วันพฤหัสบดี, มีนาคม 22, 2561

ข้อเสนอ ปิยบุตร แสงกนกกุล การจัดการ “มรดก” ของคณะรัฐประหาร

Piyabutr Saengkanokkul
4 hrs
การจัดการ “มรดก” ของคณะรัฐประหาร
1. แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนออกเสียงประชามติในประเด็นที่ว่าสมควรให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับเพื่อแทนที่รัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่

วิธีการ :
(1.) เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติ่ม พุทธศักราช ... เพิ่มมาตรา 256/1 กำหนดให้มีการออกเสียงประชามติในประเด็นที่ว่าประชาชนเห็นชอบให้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยขึ้นใหม่ทั้งฉบับหรือไม่ โดยให้สภาร่างรัฐธรรมนูญที่มีสมาชิกจำนวน 100 คน มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และให้ประชาชนออกเสียงประชามติให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั้นในขั้นตอนสุดท้าย
(2.) เมื่อแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256/1 แล้วเสร็จ ก็ให้ดำเนินการจัดการออกเสียงประชามติในประเด็นดังกล่าว
(3.) เมื่อประชาชนเห็นชอบกับการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยขึ้นใหม่ทั้งฉบับ ให้คณะรัฐมนตรีและรัฐสภาดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อกำหนดกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่

2. ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 279
มาตรา 279 ได้รับรองให้ประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. คำสั่งหัวหน้า คสช.และการกระทำที่เกี่ยวเนื่อง ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้บุคคลไม่อาจโต้แย้งว่าประกาศ คำสั่ง การกระทำเหล่านี้ ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายได้เลย และศาลทั้งหลายต่างไม่รับฟ้อง โดยอ้างมาตรา 279 ทั้งสิ้น
กรณีเช่นนี้ ย่อมส่งผลให้ประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. คำสั่งหัวหน้า คสช.และการกระทำที่เกี่ยวเนื่อง อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ อยู่เหนือระบบกฎหมายทั้งหมด บรรดาสิทธและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองเอาไว้ย่อมไร้ค่าบังคับทันทีเมื่อเผชิญหน้ากับประกาศ คสช คำสั่ง คสช คำสั่งหัวหน้า คสช
เพื่อเปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและความชอบด้วยกฎหมายของประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. คำสั่งหัวหน้า คสช. และการกระทำอันเกี่ยวเนื่องได้ทั้งหมด และเพื่อทำให้สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้บังเกิดผลได้จริง จึงจำเป็นต้องยกเลิกมาตรา 279

3. ทบทวน แก้ไข หรือยกเลิก ประกาศ คำสั่ง ของ คสช. ทั้งหมด
(1.) จำแนกประเภทประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ทั้งหมด
(2.) ในกรณีประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ออกมาเพื่อการบริหารราชการแผ่นดินโดยทั่วไป ไม่ได้มุ่งหมายกำจัดศัตรูทางการเมือง หรือในกรณีมีบุคคลที่ได้รับประโยชน์จากประกาศ คสช คำสั่ง คสช และคำสั่งหัวหน้า คสช ไปโดยสุจริต
ให้ตราพระราชบัญญัติเพื่อเปลี่ยนสภาพของประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ให้เป็นพระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา กฎหมายลำดับรอง หรือคำสั่งทางปกครอง แล้วแต่กรณี
(3.) ในกรณีประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสนองตอบวัตถุประสงค์ของ คสช. ในการปราบปรามศัตรูทางการเมือง หรือละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือมีเนื้อหาที่ขัดต่อความยุติธรรมอย่างร้ายแรง
ให้ยกเลิกประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. เหล่านั้นทันที และกำหนดให้มีกระบวนการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนหรือมาตรการเยียวยาให้แก่ผู้เสียหายจากประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. เหล่านั้นด้วย

4. เพิ่มเติมบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ปวงชนชาวไทยมีสิทธิและหน้าที่ในการต่อต้านโดยวิธีการใดๆต่อการรัฐประหารหรือการแย่งชิง (usurpation) อำนาจสูงสุดของประชาชน

5. เพิ่มเติมบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ กำหนดให้การรัฐประหารหรือการแย่งชิงอำนาจสูงสุดของประชาชนเป็นความผิดอาญา ภายหลังการรื้อฟื้นอำนาจที่ชอบธรรมของประชาชนกลับมาได้แล้ว ก็ให้ดำเนินคดีต่อบุคคลที่แย่งชิงอำนาจสูงสุดของประชาชนดังกล่าว โดยให้อายุความเริ่มนับตั้งแต่มีการรื้อฟื้นอำนาจอันชอบธรรมนั้น

6. ทบทวนพระราชบัญญัติทั้งหมดที่ออกมาโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

(https://www.facebook.com/piyabutr2475/posts/10155322875910848)