ก็น่าเห็นใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ที่พยายามทุ่มเทแก้ปัญหาในเรื่องหลักๆ หลายเรื่อง โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาความยากจนที่เกี่ยวพันกับเรื่อง “ปากท้อง” แบบแยกไม่ออก รวมไปถึงเรื่องการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันในวงราชการ แต่กลายเป็นว่าไม่ได้สร้างความรับรู้หรือสร้างความพอใจให้เกิดขึ้นกับชาวบ้านส่วนใหญ่เลย ในทางตรงกันข้ามกลับมองเห็นว่ารัฐบาลนี้แก้ไขปัญหาไม่ได้
ทำให้เกิดคำถามตามมาว่ามันเป็นเพราะอะไรกันแน่ ทำไมสังคมยังมองไม่เห็นถึงความพยายามดังกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จนทำให้ยังไม่สามารถนำมาสร้างเป็น"จุดขาย"ให้กับตัวเองรวมไปถึงรัฐบาล หรือแม้แต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เข้ามาควบคุมอำนาจรัฐอย่างเบ็ดเสร็จในเวลานี้
อย่างไรก็ดี ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าทั้งสองเรื่อง คือ เรื่อง “ปากท้อง” และเรื่องการ “ทุจริต” คดโกงถือว่าเป็นเรื่องอ่อนไหวอย่างยิ่งสำหรับคนไทย อ่อนไหวในที่นี้มีความหมายออกไปทาง “รับไม่ได้ที่เห็นนักการเมือง คนในรัฐบาลและข้าราชการโกง” แต่เชื่อหรือไม่ว่า ในความเป็นจริงแล้วสังคมไทยก็มีเรื่องโกงอยู่มาก มีการ “สมคบกันระหว่างข้าราชการกับชาวบ้านร่วมมือกันทุจริต” แต่เอาเป็นว่าสำหรับรัฐบาลใดก็ตามหากมีเรื่องโกงหรือถูกกล่าวหาว่าโกงก็เป็นอันเสร็จต้องล้มไป หรือไม่ก็ต้องถูกใช้เป็นเงื่อนไขให้ถูก “รัฐประหาร” มาแล้วหลายครั้ง
ส่วนอีกเรื่องที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน ก็คือ เรื่อง “ปากท้อง” เมื่อใดก็ตามที่รัฐบาลไม่อาจแก้ปัญหาเรื่อง “ของแพง ค่าครองชีพสูง” เมื่อนั้นก็จบเห่ เสื่อมถอยทันที
สำหรับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้ว่าที่ผ่านมาจะพยายามทุ่มเทแก้ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจที่ถดถอยจนกลับมาฟื้นตัวและขยายตัวในปัจจุบัน แต่ถึงอย่างไรก็ยังมีเสียงบ่นจากชาวบ้านทุกครั้งที่มีการสำรวจโดยโพลสำนักต่างๆ บ่นในเรื่อง “ค่าครองชีพสูง ของแพง” ดังอยู่ตลอดเวลา ส่วนสำคัญน่าจะมาจากเรื่องราคาสินค้าเกษตรตัวหลักๆ ราคาตกต่ำ ซึ่งแน่นอนว่า ไม่ว่าจะเป็น ยางพารา ข้าว ปาล์มน้ำมัน ล้วนผูกพันอยู่กับตลาดโลก รวมไปถึงเกิดจากความล้มเหลวของนโยบายรัฐบาลบางยุค เช่น การส่งเสริมพื้นที่ปลูกยางจนเกินพอดี นโยบายรับซื้อข้าวทุกเมล็ด (จำนำข้าว) เป็นต้น เรื่องเหล่านี้ยิ่งซ้ำเติมความยากจนเข้าไปอีก เพราะกว่าร้อยละ 80 คนไทยเป็นเกษตรกร ตราบใดที่ราคาสินค้าเกษตรราคาไม่ดีมันก็ย่อมให้พวกเขาจนลง ซึ่งที่จริงก็ไม่มีอะไรซับซ้อน ในทางตรงกันข้ามที่จริงประเทศไทยน่าจะมีความเชี่ยวชาญเรื่องการแก้ปัญหาเหล่านี้ เพราะต้องเจอกับเรื่องแบบนี้ทุกปีต่อเนื่องกันมานานนับร้อยปีแล้ว รู้ดีว่าพื่นที่ตรงไหนปลูกข้าว ตรงไหนแห้งแล้ง รู้ดีว่าเดือนนี้กำลังจะมีผลไม้ชนิดไหนทะลักออกมาจนล้นตลาด แต่กลายเป็นว่ายังเจอปัญหาแบบเดิมทุกปี
การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พยายามประกาศมาตั้งแต่ต้นไปว่าในปีนี้จะเป็นปีแห่งการแก้ปัญหาความยากจนแบบครบวงจร ทุ่มแก้ปัญหาเศรษฐกิจฐานรากแบบบูรณาการ แต่คำถามก็คือจะสามารถสร้างความรู้สึกกับประชาชนหรือได้ผลแค่ไหนว่าพวกเขา “มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น” ซึ่งนั่นคือต้องมีรายได้ที่ดีขึ้นกว่าเดิม จากราคาสินค้าเกษตรนั่นแหละ หรือราคาข้าวของไม่แพงขึ้น
ปัญหาก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และทีมเศรษฐกิจจะทำได้ดีแค่ไหน ซึ่งนี่คือปัจจัยสำคัญที่สุดอันหนึ่ง
ปัญหาเรื่องที่สอง ก็คือ เรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน ที่เป็นเรื่อง “อ่อนไหว” อีกอย่างหนึ่ง แม้ว่าที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะพยายามจะแสดงให้เห็นว่าเขาจริงจังในการปราบปรามเรื่องดังกล่าว ถึงกับเคยประกาศเป็น “วาระแห่งชาติ” มาแล้ว แต่ปัญหาก็คือทำไมชาวบ้านยัง “ไม่มีความรู้สึกคล้อยตามว่าเขาจริงจังกับเรื่องแบบนี้”
น่าสนใจก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกมองว่า “ดีแต่พูด” เพราะการจัดการกับเรื่องดังกล่าวมักจะเกิดขึ้นกับพวก “ปลาซิวปลาสร้อย” ตัวเล็กๆ เท่านั้น ส่วน “คนกันเอง” ก็ถูกมองว่า “ไม่มีการแตะต้อง” อีกทั้งรัฐบาลชุดนี้ยังถูกนินทาว่ายังมีเรื่อง “จ่ายใต้โต๊ะ” ไม่ได้น้อยลงกว่ารัฐบาลของพวกนักการเมืองเลย ตรงกันข้ามอาจมากกว่าด้วยซ้ำ
กรณี “นาฬิกาหรู” ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่แม้ว่านาทีนี้ยังไม่อาจชี้ชัดลงไปได้ว่าผิดหรือไม่ผิด แต่คำถามในเรื่อง “มาตรฐานจริยธรรม” มันต้องเข้มข้นกว่าใคร แต่กลายเป็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีมุมมองอีกแบบ ในความหมายคือ “อุ้มพวกเดียวกัน”
หรือแม้แต่เรื่องการทุจริตในหน่วยงานของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่โกงเงินคนจนที่สรุปได้ว่าโกงกันเกือบทุกหน่วยงานเกือบทุกจังหวัด “แตะที่ไหนก็เจอที่นั่น” นี่ก็เป็นการพิสูจน์ให้เห็นอีกว่าเรื่องแดงขึ้นมาเพราะมีนักศึกษาหญิงคนหนึ่งที่ทนเห็นเรื่องอำมหิตแบบนี้ต่อไปไม่ไหวจึงยอมเสี่ยงชีวิตเปิดโปงออกมาให้สื่อและสังคมได้เห็น ไม่ใช่เริ่มต้นมาจากกระบวนการตรวจสอบภายในรัฐบาล ตรงกันข้ามในช่วงยังเกิดการคุกคาข่มขู่หรือขัดขวางไม่ให้มีการตรวจสอบ แต่เมื่อขัดขวางไม่ได้แล้วต่างหากจึงต้อง “ตามน้ำ” เลยตามเลย มาขึงขังเอาทีหลัง
ดังนั้น ทั้งสองเรื่องนี้แหละคือทั้งเรื่องปัญหาปากท้อง และเรื่องการทุจริต ที่แผ่กระจายลุกลามเป็นวงกว้างไปเรื่อยๆ ล้วนเป็นสาเหตุที่ฉุดเครดิต พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ลดลงเรื่อยๆ จนน้ำหนักจากคำพูดที่เมื่อชาวบ้านฟังแล้วเฉยๆ ไม่มีอารมณ์ร่วม ไม่เชื่อว่าเขาจะตั้งใจทำจริง โดยเฉพาะเรื่องการปราบปรามทุจริต หากเริ่มจากคนใกล้ตัวก่อนรับรองว่าความเชื่อมั่นศรัทธาจะพุ่งกระฉูดอีกครั้ง!!