ไม่จำเป็นต้องเป็นนักกฎหมาย หรือไม่จำเป็นต้องเชี่ยวชาญด้านการเมือง ก็คงสามารถรับรู้ได้ถึงสถานการณ์ของคดีความที่ “เฟ้อ” สูงขึ้นเรื่อยๆ ในระลอกนี้ และในแง่หนึ่งจำนวนคดีความก็แปลความได้ว่า ความสัมพันธ์ของประชาชนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์กำลังเดินหน้าไปอย่างไร
เหตุผลหนึ่งที่จำนวนคดีความพุ่งขึ้นสูง ยังเป็นเพราะกฎหมายมาตรา 112 มีคุณสมบัติสำคัญ คือ เป็นความผิดที่เขียนอยู่ในหมวด “ความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” กฎหมายจึงอนุญาตให้ “ใครก็ได้” ที่พบเห็นการกระทำที่เข้าข่าย ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เสียหาย ก็สามารถเดินไปริเริ่มคดีที่สถานีตำรวจใกล้บ้านได้เลย โดยไม่ต้องคำนึงว่า บ้านของผู้ที่ถูกกล่าวหาอยู่แถวนั้นด้วยหรือไม่
จากสถิติของศูนย์ทนายฯ พบว่า ในจำนวนคดีทั้งหมดที่กำลังเดินหน้าไป เป็นคดีที่มี “ประชาชนธรรมดา” เป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษจำนวน มากถึง 108 คดี หรือประมาณครึ่งหนึ่ง และเมื่อพิจารณาจากรายชื่อผู้ริเริ่มคดีทั้งหมดก็จะพบว่า มี “พลเมืองดี” อยู่ไม่กี่คนที่ทำหน้าที่อาศัยช่องว่างของกฎหมายไปริเริ่มคดีซ้ำๆ หรือเริ่มคดีในพื้นที่เดิมๆ จนเกิดการกระจุกตัวของคดีในแต่ละจังหวัด สำหรับทำเนียบรางวัลของ “นักร้องมาตรา 112 มือฉมัง” สามารถเรียงลำดับได้ดังนี้
ทำเนียบ “นักร้องมือฉมัง” ผู้ริเริ่มคดีมาตรา 112 เป็นจำนวนคดีมากที่สุด
รางวัลประเภทประชาชนทั่วไป มีผู้ส่งประกวดทั้งหมด รวม 108 คดี
รางวัลชนะเลิศ ได้แก่...
ทีมขวัญใจศาลสมุทรปราการ ศิวพันธุ์ มานิตย์กุล 9 คดี และอุราพร สุนทรพจน์ 5 คดี
จากการติดตามของศูนย์ทนายฯ พบว่าในคดีมาตรา 112 ซึ่งเกิดขึ้นในพื้นที่ สภ.บางแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ มีอย่างน้อย 15 คดี ซึ่งเกิดจากการไปกล่าวโทษของประชาชน 2 ราย คือ ศิวพันธุ์ มานิตย์กุล และอุราพร สุนทรพจน์ โดยคดีทั้งหมดเป็นการแจ้งความในช่วงกลางปี 2563 ซึ่งผู้ถูกดำเนินก่อนตำรวจจะเริ่มมีการดำเนินคดีในปี 2564
ตัวอย่างคดีที่มีคำพิพากษาแล้วโดยศาลสมุทรปราการ เช่น คดีของ “ปุญญพัฒน์” ผู้ป่วยสมาธิสั้น ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ 4 ข้อความ ศาลจังหวัดสมุทรปราการพิพากษาเมื่อ 20 มิถุนายน 2565 ให้จำคุกกรรมละ 3 ปี รวม 12 ปี จำเลยรับสารภาพ ลดโทษเหลือ 4 ปี 24 เดือน หรือคดีของ “วุฒิภัทร” ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความเกี่ยวกับ 3 จำเลยกรณีสวรรคตของ รัชกาลที่ 8 โดยศาลจังหวัดสมุทรปราการยกฟ้องเมื่อ 25 มีนาคม 2565 เนื่องจากเห็นว่า องค์ประกอบ ม.112 คุ้มครองเฉพาะพระมหากษัตริย์ที่ยังทรงครองราชย์อยู่เท่านั้น แต่ลงโทษในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ม.14 (1) เนื่องจากเห็นว่าข้อความกระทบกระเทือนความรู้สึกของประชาชนทั่วไป จึงพิพากษาจำคุก 1 ปี ให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษเหลือจำคุก 8 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ
รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่...
พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน 8 คดี
ชื่อของครูสอนภาษาอังกฤษที่ชื่อ พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน ต้องมาคู่กับ “ศาลจังหวัดนราธิวาส” โดยพสิษฐ์เป็นนักร้องมือฉมังขวัญใจ สภ.สุไหง-โกลก จังหวัดนราธิวาส และเป็นเหตุของการเดินทางไกลเพื่อไปต่อสู้คดีในยุคนี้ จากข้อมูลของศูนย์ทนายฯ ระบุว่า ยังมีคดีมาตรา 112 ที่พสิษฐ์เคยร้องทุกข์ไว้อย่างน้อย 20 คดี (บางคดียังอยู่ในชั้นตำรวจ)
สำหรับคดีที่มีคำพิพากษาแล้ว เช่น คดีของภัคภิญญา บรรณารักษ์ชาว กทม.ที่ต้องเดินทางไกลไปตามนัดหมายคดีที่สุไหงโก-ลก ถูกกล่าวหาว่าแชร์เฟซบุ๊ก 6 ข้อความ โดยศาลจังหวัดนราธิวาสพิพากษาเมื่อ 19 ตุลาคม 2565 ว่ามี 3 ข้อความที่เข้าข่ายมาตรา 112 ให้จำคุกกรรมละ 3 ปี รวม 9 ปี หรือคดีของ "วารี" ถูกกล่าวหาว่าคอมเมนต์รูปการ์ตูนบนเฟซบุ๊ก และอีก 2 โพสต์ โดยศาลจังหวัดนราธิวาสยกฟ้องทุกข้อกล่าวหาเมื่อ 6 ตุลาคม 2565 เนื่องจากพยานโจทก์ไม่เพียงพอให้เชื่อได้ว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์ อีกทั้งภาพที่นำมาแจ้งความไม่ปรากฏ URL
อภิวัฒน์ ขันทอง 8 คดี
อภิวัตน์ ขันทอง คือ ทนายความของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้เคยยื่นฟ้องหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา นักร้องสาว มิลลิ-ดนุภา คณาธีรกุล เมื่อปี 2564 และในบทบาทของนักร้องมาตรา 112 มือฉมัง อภิวัตน์ก็ได้ทำผลงานการยื่นฟ้องคนดังมากมาย ส่วนใหญ่เป็นคดีของคนมีชื่อเสียงที่ถูก “จับตา” อย่างใกล้ชิดจากรัฐอยู่แล้ว
คดีที่อภิวัฒน์ริเริ่ม เช่น ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จากการจัดเฟซบุ๊กไลฟ์วิจารณ์การจัดหาวัคซีนโควิด-19 ในหัวข้อ “วัคซีนพระราชทาน ใครได้ใครเสีย”, อานนท์ นำภา จากการปราศรัยในการชุมนุม #เชียงใหม่จะไม่ทน ที่ประตูท่าแพ เชียงใหม่ เมื่อ 9 สิงหาคม 2563, สุทธิพงศ์ ทัดพิทักษ์ หรือฮาร์ท นักร้องชื่อดัง เป็นจำนวน 2 คดี จากการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กวิพากษ์วิจารณ์การผูกขาดวัคซีนโควิด-19 และแชร์ข้อความจากเพจ Royal World Thailand เกี่ยวกับพลานามัยของรัชกาล 10 รวมทั้งการคดีของ ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากการทวิตข้อความว่า “ข่าวลือถ้าไม่จริง ก็แปลงเป็นคำสาปแช่งแล้วกันครับ”
รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่...
นพดล พรหมภาสิต 7 คดี
นพดล พรหมภาสิต มีตำแหน่งเป็นเลขาธิการศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์ (ศชอ.) โดยในบทบาทของนักร้องมาตรา 112 มือฉมัง เขามุ่งเป้าไปที่การเฟ้นหาข้อความที่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 ในโซเชียลมีเดียของ “แกนนำ” เป็นส่วนมาก โดยเหยื่อ 5 ใน 7 คดีที่นพดลเป็นผู้ริเริ่ม ล้วนเป็นนักกิจกรรมคนรุ่นใหม่ที่มีบทบาทเปิดหน้าเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งสิ้น
คดีที่นพดลริเริ่ม ได้แก่ คดีของลูกเกด-ชลธิชา แจ้งเร็ว จากการโพสต์ #ราษฎรสาส์น จดหมายถึงกษัตริย์ในเฟซบุ๊ก, โตโต้-ปิยรัฐ จงเทพ จากการโพสต์พาดพิงเรื่องการใช้ภาษีของกษัตริย์, เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ จากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก 2 โพสต์ วิจารณ์กรณีการใช้พื้นที่สนามหลวงและกล่าวถึงกรณีหย่าร่างกับสุจาริณี, ทนายอานน์ นำภา จากการปราศรัยในม็อบแฮร์รี่ พ็อตเตอร์ 2 เมื่อ 3 สิงหาคม 2564 และการกล่าวหา รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล กับนิราภร อ่อนขาว ว่าเป็นแอดมินเพจแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม
รางวัลชมเชย ได้แก่...
กัญจ์บงกช เมฆาประพัฒน์สกุล 4 คดี
กัญจ์บงกช เมฆาประพัฒน์สกุล เป็นสมาชิกของกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) และในบทบาทของนักร้องมาตรา 112 มือฉมัง กัญจ์บงกชก็มุ่งเป้าไปที่ประชาชนที่เคยออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองเช่นเดียวกัน อาทิ คดีของ ไบร์ท-ชินวัตร จันทร์กระจ่าง จากการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่สำนักงานอัยการสูงสุดมีเนื้อหาเกี่ยวกับการที่ในหลวงไม่ให้ใช้ ม.112, เวหา แสนชนชนะศึก จากการโพสต์ภาพและข้อความต่อกรณีคำพิพากษาของศาลคดีติดสติกเกอร์ กูKult รวมทั้งกล่าวหา รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, เบนจา อะปัญ และนิราภร อ่อนขาว ว่าเป็นแอดมินเพจแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม
รางวัลปลอบใจ ได้แก่...
วริษนันท์ ศรีบวรธนกิตติ์ (แอดมินเพจเชียร์ลุง) 3 คดี
ระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ (ผู้ประสานงานของ ศปปส.) 3 คดี
ปิยกุล วงษ์สิงห์ (สมาชิกกลุ่ม ศปปส.) 3 คดี
ร.ต.นรินทร์ ศักดิ์เจริญชัยกุล (สมาชิกกลุ่มไทยภักดี) 3 คดี
และศรีสุวรรณ จรรยา 3 คดี
ที่มา ILaw
คดี กรรม และนักร้องมือฉมัง: รวมสถิติสุดช็อก 2 ปีของการใช้ “มาตรา 112”