วันเสาร์, มีนาคม 17, 2561

“เขาอยากอยู่ยาว” เทคนิคใหม่ 'ยื้อเลือกตั้ง' ให้ศาลตีความกฎหมาย ส.ว. สถานการณ์การเมืองปัจจุบัน มีส่วนคล้ายคลึงเมื่อครั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีมติ “คว่ำ” ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ





เทคนิคใหม่ 'ยื้อเลือกตั้ง' ให้ศาลตีความกฎหมาย ส.ว.


16 มี.ค. 2561
โดย iLaw


แม้ คสช. จะพยายามหาเทคนิคใหม่ๆ มาเลื่อนเลือกตั้งไปแล้วถึง 4 ครั้ง ไล่ตั้งแต่ แก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ 2557, คว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์แล้วร่างใหม่, แก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวตามที่พระมหากษัตริย์พระราชทานข้อสังเกต จนมาถึงขยายเวลาบังคับใช้กฎหมาย ส.ส. ออกไปอีก 90 วัน และล่าสุดดูเหมือน คสช. จะพบเทคนิคใหม่ โดยให้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างกฎหมายลูก ส.ว.

ทั้งนี้ เหตุที่เรียกว่าวิธีการนี้เป็น 'เทคนิคใหม่' เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่มีการประยุกต์ใช้ตัวบทในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มาเป็นช่องทางขยายโรดแมปเพื่อเลื่อนวันเลือกตั้ง และสิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ บุคคลผู้ที่ออกมากดดันให้ สนช. ต้องยื่นตีความกฎหมาย ส.ว. ก็คือคนคนเดียวกับผู้ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญอย่าง 'มีชัย ฤชุพันธ์' ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (ประธาน กรธ.)

สนช. เตรียมส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความกฎหมาย ส.ว.

15 มีนาคม 2561 สมชาย แสวงการ เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(เลขาฯ วิป สนช.) ระบุว่า ที่ประชุม สนช. เห็นตรงกัน น่าจะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพื่อให้เกิดความชัดเจน โดยจะดำเนินการไม่ให้เกิดปัญหากระทบต่อโรดแมป จึงจะยื่นตีความเฉพาะร่างกฎหมายลูก ส.ว.เท่านั้น โดยคาดการณ์ว่า วันที 16 มีนาคม 2561 จะมีรวบรวมรายชื่อสมาชิก สนช. แล้วเสร็จ

โดยขั้นตอนดังกล่าวเป็นไปตามมาตรา 148 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภา หรือ สมาชิก สนช. จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 สามารถเสนอให้ประธานวุฒิสภาหรือประธานสนช. ส่งร่างกฎหมายไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อนจะนำขึ้นทููลเกล้าถวาย ให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และในกฎหมายมาตราเดียวกันยังระบุอีกว่า 'ในระหว่างการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีจะนําร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยมิได้'

รัฐธรรมนูญ 60 ยืดโรดแมปได้ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญคว่ำกฎหมาย

อย่างไรก็ดี ผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีความเป็นได้ทั้งสิ้น 3 แนวทาง คือ แนวทางที่หนึ่ง ศาลรับคำร้อง แต่วินิจฉัยว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แนวทางที่สอง ศาลวินิจฉัยให้บาง “ข้อความ” ขัดกับรัฐธรรมนูญ โดยข้อความดังกล่าวจะตกไป แล้วนายกฯ นำขึ้นทูลเกล้าฯ และแนวทางที่สาม ศาลฟันว่าขัดรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ซึ่งจะทำให้กฎหมายทั้งฉบับตกไป และต้องร่างใหม่ 6 เดือน

โดยขั้นตอนการร่างใหม่อย่างน้อย 6 เดือนจะเป็นไปตามมาตรา 131 และ 132 ของรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้ ครม. โดยข้อเสนอแนะของศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง หรือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ เท่านั้นจึงจะเสนอร่างดังกล่าวต่อสภาได้

เมื่อมีการเสนอร่างกฎหมายต่อสภาแล้วให้รัฐสภาประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในเวลา 180 วัน (6 เดือน) และต้องใช้คะแนนเสียงเห็นชอบมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของรัฐสภา ถ้าที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในกําหนดเวลาดังกล่าวให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบตามร่างที่เสนอมา

ทั้งนี้ ภายใน 15 วันนับแต่วันที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายให้รัฐสภาส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นไปยังศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความเห็น ในกรณีที่ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง ไม่มีข้อทักท้วงภายในสิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างดังกล่าว ให้รัฐสภาส่งให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

แต่ในกรณีที่ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง เห็นว่าร่างกฎหมายนั้นมีข้อความใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือทําให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้ ให้เสนอความเห็นไปยังรัฐสภาและให้รัฐสภาประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับความเห็นดังกล่าว

โดยรัฐสภามีอํานาจแก้ไขเพิ่มเติมตามข้อเสนอของศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระตามที่เห็นสมควรได้ และเมื่อดําเนินการเสร็จแล้ว ให้รัฐสภาส่งให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

ประธาน สนช. ยอมรับ มีข้อกังขาในการทำงานระหว่าง สนช.-กรธ.


ก่อนหน้าที่ สนช. เตรียมจะยื่นร่างกฎหมายให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ได้ให้สัมภาษณ์หลัง มีชัย ฤชุพันธ์ ประธาน กรธ. เตรียมส่งข้อสังเกตต่อร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ให้พิจารณา ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับหนังสือดังกล่าว คงต้องรอดูรายละเอียดก่อนว่าเห็นแย้งอย่างไร ทั้งนี้ ในชั้นกมธ.ร่วม 3 ฝ่าย ทั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) สนช. และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ไม่มีใครอภิปรายว่าขัดรัฐธรรมนูญ

พรเพชร ให้สัมภาษณ์อีกว่า “ผมก็ไม่อยากจะพูดว่าทำไมไม่ยอมทำทุกอย่างให้จบก่อนกระบวนการทุกอย่างจะเสร็จสิ้นลง แต่เมื่อท่านส่งมาตอนนี้ทางแก้ไขก็มีทางเดียว คือ ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องที่สมาชิกต้องไปว่ากันเอง ผมไปชี้นำไม่ได้ ทุกคนจับจ้องว่าจะทำให้เลื่อนโรดแมปการเลือกตั้ง ยื้อการเลือกตั้ง ซึ่งการยื้อหรือเลื่อนโรดแมปทุกคนก็มองมาที่ตัวประธาน สนช. เป็นหลัก แต่ประธานไม่มีสิทธิ์บอกหรือบังคับสมาชิกว่าให้ยื่นหรือไม่ยื่น”

ไทม์ไลน์การพิจารณากฎหมาย ส.ว. ก่อนส่งศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน


26 มกราคม 2561 ที่ประชุม สนช. ลงมติเห็นชอบร่างกฎหมาย ส.ว. โดยเปลี่ยนหลักการเดิมจากกฎหมายที่ กรธ. เป็นคนร่างมา ด้วยการลดจำนวนกลุ่มอาชีพสำหรับผู้สมัคร ส.ว. ลง จาก 20 กลุ่ม เหลือเพียง 10 กลุ่ม พร้อมทั้งเพิ่มช่องทางให้องค์กรนิติบุคคลสามารถเสนอชื่อ ผู้สมัคร ส.ว. ได้

15 กุมภาพันธ์ 2561 กรธ. และ กกต. มีความเห็นแย้งต่อร่างกฎหมายดังกล่าว จนต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญร่วม จาก 3 ฝ่าย ขึ้นมาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 267 วรรค 5 โดยมี สนช. 5 คน กรธ. 5 คน และ กกต. อีก 1 คน เพื่อพิจารณาแก้ไขร่าง พ.ร.ป.ฉบับนี้ให้เป็นที่ยอมรับของทั้งสามฝ่ายอีกครั้งก่อนนำไปให้ที่ประชุมใหญ่ สนช. พิจารณาเห็นชอบกันอีกครั้ง

8 มีนาคม 2561 ที่ประชุม สนช. เสียงข้างมากมีมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งวุฒิสภา พ.ศ. … ที่เพิ่งได้รับการแก้ไขปรับปรุงมาจากกรรมาธิการร่วมฯ โดยมีสาระสำคัญว่า ให้ช่วง 5 ปีแรกตามบทเฉพาะกาล กำหนดให้โควต้าอาชีพหรือกลุ่มอาชีพผู้สมัคร ส.ว. มีแค่ 10 กลุ่ม และให้องค์กรนิติบุคคลสามารถเสนอชื่อผู้สมัคร ส.ว. ได้ ส่วนในบททั่วไป ให้กลับไปใช้การคัดเลือก ส.ว. ตามกฎหมายที่ กรธ. เสนอมา โดยกำหนดให้แบ่งโควต้าอาชีพผู้สมัคร ส.ว. ออกเป็น 20 กลุ่ม และให้กลับมาใช้ระบบเลือกไขว้ดังเดิม

13 มีนาคม 2561 มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ก็ยังยืนยันที่จะส่งความเห็นไปให้ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เพื่อพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกฎหมายที่เพิ่งผ่านสภาหรือไม่ เนื่องจากยังมีความกังวลต่อเนื้อหาร่างกฎหมายที่ สนช. เห็นชอบไป

15 มีนาคม 2561 สมชาย แสวงการ เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(เลขาฯ วิป สนช.) ระบุว่า ที่ประชุมสนช. เห็นตรงกัน น่าจะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพื่อให้เกิดความชัดเจน โดยจะดำเนินการไม่ให้เกิดปัญหากระทบต่อโรดแมป จึงจะยื่นตีความเฉพาะร่างกฎหมายลูก ส.ว.เท่านั้น โดยคาดการณ์ว่า วันที 16 มีนาคม 2561 จะมีรวบรวมรายชื่อสมาชิก สนช. แล้วเสร็จ