วันพฤหัสบดี, มกราคม 23, 2568
ผู้เชี่ยวชาญ UN เรียกร้องไทยอย่าส่งตัวชาวอุยกูร์ 48 คนกลับจีน โดยเตือนว่าหากถูกส่งตัวกลับ พวกเขาอาจเสี่ยงต่อการถูกทรมาน การปฏิบัติอย่างเลวร้าย และ "อันตรายที่ไม่สามารถแก้ไขได้"
ที่มา ไทยรัฐออนไลน์
ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติเรียกร้องให้ไทยไม่ส่งตัวชาวอุยกูร์ 48 คนที่ถูกควบคุมตัวกลับจีน โดยเตือนว่าหากถูกส่งตัวกลับ พวกเขาอาจเสี่ยงต่อการถูกทรมาน การปฏิบัติอย่างเลวร้าย และ "อันตรายที่ไม่สามารถแก้ไขได้"
ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติเรียกร้องให้ไทยไม่ส่งตัวชาวอุยกูร์ 48 คนที่ถูกควบคุมตัวกลับจีน โดยเตือนว่าหากถูกส่งตัวกลับ พวกเขาอาจเสี่ยงต่อการถูกทรมาน การปฏิบัติอย่างเลวร้าย และ "อันตรายที่ไม่สามารถแก้ไขได้"
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กลุ่มสิทธิมนุษยชนและสมาชิกรัฐสภาไทยบางคนแสดงความกังวลว่าการส่งตัวชาวอุยกูร์ซึ่งถูกควบคุมตัวในสถานกักกันตัว ของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง มานานกว่า 10 ปี กลับจีนนั้น จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ แต่รัฐบาลกล่าวว่าไม่มีแผนดังกล่าว
กลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวหาว่า จีนละเมิดสิทธิชาวอุยกูร์ ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่นับถือศาสนาอิสลามและมีประชากรประมาณ 10 ล้านคนในเขตปกครองตนเองซินเจียง ทางตะวันตกของประเทศ รวมถึงการเฝ้าติดตามและใช้แรงงานบังคับในค่ายกักกันเป็นจำนวนมาก โดยจีนปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว
ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติกล่าวในแถลงการณ์เมื่อวันอังคาร (21 ม.ค.) เกี่ยวกับชาวอุยกูร์ 48 คนว่า "บุคคลเหล่านี้ไม่ควรถูกส่งกลับจีน แต่พวกเขาต้องได้รับสิทธิ์เข้าถึงขั้นตอนการขอสถานะผู้ลี้ภัยและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอื่นๆ" พร้อมเสริมว่าครึ่งหนึ่งของชาวอุยกูร์มีปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรง
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีของไทย กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ไม่มีแผนในการเนรเทศชาวอุยกูร์กลับจีนในขณะนี้ ในขณะที่พลตํารวจเอก กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวเมื่อวันจันทร์ว่า ไม่มีคำสั่งของรัฐบาลไทยเกี่ยวกับการเนรเทศชาวอุยกูร์
บาบาร์ บาโลช โฆษกของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าสำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ ได้รับคำยืนยันจากทางการไทยว่าชาวอุยกูร์จะไม่ถูกส่งกลับไปยังจีน
มาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ คนใหม่ กล่าวระหว่างการพิจารณาแต่งตั้งเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า เขาจะใช้ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างสหรัฐฯ และไทย เพื่อป้องกันไม่ให้ชาวอุยกูร์ถูกส่งกลับ
ทั้งนี้ ชาวอุยกูร์ที่ถูกควบคุมตัว เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มชาวอุยกูร์จำนวน 300 คนที่หลบหนีออกจากจีนและถูกจับกุมในประเทศไทยในปี 2014 ในเดือนกรกฎาคม 2015 ประเทศไทยได้เนรเทศชาวอุยกูร์มากกว่า 100 คนกลับประเทศจีน ซึ่งทำให้เกิดการประณามจากนานาชาติและความกลัวว่าพวกเขาอาจต้องเผชิญกับการทรมานหลังจากเดินทางกลับประเทศ ขณะที่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าพวกเขามีชะตากรรมอย่างไร
ในเดือนมิถุนายน 2015 ชาวอุยกูร์อีกกว่า 170 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก ถูกส่งตัวไปยังตุรกี ทำให้ชาวอุยกูร์มากกว่า 50 คน ถูกกักตัวในไทย โดยกลุ่มสิทธิมนุษยชนระบุว่ามีอย่างน้อย 5 คนเสียชีวิตแล้ว
ในขณะนั้นทางการจีนระบุว่า ชาวอุยกูร์จำนวนมากที่หลบหนีไปยังตุรกีผ่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วางแผนที่จะนำแนวคิดสุดโต่งกลับจีน โดยอ้างว่าบางคนมีส่วนเกี่ยวข้องกับ "กิจกรรมก่อการร้าย" ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ชาวอุยกูร์หลายร้อยคนหรืออาจถึงหลายพันคนหลบหนีออกจากซินเจียง โดยเดินทางอย่างลับๆ ผ่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปยังตุรกี
นักการทูตและนักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงกล่าวว่า การที่ไทยเนรเทศชาวอุยกูร์ไปจีนเมื่อปี 2015 ทำให้เกิดการโจมตีด้วยระเบิดที่ศาลท้าวมหาพรหมในกรุงเทพฯ ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 20 ราย เมื่อวันที่ 17 สิงหาคมปีเดียวกัน ซึ่งถือเป็นการโจมตีที่เลวร้ายที่สุดบนแผ่นดินไทย
ทางการไทยสรุปว่า การโจมตีครั้งนี้มีความเกี่ยวข้องกับการปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์ โดยไม่ได้ระบุเจาะจงว่ากลุ่มดังกล่าวเกี่ยวข้องกับชาวอุยกูร์ ชายชาวอุยกูร์ 2 คนถูกจับกุม โดยถูกตั้งข้อหาฆาตกรรมและครอบครองวัตถุระเบิดโดยผิดกฎหมาย และการพิจารณาคดีซึ่งล่าช้ามาหลายครั้งยังคงดำเนินต่อไป.
ที่มา Reuters
https://www.thairath.co.th/news/foreign/2837526