หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
1 พฤศจิกายน 2024
พรรคเพื่อไทย (พท.) ช่วงชิงการเป็นผู้นำเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรม แต่ควบคุมเนื้อหาตามแนวทางของพรรคร่วมรัฐบาลที่ห้ามแตะต้องคดีมาตรา 110 และมาตรา 112
หากเป็นเช่นนั้น ประชาชนที่ตกเป็นผู้ต้องหา/จำเลยในความผิดต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท จากการเข้าร่วมชุมนุมและเคลื่อนไหวทางการเมืองในรอบ 19 ปี (2548-2567) รวมอย่างน้อย 950 คดี อาจจะถูกกันออกจากกระบวนการนิรโทษกรรม
ที่ประชุม สส. พรรค พท. เมื่อ 29 ต.ค. มีมติให้เสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมคดีทางการเมือง โดยไม่มีการนิรโทษความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 และมาตรา 112 เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อส่งไปประกบกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม 4 ฉบับ ที่ค้างสภา-รอพิจารณาในสมัยประชุมหน้าซึ่งจะเปิดประชุมตั้งแต่ 12 ธ.ค.
ถึงขณะนี้ยังไม่มีการเปิดเผยเนื้อหาของร่างกฎหมายดังกล่าวต่อสาธารณะ และ สส. เพื่อไทย ที่บีบีซีไทยพูดคุยด้วยก็ไม่ทราบว่า มีการยกร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับเพื่อไทยแล้วหรือยัง แต่ยอมรับว่า ณ ตอนนี้โอกาสในการนิรโทษกรรมความผิดให้แก่ ผู้ต้องหา/จำเลย คดี 110 และ 112 “ถูกปิดประตู” ไปแล้ว
หากพรรค พท. เสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จะถือเป็นฉบับที่ 5 ทว่ามีเพียง 2 ร่างเท่านั้นที่ให้นิรโทษกรรมนักโทษคดีการเมืองทั้งหมดโดยไม่ล็อกเงื่อนไขคดี 110 และ 112 คือ ร่างของ สส. พรรคก้าวไกลเดิม ปัจจุบันคือพรรคประชาชน (ปชน.) กับร่างของเครือข่ายภาคประชาชน
ความเคลื่อนไหวของพรรคแกนนำรัฐบาลเกิดขึ้นในวันที่ 5 หลังจากสภาผู้แทนราษฎร “รับทราบ” รายงานผลการศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ สภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท. และ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยไม่มีการลงมติในส่วนของตัวรายงาน แต่ “ตีตก” ข้อสังเกตของ กมธ. ด้วยคะแนนเสียง 270 ต่อ 152 งดออกเสียง 5 ไม่ลงคะแนน 1 ท่ามกลางแรงกดดันจากพรรคร่วมรัฐบาลแทบทุกพรรค ทั้งออกมติพรรคและป่าวประกาศผ่านสื่อว่า “ไม่เห็นด้วย” และ “จะคัดค้านอย่างถึงที่สุด” หากมีการนิรโทษกรรมการกระทำความผิดคดี 112
แม้ นายชูศักดิ์ ศิรินิล พยายามอธิบายกับ สส. เพื่อไทยและพรรคร่วมฯ ว่า รายงานฉบับนี้ยังไม่ใช่กฎหมาย แต่ก็ไม่ทำให้ สส.รัฐบาล โหวตรับข้อสังเกตของ กมธ.
สิ่งที่แกนนำพรรค พท. พร่ำบอกกับสังคมต่อการเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมแบบมี “ข้อยกเว้น” คือ เห็นความสำคัญของการนิรโทษกรรม เพราะมองว่า “นักโทษทางการเมืองไม่ควรถูกดำเนินคดี” แต่ก็เป็นจุดยืนของทุกพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล “แพทองธาร” ว่าจะไม่แตะต้องกฎหมายและคดี 112
บีบีซีไทยพูดคุยกับ 2 สส.เพื่อไทย ซึ่งเป็น “ตัวแสดง” ในการกลเกม-กลไกผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมระลอกใหม่
ผู้เปิดประตูสู่การนิรโทษกรรมแบบเพื่อไทย
วันที่ 1 ก.พ. น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล สส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท. เสนอญัตติด่วน ขอให้สภาตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
ทว่าเมื่อรายงานผลการศึกษาของ กมธ. ชุดของนายชูศักดิ์ กลับเข้าสู่การพิจารณาของสภาในเดือน ต.ค. และต้องลงมติกันว่าจะรับหรือไม่รับข้อสังเกตของ กมธ. ขัตติยา กลับเป็น 1 ใน 4 สส. เพื่อไทยที่ลงมติ “งดออกเสียง” เรียกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เหตุใดเจ้าของญัตติ-ผู้เปิดประตูสู่การตั้ง กมธ.ศึกษาแนวทางการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ถึงไม่สนับสนุนรายงานทั้งฉบับ
“เพราะเราไม่มีธงในใจ” เดียร์-ขัตติยา ชี้แจงเหตุผลในการตัดสินใจเป็นครั้งแรกผ่านบีบีซีไทย
เธอบอกว่า ตอนเสนอญัตติต่อสภา ไม่มีคำตอบในใจว่าควรออกมาอย่างไร จะนิรโทษกรรมหรือไม่ จะนิรโทษประเด็นใดบ้าง เพราะอยากให้สภาเป็นผู้จัดทำรายงานและใช้สภาพูดคุยกัน พอผลรายงานออกมา จึงลงมติงดออกเสียง
“ในฐานะคนเสนอญัตติ ไม่ว่ารายงานออกมาเป็นอย่างไร รวมคดี 112 หรือไม่ เราก็ตั้งใจจะงดออกเสียงอยู่แล้ว เลือกที่จะอยู่ตรงกลาง เพราะถ้าไปเห็นด้วยก็เหมือนกับไปเลือกข้างหนึ่ง” ขัตติยา กล่าว
เดียร์-ขัตติยา เสนอญัตติตั้ง กมธ.ศึกษาแนวทางการออกกฎหมายนิรโทษกรรมต่อสภาเมื่อ 1 ก.พ.
ขัตติยา เป็นบุตรสาว พล.อ.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ “เสธ.แดง” ซึ่งถูกลอบยิงเสียชีวิต ขณะให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศบริเวณสถานีรถไฟฟ้าแยกศาลาแดง ในช่วงการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เพื่อขับไล่รัฐบาล “อภิสิทธิ์” เมื่อเดือน พ.ค. 2553
“ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ?
ในระหว่างการนำเสนอญัตติต่อสภาเมื่อ 8 เดือนก่อน ขัตติยา ไล่เลียงไทม์ไลน์ความขัดแย้ง-แบ่งขั้วทางการเมืองในรอบ 20 ปี ตั้งแต่ยุคสงครามสีเสื้อเหลือง-แดง, รัฐประหาร 2 ครั้ง ปี 2549 กับ 2557, การชุมนุมของ กปปส. ปี 2556-2557 และการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ในนาม “ราษฎร” ปี 2563-2564 ก่อนตั้งคำถามว่า สังคมไทยจะเดินหน้าอย่างมั่นคงและมีเอกภาพได้อย่างไร หากหันกลับไปมองข้างหลังแล้วยังเห็นคนไทยร่วมชาติ “ถูกพันธนาการด้วยโซ่ตรวนทางกฎหมายและถูกขังให้อยู่ในเรือนจำ”
“หนึ่งในกุญแจที่จะช่วยปลดโซ่ตรวนได้คือ การออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพื่อลบล้างความผิดให้กับประชาชนทุกฝ่ายที่แสดงความคิดเห็นหรือเคลื่อนไหวด้วยแรงจูงใจทางการเมือง แต่กลับถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายต่าง ๆ การออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมจะเป็นจุดเริ่มต้นในการพาสังคมไทยเดินต่อไปข้างหน้าโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ขัตติยา ทิ้งวรรคทองกลางสภาเมื่อ 1 ก.พ.
คำว่า “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ของ สส. หญิงสังกัดเพื่อไทย ชวนให้บีบีซีไทยตั้งคำถามต่อไปว่าพรรค พท. มีแนวทางจัดการอย่างไรกับ ผู้ต้องหา/จำเลย คดี 112 เพราะการเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมแบบมี “ข้อยกเว้น” มันชัดเจนว่าจะมีคนกลุ่มหนึ่งถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
ขัตติยา “ไม่อยากแตะคดี 112 เพราะถือเป็นมติพรรคแล้ว” แต่ให้ความเห็นสั้น ๆ ว่าควรมีกระบวนการพิสูจน์ความบริสุทธิ์หรือความผิดทางคดี โดยเฉพาะความผิดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่มาตรา 110 และ 112 ซึ่งต้องทำให้เร็วที่สุด เป็นเรื่องกระบวนการยุติธรรมที่รอไม่ได้
แม้ยอมรับว่า ผู้ต้องหา/จำเลย คดี 112 บางส่วนอาจไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามกฎหมาย หรือขาดเจตนา หรือถูกกลั่นแกล้งใส่ร้าย แต่เมื่อถูกถามว่าถ้าเช่นนั้นทำไมถึงไม่สนับสนุนแนวทางการเซ็ตซีโรเพื่อเอาทุกคนออกจากคุกก่อน
คำตอบของเธอคือ “ถ้าไม่รู้ว่าเขาผิด 112 จริงไหม จะไปนิรโทษให้ก็ไม่ได้ วันนี้เขาถูกแจ้งข้อหา 112 ถ้าเข้ากระบวนการยุติธรรมแล้วเขาไม่ผิด ก็ได้พ้นโทษออกมา”
แนวร่วม “ราษฎร” ชุมนุมเมื่อปี 2564 เรียกร้องให้มียกเลิกหรือแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หลังผู้ชุมนุมถูกแจ้งความดำเนินคดีด้วยข้อหานี้นับร้อยคน
บีบีซีไทยตรวจสอบรายงาน กมธ.นิรโทษกรรม ซึ่งอ้างอิงแหล่งข้อมูลจากสำนักงานศาลยุติธรรม พบว่า ในระหว่างปี 2548-2567 มีประชาชนถูกดำเนินคดีในความผิดต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ตามมาตรา 110 และมาตรา 112 ทั้งสิ้น 950 คดี แบ่งเป็น
- ช่วงชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ปี 2548-2549 จำนวน 63 คดี
- ช่วงชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) และแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ปี 2550-2553 จำนวน 380 คดี
- ช่วงชุมนุมของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ปี 2556-2557 จำนวน 169 คดี
- ช่วงชุมนุมของนักเรียน นักศึกษา เยาวชน และประชาชนที่เรียกตัวเอง (มีกลุ่ม “คณะราษฎร/ราษฎร” เป็นแกนหลัก) ปี 2563-2567 จำนวน 338 คดี
เสียงข้างน้อยในเพื่อไทย
ก่อแก้ว พิกุลทอง สส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท. และอดีตผู้นำมวลชนคนเสื้อแดง ตกที่นั่ง “เสียงข้างน้อย” ภายในพรรคสีแดง
ในระหว่างประชุม สส. เพื่อไทยเมื่อ 26 ต.ค. นพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ เสนอว่า อยากทำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในนามพรรค โดยไม่รวมคดีมาตรา 110 และ 112 โดยขอให้ “พรรคมีมติให้ชัดเจน และแสดงบทบาทเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของตัวเอง เพื่อให้เกิดความปรองดองสมานฉันท์”
วิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธาน สส. เพื่อไทย และประธานกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) จึงโยนคำถามขึ้นกลางวงประชุมว่าเห็นด้วยหรือไม่
ผลปรากฏว่าบรรดาผู้แทนราษฎรต่างยกมือสนับสนุนกันพรึบพรับ เป็นผลให้ ก่อแก้ว ต้องรีบโดดไปคว้าไมค์-ให้ความเห็นแย้ง
เขากล่าวโน้มน้าวเพื่อนร่วมพรรคว่าไม่ควรด่วนสรุป ควรหารือกับหลายฝ่ายก่อน เพราะการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยไม่รวมความผิดตามมาตรา 110 และ 112 จะปิดช่องทางที่จะให้โอกาสเด็กที่หลงผิดไปหรือไม่ ส่วนตัวเชื่อว่าคนโดนคดี 112 มีหลายลักษณะ บางคนอาจหลงผิด เข้าใจผิด คึกคะนอง หรือถูกกลั่นแกล้ง เพราะเรื่องนี้มีบ่อยที่ยัดข้อหา ขณะที่บางส่วนก็ยอมรับว่ามีความคิดอ่านไม่ถูกต้อง
“เท่าที่ทราบข้อมูล คนเหล่านั้นหลายคนอยากกลับเนื้อกลับตัว อยากมาใช้ชีวิตปกติ เพราะน้อง ๆ ที่โดนคดี แทบจะเสียอนาคตไปเลย เป็นคดีติดตัวไม่สามารถทำงานดี ๆ ได้”
“ผมพยายามชี้ให้เห็นว่าเพื่อไทยต้องอยู่ตรงกลางระหว่างพรรคประชาชน (ปชน.) ที่แสดงออกในทางเสรีนิยมเต็มที่ กับพรรคร่วมรัฐบาลที่แสดงความเป็นอนุรักษนิยมอย่างชัดเจน เพื่อไทยต้องแสดงบทบาทกลาง ๆ เพื่อให้มีความสมดุล” ก่อแก้ว เล่าให้บีบีซีไทยฟัง
แต่หลังสิ้นคำกล่าวของอดีตแกนนำ นปช. ประธานวิปรัฐบาลเอ่ยขึ้นว่า “เรื่องนี้ เมื่อกี้ได้โหวตกันแล้ว” ถือเป็นอันจบพิธีกรรมภายในพรรคอันดับ 1 ของรัฐบาล ด้วยข้อสรุปให้ชงร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเข้าสภาโดยไม่แตะ 2 มาตราหลัก
กมธ. ใช้เวลา 6 เดือนในการศึกษาและจัดทำรายงานนิรโทษกรรม
พรรค 141 เสียงต้องเผชิญกับความเห็นต่างอย่างต่อเนื่องในการเดินเกมนิรโทษกรรม ตั้งแต่ในคราวโหวตรับ-ไม่รับ “ข้อสังเกต” ของ กมธ. ในรายงาน ต่อเนื่องมาถึงการเสนอร่างกฎหมาย
ก่อแก้ว ผู้เป็น 1 ใน 11 สส.เพื่อไทย ที่โหวต “เห็นด้วย” กับข้อสังเกตของ กมธ. ไม่แปลกใจกับมติพรรคต้นสังกัดของเขา เพราะมองว่าการแสดงท่าทีไม่รับข้อสังเกตในรายงาน “เป็นการแสดงทัศนคติของพรรคต่อการนิรโทษกรรม” ว่าจะไม่รวมคดี 110 และ 112 พร้อมระบุด้วยว่า มีกระบวนการล็อบบี้โดยทั้ง 2 ฝั่งอย่างเข้มข้น ทั้งฝั่งที่ให้รับรายงานและข้อสังเกตของ กมธ. โดยยกเหตุผลว่าเพื่อไทยเป็นทั้งเจ้าของญัตติและเจ้าของรายงานนิรโทษกรรม กับฝั่งที่เกรงว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะไม่พอใจ สุดท้ายวิปรัฐบาลเลยปล่อยให้ฟรีโหวต
“ตอนเช้าฟังดูว่าเสียงส่วนใหญ่ของ สส. เพื่อไทยจะรับข้อสังเกต แต่ต่อมามีการพูดกันว่าถ้าโหวตรับ จะกลายเป็นเผือกร้อนของรัฐบาล เป็นสารตั้งต้นที่ทำให้รัฐบาลถูกฟ้องได้ หลายคนที่ตอนเช้าคิดว่าจะรับ พอถูกล็อบบี้ตอนกลางวัน ก็เลยห่วง ไม่กล้าโหวตรับ” ก่อแก้ว เผยเบื้องหลังการพลิกความเห็นของเพื่อนร่วมพรรค
ถึงขณะนี้พูดได้หรือไม่ว่าการนิรโทษกรรมคดี 110 และ 112 ถูกปิดประตูตายแล้ว?
“ณ ตอนนี้ทิศทางมันเป็นแบบนั้น” สส. เสียงข้างน้อยในเพื่อไทย ยอมรับ แต่กว่าจะเปิดสมัยประชุมสภาเดือน ธ.ค. ยังพอมีเวลา อะไรก็เกิดขึ้นได้
เมื่อถามตรง ๆ ว่าสังคมยังคาดหวังกับพรรค พท. ได้แค่ไหนในการผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมคดีการเมือง เขาตอบว่า “อย่าเพิ่งสรุป หมดใจ ด่าทอ ต่อว่า” และย้ำคำเดิมว่ายังมีเวลา
คดี 112 ของ ทักษิณ ไม่ใช่ปัจจัยประกอบการพิจารณา
ส่วนเหตุผลที่พลพรรคเพื่อไทยไม่กล้าชงนิรโทษกรรมคดี 112 เป็นเพราะ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ คนที่ 23 ผู้เป็นบิดาของนายกฯ ตกเป็นจำเลยคดี 112 ด้วยหรือไม่นั้น ก่อแก้ว บอกว่า ในทางการเมืองไม่ว่าเดินแบบไหนก็ถูกด่าอยู่แล้ว ยิ่งถ้าผู้หลักผู้ใหญ่ของพรรคได้ประโยชน์ ซึ่งบางเรื่องแม้เขาไม่เกี่ยวเลย เขาก็จะถูกด่าฟรีด้วย เพราะเรื่องนิรโทษกรรมมันกว้าง ครอบคลุมคนจำนวนมาก ไม่ว่าเดินแบบไหนก็มีทั้งคนได้ประโยชน์และคนที่อาจพลาดโอกาสได้รับประโยชน์
แต่ส่วนตัว เขาประเมินว่า คดี 112 ของ ทักษิณ ไม่มีอะไรน่ากลัว ไม่มีอะไรเป็นสาระสำคัญที่ไปเชื่อมโยงเช่นนั้นได้เลย เป็นคดีที่เกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลหลังรัฐประหาร 2557 ดังนั้นคดีของอดีตนายกฯ จึงไม่ใช่ปัจจัยที่พรรคนำมาประกอบการพิจารณาแนวทางการตรากฎหมายนิรโทษกรรม
โต้ “ตระบัดสัตย์”
จุดยืนของพรรคสีแดงต่อกระบวนการนิรโทษกรรมคดีการเมือง ทำให้พรรคถูกวิจารณ์อย่างหนัก
ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า วิจารณ์ว่า พรรค พท. “กลัวจนไม่กล้าทำอะไร แม้แค่เรื่องง่ายที่สุดอย่างรายงานนิรโทษกรรม ก็ยังไม่สำเร็จ” และ “โดนพรรคร่วมรัฐบาลขี่คอ กดดัน ต่อรอง เพราะต้องง้อเสียงพรรคเหล่านี้ในการร่วมรัฐบาล”
เทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ตั้งข้อสังเกตว่า พรรค พท. ยอมถอย “เพื่อความอยู่รอดของรัฐบาล” และ “ตระบัดสัตย์ซ้ำซาก”
ทว่าทั้ง ขัตติยา-ก่อแก้ว ขอปฏิเสธข้อกล่าวหารุนแรงนี้
ก่อแก้ว เห็นว่า คนที่หาเรื่องด่าพรรค พท. ก็ด่าได้ตลอด พร้อมปกป้องพรรคว่า “ไม่ได้ตระบัดสัตย์ แต่พยายามทำภายใต้ข้อจำกัดเพื่อให้เดินหน้าไปได้”
เขาชี้ชวนให้พินิจพิเคราะห์หลักการและเหตุผลความจำเป็นทางการเมือง ซึ่ง ก่อแก้ว ประเมินว่า ในสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน ถ้าจะทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขอย่างแท้จริงได้ เบื้องต้นต้องเป็นรัฐบาลก่อน เพราะถ้าเป็นฝ่ายค้าน แค่เสนอกฎหมายสักฉบับยังผ่านสภาไม่ได้เลย ถ้าเป็นรัฐบาลจะมีโอกาสมากกว่า แต่จะทำได้ตามเป้าหมาย 100% เลยหรือไม่ ตอบยากในภาวะที่พรรคร่วมฯ โดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทย (ภท.) มีอำนาจต่อรองเยอะ เพราะมี สว. ยืนอยู่กับเขาเยอะ
“พอเป็นรัฐบาลที่จับมือกับกลุ่มอนุรักษนิยม ก็ต้องยอมรับว่ากฎหมายหลายเรื่องที่เราจะเดินมันไม่ง่าย เพราะเขา (พรรคร่วมฯ) เป็นโหวตเตอร์ที่จะสนับสนุนหรือคัดค้านเราก็ได้ ดังนั้นเราจะเดินเรื่องอะไรก็ต้องคุยกับเขาให้เห็นด้วย บางทีเราอยากเดินไปข้างหน้า 10 ก้าว เขาบอกว่าผมให้คุณให้แค่ 5 ก้าว ถ้าเกิน 5 ก้าวไม่เห็นด้วย ทางที่เราจะเดินในสภาจึงจำกัด ก็พยายามทำหลายอย่างเท่าที่เป็นไปได้”
ขณะที่ ขัตติยา ออกตัวแทนนายกฯ แพทองธาร ว่า ไม่เคยพูดว่าจะนิรโทษกรรมคดี 112 หรือให้มีการแก้ไขมาตรา 112 “ถ้าใช้คำว่าตระบัดสัตย์ คงไม่ถูกต้อง ที่เราพูดตลอดคือกระบวนการบังคับใช้มาตรา 112 ก็มาทบทวนกันดีกว่า”
ในวงหารือแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลเมื่อ 21 ต.ค. มีการหยิบยกเรื่องนิรโทษกรรมมาพูดคุยกัน แต่นายกฯ บอกเพียงว่า “บางอย่างเป็นเรื่องละเอียดอ่อน มีทั้งที่เห็นตรงกันและไม่ตรงกัน จึงไม่ขอลงในรายละเอียด”
ระหว่างสิ่งที่พรรค พท. สื่อสารกับประชาชนในช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งปี 2566 ซึ่งถือเป็นสัญญาประชาคม กับเงื่อนไขที่เจรจา-ตกลง-ต่อรองกับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลในช่วงจัดตั้ง “รัฐบาลข้ามขั้ว” คำไหนสำคัญกับพรรคมากกว่ากัน บีบีซีไทยถาม
ขัตติยา บอกว่า ตอนหาเสียง เรื่อง 112 เราไม่เคยพูดว่าจะยกเลิก แต่พูดเรื่องกระบวนการร้องทุกข์กล่าวโทษ การแจ้งข้อกล่าวหา และการรวบรวมพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวนซึ่งอาจสร้างข้อสงสัยในสังคม ตรงนี้ควรมาคุยกันว่าถูกต้องหรือไม่ บางคนเกิดจากการกลั่นแกล้งหรือไม่ มาทบทวนการแจ้งข้อกล่าวหาได้
ในช่วงก่อนเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566 แพทองธาร ยืนยันว่า เธอและพรรค พท. มีจุดยืนชัดเจนว่าไม่ยกเลิกมาตรา 112
“ทันทีที่เราเป็นรัฐบาล เราก็จะขอความเมตตาจากศาลที่มีน้อง ๆ ที่ไปติดคุกอยู่หรืออะไรอย่างนี้ให้พิจารณาว่าอย่างไรต่อ เราต้องกำหนดตัวบทกฎหมาย ใครฟ้อง โทษของมัน maximum (ขั้นสูงสุด) อยู่ที่ตรงไหน เพราะว่าตอนนี้มันถูกดึงเอามาเป็นเกมการเมือง...” แพทองธาร ให้สัมภาษณ์ในรายการของ คชาภา ตันเจริญ หรือมดดำ
มาวันนี้เมื่อพรรค พท. ถูกตั้งคำถามใหญ่เรื่องการละทิ้งมวลชน ขัตติยา ผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ชุมนุมเมื่อปี 2553 นิ่งคิดพักหนึ่งเมื่อถูกถามถึงคำอธิบายต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ก่อนเอ่ยขึ้นว่า อย่างที่นายกฯ บอกว่าเงื่อนไขในการร่วมรัฐบาลจะไม่นิรโทษกรรมคดี 112 อยู่แล้ว เป็นคำตอบ ส่วนตัวจึงอยากเสนอว่าควรทำให้กระบวนการยุติธรรมมันสิ้นสุดเร็วที่สุด ผิดว่าไปตามผิด ถูกว่าไปตามถูก ถ้าไม่ผิดก็ปล่อยตัวออกมา ตรงนี้น่าจะเป็นการช่วยประชาชนที่ดีที่สุด
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังไม่มีคนเสื้อแดงและผู้สนับสนุนพรรค พท. มาสอบถามหรือต่อว่าต่อขานใด ๆ ตามความเข้าใจของ ลูกสาว เสธ.แดง คือ คดีคนเสื้อแดงเขาหลุดมาหมดแล้ว ไม่ได้รับประโยชน์จากการนิรโทษกรรม เขาออกมาหมดแล้ว แต่ถ้ามีกฎหมายนิรโทษกรรม เขาก็จะได้พ้นมลทิน
เช่นเดียวกับ ก่อแก้ว ที่ยังไม่มีโอกาสเจอมวลชนคนเสื้อแดง “ส่วนในเฟซบุ๊กไม่เข้าไปดูเลย คิดว่าทัวร์คงลงแน่ ๆ” เขากล่าวพลางระเบิดหัวเราะ และประเมินว่า คนที่ยืนข้างประชาธิปไตยคงไม่แฮปปี้ที่พรรค พท. แสดงท่าทีปิดกั้นเช่นนี้
“ในอดีตพรรคเพื่อไทยถูกมองว่าเป็นนักต่อสู้ มาบัดนี้ดูเหมือนจะเกรงใจพรรคร่วมฯ เยอะไปนิดหนึ่ง จนทำให้ถูกมองว่าเพื่อไทยจะกลายเป็นอนุรักษนิยม หรือกลายเป็นหัวฝ่ายอนุรักษนิยมแทนพรรคร่วมฯ หรือเปล่า”
ก่อแก้ว (เนคไทแดง) ร่วมงานรำลึก 3 ปีเหตุการณ์สลายการชุมนุม นปช. ที่แยกราชประสงค์ ซึ่งเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 100 คน (ทหาร 26 คนและผู้ประท้วง 65 คน) และบาดเจ็บเกือบ 1,900 คน จากการปะทะกันเมื่อ พ.ค. 2553
อย่างไรก็ตาม เขายังมั่นใจในพรรคต้นสังกัด และเชื่อมั่นในตัวนายกฯ หลังมีโอกาสพูดคุยรับรู้ความคิดอ่านของ แพทองธาร ตั้งแต่ช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง “ผมเชื่อว่าท่านจะไม่เป็นอย่างนั้น แต่เงื่อนไขการเมืองมันมีข้อจำกัดเยอะ และพรรคเพื่อไทยต้องพยายามประคับประคองสถานการณ์”
“พรรคเสรีนิยมที่อยู่กลางเขาควาย”
บางจุดต่างที่สำคัญระหว่างพรรค พท. กับพรรค ปชน. คือ เพดานทางอุดมการณ์ และโครงการทางการเมือง โดยพรรคสีส้มยืนกรานว่า การนิรโทษกรรมจำเป็นต้องรวมมาตรา 112 เพราะถือเป็นคดีการเมือง แม้พวกเขาเพิ่งผ่านสถานการณ์การถูกสั่งยุบพรรคก้าวไกล และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี จากการเสนอแก้ไขมาตรา 112 และใช้เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง นั่นทำให้จุดยืนของ 2 พรรคถูกนำมาวางเทียบกัน
ก่อแก้ว ยอมรับว่า จุดยืนของพรรค พท. “ลดโทนไปเยอะ” แต่ต้องเข้าใจว่าพรรค พท. ผ่านการเรียนรู้ด้วยความเจ็บปวดมา 20 ปี เห็นอยู่ว่าอะไรทำได้-ทำไม่ได้ พรรค ปชน. เป็นพรรคใหม่และเรียนรู้มาด้วยความเจ็บปวดเหมือนกัน
“แต่ต้องยอมรับว่าพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาชนมีต้นทุนไม่เท่ากัน ต้นทุนของพรรคประชาชนคือต้นทุนของคนหนุ่มสาวที่มีความคิดอยากเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีกว่านี้ เวลาถูกยุบพรรค กรรมการบริหารพรรคก็ถูกตัดสิทธิไป แต่ต้นทุนของเพื่อไทย เราถูกยุบพรรคไป มีคนโดนตัดสิทธิเกือบ 200 คน เจ้าของพรรคถูกยึดทรัพย์ไป 4 หมื่นล้าน ลูกเมียธุรกิจของเขายังอยู่ในประเทศนี้เป็นแสนล้าน ถ้าไปเดินอะไรที่ทำให้มีปัญหา จะซวยอะไรอีกหรือเปล่าก็ไม่รู้ ดังนั้นถ้าเราจะสู้แบบพรรคประชาชน เราก็จะมีปัญหาแบบเดิม ๆ”
คำจำกัดความพรรค พท. ในยุคปัจจุบันตามที่ ก่อแก้ว ระบุไว้คือ “พรรคเสรีนิยมที่อยู่กลางเขาควาย”
“ถ้าเพื่อไทยกลายเป็นอนุรักษนิยมจริง ๆ วันหนึ่งพวกผมก็ต้องกลับบ้าน” เขากล่าวทิ้งท้าย
https://bbc.in/40scGWh