกิดขึ้นขณะกำลังประกอบชิ้นส่วน โดยเครนลอนเชอร์ทรัสที่เกิดอุบัติเหตุเป็นเครนที่ใช้ประกอบชิ้นส่วนคอนกรีตหรือเซกเมนต์ของทางวิ่งด้านบน แต่การจะตรวจสอบได้อย่างแน่ชัดจะต้องดูในขั้นตอนที่มีการเคลื่อนย้ายรื้อถอนชิ้นส่วนออกมาแล้วจึงจะประเมินได้ว่าสาเหตุเกิดจากการวิบัติในตัวโครงสร้างส่วนใด
“น้ำหนักที่ห้อยอยู่หนักหลายร้อยตัน และมีการขยับเคลื่อนที่ของตัวชุดรอกที่ยกรับน้ำหนัก ซึ่งเวลาขยับมันอาจจะไม่เกิดแรงบางด้าน แต่ทั้งนี้ต้องพูดคุยกับผู้ควบคุมพื้นที่หน้างานก่อน” นายวุฒินันท์กล่าว
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าอุบัติเหตุเกิดขึ้นขณะที่ตัวเครนลอนเชอร์หรือทรัส กำลังหิ้วกล่องคอนกรีตสำเร็จรูปหรือเซกเมนต์ของทางวิ่งจำนวนหลายชิ้น ก่อนที่โครงสร้างคานเครนจะเกิดการวิบัติ
ทางด้าน รศ.ดร.คมสัน มาลีสี นักวิชาการด้านวิศวกรรมโยธาและอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวกับบีบีซีไทยว่า จากการประเมินที่เกิดเหตุและการเก็บข้อมูลของภาควิชาวิศวกรรมโยธาเบื้องต้นพบว่า ตัวเครนลอนเชอร์ทรัสที่ใช้ยกชิ้นส่วนคอนกรีตสำเร็จรูปหรือเซกเมนต์ได้หิ้วตัวเซกเมนต์หลายชิ้นไว้พร้อมสำหรับการร้อยลวดเข้าด้วยกันแล้ว แต่กระบวนการยังไม่ทันถึงขั้นตอนการดึงลวด ได้เกิดเหตุที่ทำให้ตัวเครนลอนเชอร์พังทลายลงมาก่อน
จากการประเมินตัวเครนลอนเชอร์ทรัสดังกล่าว หรือตัวคานเหล็กสีน้ำเงินในภาพข่าวที่ถล่มลงมา รศ.ดร.คมสัน ระบุว่า ไม่แน่ชัดว่าเครนดังกล่าวสามารถจะรับน้ำหนักตัวเซกเมนต์ต่าง ๆ ได้ดีมากน้อยแค่ไหน แม้ก่อนการดึงลวดจะจะสามารถรับน้ำหนักสูงสุดไว้ได้ แต่ความสมบูรณ์หรือสภาพของตัวเครนอาจมีความเก่าหรือเผชิญกับความล้าหรือไม่ จึงมีเหตุทำให้ตัวเครนมันเกิดการวิบัติ
“หากความสมบูรณ์ของตัวเครนทรัสมันไม่ดีพอ มันก็อาจมีผลทำให้ความสามารถในการรับน้ำหนัก อาจทำไม่ได้เท่าที่ควรจะเป็น” รศ.ดร.คมสัน ตั้งข้อสังเกต และกล่าวว่า “อาจมีคำถามว่าแล้วทำไมทำมาตั้งนานไม่เห็นเป็นอะไร แต่เมื่อมายกส่วนนี้ถึงเกิดอุบัติเหตุขึ้น ต้องบอกว่าบางครั้งความล้าอาจเกิดขึ้น ถ้ามันไม่สมบูรณ์ เมื่อถึงจุด ๆ หนึ่ง มันอาจทำให้โครงสร้าง (ของตัวเครน) วิบัติฉับพลันได้เหมือนกัน” รศ.ดร.คมสัน กล่าว
ผู้เกี่ยวข้องทำอะไรแล้วบ้าง แผนการรื้อถอนเป็นอย่างไร
ตั้งแต่ช่วงเช้า ผู้เกี่ยวข้องต่างลงพื้นที่ต่อเนื่อง นำโดยนายวรณัฎฐ์ หนูรอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ที่รุดไปตรวจสถานที่เกิดเหตุ และพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมงาน หัวหน้าคนงาน และคนงานก่อสร้าง
ขณะที่ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงสมุทรสาคร หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
กรมทางหลวง (ทล.) จะส่งผู้เชี่ยวชาญ ร่วมกับวิศวกรจากบริษัทผู้รับจ้าง เข้าตรวจสอบและประเมินความเสียหาย มีนายธนสาร สิทธาภา แขวงทางหลวงสมุทรสาครเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ โดยพร้อมเข้าเคลียร์พื้นที่ด้วยถเครนขนาด 400 ตัน 1 คัน และ 200 ตัน 2 คัน หลังการประเมินเสร็จสิ้น
ส่วนการรื้อถอนกู้ซากคอนกรีต ประธานสาขาวิศวกรรมเครื่องกล กล่าวว่า การยกรื้อถอนส่วนที่เกิดอุบัติเหตุ “เป็นงานที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน” และ “การกู้คาดว่าต้องใช้เวลาหลายวัน”
ที่เป็นเช่นนี้ นายวุฒินันท์อธิบายว่า เนื่องจากตัวโครงสร้างที่พักพังทลายอยู่ในจุดนี้ น้ำหนักตามปกติน่าจะหนักที่หลายร้อยตัน อีกทั้งมีกล่องคอนกรีตเซกเมนต์ที่ห้อยคาอยู่ประมาณ 3-4 กล่อง ซึ่งมีน้ำหนักเดิมกว่า 50 ตัน มีชิ้นส่วนที่กองบริเวณพื้น 8 ท่อน ดังนั้น การเคลื่อนย้ายต้องใช้เครนขนาดใหญ่
นายวุฒินันท์กล่าวต่อไปว่า และด้วยโครงสร้างที่พังทลายอาจมีการแตกหักเสียหาย และชิ้นส่วนแต่ละส่วนอาจจะยึดโยงกันอยู่เพราะมีขนาดยาวมาก จึงทำให้ไม่สามารถยกโครงสร้างที่ต่อเนื่องและมีการพังทลายได้ในครั้งเดียว การกู้อาจต้องมีการตัดทีละส่วน จึงทำให้การกู้และรื้อถอนอาจต้องใช้เวลาหลายวัน
“ทาง วสท. จะมีทีมวิศวกรด้านงานยกเคลื่อนย้ายโดยเฉพาะ ซึ่งจะให้คำแนะนำว่าจะรื้ออย่างไร หรือจะต้องมีการตัดแยกส่วนก่อนลำเลียงลงสู่ด้านล่าง” ประธานสาขาวิศวกรรมเครื่องกล วสท. ระบุ
นายวุฒินันท์ ปัทมวิสุทธิ์ ประธานสาขาวิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.)
เครนที่เกิดอุบัติเหตุคืออะไร
โครงสร้างสะพานที่พังถล่มลงมาคือ เครนลอนเชอร์ หรือเครนทรัส (Launching Truss) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ในการติดตั้งคานสะพานด้วยโครงเหล็กเลื่อนของการก่อสร้างสะพานด้วยวิธีแบบก่อสร้างทีละช่วง (Span-by-Span) โดยโครงสร้างส่วนบน (Super Structure) ใช้รูปแบบคานคอนกรีตอัดแรงรูปกล่องแบ่งเป็นหลายชิ้นใน 1 สแปน
ในการติดตั้งจะใช้รอกไฟฟ้ายกชิ้นส่วนคานขึ้นมาอยู่ในระดับการติดตั้ง และเลื่อนชิ้นส่วนให้เข้าชิดติดกันตามตำแหน่งแหน่งที่ระบุในแบบ แล้วใช้เส้นลวดสลิงขนาดใหญ่แขวนชิ้นส่วนสำเร็จทั้งหมดให้ลอยอยู่ในระดับที่ต้องการติดตั้ง และเข้าสู่ กระบวนการเชื่อมรอยต่อระหว่างชิ้นส่วนต่าง ๆ
วิเคราะห์ 3 ปัจจัย เหตุใดก่อสร้างถนนพระราม 2 จึงเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง
ระยะทางไกล-รับเหมาช่วงต่อหลายเจ้า-ทักษะผู้รับเหมารายย่อยแตกต่างกัน
รศ.ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สจล. ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโยธา กล่าวกับบีบีซีไทยว่า ถนนพระรามสองเป็นถนนที่มีระยะทางไกลมาก จึงมีการใช้ผู้รับเหมาช่วงหลายเจ้า ในเมื่อมีผู้รับเหมาช่วงหลายเจ้า ประเด็นของคุณภาพการทำงาน ประสิทธิภาพในการทำงานของผู้รับเหมาช่วงแต่ละเจ้าก็แตกต่างกันไปด้วย ทั้งในเรื่องทักษะการทำงานและอุปกรณ์ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีผลต่อการก่อสร้างทั้งหมด
“บางเจ้าจะมีทักษะในการทำงานที่สูงมาก อุปกรณ์ที่เขาใช้ บางจุดบางช่วงอุปกรณ์บางอย่าง ไม่ได้ใช้เหมือนกันทุกราย แล้วแต่ผู้รับเหมาช่วงแต่ละที่ที่จะเลือกใช้”
จากข้อมูลจากเดือน มี.ค. 2567 พบว่าโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้างบนถนนพระราม 2 (ทางหลวงหมายเลข 35) มีจำนวน 4 โครงการ อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง 3 โครงการ ซึ่งมีสัญญากับผู้รับจ้างอย่างน้อยรวม 17 ราย โดยบางรายเป็นกิจการร่วมค้าที่ประกอบด้วยผู้รับเหมาอย่างน้อย 2-3 ราย ภายในสัญญาเดียวกัน
อธิการบดี สจล. อธิบายว่า โดยปกติผู้ที่ไปรับเหมาโครงการต่อภาครัฐจะเป็นผู้รับเหมารายใหญ่ แต่บางครั้งหากปริมาณงานมีมาก การมีผู้รับเหมาช่วงรายย่อยเข้ามารับงานก็อาจเกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้น หากมีผู้รับเหมาช่วงรายย่อยเยอะมาก ถ้าผู้รับเหมาหลักคุมงานได้ไม่ดีพอ หรือตรวจสอบพวกวัสดุที่ใช้ก่อสร้างไม่ดีพอ ก็อาจจะมีปญหาต่าง ๆ ตามมา และยังมีปัจจัยจากทางผู้รับเหมารายย่อยเองด้วยอีกทางหนึ่ง
“ทักษะของผู้รับเหมารายย่อยลงไปอาจมีบ้างที่ทำงานได้ไม่ละเอียดถี่ถ้วน ก็จะทำให้เห็นว่าเดี๋ยวมีอุบัติเหตุหล่นตรงนั้นตรงนี้ ระบบการป้องกันของเขาก็อาจจะไม่ดีพอ หรือประสบการณ์ในการทำงาน ผู้รับเหมาช่วงบางเจ้าอาจจะไม่เคยได้ทำงานในปริมาณที่มาก ๆ มาก่อนก็เป็นไปได้อีก เขาอาจมีเพียงสกิลบางส่วนแล้วก็ไปรับเหมาในพื้นที่ ทำให้ไม่ได้ระมัดระวังถึงความปลอดภัย”
โครงการก่อสร้างบนถนนพระราม 2 มีทั้งสิ้น 3 โครงการ ประกอบไปด้วยสัญญารับจ้างอย่างน้อย 17 สัญญา และมีผู้รับเหมาช่วงต่อนับสิบราย
การลงทุนกับมาตรฐานความปลอดภัยไม่สูงพอ ?
รศ.ดร.คมสัน ชี้ว่าโดยหลักการแล้ว ผู้รับเหมาหลักจะต้องตระหนัก โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวข้องกับสาธารณะ เรื่องความปลอดภัยต้องเอามาวางไว้เบื้องต้น ตั้งแต่ระบบการป้องกันไม่ให้วัสดุต่าง ๆ ร่วงหล่นลงมา ซึ่งระบบก่อสร้างในต่างประเทศอย่างญี่ปุ่นจะเน้นเรื่องการป้องกันมาเป็นประเด็นหลักในการก่อสร้าง เพราะถ้ามีอุบัติเหตุขึ้นจะถือเป็นเรื่องใหญ่มาก ๆ ในประเทศพัฒนาแล้ว
รศ.ดร.คมสัน ให้ความเห็นว่าประเทศไทยควรกลับมาพิจารณาว่า ถ้าระบบการป้องกันไม่ผ่านมาตรฐาน หรือไม่มีกระบวนการเหล่านี้ ตัวผู้รับเหมาหลักที่รับงานมาจากภาครัฐหรือบริษัทที่ปรึกษา (คอนซัลต์) ต้องห้ามไม่ให้ดำเนินการก่อสร้างเด็ดขาด
เขาบอกด้วยว่าภาครัฐต้องเน้นกับผู้รับเหมาให้มีการเสนอมาตรการความปลอดภัยและการป้องกันเหตุต่าง ๆ ไม่ให้เกิดขึ้น ซึ่งการมีระบบในลักษณะนี้บางอย่างอาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม แต่มาตรการเหล่านี้สามารถกำหนดไว้ตั้งแต่ช่วงของการประมูล หรือหากมีในเงื่อนไขการประมูลแล้ว ก็ต้องบังคับให้ผู้รับเหมาดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ ให้ได้
“มันอาจจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มในการป้องกัน ตั้งแต่ช่วงของการประมูลก็ต้องทำ ไม่ใช่พอปล่อยเรื่องนี้ไปแล้วไปรีดราคาถูก ๆ หรือปล่อยให้เขาเสนองาน โดยไม่ทำระบบความปลอดภัยที่ดีก็จะเป็นปัญหา และต้องอยู่ที่ TOR (รายละเอียดในการจัดจ้าง) ที่เขียนด้วยว่ารอบคอบจุดนี้แค่ไหน หรือถ้ารอบคอบแล้ว เราก็ต้องบังคับให้ผู้รับเหมาทำให้ได้ โจทย์สองอย่างนี้ ถ้าเราทำได้ก็จะช่วยเรื่องพวกนี้ได้”
ช่องว่างของการตรวจสอบกระบวนการก่อสร้าง
รศ.ดร.คมสัน ชี้ว่าการป้องกันก่อนที่จะเกิดเหตุในโครงการก่อสร้างสาธารณะ ประเทศไทยไม่มีหน่วยงานของรัฐไปตรวจสอบในกระบวนการก่อสร้างได้ดีพอ เพราะส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาบริษัทที่ปรึกษาหรือคอนซัลต์ ดังนั้น การก่อสร้างสาธารณะ นอกจากผู้รับเหมาแล้ว คอนซัลต์ถือเป็นส่วนสำคัญในการควบคุมมาตรฐานงานก่อสร้าง
“งานก่อสร้างที่เกิดอุบัติเหตุต่าง ๆ ถ้ามีคอนซัลต์ที่ดี มีการแนะนำที่ใกล้ชิดก็น่าจะช่วยได้ owner (เจ้าของโครงการ) ซึ่งก็คือรัฐ จะต้องหาตัวแทนที่เชื่อมั่นได้และมีศักยภาพสูงพอที่จะเป็นตัวแทนของฝ่ายภาครัฐในการช่วยเป็นหูเป็นตาเรื่องความปลอดภัย” อธิการบดี สจล. ระบุ
“รัฐในฐานะของเจ้าของ ต้องเน้นว่าอุบัติเหตุต้องไม่มี ต้องเป็นศูนย์ ถ้าให้โจทย์พวกนี้ไปกับทางคอนซัลต์ เขาก็ต้องไปขับเคลื่อนเรื่องพวกนี้ไปกับผู้รับเหมาให้ได้”
อธิการบดี สจล. ทิ้งท้ายด้วยว่า ประเด็นมาตรฐานความปลอดภัยในการทำงาน ประเทศไทยยังมีบุคลากรในด้านนี้น้อยเกินไปอย่างเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน (จป.) ที่ได้มาตรฐาน ซึ่งบุคลากรด้านนี้ที่จะมีส่วนช่วยดูแลความปลอดภัยในการทำงานได้
ย้อนดูอุบัติเหตุจากการก่อสร้างบนถนนพระราม 2
ตั้งแต่ปี 2561 ถนนเส้นนี้เต็มไปด้วยโปรเจกต์ก่อสร้าง รวมทั้งสิ้น 3 โครงการ ไม่นับโครงการซ่อมแซมอื่น ได้แก่ 1) ทางยกระดับบนทางถนนพระราม 2 หรือมอเตอร์เวย์ 2) ทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 และโครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก และ 3) โครงการขยายพระราม 2 ช่วงทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เอกชัย ซึ่งเสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อเดือน ก.ค. 2564
ในรอบ 6 ปีที่ผ่านมามีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้ง อาทิ
- 9 ส.ค. 2563 รถยนต์ 2 คันเป็นรถกระบะ และรถเก๋ง ตกร่องถนนที่กำลังก่อสร้าง จุดเกิดเหตุอยู่บริเวณหน้าบริษัท โลหะกิจเจริญทรัพย์ ถนนพระราม 2 จ.สมุทรสาคร ขาเข้ากรุงเทพฯ โดยที่เกิดเหตุไม่มีป้ายแจ้งเตือนและเป็นลักษณะน้ำท่วมบริเวณร่องถนน
- 21 ส.ค. 2564 คนงานบริษัท อิตาเลียนไทยฯ หล่นจากคานทางยกระดับพระราม 2 ช่วง กม.19 เสียชีวิตระหว่างทำการติดตั้งแผ่นรองรับตัวคาน คาดว่าเป็นช่วงมุดเข้าใต้ท้องสะพานจึงถอดเข็มขัดนิรภัยออก
- 17 ก.ค. 2565 วัสดุก่อสร้างร่วงหล่นลงบนถนนพระราม 2 กม.17 ขาเข้ากรุงเทพฯ ช่วงสมุทรสาคร เหล็กขนาดใหญ่ได้ลอยตกลงมาทับจนรถกระดอนขึ้นสร้างความเสียหายอย่างรุนแรง และมีรถยนต์ส่วนบุคคลเสียหายอีก 2 คัน มีผู้ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย 3 คน ทล. ชี้แจงว่าเหล็กดังกล่าวเป็นชิ้นส่วนนั่งร้านเหล็ก
- 22 ก.ค. 2565 พบรอยแตกร้าวพื้นสะพานทางด่วนพระราม 2 บริเวณทางเข้าหมู่บ้านเนเชอร่า ทล. ชี้แจงคาดว่าเกิดจากความสั่นสะเทือน เนื่องจากสะพานช่วงดังกล่าวมีปริมาณการจราจรสูงมาก พร้อมระบุถึงการเข้าซ่อมแซมโดยปิดช่องจราจรด้านใต้ของสะพานเป็นเวลา 2 สัปดาห์
- 31 ก.ค. 2565 สะพานกลับรถหรือจุดยูเทิร์นเกือกม้าบนถนนพระราม 2 กิโลเมตรที่ 34 บริเวณใกล้โรงพยาบาลวิภาราม จ.สมุทรสาคร เกิดเหตุถล่ม เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นคนงานก่อสร้าง และบาดเจ็บ 2 ราย
- 7 มี.ค. 2566 เกิดเหตุเครนล้มขวางถนนพระราม 2 ฝั่งขาออกจากกรุงเทพฯ ช่วง ต.นาดี อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ในโครงการ M82 สายทางยกระดับบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ตอน 3 ผู้รับจ้างใช้รถเครนยกรถแบ็กโฮที่ติดหล่ม ระหว่างที่ยกนั้น สลิงของรถเครนได้หลุดออกจากรถแบ็กโฮ ทำให้บูมรถเครนเหวี่ยงและหักขวางถนน เคราะห์ดีไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ