วันศุกร์, เมษายน 07, 2566

หยุดโหนน้อง ‘น้องหยก’ ผู้ต้องคดี 112 ควรได้รับสิทธิคุ้มครอง ในฐานะเยาวชนตามกฎหมาย



หยุดโหนน้อง ‘น้องหยก’ ผู้ต้องคดี 112 ควรได้รับสิทธิคุ้มครอง ในฐานะเยาวชนตามกฎหมาย

6 มีนาคม
ฤา

“เนื่องจากข้าพเจ้ายังเป็นเยาวชน ข้าพเจ้าควรได้รับสิทธิเด็ก ตามที่ประเทศไทยลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก นั้นคือ 1. สิทธิที่จะมีชีวิตรอด โดยข้าพเจ้าควรได้รับการปกป้องคุ้มครองอย่างเหมาะสม 2. สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง โดยข้าพเจ้าต้องถูกคุ้มครองจากความรุนแรงทั้งทางกายและใจ 3. สิทธิว่าด้วยการศึกษา ข้าพเจ้าสามารถรับข่าวสารจากสื่อที่หลากหลาย 4. สิทธิที่จะมีส่วนร่วม ข้าพเจ้าและเด็กๆ เยาวชนต้องสามารถมีส่วนร่วมในการแสดงออกถึงสิทธิและเสรีภาพ”

แถลงการณ์จาก น้องหยก “สหายนอนน้อย”

จากกรณี น้องหยก เด็กสาววัย 14 ปี เจ้าของนามแฝงบนสื่อสังคมออนไลน์ว่า “สหายนอนน้อย” ที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ซึ่งถือว่าเป็นกรณีที่มีการดำเนินคดีกับเด็กอายุน้อยที่สุดในข้อหามาตรา 112 นั้น

ทีมงาน ฤา จะขออธิบายข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีเด็กโดยสังเขปดังนี้

ในทางคดี กฎหมายกำหนดอายุไว้อย่างไร

“เด็ก” คือบุคคลอายุยังไม่เกิน 15 ปีบริบูรณ์ ส่วน “เยาวชน” คือบุคคลอายุเกิน 15 ปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์ ดังนั้น หากผู้ก่อเหตุมีอายุเกิน 18 ปีบริบูรณ์ หากได้กระทำการใดๆ ที่ละเมิดต่อกฎหมาย ก็จะต้องมีการดำเนินคดีในลักษณะเดียวกันกับผู้ใหญ่

เมื่อถูกจับ น้องหยกได้รับสิทธิทางกฎหมายอย่างไร

เมื่อเยาวชนกระทำผิดนั้น สิ่งที่กฎหมายให้ความสำคัญคือสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่มากกว่าผู้ใหญ่ กล่าวคือ กฎหมายจะกำหนดให้หลีกเลี่ยงการออกหมายจับ แต่จะกำหนดให้มีการติดตามตัวโดยวิธีการอื่นก่อน ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อผู้ปกครอง การออกหมายเรียก เป็นต้น

การจับกุมนั้น ถ้าขณะจับกุมมีบิดา มารดา ผู้ปกครองอยู่ด้วยในขณะนั้น ให้เจ้าพนักงานผู้จับแจ้งเหตุแห่งการจับให้บุคคลดังกล่าว แต่ถ้าในขณะนั้นไม่มีบุคคลดังกล่าวอยู่กับผู้ถูกจับ ให้เจ้าพนักงานผู้จับแจ้งให้บุคคลดังกล่าวคนใดคนหนึ่งทราบถึงการจับกุมในโอกาสแรกเท่าที่สามารถกระทำได้ และหากผู้ถูกจับประสงค์จะติดต่อสื่อสารหรือปรึกษาหารือกับบุคคลเหล่านั้นซึ่งไม่เป็นอุปสรรคต่อการจับกุมและอยู่ในวิสัยที่จะดำเนินการได้ ให้เจ้าพนักงานผู้จับดำเนินการให้ ตามควรแก่กรณีโดยไม่ชักช้าด้วย

เมื่อเด็กและเยาวชนถูกนำตัวไปถึงศาลแล้ว ศาลมีหน้าที่อย่างไร

เมื่ออยู่ต่อหน้าศาล ให้ศาลตรวจสอบว่าเป็นเด็กหรือเยาวชน ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดหรือไม่ การจับและการปฏิบัติต่อเด็กหรือเยาวชนเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หากการจับเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้ปล่อยตัวเด็กหรือเยาวชนไป ถ้าเด็กหรือเยาวชนยังไม่มีที่ปรึกษากฎหมาย ให้ศาลแต่งตั้งให้ นอกจากนั้น เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิเด็กหรือเยาวชน ศาลอาจมีคําสั่งให้มอบตัวเด็กหรือเยาวชนให้แก่บิดา มารดา ผู้ปกครอง บุคคลซึ่งเด็ก หรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วย หรือบุคคลที่ศาลเห็นสมควรเป็นผู้ดูแลเด็กหรือเยาวชนในระหว่างการดำเนินคดี โดยกำหนดให้บุคคลดังกล่าวมีหน้าที่นําตัวเด็กหรือเยาวชนนั้นไปพบพนักงานสอบสวนหรือพนักงานคุมประพฤติหรือศาล แล้วแต่กรณี

ไม่ว่าเวลาใดก่อนศาลชี้ขาดตัดสินคดี ถ้าผู้พิพากษาเจ้าของสํานวนเห็นสมควรให้มีอำนาจเรียกจําเลยไปสอบถามเป็นการเฉพาะตัวเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อหาและสาเหตุแห่งการกระทำความผิด บุคลิกลักษณะ ท่วงที วาจา และข้อเท็จจริงซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการพิจารณาพิพากษาคดีนั้น ทั้งนี้ ให้กระทำในห้องที่เหมาะสมซึ่งมิใช่ห้องพิจารณาคดี โดยอาจมอบหมายให้ผู้พิพากษาสมทบกระทำการแทนได้ด้วย

เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาพิพากษาคดีอาญาที่เด็กหรือเยาวชนเป็นจําเลย ศาลมีอำนาจเรียกบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลซึ่งจําเลยอาศัยอยู่ด้วย หรือบุคคล ซึ่งให้การศึกษา ให้ทำการงาน หรือมีความเกี่ยวข้อง มาเป็นพยานเพื่อสอบถามข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับจําเลยได้

ในการพิจารณาคดีอาญาที่เด็กหรือเยาวชนเป็นจําเลย เมื่อศาลเห็นเองหรือปรากฏจากรายงานของผู้อํานวยการสถานพินิจว่า บิดา มารดา หรือผู้ปกครองใช้อำนาจปกครองโดยมิชอบเกี่ยวแก่ตัวเด็กหรือเยาวชน หรือกระทำการอันมีลักษณะเกื้อหนุนให้เด็กหรือเยาวชนประพฤติตนเสียหาย หรือปล่อยปละละเลยให้เด็กหรือเยาวชนกระทำความผิด ให้ศาลไต่สวน เพื่อหาข้อเท็จจริงได้ หากเห็นสมควร ศาลอาจสั่งถอนอำนาจปกครองหรือความเป็นผู้ปกครองได้ หรือสั่งให้เด็กหรือเยาวชนไปรับการคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก

การพิจารณาคดีอาญาที่เด็กหรือเยาวชนเป็นจําเลย ไม่ต้องดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาโดยเคร่งครัด และให้ใช้ถ้อยคําที่จําเลยสามารถเข้าใจได้ง่าย กับต้องให้โอกาสจําเลยรวมทั้งบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลซึ่งจําเลยอาศัยอยู่ด้วย หรือบุคคล ซึ่งให้การศึกษา ให้ทำการงาน หรือมีความเกี่ยวข้องแถลงข้อเท็จจริง ความรู้สึก และความคิดเห็นตลอดจนระบุและซักถามพยานได้ไม่ว่าในเวลาใดๆ ในระหว่างที่มีการพิจารณาคดีนั้น

นอกจากนั้น กฎหมายยังระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใดบันทึกภาพ แพร่ภาพ พิมพ์รูป หรือบันทึกเสียง แพร่เสียงของเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง หรือโฆษณาข้อความซึ่งปรากฏในทางสอบสวนของพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือในทางพิจารณาคดีของศาลที่อาจทำให้บุคคลอื่นรู้จักตัว ชื่อตัว หรือชื่อสกุล ของเด็กหรือเยาวชนนั้น หรือโฆษณาข้อความเปิดเผยประวัติ การกระทำความผิด หรือสถานที่อยู่ สถานที่ทำงาน หรือสถานศึกษาของเด็กหรือเยาวชนนั้นด้วย

การพิพากษาคดีในกรณีที่เด็กและเยาวชนเป็นจำเลย

ในการพิจารณาและพิพากษาคดีที่มีข้อหาว่าเด็กหรือเยาวชนกระทำความผิด ให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวคํานึงถึงสวัสดิภาพและอนาคตของเด็กหรือเยาวชน ซึ่งควรจะได้รับการฝึกอบรม สั่งสอน และสงเคราะห์ให้กลับตัวเป็นพลเมืองดียิ่งกว่าการที่จะลงโทษ และในการพิพากษาคดีนั้น ให้ศาลคำนึงถึงบุคลิกลักษณะ สภาพร่างกายและสภาพจิตของเด็กหรือเยาวชน ซึ่งแตกต่างกันเป็นคนๆ ไป และลงโทษหรือเปลี่ยนโทษ หรือใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนให้เหมาะสมกับตัวเด็กหรือเยาวชน และพฤติการณ์เฉพาะเรื่อง แม้เด็กหรือเยาวชนนั้นจะได้กระทำความผิดร่วมกัน

ในกรณีที่ได้มีการสืบเสาะข้อเท็จจริงตามมาตรา ๓๖ (๑) ศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวจะพิพากษาลงโทษหรือใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนได้ ต่อเมื่อได้รับทราบรายงานและความเห็นจากผู้อํานวยการสถานพินิจตามมาตรา ๘๒ (๒) หรือมาตรา ๑๑๖ หรือมาตรา ๑๑๗ แล้ว และถ้าผูู้อํานวยการสถานพินิจขอแถลงเพิ่มเติมด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือ ให้ศาลรับไว้ประกอบการพิจารณาด้วย

การพิพากษาลงโทษ

ศาลมีอำนาจใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแทนการลงโทษอาญาหรือวิธีการเพื่อความปลอดภัยได้ คือ

(1) เปลี่ยนโทษจําคุก เป็นการส่งตัวเด็กหรือเยาวชนไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมในสถานที่ที่กำหนดไว้
(2) เปลี่ยนโทษปรับเป็นการคุมความประพฤติ

จากกฎหมายเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนที่ทีมงาน ฤา ได้อธิบายไปข้างต้นนั้น จะเห็นได้ว่า กฎหมายประเทศไทยมีระบบการประกันสิทธิเสรีภาพของเด็กและเยาวชนเอาไว้อย่างชัดเจน สิ่งที่น้องหยกคิดว่าการที่ตนถูกฟ้องคดีนั้น อาจจะไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการดังกล่าว อาจเป็นความคิดที่เกิดจากความไม่รู้ หรือได้รับรู้ข้อมูลมาอย่างผิดๆ

อีกทั้งแม้น้องหยกจะโดนดำเนินคดีอาญามาตรา 112 แต่ก็ยังได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเด็กและเยาวชนอยู่ กฎหมายคุ้มครองแม้กระทั่งว่า ห้ามมิให้ผู้ใดบันทึกภาพ แพร่ภาพ พิมพ์รูป หรือบันทึกเสียง แพร่เสียงของเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิด ที่อาจทำให้บุคคลอื่นรู้จักตัว ชื่อตัว หรือชื่อสกุล ของเด็กหรือเยาวชนนั้นๆ

แต่ในความเป็นจริง ใบหน้า อายุ ชื่อตัว ชื่อสกุลของน้องหยก กลับนำมาเผยแพร่ลงสื่อออนไลน์อย่างแพร่หลาย จนไม่แน่ใจว่า ผู้ที่นำคลิป ภาพ น้องหยกมาเผยแพร่นั้น มีวัตถุประสงค์หรือต้องการอะไรกันแน่

นอกจากนั้น สิ่งที่จะต้องตระหนักนั่นก็คือ เราทุกคนต่างผ่านช่วงวัยของความเป็นวัยรุ่นมาแล้วทั้งสิ้น ช่วงวัยรุ่นเป็นช่วงวัยแห่งการอยากรู้อยากลอง จิตใจฮึกเหิม อ่อนไหวต่อสิ่งที่ตนเองคิดหรือเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้น สิ่งหนึ่งที่สังคมจะต้องให้ความสำคัญ นั่นก็คือ การปกป้องเด็กและเยาวชนจากผู้ที่หวังใช้พวกเขาเป็นเครื่องมือทางการเมือง ไม่ว่าบุคคลเหล่านั้น จะเป็นครูบาอาจารย์ นักวิชาการ นักการเมือง นักสิทธิมนุษยชน นักเคลื่อนไหว หรือกลุ่มก้อนทางการเมืองใดๆ ก็แล้วแต่

สุดท้ายแล้ว คำถามที่ควรต้องมีคำตอบคือ เมื่อเด็กและเยาวชนสมควรได้รับการปกป้องคุ้มครองอย่างเหมาะสม ทั้งทางกายและใจ นั่นหมายความว่า พวกเขาสมควรถูกปกป้องจากการได้รับข้อมูลผิดๆ จากบรรดากลุ่มคนที่พยายามปลูกฝังความเท็จเพื่อให้เด็กๆ เหล่านั้นออกมาต่อสู้แทน กระทั่งออกมากระทำผิดกฎหมายบ้านเมือง จนต้องสูญเสียโอกาสและอนาคตที่ควรมี ใช่หรือไม่ ?

อ้างอิง :

[1] พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553