บทบรรณาธิการ ‘ประชาไทอิงลิช’ เมื่อวาน (๒๑ มีนา) เอ่ยถึงบรรยากาศทางการเมืองในกระแสเลือกตั้ง
ที่หวังกันว่า คสช.จะรักษาคำพูด (เสียที) ว่าจะจัดให้มีขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
นั้น
มีข้อคำนึงอย่างหนักสองเรื่องหลัก คือ ๑.ยังไม่มีอะไรแน่นอนว่าการเลือกตั้งที่หวังกันนั้นจะมาแน่ๆ
และ ๒.ยังมีคนถูกดำเนินคดีจากการเรียกร้องให้มีเลือกตั้งอยู่
โดยกรณีข้อ ๒. ประชาไทอ้างถึงการดำเนินคดีต่อกลุ่มผู้เรียกร้องเลือกตั้งที่พัทยาเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว
แต่ล่าสุด ๒๐ มีนา อัยการทหารผู้ช่วย มทบ.๓๓ ภูพิงค์ ได้แจ้งความกล่าวโทษกลุ่มคนเชียงใหม่อยากเลือกตั้ง
๖ ราย
“ข้อหาขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ ๓/๒๕๕๘ ชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป” (https://prachatai.com/journal/2018/02/75534)
ส่วนข้อ ๑. นั่นดูจากคำให้สัมภาษณ์ของอดีต
กกต. คนดังที่เพิ่งโดน คสช. เด้งจากตำแหน่งด้วย ม.๔๔ ว่าอย่างดี “ต้องทดเวลาเพิ่มอีกสองเดือน
เผื่อให้ศาลวินิจฉัยประมาณเดือนครึ่งและนำกลับมาแก้อีกครึ่งเดือน
จึงต้องนับเวลาใหม่
จึงเป็นจากประมาณ ๑๑ เดือนก็เป็น ๑๓ เดือน แปลว่าจะได้เลือกตั้ง เม.ย. ๒๕๖๒ แต่ถ้าเกิดศาลวินิจฉัยแล้วถึงขั้นให้ร่างกฎหมายลูกตกไปก็จะช้าเพิ่มไปอย่างน้อย
๖ เดือน”
อย่างร้าย “คิดว่าเลือกตั้งกุมภาพันธ์ปีหน้าจะเกิดขึ้นจริงๆ หรือไม่...ตรงนี้ผมไม่ทายแล้วกัน
เพราะมันมีปัจจัยเสี่ยงอีกหลายปัจจัยที่ยังไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างในอนาคตข้างหน้า”
(ดู https://www.the101.world/thoughts/somchai-srisutthiyakorn/ และ https://prachatai.com/journal/2018/03/76003)
ข้อสรุปของประชาไทอิงลิชชี้ว่าสองพรรคการเมืองใหญ่
(ประชาธิปัตย์และเพื่อไทย) จำเป็นต้องร่วมมือกันต่อสู้กับอำนาจเผด็จการ แม้นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
(๒๕๖๐) เป็นเรื่องยากยิ่งเมื่อใน รธน.เต็มไปด้วยปราการปิดกั้น และทั้งสองพรรคต่างประกาศว่าไม่มีทางร่วมกันได้
(ปชป.หนักแน่นกว่าเพื่อไทย)
โดยประชาไทเสนอให้นักการเมือง
(ที่ไม่ใช่เคยเป็นทหาร หรืออยากเป็นลูกไล่ทหารต่อไป) คุยกันในประเด็นที่จะเป็นความอยู่รอดของอนาคตการเมืองในครรลองประชาธิปไตย
ได้แก่ระบบสวัสดิการแห่งรัฐ เศรษฐกิจดิจิทัล และการปฏิรูปกองทัพ
เช่นที่มีพรรคเล็กๆ น้อยๆ
พรรคย่อยเสนอกันไว้แล้ว ดัง ปิยบุตร แสงกนกกุล แห่งพรรคอนาคตใหม่เสนอ ๖ ข้อเพื่อขจัด
‘แอก’ แห่งกฎหมายที่ใช้ครอบงำทางการเมืองอีกอย่างน้อย
๒๐ ปีของ คสช. หรือที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวศ เสนอปฎิรูปกองทัพ ย้ายกองทหารออกจากรุงเทพฯ
ให้หมด เหลือไว้แต่ทหารรักษาพระองค์
ทว่าอนิจจาแนวคิดก้าวหน้าเพื่อการปฏิรูปองคาพยพในประเทศให้เป็นประชาธิปไตย
ถูกคัดง้างอย่างหักโหมโดยกระบวนลูกไล่ คสช. และพวกนิยมอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
รุมโจมตีพรรคอนาคตใหม่อย่างเมามัน ว่าเป็นขบวนการล้มเจ้า
รายแรกที่ต้องเอ่ยถึงเป็นเจ้าเก่า พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ กล่าวหาพรรคอนาคตใหม่ว่าเป็น
“ที่ต้องการละเมิดสิทธิส่วนพระองค์อย่างเสรี
ด้วยการอ้างเหตุแห่งความคิดต่างตามเสรีประชาธิปไตย...เพื่อต่อยอดและขยายผลสู่การล้มล้างราชบัลลังก์ในภายภาคหน้า”
ล้วนแล้วแต่เป็นถ้อยคำจาบจ้วงล่วงเกินโดยไม่มีหลักฐานข้อเท็จจริงสนับสนุน
อีกคน
เสริมสุข กษิติประดิษฐ์ อดีตผู้สื่อข่าวด้านความมั่นคงของ นสพ.บางกอกโพสต์ และอดีต
บก.ข่าวการเมืองไทยพีบีเอส เขียนเฟชบุ๊คกล่าวหาทั้งปิยบุตร แสงกนกกุล และธนาธร
จึงรุ่งเรืองกิจ ที่วิจารณ์กฎหมายมาตรา ๑๑๒
ถูกใช้กลั่นแกล้งผู้เห็นต่างทางการเมือง ว่าเป็นการบิดเบือนสร้างความเข้าใจผิด
เสริมสุขคนนี้ที่เคยเขียนข่าวในบางกอกโพสต์ว่ารันเวย์สนามบินสุวรรณภูมิสร้างใหม่ๆ
ไม่ทันไรเกิดรอยแตกร้าว มาคราวนี้เขาโยงสองแกนนำพรรคอนาคตใหม่ว่าสนับสนุนพวกที่จาบจ้วงสถาบันในสมัยรัฐบาล
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
รายที่สามนี่หนักกว่าเพื่อน
ขู่ฆ่าบนหน้าโซเชียลกันเลยทีเดียว พ.ต.อ.ภาคภูมิ
สุนทรศร อดีตรองผู้บังคับการข่าวกรองยาเสพติด โพสต์เฟชบุ๊ค
ว่าร้ายสองแกนนำพรรคอนาคตใหม่ ว่า
“มึงพูดเจาะจงว่า ม ๑๑๒
เป็นอุปสรรคต่อระบอบประชาธิปไตย ถ้าพวกมึงจะเอาเรื่องนี้เป็นตัวชู
เหตุผลพวกมึงเพียงต้องการวิจารณ์ถากถางสถาบันได้อิสสระโดยไม่มีความผิด...
ชีวิตกูฆ่าคนเหี้ยๆมาเยอะจนจำจำนวนไม่ได้
แล้วกับพวกมึงมันง่ายมากสำหรับกู กูถือว่ามึงชั่วกว่าโจรผู้ร้าย นักค้ายา...เสียดายที่มึงเสือกมาเกิดในประเทศไทย
บรรพบุรุษของมึงทำประโยชน์อะไรให้ชาติบ้างมั้ย...”
มิใยที่ สุณัย ผาสุก
แห่งฮิวแมนไร้ท์ว้อทช์ จะเตือนว่า “ทางการไทยไม่ควรเพิกเฉยต่อกรณีอดีตนายตำรวจขู่ฆ่าธนาธรและปิยบุตร
ผู้ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ รวมถึงการยุยงสร้างความเกลียดชังด้วยข้อกล่าวหา ‘ล้มเจ้า’ ผ่านสื่อและโซเชียลมีเดียที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
#อย่าให้ซ้ำรอยหกตุลา #อนาคตใหม่”
มิใยที่ นิธินันท์
ยอแสงรัตน์ สื่อมวลชนอาวุโสฝ่ายประชาธิปไตย จะต้องปรารภด้วยความละเหี่ยใจว่า “ได้เวลาหยุดอ่านไลน์กลุ่ม
‘ศิษย์เก่า’ อีกรอบ
เพราะเริ่มมีการแชร์ข้อความ/รูปทำนองว่าคนรุ่นใหม่ล้มเจ้า ล้มศาสนา ไม่รักชาติ
(ล้มชาติ) กันอีกแล้ว”
นิธินันท์บ่น “มันมากเกินกว่า ‘ความคิดต่าง’ แต่มันเข้าข่าย ‘ไม่มีความสมเหตุสมผล’
‘น่าเศร้าใจกับความเป็นบัณฑิต’ จนไม่สามารถร่วมวงสนทนา
ต้องกลับไปสู่โหมด ‘แปลกแยก’ ดังเดิม”
ไฉนพอมีแสงรำไรในการเลือกตั้ง บรรยากาศการเมืองแบ่งแยกแตกขั้วทำท่าจะกลับมาอีก
ทั้งที่นายทุนสามานย์อันตรธานไปแล้ว พวกที่โดนข้อหาล้มเจ้าก็ไปอยู่ต่างประเทศ (สุขสบายกันดีเสียด้วย)