วันอังคาร, เมษายน 25, 2566

อ.นิธิเขียนจดหมายถึงเพื่อไทยตั้งแต่กำลังจะเลือกตั้งปี 2562 วันนี้ก็ยังใช้ได้เหมือนเดิม


https://www.matichon.co.th/columnists/news_907970
.....
Puangthong Pawakapan
19h
.
อ.นิธิเขียนจดหมายถึงเพื่อไทยตั้งแต่กำลังจะเลือกตั้งปี 2562 วันนี้ก็ยังใช้ได้เหมือนเดิม
“แน่นอนว่า การประนีประนอมมีความสำคัญอย่างขาดไม่ได้ในการเมืองของทุกสังคม แต่ในบางกรณี การประนีประนอมกลับทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลง และหาทางออกได้ยากขึ้น”
.....
จดหมายเปิดผนึกถึงพรรคเพื่อไทย โดย : นิธิ เอียวศรีวงศ์

วันที่ 9 เมษายน 2561
มติชนออนไลน์

ในฐานะผู้เคยลงคะแนนเสียงให้พรรคเพื่อไทย และอาจจะลงคะแนนให้อีก จึงขอกราบเรียนความต่อไปนี้แก่พรรค

พรรคคิดจะเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยหรือไม่?

หากพรรคคิดว่านี่คือบทบาทสำคัญที่สุดของพรรคในตอนนี้ ขอให้เข้าใจด้วยว่า เป้าหมายทางการเมืองในช่วงนี้ไม่ใช่ชนะการเลือกตั้ง ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ลิดรอนอำนาจของฝ่ายบริหารที่มาจากการเลือกตั้งเช่นนี้ จะชนะเลือกตั้งไปทำไม การต่อสู้ของพรรคไม่อาจจำกัดอยู่ที่หีบบัตรเลือกตั้งได้อีกต่อไป

ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ภายใต้อำนาจของคณะรัฐประหาร อาจมี ส.ส.ของพรรคจำนวนไม่ถึงนิ้วของมือเดียวที่ออกมารณรงค์ต่อต้านการรัฐประหารอย่างกล้าหาญ แต่พรรคไม่ได้ทำอะไรเลยนอกจากหาทางประนีประนอมด้วยการเชื่อฟังคำสั่งของคณะรัฐประหารอย่างเซื่องๆ นายทุนพรรคอาจเลือกนโยบายประนีประนอมเพื่อเป้าหมายส่วนตัวของเขา แต่พรรคไม่ได้มีหรือไม่ควรมีเป้าหมายเดียวกับนายทุน ภารกิจของพรรคที่ประสบความสำเร็จทางการเมืองอย่างท่วมท้นเช่นนี้ จะเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากพันธะที่มีต่อประชาชนจำนวนมหึมาที่สนับสนุนพรรค และด้วยเหตุดังนั้นจึงต้องเป็นแนวหน้าในการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน


ลองคิดดูเถิดว่า ในวันที่ 22 พ.ค.ของสี่ปีที่แล้ว หาก ส.ส.ของพรรคทุกคนที่ไม่ได้ถูกเชิญตัวไปเก็บไว้ในค่ายทหาร ออกมาชูสามนิ้วร่วมกับมวลชนทั่วประเทศ เราจะต้องทนอยู่กับอำนาจดิบของคณะทหารมาถึงสี่ปีเช่นวันนี้หรือ ส.ส.จำนวนมากอาจต้องลงเอยด้วยการติดคุกรัฐประหาร

แต่การเป็นนักการเมืองในประเทศที่ประชาธิปไตยยังไม่มั่นคง นั่นไม่ใช่หน้าที่ของนักการเมืองหรอกหรือ

แน่นอนว่า การประนีประนอมมีความสำคัญอย่างขาดไม่ได้ในการเมืองของทุกสังคม แต่ในบางกรณี การประนีประนอมกลับทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลง และหาทางออกได้ยากขึ้น
ในกรณีเช่นนี้ การประนีประนอมจะทำให้เกิดผลเสียสองอย่าง

ประการแรก การประนีประนอมทำให้ต้องสูญเสียบางส่วนของเป้าหมาย โดยมากส่วนที่ต้องเสียไปคือส่วนที่มีความสำคัญต่อประชาชน เช่น จะใช้สิทธิเสรีภาพที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ก็ต้องผ่านการอนุมัติของรัฐเสียก่อน เพราะผู้กำหนดว่าจะต้องเอาอะไรไปแลกกับอะไรไม่ใช่ประชาชน แต่เป็น “ผู้ใหญ่” ของพรรคเพียงไม่กี่คนเท่านั้น ยิ่งการเจรจาเพื่อประนีประนอมทำกันอย่างไม่เปิดเผยมากเท่าไร ประชาชนก็ต้องเป็นฝ่ายสูญเสียมากเท่านั้น

ประการที่สอง ด้วยเหตุดังนั้น การประนีประนอมจึงตอบสนองแก่ความประสงค์ของบุคคลที่แคบมาก และมีความเป็นไปได้สูงที่จะถูกกลืนไปเป็นส่วนหนึ่งของความชั่วร้ายได้ง่าย ลองคิดดูเถิดว่า หากคุณทักษิณ ชินวัตร หรือคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เป็นนายกรัฐมนตรีหุ่นของ คสช. (ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้) ใครจะได้อะไร นอกจากคนในตระกูลชินวัตรเท่านั้น



พรรคเพื่อไทยจึงควรประกาศอย่างชัดเจนหนักแน่นตั้งแต่ตอนนี้ว่า พรรคพร้อมจะเป็นพันธมิตรกับพรรคการเมืองฝ่ายก้าวหน้าทั้งหมด นับตั้งแต่พรรคเสรีรวมไทย, พรรคอนาคตใหม่, พรรคเกรียน, ฯลฯ ส่วนจะเป็นพันธมิตรในระดับใดและอย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องเจรจาร่วมกัน แต่ต้องไม่ลืมด้วยว่า การเป็นพันธมิตรทางการเมือง ไม่ใช่เพื่อจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันเพียงอย่างเดียว แต่เพื่อทำให้โครงการเปลี่ยนประเทศไทยกลับสู่เส้นทางประชาธิปไตย มีพลังที่จะทำได้อย่างเป็นผลมากที่สุด ทั้งในฐานะที่ได้จัดตั้งรัฐบาล และไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล

ภารกิจทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยและพันธมิตรของพรรคก็คือ ทำให้มาตรการทุกอย่างทั้งการบริหารและกฎหมาย ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างประเทศตกอยู่ภายใต้การรัฐประหาร ไม่มีผลลงทั้งหมด ต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับที่บังคับอยู่เวลานี้ลงโดยเร็ว นำเอารัฐธรรมนูญฉบับ 2540 กลับมาใช้พร้อมบทเฉพาะกาล ที่จะจัดให้มีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ โดยกระบวนการที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่

สี่ปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนยิ่งกว่าครั้งใดว่า กลไกของรัฐไทยนั้นล้าหลังมาก รัฐไทยจึงไม่มีความสามารถจะนำชาติบ้านเมืองไปสู่ความเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยได้เพียงลำพัง ด้วยเหตุดังนั้นพรรคเพื่อไทยและพันธมิตรจะต้องผลักดัน “กติกา” ใหม่ ที่สังคมสามารถเข้ามามีบทบาทร่วมกับรัฐได้เต็มที่ ในฐานะผู้นำรัฐด้วย ไม่ใช่ผู้เสริมพลังของรัฐเท่านั้น สังคมต้องรับภาระการนำแทนรัฐล้าหลัง และการนำนี้ไม่ควรจำกัดอยู่แต่ในมือของพรรคการเมืองและนักการเมืองเท่านั้น แต่สังคมโดยรวมต้องเข้ามามีบทบาทโดยตรงด้วย เช่น สัดส่วนของกรรมการสภาพัฒน์ต้องประกอบด้วยบุคคลนอกภาครัฐด้วย (เพียงแต่ต้องคิดให้ดีว่า ทำอย่างไรจึงอาจเลือกตัวแทนของสังคมได้กว้างกว่านายทุนและนักวิชาการ ทั้งยังต้องคิดถึงการเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายให้มากกว่าบุคคลที่เป็นกรรมการ)

สองเรื่องหลักที่ต้องลงทุนทำอย่างเต็มที่ (ไม่แต่เพียงเงินงบประมาณอย่างเดียว ควรนึกถึง “ทุน” ในรูปแบบอื่นๆ อีกมาก) คือการศึกษา, สาธารณสุข, และการกระจายอำนาจการปกครอง ไม่แต่เพียงรื้อฟื้นการเลือกตั้ง อปท.ทุกระดับกลับคืนมา แต่ต้องทำให้ อปท.แต่ละระดับมีอำนาจบริหารในมือของตนเองที่อิสระ รวมทั้งกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลของประชาชนในพื้นที่ (ไม่ใช่ของกระทรวงมหาดไทย) อปท.ต้องเข้ามารับผิดชอบด้านสุขภาพอนามัยและการศึกษาในท้องถิ่นมากกว่าที่เป็นอยู่อีกมาก

ความคิดเรื่องกระจายอำนาจด้วยการตั้งองค์กรขนาดใหญ่ที่เป็นองค์กรอิสระจากรัฐ (เช่น สสส.) ไม่ใช่การกระจายอำนาจจริง เป็นแต่เพียงการถ่ายโอนอำนาจรัฐให้ไปอยู่ในมือของกลุ่มคนที่อ้างความเป็น “มืออาชีพ” ขึ้นมาเสวยผลประโยชน์เท่านั้น

ต้องชัดเจนมาแต่ต้นว่า เป้าหมายทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยในการลงสมัครรับเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็เพื่อกระจายความคิดในการเปลี่ยนประเทศไทยให้หลุดพ้นจากอำนาจรัฐประหารโดยเร็ว และจะเปิดพื้นที่ให้สังคมเข้ามานำความเปลี่ยนแปลง แทนข้าราชการที่ยังคงล้าหลังเหมือนเดิมตลอดมา พรรคต้องกล้าชี้ให้ประชาชนเห็นความบกพร่องของตัวรัฐธรรมนูญและระบบการเมือง, เศรษฐกิจ, ฯลฯ ที่คณะรัฐประหารได้จัดวางไว้

อย่ากลัวว่าพรรคจะถูกสั่งปิดหรือล้มเลิกไป สถานการณ์ในปัจจุบันกับ 2549 แตกต่างกันมาก และถึงถูกสั่งปิด นักการเมืองของพรรคก็ยังสามารถเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ ในฐานะบุคคลธรรมดา (ความเป็นนักการเมืองไม่ได้อยู่ที่การรับรองของ กกต. แต่อยู่ที่ทรรศนะของประชาชน) พรรคเองก็ยังอาจดำรงอยู่ได้ในฐานะองค์กรทางการเมือง ที่ไม่ลงไปแข่งขันทางการเมืองในระบบ



ประการสุดท้ายที่มีความสำคัญเหมือนกันก็คือ การเป็นผู้สมัครของพรรคที่เสนอทางเลือกอย่างชัดเจนดังกล่าวข้างต้น หากจะได้รับเลือกในเขตของท่าน ก็จะได้รับเลือก หากจะไม่ได้รับเลือกก็จะไม่ได้รับเลือก ไม่ว่าจะมีนายทุนพรรคเป็นใคร ไม่มีครั้งไหนที่พรรคเพื่อไทยจะสามารถปลดแอกจากตระกูลชินวัตรได้ง่ายเหมือนครั้งนี้ พรรคไม่อาจชูใครในตระกูลชินวัตรขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีกแล้ว อีกทั้งงบหาเสียงก็มีความสำคัญน้อยลง เพราะมันชัด อย่างไม่เคยชัดเท่าการเลือกตั้งครั้งไหนเลยว่า จะเลือกใครไปทำไม

การเลือกตั้งครั้งนี้คือการต่อสู้เชิงอุดมการณ์ หากพรรคเพื่อไทยยังพยายามรักษาความจืดของพรรคไว้เพื่อหวังจะได้เกี้ยเซี้ย นอกจากพรรคจะไม่มีโอกาสเกี้ยเซี้ยแล้ว ประชาชนก็จะเริ่มตื่นรู้ว่า ไม่อาจใช้พรรคเพื่อไทยเป็นเครื่องมือทางการเมืองของเขาได้

การเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์นั้นมีจริง แต่ไม่ใช่เพียงเพราะชื่อเพื่อไทยก็จะเป็นข้อได้เปรียบโดยอัตโนมัติ ประชาชนจำนวนมากรู้ว่า ความสะใจที่ได้จากการเอาชนะคณะรัฐประหารนั้น ไม่เพียงพอจะช่วยประเทศไทยให้หลุดจากหลุมดำที่ทหารบางกลุ่ม, นายทุนบางกลุ่ม, เนติบริกร และนักวิชาการบางกลุ่มได้เฝ้าเพียรขุดฝังบ้านเมืองให้มืดมิดตลอดไปได้

พรรคเพื่อไทยพร้อมหรือยัง?