วันพฤหัสบดี, เมษายน 20, 2566

ทำไมคุณสารัชต์ รัตนาวะดี ถึงรวยเอารวยเอา


The Momentum
September 5,2022

การเติบโตของ ‘สารัชถ์ รัตนาวะดี’
บนเส้นทาง ‘มหาเศรษฐี’ ไทย
.
เศรษฐีไทยอันดับ 1 ขายไก่ คือ ธนินท์ เจียรวนนท์
เศรษฐีไทยอันดับ 2 ขายเบียร์-เหล้า คือ เจริญ สิริวัฒนภักดี
คือการรับรู้ที่ติดในหัวคนไทยมานานเกิน 10 ปี
.
กระทั่งวันหนึ่งในปี 2565 ชื่อของ ‘สารัชถ์ รัตนาวะดี’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ขึ้นแซงบรรดา ‘เจ้าสัว’ ดั้งเดิม กลายเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศไทย จากการจัดอันดับแบบ ‘เรียลไทม์’ ของนิตยสารฟอร์บส (Forbes) ด้วยมูลค่าทรัพย์สินรวม 1.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 4.32 แสนล้านบาท
.
คำถามสำคัญที่ปรากฏก็คือ สารัชถ์และกัลฟ์คือใคร บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของประเทศ ‘ร่ำรวย’ มาจากอะไร การเติบโตของกัลฟ์เดินมาด้วยเส้นทางใด มีใครอุปถัมภ์ค้ำชูอยู่บ้าง เพราะการอภิปรายไม่ไว้วางใจตลอด 2 ปีที่ผ่านมา มักจะมีชื่อของกัลฟ์และชื่อของสารัชถ์ปรากฏขึ้นเสมอทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ซึ่งสิ่งที่ตามมาก็คือคดี ‘หมิ่นประมาท’ กับผู้ที่อภิปรายอย่างน้อย 2 ราย
.
แน่นอนว่า ชายหนุ่มวัย 57 ปี ผู้ที่มีทรัพย์สินมากที่สุดในประเทศคนนี้ ดูจะเป็นบุคคล ‘ลึกลับ’ และอันตรายเหลือเกิน
.
• สารัชถ์ รัตนาวดี คือใคร?
.
หากเส้นทางของ ธนินท์ เจียรวนนท์ คือเส้นทางของลูกคนจีนแต้จิ๋วอพยพ ที่มานะอุตสาหะอย่างหนัก ขยายเครือข่ายธุรกิจเมล็ดพันธุ์พืช สู่ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจร้านสะดวกซื้อ ธุรกิจโทรคมนาคม ขยายตลาดไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ ประสบความสำเร็จและสร้างทรัพย์ศฤงคารมาจนปัจจุบัน เส้นทางของสารัชถ์ดูจะเป็นอีกแบบ
.
เขาเป็นลูกชายของ พลเอก ถาวร รัตนาวะดี อดีตผู้บัญชาการศูนย์รักษาความปลอดภัย นายทหาร จปร.5 อันโด่งดัง รุ่นเดียวกับพลเอก สุจินดา คราประยูร อดีตนายกรัฐมนตรี, พลเอก อิสระพงศ์ หนุนภักดี และพลเอก วิมล วงศ์วานิช อดีตผู้บัญชาการทหารบก ขณะที่ฝั่งแม่ก็คือ ประทุม รัตนาวะดี น้องสาวของ วาริน พูนศิริวงศ์ แห่งหนังสือพิมพ์แนวหน้า
.
สารัชถ์เกิดปี 2508 เรียนที่โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ก่อนจะเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
.
วิศวะ จุฬาฯ รุ่นเดียวกับสารัชถ์ และรุ่นใกล้เคียงจัดเป็นบุคคลระดับ ‘ไฮโปรไฟล์’ ในเวลานี้หลายคน เป็นต้นว่า ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อนรุ่นเดียวกัน และอีกคนหนึ่งก็คือ อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ซีอีโอของ ปตท. คนปัจจุบัน ก็เป็นรุ่นน้องวิศวะ โยธาฯ ของสารัชถ์เพียง 1 ปี
.
ด้วยเหตุนี้ ในครั้งที่ชัชชาติลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. จึงมีข่าวหนาหูว่ามี ‘สารัชถ์’ และ ‘กัลฟ์’ อยู่เบื้องหลัง และเป็นทุนสนับสนุนในแคมเปญรอบนี้ โดยชัชชาติปฏิเสธกรณีนี้กับ The Momentum ในช่วง 1 เดือนก่อนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. โดยบอกว่าเป็นเพื่อนสนิทกับสารัชถ์ แต่ไม่ได้มีความสัมพันธ์ในด้านอื่นๆ และตนเอง ‘อิสระ’ อย่างแท้จริง
.
ขณะที่รัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีชุดนี้อย่าง ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเคยเป็นอดีตผู้บริหารของกัลฟ์ หรือสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ก็อยู่ในวิศวะ จุฬาฯ คอนเนกชันร่วมกัน
.
• การเติบโตแบบพุ่งทะยานของกัลฟ์
.
สารัชถ์เริ่มตั้งบริษัท กัลฟ์ อิเล็คตริก จำกัด ทำธุรกิจพลังงานในปี 2537 และแตกแขนงเป็นอีกหลายบริษัทในปี 2539 ในช่วงเวลาสอดคล้องกับที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) เริ่มกระจายให้ผู้ผลิตเอกชนรายใหญ่ผลิตไฟฟ้าให้ และ กฟผ.จะเป็นผู้รับซื้อจากผู้ผลิตเอกชนอิสระ (Independent Power Producer: IPP)
.
โครงการที่น่าสนใจในระยะเวลาแรก เป็นต้นว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินบ่อนอก กำลังการผลิต 734 เมกะวัตต์ ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเริ่มต้นก่อสร้างในปี 2541 แต่ถูกชาวบ้านคัดค้านอย่างหนัก จนสุดท้ายต้องล้มเลิกโครงการในช่วงปี 2545-2546
.
แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่า กัลฟ์ อิเล็คตริก จะหยุด...
.
บริษัทเริ่มเพิ่มทุนจาก 5,000 ล้านบาท เป็น 1.4 หมื่นล้านบาท ในปี 2547 สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าแก่งคอย 1 และ 2 ที่ กฟผ. อนุมัติให้กัลฟ์สร้างหลังจากไม่สามารถสร้างโรงไฟฟ้าบ่อนอกได้
.
ในปี 2554 มีการตั้งบริษัทโฮลดิงส์ชื่อ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ ถือหุ้นบริษัทต่างๆ ในเครืออีกหลายบริษัท ก่อนเปิดขายหุ้น IPO ให้ประชาชนทั่วไปเพื่อเป็นการระดมทุในเดือนธันวาคม 2560 ในราคาหุ้นละ 45 บาท
.
และในปี 2564 กัลฟ์แจ้งในรายงานประจำปีว่า มีรายได้รวมมากกว่า 5.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มจากปี 2563 ประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท ขณะที่กำไรในปี 2564 อยู่ที่ 9,167 ล้านบาท ส่วนสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 3.6 แสนล้านบาท
.
ในรายงานประจำปียังระบุด้วยว่า ปัจจุบันกำลังการผลิตไฟฟ้าของกัลฟ์ในไทยอยู่ที่ 7,875 เมกะวัตต์ เป็นพลังงานก๊าซธรรมชาติประเภท IPP 61 เปอร์เซ็นต์ พลังงานก๊าซธรรมชาติ SPP หรือจากโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก 31 เปอร์เซ็นต์ และเป็นพลังงานทดแทน 8 เปอร์เซ็นต์ โดยตั้งเป้าไว้ว่าในปี 2570 จะผลิตไฟฟ้าได้รวม 14,498 เมกะวัตต์ โดยขยายพลังงานก๊าซธรรมชาติ IPP เป็น 77 เปอร์เซ็นต์ พลังงานก๊าซธรรมชาติ SPP ลดลงเหลือ 17 เปอร์เซ็นต์ ส่วนพลังงานทดแทนลดลงเหลือ 6 เปอร์เซ็นต์
.
ที่น่าสนใจก็คือ ‘ลูกค้า’ ของกัลฟ์ในปัจจุบันมากกว่า 91 เปอร์เซ็นต์คือ กฟผ. และเป็นลูกค้าอุตสาหกรรม 9 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ กัลฟ์มีแผนจะขายให้ลูกค้าอย่าง กฟผ. เพิ่มเป็น 94 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2570 และลดสัดส่วนลูกค้าอุตสาหกรรมลงเหลือ 6 เปอร์เซ็นต์ ในปีเดียวกัน
.
• กัลฟ์กับ ‘การเมือง’
.
การจำหน่ายไฟให้ กฟผ.มากขนาดนั้น นำมาซึ่งคำถามในสภาผู้แทนราษฎร นำโดย เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเมื่อปี 2564 ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ โดยปัจจุบันกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin) พุ่งขึ้นไปถึง 54 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งแปลว่าประเทศไทยผลิตไฟฟ้า ‘ล้น’ เกินหลักการที่ควรจะอยู่ที่ 15-20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอาจมีการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชน
.
ขณะเดียวกัน แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan: PDP) ก็ถูกเปลี่ยนแปลงบ่อยอย่างผิดปกติ โดยมีการแก้ไขในรายละเอียดอยู่บ่อยครั้ง และปัจจัยที่ทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองล้นเกิน ก็คือการเปลี่ยนเนื้อหาสาระในแผน PDP นั่นเอง ทำให้หลายคนตั้งข้อสังเกตว่ามี ‘มือที่มองไม่เห็น’ แอบเปลี่ยนสาระสำคัญบางอย่างในแผนหรือไม่ เพื่อแลกกับการสนับสนุนรัฐบาล และ ‘พรรคการเมือง’ ที่สนับสนุนรัฐบาล คสช. ให้มีทุนไว้สำหรับการเลือกตั้ง
.
ภายหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เบญจาถูกหมายเรียกในข้อหาหมิ่นประมาทจาก ‘กรรมการบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)’ และคดียังอยู่ในชั้นศาลจนถึงขณะนี้ ร่วมกับอีกหนึ่งคดีที่ รังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลอีกคน อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พาดพิง ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ว่าอาจเอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอกชนรายนี้
.
ย้อนกลับไปในปี 2557 สารัชถ์ รัตนาวะดี ถูกเรียกตัวตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลังการรัฐประหารโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เนื่องจากถูกมองว่าเขามีความใกล้ชิดกับรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และทักษิณ ชินวัตร จากโครงการโรงไฟฟ้า 5,000 เมกะวัตต์ เมื่อปี 2555 ซึ่งกัลฟ์เป็นผู้ร่วมประมูลรายเดียว และผู้สันทัดกรณีเห็นตรงกันว่าเป็น ‘จุดเปลี่ยน’ ทำให้กัลฟ์พลิกผันจาก ‘ทุนพลังงาน’ ไปสู่ทุนพลังงานที่มี ‘เจ้าของรวยที่สุดในประเทศ’
.
กระนั้นเอง แม้จะมีการรัฐประหาร มีการตรวจสอบการอนุมัติสัมปทานโรงไฟฟ้าอย่างเข้มข้นในยุค คสช. แต่ก็ไม่ได้กระทบกระเทือนกัลฟ์แต่อย่างใด ซ้ำยังขยายธุรกิจได้ โดยเป็นการทำธุรกิจตามแผน PDP และตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์นั่งเป็นประธาน
.
นอกจากนี้ จุดเปลี่ยนสำคัญอีกอย่างคือการเติบโตก้าวไปสู่ธุรกิจโทรคมนาคม โดยในปี 2564 กัลฟ์เข้าครอบครองหุ้นของบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) 42 เปอร์เซ็นต์ โดยเป็นการซื้อหุ้นคืนจากกลุ่ม SINGTEL ประเทศสิงคโปร์ กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ก่อนจะซื้อหุ้นเพิ่มเป็น 46 เปอร์เซ็นต์เมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 นี้เอง โดยอินทัชเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS
.
ด้วยเหตุนี้ จึงมีคนพูดแบบตลกร้ายว่า หากดีลควบรวม ‘ทรู-ดีแทค’ ประสบความสำเร็จ เหลือเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2 ราย คือทรู​และเอไอเอส ประชาชนก็ต้องเลือกว่าจะอยู่กับ ‘ซีพี’ หรือจะอยู่กับ ‘กัลฟ์’
.
และเมื่อ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกถามในคลับเฮาส์ครั้งหนึ่งถึง ‘ดีล’ ที่กัลฟ์ซื้อหุ้นจาก SINGTEL ทักษิณก็ยังเอ่ยถึงสารัชถ์และกัลฟ์ในแง่ดี ต่างจากการเอ่ยถึงพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือผู้สนับสนุนรัฐบาลบางคน สะท้อนว่าสารัชถ์และทักษิณก็ไม่ได้มีอะไรผิดใจกัน...
.
• ความร่ำรวยที่หยุดไม่อยู่
.
ชื่อของสารัชถ์ปรากฏในนิตยสารฟอร์บส ในฐานะบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดเป็นครั้งแรกในปี 2561 ด้วยทรัพย์สินทั้งสิ้น 1.06 แสนล้านบาท ปีเดียวกับที่เขาถูกจัดอันดับว่าเป็นเศรษฐีหุ้นอันดับ 2 ของประเทศ จากการจัดอันดับโดยวารสารการเงินธนาคาร รองจาก นายแพทย์ ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ จากกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ
.
ทรัพย์สินของสารัชถ์เพิ่มขึ้นเป็น 1.66 แสนล้านบาทในปี 2562 แตะหลัก 2 แสนล้านบาทเป็นครั้งแรกในปี 2563 และมีทรัพย์สินรวมทั้งสิ้น 4.29 แสนล้านบาท ขึ้นเป็นอันดับ 1 แซงหน้า ธนินท์ เจียรวนนท์ แห่งเครือซีพี และเจริญ สิริวัฒนภักดี แห่งกลุ่มช้าง เป็นครั้งแรกในช่วงกลางปี 2565 ด้วยมูลค่า ‘หุ้น’ ที่สารัชถ์ลงทุนไว้มีมูลค่าสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และเลือกเทกโอเวอร์ได้ถูกข้าง ขณะที่สองเจ้าสัวเชื้อสายจีนโพ้นทะเลนั้น กิจการหลายอย่าง ไม่ได้มีมูลค่าหุ้นหวือหวาเท่ากับสารัชถ์ ซ้ำยังได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19
.
แต่แม้จะเป็นบุคคลที่มีทรัพย์สินสูงสุด จนถึงวันนี้ สารัชถ์ก็ยังเก็บตัวเงียบ เขาเป็นเศรษฐีที่หลีกเลี่ยงงานสังคม แทบไม่มีภาพถ่ายปรากฏในสื่อ และให้สัมภาษณ์น้อยครั้งมาก ขณะเดียวกัน แม้ธุรกิจของเขาจะเป็นธุรกิจสัมปทาน เกี่ยวข้องกับรัฐโดยตรง แต่ก็ไม่เคยมีใครเห็นเขาปรากฏตัวในงานแถลงข่าว ในงานเลี้ยง หรืองานใดๆ ข้อคิดและข้อเขียนจากสารัชถ์จะปรากฏก็แต่ในรายงานประจำปีของกัลฟ์เท่านั้น
.
นั่นจึงทำให้เรื่องของสารัชถ์และกัลฟ์ยังเป็นเรื่องที่ ‘น่าค้นหา’ ต่อไป และน่าสนใจว่ามีอะไรบ้างที่อยู่ ‘เบื้องหลัง’ มหาเศรษฐีคนนี้ และกลุ่มทุนพลังงานกลุ่มนี้...
.
เรื่องและภาพ: The Momentum Team
.
#TheMomentum #StayCuriousBeOpen #GULF #สารัชถ์ #กัลฟ์ #กระทรวงพลังงาน #กฟผ #พลังงานไฟฟ้า #นโยบายพลังงาน #คสช #กพช #ประยุทธ์

(https://www.facebook.com/themomentumco/posts/3053901521568198)