ฮึดกันใหญ่ ตั้งพรรคใหม่รับเลือกตั้ง
ทั้ง ‘นิวพลังธรรม’ และ ‘มวลมหาสุบรรณ’ เต้นแร้งเต้นกา ดี๊ด๊าน่าดู
ล้วนหมายมั่นเป็นนั่งร้านให้ ‘พิน็อคคิโอชา’ เป็นนายกฯ คนนอก
ทางฟากตรงข้ามก็มีเหมือนกัน นอกจาก ‘สีสัน’ หมายเติมเต็มพรรคเพื่อไทย
ขอร้อยเดียวเก็บตกหล่นจากแช้มป์เก่า แล้วยังมีนักประชาธิปไตยสายก้าวหน้า
ขอมาเก็บกวาด ‘นิวบลัด’ คนรุ่นใหม่
ลองมาไล่เรียงกันทีละนิดสักหน่อย เริ่มที่พรรค
‘รวมคนดีๆ’ ที่มาจากพลังธรรมเดิมของมหาจำลอง
บ้างจากพรรคมหาชน บางคนจากพรรคความหวังใหม่ แถมด้วยพวกเทพๆ จาก กปปส.
นายแพทย์ระวี มาศฉมาดล
ว่าที่หัวหน้าพรรคแจ้งว่าอดีตหัวหน้าพรรคเดิมขอ
รักษาสัจจะวาจาที่ว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองและพรรคใหม่นี้แน่นอน แต่กระนั้นหัวหน้าใหม่ก็เชื่อแน่ว่าด้วยการบริหารจัดการพรรคแบบ
อัมโน ของมาเลเซีย จะสามารถรวบรวมคนดีๆ จากทั่วประเทศมากระจุกอยู่พรรคนี้ได้
เช่นเดียวกันพรรคเทพของสุเทือกก็ยืนยันว่านายสุเทพ
เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชน “จะเป็นเพียงสมาชิกพรรคธรรมดาเท่านั้น
ไม่รับตำแหน่งอื่นใดในพรรค ไม่เป็นกรรมการบริหารพรรค ที่ปรึกษาพรรค
หรือรับตำแหน่งใดๆหลังการจัดตั้งรัฐบาล”
คงเชื่อได้แหละ เพราะนายธานี
เทือกสุบรรณ น้องชายสุเทือกพูดเอง “การที่นายสุเทพประกาศจุดยืนสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์
จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. เป็นนายกฯ อีกสมัยนั้น
เป็นสิทธิของนายสุเทพ แต่ที่เราตั้งพรรคขึ้นมาเพื่อร่วมกันปฏิรูปประเทศ”
ว้าว เอางั้นเลยเชียว
นักปฏิรูปก่อนเลือกตั้งคราวนี้อยากปฏิรูปหลังเลือกตั้งบ้าง แต่ก็ “ยอมรับว่าตั้งพรรคใหม่แล้วจะมีปัญหากระทบพรรคประชาธิปัตย์
และตัดคะแนนกันเอง แต่พรรคประชาธิปัตย์และพรรคมวลมหาประชาชนฯ ยังร่วมมือทำงานกันได้ในอนาคต”
แสดงว่านี่ถ้าแจ้งเกิดได้
ก็พร้อมที่จะมีความยินดีให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับไปเป็นนายกฯ คนนอกด้วยละสิ
เพราะตัวหัวหน้าพรรค ปชป. บอกแล้ว ‘รับพิจารณา’ แค่ขอดูคะแนนเลือกตั้งก่อนเท่านั้น
เลยฟันธงเนื่องจากแหล่งวิเคราะห์ไหนล้วนมั่นใจ ปชป. ต่ำร้อย
จึงต้องดูฝ่ายไม่เอาประยุทธ์บ้าง
ทั้งที่ยังไม่รู้อะไรดีนักกับพรรค สปป. หรือสังคมประชาธิปไตยประชาชน
เห็นแต่ชื่อว่าไปทางนั้น อีกทั้งตัวหัวหน้า นายยอดเยี่ยม ศรีมันตะ
เคยเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยมาก่อน
ไอเดียแก “มองว่าพรรคเพื่อไทยยากที่จะได้คะแนนเสียงข้างมากในสภา
(พอ) ที่จะจัดตั้งรัฐบาลเองได้ ไม่น่าจะเกิน ๒๓๐ เสียง ดังนั้นที่เหลืออีกกว่า ๑๐๐
เสียง จะเป็นโอกาส” ให้ สปป.ฉกฉวย
นี่ก็พูดยังกับว่าที่เหลือจากพรรคเพื่อไทย
จะไม่มีใครอยากได้ ‘กินน้ำใต้ศอก’ งั้นแหระ ก็เลยขอข้ามไปส่องพวกเลือดใหม่ดีกว่า
จากที่ข่าวสดอิงลิชรายงานว่า
ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ไพร่หมื่นล้านแห่งไทยซัมมิตเห็นท่าจะเอาแน่
ตั้งพรรคการเมืองสาย ‘progressive’ สำหรับคนรุ่นใหม่ โดยมีปิยบุตร แสงกนกกุล ด็อกเตอร์อังดรัวกฎหมายมหาชน
หนึ่งใน ‘นิติราษฎร์’ เอาด้วย
เจ้าตัวขอ ‘โนคอมเม้นต์’ กับข่าวนี้
แต่ ‘แหล่งข่าวที่รู้เรื่องแผนนี้ดี’
บอกกับข่าวสดว่ามีคนสนใจร่วมเป็นพันธุ์แท้ของพรรคแล้วมากกว่า ๒๐ คน และ “เราเปิดรับสมาชิกจากภูมิหลังต่างกันหลากหลาย
หวังว่าจะจดทะเบียนพรรคได้ในวันที่ ๑๕ มีนาคม” แน่
แล้วคนที่คอมเม้นต์กลับเป็น
ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ แห่งมหาวิทยาลัยเกียวโต ที่ว่า “เป็นแสงไฟที่ปลายอุโมงก์” ถึงแม้
“ส่วนตัวแล้วไม่คิดว่าการเลือกตั้งที่ (คาด) ว่าจะมีมา
เป็นจังหวะที่เหมาะเจาะสำหรับเขา (ธนาธร)”
กระนั้นก็ดี บรรดาเซเล็บไซเบอร์ฝ่ายประชาธิปไตยเอาไปถกกันแซ่ด
ขอเริ่มที่ Atukkit Sawangsuk บอก “ผมสนับสนุนเต็มที่ เอาเลยครับ
อย่าให้ประชาธิปไตยมาติดกับอยู่แค่พรรคเพื่อไทย
เราต้องสร้างความหวังใหม่ๆ
ให้คนรุ่นใหม่ คนที่เติบโตขึ้นมาในช่วงหลายปีนี้ ที่เขาอยากมีอนาคต
เบื่อวังวนเดิมๆ นักการเมืองเดิมๆ แต่ก็ไม่เอารัฐประหาร รัฐทหาร รัฐราชการ”
แต่มีข้อแม้ “ถึงเวลาเลือกตั้ง รักกันแค่ไหน ผมอาจยังลงคะแนนให้พรรคเพื่อไทยก็ได้
อ้าว
ไหงเป็นงั้น” อธึกกิตว่า “เพราะการเลือกตั้งบัตรใบเดียวของไอ้เฒ่ามีชัย
มันบีบให้เราต้องเลือกโดยยุทธศาสตร์...ถ้าบัตรสองใบไม่ต้องคิดมากเลย แต่บัตรใบเดียว
ส.ส.เขตจะได้ใคร เขตผมนนทบุรีทุกทีคะแนนสูสี ใต้อำนาจอย่างนี้ยิ่งลูกผีลูกคน
ยังไงก็ต้องเทเพื่อไทยไว้ก่อน ทั้งที่รู้ว่าแม่-เละเทะ”
ก๊มี
Thanapol
Eawsakul มาแจม
“ถ้าการเลือกตั้งโดยยุทธศาสตร์นี่ หวยออกพรรคของทักษิณ ชินวัตร
ทั้งขึ้นทั้งล่องเลย” เขารำลึกเลือกตั้งปี ๒๕๔๔ มีประเวศ วะสี เคยเสนอแนวทาง “ว่าต้องเลือกพรรคไทยรักไทย
ของทักษิณ ชินวัตร (แม้ว่าเราจะไม่ชอบขี้หน้าทักษิณก็ตาม)”
ธนาพลโยนต่อไปให้คุณโบว์ Nuttaa Mahattana ที่สนับสนุนการเลือกด้วยยุทธศาสตร์อีกคน
แต่เธออธิบายว่า “ไม่ได้หมายความว่าต้องเลือกเพื่อไทยค่ะ
แต่คือการใช้คะแนนอย่างไรให้มั่นใจว่าผลลัพธ์ปลายทางที่รวมกันแล้ว ฝ่ายตรงข้ามเผด็จการจะได้เสียงมากกว่าฝ่ายสนับสนุนเผด็จการ”
เธอยกตัวอย่าง
“ถ้าเขตบ้านโบว์มีคุณธนาธร อ.ปิยบุตร หรือพี่หนูหริ่ง ลงสมัคร
โบว์ก็จะเลือกคนเหล่านี้
แต่ถ้าพรรคส่งคนอื่นที่บังเอิญไม่มีใครแข็งพอจะมีเปอร์เซ็นต์ชนะเลย
โบว์ก็จะไม่เอาคะแนนไปทิ้ง แต่อาจเลือกเพื่อไทยที่มีเปอร์เซ็นต์ชนะ”
หรือว่าอาจจะ
“หลับหูหลับตาเลือกให้เพราะใจสั่งมาล้วนๆเลย คือถ้ามีพรรคไหนบอกจะเข้าไปแก้ ม.๑๑๒ โบว์ก็จะเลือกแบบไม่คำนวณอะไรเลย
เพราะอยากให้รู้ว่ามีคนเอาด้วย”
ก็ไม่พ้น
Somsak
Jeamteerasakul มาจอยน์ว่าในหลักการที่กล่าวกัน มันก็ลงที่พรรคเพื่อไทยอย่างเดียวอยู่นั่นแหละ
“ประเด็นจริงๆ จะเป็นว่า พร้อมจะเลือกพรรคใหม่ #ทั้งๆทีพรรคนั้นไม่มีโอกาสชนะ (ไม่ว่าในเขตหรือปาร์ตี้ลิสต์)
ไหม”
ปัญหาอยู่ที่
ถ้า “เลือกพรรคใหม่ โดยทีไมหวังว่าจะชนะ (แล้วอาจจะมีผลให้ ปชป. ได้เขตนั้นไป
เพราะเพื่อไทยถูกพรรคใหม่ตัดเสียง)”
นั่นซี บางทีมันก็เป็น ‘dilemma’
กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ให้ต้องคิดมากเกินไปอยู่เหมือนกัน เอางี้ดีไหม
ตั้งข้อแม้แบบ ‘ใจสั่ง’ ของโบว์เอาไว้เป็นบรรทัดฐาน
เช่น
ทหารออกไป, รื้อ (ภาษาสลิ่มเรียก ‘ปฏิรูป’) ระบบตุลาการ ยกเครื่องใหม่, แก้ไขกฎหมายหมิ่นกษัตริย์
ม.๑๑๒, ล้างเมือก คสช. ที่พวกเขาคายไว้เปรอะรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูก
(สว.ต้องเลือกตั้ง หรือไม่ก็ยกเลิกไปก่อน องค์กรอิสระต่างๆ โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญต้องอิงเสียงข้างมากจากประชากร
เป็นต้น)
พรรคไหนเข้าข่ายเหล่านั้นมากกว่าครึ่ง ‘เลือก’ ก่อนอื่น พ้นจากนี้ค่อยไป ‘เลือดใหม่’ และ ‘เพื่อไทย’
เสร็จแล้วค่อยรวมหัวคะแนนเสียงหลากหลายเหล่านี้ฟัดกับทหารต่อไป