ตร. เผย ปชช. ควรค้าน รปห. แต่ควรขอทหารก่อน
นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” จำเลยคดีชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร ทักทายผู้มาให้กำลังใจขณะถูกควบคุมตัวกลับเรือนจำ หลังร่วมฟังการสืบพยานโจทก์ปากที่ 5 เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2561 |
ขอนแก่น – ตำรวจเผยประชาชนควรออกมาคัดค้านรัฐประหาร แต่ควรขออนุญาตทหารก่อน ไม่เช่นนั้นจะผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องแปลกประหลาด พร้อมยอมรับคำให้การของทหารในชั้นจับกุมขัดแย้งกับคำให้การในชั้นสอบสวน แต่ไม่ได้โต้แย้ง ส่วนทนายความจำเลยระบุตำรวจบกพร่อง เพราะสอบสวนข้อเท็จจริงไม่ครบถ้วน
เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2561 ศาลทหารมณฑลทหารบกที่ 23 (มทบ.23) ค่ายศรีพัชรินทร จ.ขอนแก่น นัดสืบพยานโจทก์คดีชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร อัยการศาลทหารเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 ฐานร่วมกันชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป เหตุเกิดเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2558 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จังหวัดขอนแก่น โดยนายจตุภัทร์และพวกรวม 7 คน ได้ชุมนุมชูป้ายคัดค้านการรัฐประหาร
เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ควบคุมตัวนายจตุภัทร์จากทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่น มาขึ้นศาล ส่วนนายภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ จำเลยอีกคน ศาลทหาร มทบ.23 ได้แยกสืบพยานโจทก์ปากแรก ไปเมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2561 ด้านผู้ต้องหาอีก 5 คนยังไม่เข้าสู่กระบวนการศาล
ศาลสืบพยานโจทก์ปากที่ 5 เป็นปากสุดท้าย คือ พ.ต.อ.พิสิฐ หลวงเทพ ผู้กำกับการสอบสวน กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 4
พ.ต.อ.พิสิฐเบิกความว่า ขณะเกิดเหตุเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2558 ตนรับราชการตำรวจอยู่ที่ สภ.เมืองขอนแก่น ตำแหน่งพนักงานสอบสวนผู้ทรงคุณวุฒิ มีหน้าที่สอบสวนความผิดทางอาญาทั่วไป มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารและตำรวจ นำโดย พ.อ.สุรศักดิ์ สำราญบำรุง หัวหน้ากองข่าว ปฏิบัติหน้าที่ที่กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จ.ขอนแก่น มทบ.23 และ พ.ต.ท.นรวัฒน์ คำภิโล รองผู้กำกับการสืบสวนสอบสวน สภ.เมืองขอนแก่น นำตัวนายจตุภัทร์กับพวกรวม 7 คน พร้อมของกลางเป็นป้ายกระดาษและป้ายผ้า และบันทึกการจับกุมข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง หน. คสช. ที่ 3/2558 มาส่งให้กับตนที่ สภ.เมืองขอนแก่น
“เมื่อผมได้ตัวจำเลยกับพวก ผมได้ทำการสอบปากคำจำเลยทั้งหมดและลงบันทึกคำให้การในชั้นจับกุมไว้เป็นหลักฐาน หลังจากนั้นผมได้ควบคุมตัวจำเลยกับพวกไว้ที่ สภ.เมืองขอนแก่น” พ.ต.อ.พิสิฐกล่าว
ต่อมาเมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2558 พ.ต.อ.พิสิฐกล่าวว่า มีผู้มายื่นขอประกันตัวจำเลยกับพวก ซึ่งผู้บังคับบัญชาได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ตนจึงแจ้งกำหนดการให้จำเลยกับพวกมาพบพนักงานสอบสวนในวันที่ 8 มิ.ย. 2558 แต่เมื่อถึงกำหนดจำเลยกับพวกไม่มาพบพนักงานสอบสวนตามหมายนัด
“เมื่อจำเลยกับพวกไม่มาพบพนักงานสอบสวนตามนัด ผมจึงดำเนินการขออนุมัติหมายจับต่อศาลทหารมทบ. 23 ค่ายศรีพัชรินทร จ.ขอนแก่น ซึ่งศาลได้ออกหมายจับให้ตามที่ผมขอไป” พ.ต.อ.พิสิฐกล่าว
พ.ต.อ.พิสิฐกล่าวว่า จากการสอบสวนและรวบรวมหลักฐาน ตนมีความเห็นสมควรส่งฟ้องจำเลยกับพวกต่ออัยการศาลทหาร มทบ.23 ตามข้อกล่าวหาดังกล่าว
หลังพยานโจทก์ปากที่ 5 ได้เบิกความเสร็จ นายอานนท์ นำภา ทนายความจำเลยได้ซักค้านพยานโจทก์ว่า ช่วงเกิดเหตุประเทศไทยปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) ปี 2557 ถูกต้องหรือไม่ และในหลักฐานที่เป็นคลิปวีดีโอจำเลยได้พูดว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” คำพูดดังกล่าวของจำเลยสอดคล้องกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยใช่หรือไม่
พ.ต.อ.พิสิฐตอบว่า ถูกต้องช่วงเกิดเหตุประเทศไทยปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย และเห็นด้วยกับคำพูดของจำเลยที่ว่า เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ เพราะสอดคล้องกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
นายอานนท์ถามอีกว่า ก่อนที่พยานจะเข้ารับราชการ ข้าราชการทุกคนต้องให้คำสัตย์ปฏิญาณต่อหน้าพระพักตร์พระมหากษัตริย์ว่า จะรักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ถูกต้องหรือไม่
พ.ต.อ.พิสิฐตอบว่า ใช่ ข้าราชการทุกคนต้องให้คำสัตย์ปฎิญาณ และตนก็จะรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเช่นกัน
นายอานนท์กล่าวต่อว่า แล้วเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 มีเหตุการณ์การทำรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองประเทศ โดย คสช. นำโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ในขณะนั้น) ซึ่งการได้มาซึ่งการปกครองประเทศดังกล่าวไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย และ คสช. ได้สั่งให้คณะรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยุติการปฏิบัติหน้าที่ มีประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ถือว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมายอาญา มาตรา 113 ฐานความผิดกบฎหรือไม่ และปวงชนชาวไทยควรออกมาคัดค้านการกระทำดังกล่าวของ คสช. หรือไม่
พ.ต.อ.พิสิฐตอบว่า ใช่ ประชาชนควรออกมาคัดค้านการทำรัฐประหาร เพราะการปกครองที่ได้มาจากการยึดอำนาจไม่ได้เป็นประชาธิปไตย แต่ในกรณีนี้ ก่อนที่ประชาชนจะออกมาชุมนุมคัดค้าน ควรขออนุญาตเจ้าหน้าที่ทหารตามกฎหมาย เพราะกฎหมายระบุไว้ หากไม่ได้รับการอนุญาตจะผิดกฎหมาย
ทนายความจำเลยถามต่อว่า กรณีคนที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารแล้วออกมาชุมนุมคัดค้าน ต้องขออนุญาตเจ้าหน้าที่ทหารตามกฎหมายของ คสช.
การขออนุญาตก่อนการคัดค้านรัฐประหารถือเป็นการบังคับใช้กฎหมายที่แปลกประหลาดหรือไม่ พ.ต.อ.พิสิฐตอบว่า ถือเป็นการบังคับใช้กฎหมายที่แปลกประหลาด แต่ในกรณีนี้ผู้ชุมนุมควรขออนุญาตเจ้าหน้าที่ทหารตามกฎหมายเสียก่อน
นายอานนท์ถามต่อว่า ข้อความว่า “คัดค้านรัฐประหาร” ในป้ายผ้าที่จำเลยชูคัดค้านการรัฐประหารนั้น ถือว่าผิดกฎหมายหรือไม่ และการชูป้ายคำว่าคัดค้านรัฐประหาร ถ้าทำคนเดียวจะผิดกฎหมายหรือไม่ พ.ต.อ.พิสิฐตอบว่า การชูป้ายคัดค้านรัฐประหารถ้าทำคนเดียวไม่ผิดกฎหมายตามข้อกล่าวหาในคดีนี้
“ฉะนั้นการคัดค้านรัฐประหารไม่ว่าจะกี่คนก็ตาม ถือว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ดีงามตามระบอบประชาธิปไตยใช่หรือไม่” นายอานนท์กล่าว
พ.ต.อ.พิสิฐตอบว่า ใช่ การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ถูกต้อง ดีงามตามระบอบประชาธิปไตย แต่ถ้าชุมนุมคัดค้านตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปจะฝ่าฝืนคำสั่ง หน.คสช. ที่ 3/2558 และตนเห็นว่า คำสั่ง หน. คสช. เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะกฎหมายที่ออกมาจาก คสช. ในขณะนั้นย่อมมีเหตุผลเสมอ
นายอานนท์ถามอีกว่า แต่ในประวัติศาสตร์การเมืองที่ผ่านมา หากมีการรัฐประหารยึดอำนาจเกิดขึ้น ก็จะมีนิสิต นักศึกษา ประชาชน ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านคัดค้านการทำรัฐประหารของทหารจนได้ระบอบปกครองแบบประชาธิปไตยกลับคืนมา ถูกต้องหรือไม่
“ผมเห็นด้วย แต่ถ้าไม่มีประชาชนหรือนักศึกษาเสียชีวิตจากการชุมนุมคัดค้านการรัฐประหาร ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีและผมก็สนับสนุน” พ.ต.อ.พิสิฐตอบ
นายอานนท์ถามว่า แล้วการคัดค้านรัฐประหารครั้งล่าสุด มีประชาชนหรือนักศึกษาเสียชีวิตหรือไม่ พ.ต.อ.พิสิฐตอบว่า ไม่มีใครเสียชีวิต
หลังจากนั้น นายอานนท์ได้ซักค้านพยานโจทก์บางส่วนในประเด็นเกี่ยวกับสืบสวนจำเลยและรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ก่อนส่งให้อัยการศาล มทบ. 23 ของ พ.ต.อ.พิสิฐว่า เอกสารบันทึกการจับกุมในชั้นจับกุมที่ พ.อ.สุรศักดิ์ ผู้กล่าวหาและแจ้งความร้องทุกข์ ระบุว่า ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งหมดต่อสู้ขัดขืนการจับกุมของเจ้าหน้าที่ แต่เอกสารสอบสวนในชั้นสอบสวน พ.อ.สุรศักดิ์ กลับให้การระบุว่า จำเลยกับพวกมีการต่อสู้ขัดขืนขณะเจ้าหน้าที่ทำการจับกุม และจำเลยที่ 1 คือนายจตุภัทร์ ได้ให้การในชั้นสอบสวนไว้ด้วยว่า ขณะที่เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจพยายามจับกุมตนและพวก มีเจ้าหน้าที่ทหารนายหนึ่งชกไปที่อวัยวะเพศของนายนายภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ จำเลยอีกคน จนเกิดการบาดเจ็บ
“กรณีข้อความให้การในเอกสารบันทึกการจับกุมกับเอกสารในชั้นสอบสวนไม่ตรงกัน โจทก์ในฐานะที่ทำหน้าที่พนักงานสอบสวนได้โต้แย้ง พ.อ.สุรศักดิ์ หรือไม่ว่า ทำไมให้การขัดแย้งกันระหว่างชั้นจับกุมกับชั้นสอบสวน” นายอานนท์ถาม
พ.ต.อ.พิสิฐตอบว่า ไม่ได้โต้แย้ง พ.อ.สุรศักดิ์ แต่เมื่อทราบเรื่องเจ้าหน้าที่ทหารทำร้ายร่างการจำเลยขณะจับกุม ตนได้ให้นายภานุพงศ์ไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลขอนแก่น จากนั้นตนได้นำผลตรวจของแพทย์ส่งให้อัยศาล มทบ.23 ไว้เป็นหลักฐานแล้ว
นายอานนท์ นำภา ทนายความ นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา จำเลยในคดีชูป้ายคัดค้านรัฐประหารให้สัมภาษณ์หลังการพิจารณาคดีเพื่อชี้ให้เห็นข้อบกพร่องของการสอบสวน |
นายอานนท์กล่าวกับผู้สื่อข่าวหลังจากการสืบพยานเสร็จถึงเรื่องข้อความให้การในเอกสารบันทึกการจับกุมกับเอกสารในชั้นสอบสวนของพนักงานสอบสวน เกี่ยวกับกรณีที่เจ้าหน้าที่ทหารใช้กำลังเข้าจับกุมจำเลยกับพวกไม่ตรงกันว่า เป็นความพยายามของเจ้าหน้าที่ทหาร ที่ต้องการตัดข้อเท็จจริงบางส่วนที่เกิดขึ้นในช่วงจับกุมจำเลยกับพวกทั้ง 7 คนออก เพราะถือเป็นหลักฐานที่บอกได้ว่า เจ้าหน้าที่ทหารใช้กำลังในการจับกุมจำเลย
“ถ้าไม่ซักค้านในกรณีนี้ ฝ่ายจำเลยอาจเสียเปรียบในทางคดีแน่นอน และศาลก็จะไม่เห็นถึงความบกพร่องของพนักงานสอบสวน ที่สอบสวนข้อเท็จจริงไม่ครบและไม่ได้สอบสวนข้อเท็จจริงที่เป็นคุณกับจำเลยอีกด้วย” นายอานนท์กล่าว
การพิจารณาคดีในครั้งหน้าเป็นการสืบพยานจำเลยปากแรก คือ นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา จำเลยที่ 1 ศาลนัดสืบพยาน วันที่ 15 พ.ค. 2561 ที่ศาลมทบ. 23 ค่ายศรีพัชรินทร จ.ขอนแก่น
(https://isaanrecord.com/2018/03/27/dao-din-against-thai-coup-detat/)