วันเสาร์, มกราคม 25, 2568

ในปัจจุบันมีการขายไฟฟ้าให้เพื่อนบ้านนอกประเทศ อยู่ประมาณ 17 จุด มีหลายจุดอยู่ที่เมียนมาและสงสัยว่ามีความเกี่ยวข้องกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์และขบวนการยาเสพติด กมธ.ความมั่นคงฯ เสนอให้ยุติการซื้อขายไฟ


Rangsiman Rome - รังสิมันต์ โรม
10 hours ago
·
การประชุมกมธ.ความมั่นคงฯ เมื่อวานนี้ เป็นการพิจารณาปัญหาตามแนวชายแดนทั้งแก๊งคอลเซนเตอร์ ยาเสพติด ที่มีการนำทรัพยากรของประเทศเราซึ่งก็คือ ไฟฟ้า ป้อนให้กับกระบวนการอาชญากรข้ามชาติ ซึ่งกมธ.ได้เชิญกระทรวงมหาดไทย สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) รวมถึงการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคแม่สาย เข้าร่วมชี้แจง
ในการประชุมวันนี้กระทรวงมหาดไทยไม่ได้เข้าร่วมการประชุม โดยได้แจ้งด้วยวาจาว่า เป็นการมอบหมายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เข้าร่วมประชุม และทางมหาดไทยไม่ได้ส่งตัวแทน ซึ่งสรุปประเด็นสำคัญได้ ดังต่อไปนี้
.
.
[การทำสัญญาซื้อขายไฟที่อาจเกี่ยวข้องกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์และขบวนการยาเสพติด]
ในปัจจุบันมีการขายไฟฟ้าให้เพื่อนบ้านนอกประเทศ อยู่ประมาณ 17 จุด มีหลายจุดอยู่ที่เมียนมาและสงสัยว่ามีความเกี่ยวข้องกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์และขบวนการยาเสพติด ในการประชุมวันนี้มีการพิจารณาและให้น้ำหนักที่พื้นที่ 2 จุด ได้แก่
จุดที่ 1 ในพื้นที่แม่สอด จ.ตาก ขายไฟไปยังเมียวดี จุดนี้ได้ข้อมูลสำคัญว่า บริษัทคู่สัญญากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคคือ บริษัท SMTY โดยพันตรี ติ่งวิน เป็นระดับแกนนำของกองกำลัง BGF หรือ KNA และเข้าใจว่า พันโท หม่อง ชิตตู เป็นแกนนำคนสำคัญ ซึ่งกองกำลังกลุ่มนี้มีบทบาทสำคัญในการให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์เช่าพื้นที่ที่ตั้งอยู่เมียวดี นั่นก็หมายความว่า เราจะเห็นข้อต่อสำคัญว่า บริษัท SMTY มีความเกี่ยวโยงกับกองกำลังที่ดูแลในพื้นที่เมียวดี ดังนั้น แทบไม่ต่างกับการที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคทำสัญญาขายไฟให้กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์โดยตรง
จุดที่ 2 ในพื้นที่แม่สาย จ.เชียงราย ขายไฟไปยังท่าขี้เหล็ก ซึ่งปัจจุบันมีการเปลี่ยนคู่สัญญาเป็นบริษัทใหม่ชื่อ แอสตร้าอิเล็คทริค จดทะเบียนในปี 2566 แต่มีความน่าสงสัย เพราะทุนจดทะเบียนมีแค่ 1 ล้านบาท และผู้ถือหุ้นบริษัทนี้เป็นสุภาพสตรี อายุค่อนข้างน้อย ไม่แน่ใจว่ามีเบื้องหลังหรือประสบการณ์อย่างไร ในการเข้ามาทำสัญญากับการไฟฟ้าซึ่งเบื้องต้นยังไม่มีการเซ็นสัญญาแต่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคแจ้งว่า ทางการไฟฟ้าท่าขี้เหล็กเป็นผู้เสนอมา จึงเอามาพิจารณาเบื้องต้น ซึ่งประเด็นนี้ดูค่อนข้างแปลกประหลาดว่าทำไมการไฟฟ้าต้องไปยอมรับตามที่ทางท่าขี้เหล็กเสนอมา แทนที่จะใช้อำนาจของเราตรวจสอบก่อน ซึ่งตามหลัก KYC ควรจะต้องดูเบื้องหลังของคู่สัญญาที่มาทำสัญญาขายไฟฟ้าด้วย จึงต้องสงสัยว่ามีการขายไฟฟ้าให้กับนอร์มินีของกลุ่มที่เป็นเครือข่ายยาเสพติดรายใหญ่
.
.
[กมธ.เสนอให้ยุติการซื้อขายไฟ]
กมธ.ได้มีความพยายามสอบถามหลายครั้งถึงการตัดไฟ แต่การไฟฟ้าก็ไม่ได้มีข้อมูลชี้แจงว่าจะตัดไฟเลย ซึ่งผู้ชี้แจงได้ให้ข้อมูลว่าจะมีการประชุมในวันที่ 29 ม.ค.นี้ โดยมี 3 แนวทางคือ
1. คงสภาพการขายไฟแบบนี้ต่อไป โดยไม่ได้สนใจว่าไฟนี้จะตกไปอยู่ในมือของใครบ้าง
2. ขยายสัญญาบางส่วน (ปัจจุบันสัญญาสัมปทานของ SMTY กำลังจะหมดลง)
3. ดำเนินการตัดไฟ ที่ทำให้ไฟฟ้าไม่ตกอยู่ภายใต้เงื้อมมืออาชญากรข้ามชาติ
ซึ่งทั้ง 3 แนวทางนี้ มีความเป็นไปได้ทั้งหมด ทางการไฟฟ้าจึงไม่สามารถให้ข้อมูลกับกมธ.ได้ว่า ผลที่ออกมาจากจะเป็นอย่างไร เพราะต้องรอการประชุมบอร์ดอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม การไฟฟ้าพยายามบอกว่าไม่มีศักยภาพดูเรื่องความมั่นคง เพราะดูแค่เรื่องไฟเท่านั้น และไม่ทราบว่าไฟจะตกไปในมืออาชญากรหรือไม่ จึงจำเป็นต้องให้ฝ่ายความมั่นคงเป็นคนช่วยชี้แนะ ดังนั้น ในที่ประชุมวันนี้ ทางสมช. จึงแจ้งด้วยวาจากับการไฟฟ้าว่าจะขอเข้าประชุมด้วย เพราะสิ่งที่ดำเนินการอยู่ตอนนี้ค่อนข้างกระทบต่อความมั่นคง ซึ่งกมธ.ความมั่นคงฯ ก็จะทำหนังสือสนับสนุน สมช. ไปยังการไฟฟ้าด้วย
ทาง กมธ.ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงข่าวสารที่เมียนมาแถลงว่า การที่สแกมเมอร์ตั้งกันอยู่ได้นี้ เกิดจากการที่ประเทศไทยขายไฟให้ จึงขอการไฟฟ้าเอาข้อมูลส่วนนี้ไปพิจารณาด้วย และคาดหวังว่าวันที่ 29 ม.ค. จะนำไปสู่การตัดไฟ เพื่อทำให้ขบวนการอาชญากรข้ามชาติมีความอ่อนแอลงในที่สุด
.
.
[ปัญหาท่าข้ามที่อาจอำนวยความสะดวกจากไทยไปแหล่งคอลเซ็นเตอร์]
กมธ. เสนอให้ภาครัฐมีการหารือปัญหาท่าข้ามที่ข้ามไปยังเมียวดี โดยได้ข้อมูลจากทาง สมช. ว่า จ.ตาก มี 59 ท่าข้าม ซึ่งอาจมีความจำเป็นที่ต้องทบทวนลดจำนวนท่าข้ามเหล่านี้ เนื่องจากไม่สามารถดูแลปัญหาความมั่นคงที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยทราบว่า วันที่ 31 ม.ค. นี้สมช. จะมีการประชุม ซึ่ง กมธ. ก็คาดหวังว่าจะมีการนำปัญหานี้ไปพูดคุยเพื่อนำมาสู่การปรับลดแก้ปัญหาท่าข้ามเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยไม่ควรนิ่งเฉยต่อกรณีแก๊งคอลเซนเตอร์ ต้องมีท่าทีที่แสดงถึงความจริงจังมากกว่านี้ เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช่แค่กับคนไทย แต่เกิดกับคนทั่วโลก และกระทบต่อการท่องเที่ยวของไทยอย่างมาก ดังนั้น ทาง กมธ. จึงเห็นว่าควรเป็นวาระเร่งด่วนที่เราต้องจัดการอย่างจริงจัง ซึ่ง กมธ.ทำเองไม่ได้ เพราะไม่มีอำนาจในการสั่งการ จึงอยากใช้โอกาสนี้ในการเร่งรัดการดำเนินการ และหวังว่าคณะรัฐมนตรี โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทยที่คุมการไฟฟ้าจะติดตามเรื่องนี้ ทั้งนี้ ทาง กมธ.ได้มีการพูดคุยถึงกรอบอนุกมธ.ฯ โดยจะระดมความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญทั้งหมด รวมถึงการเสนอแก้กฎหมาย โดยอนุกรมมาธิการ มีกรอบศึกษาอยู่ภายใน 90 วัน เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล รวมถึงการแก้ไขปัญหาต่อไป

https://www.facebook.com/rangsimanrome/posts/1163428481806876