วันพุธ, มกราคม 22, 2568

ม.112 กรณีนักร้อง "แสตมป์ อภิวัชร์" ทำให้เห็นว่ามาตรานี้ "ขยายดินแดนความหวาดกลัวไปยังพื้นที่อื่น ๆ" เป็นโอกาสดีที่สังคมจะถกเถียงปัญหาของมาตรานี้อีกครั้ง


แสตมป์-อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข กล่าวอ้างว่าเขาถูกข่มขู่ว่าจะถูกฟ้อง ม.112 จนต้องถอนคดีต่าง ๆ ที่มีกับคู่กรณี

"การที่มันสร้างความหวาดกลัวให้คุณแสตมป์ได้ จนเขายอมไม่ใช้สิทธิบางอย่างเพราะกังวลถึงเรื่องนี้ เราคิดว่ามันสะท้อนให้เห็นว่าสุดท้ายแล้วคดี 112 มันไม่ได้ส่งผลเฉพาะนักกิจกรรมทางการเมืองเท่านั้น แต่มันสร้างความหวาดกลัวในการใช้สิทธิและเสรีภาพ ขยายดินแดนความหวาดกลัวไปยังพื้นที่อื่น ๆ ทั้งที่ต้นเหตุมาจากความขัดแย้งส่วนบุคคล" พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ม.112 กรณีนักร้อง "แสตมป์ อภิวัชร์" ทำให้เห็นว่ามาตรานี้ "ขยายดินแดนความหวาดกลัวไปยังพื้นที่อื่น" อย่างไร

เมื่อ 8 ชั่วโมงที่แล้ว
บีบีซีไทย

ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา กรณีข่าวอื้อฉาวเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ของ อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข หรือ แสตมป์ นักร้องชื่อดัง กลายเป็นที่สนใจของผู้คนใน 2 ประเด็นหลัก นั่นคือคดีความฟ้องร้องระหว่างแสตมป์-ภรรยา กับ คู่กรณีซึ่งฝ่ายหญิงเป็นคนที่แสตมป์อ้างว่าเคยมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งมาก่อน ร่วมด้วยแฟนหนุ่มของเธอในปัจจุบัน

อีกประเด็นหนึ่งคือสิ่งที่นักร้องออกมาเปิดเผยว่าถูกพ่อของคู่กรณีฝ่ายหญิงซึ่งเป็นทหารยศนายพล ขู่ว่าจะใช้หลักฐานแชทในมือถือระหว่างเขากับอดีตคนรักมาดำเนินการฟ้องร้องคดีอาญามาตรา 112 ส่งผลให้แสตมป์ถอนฟ้องคดีแพ่งและอาญารวมกัน 3 คดี เนื่องจาก "ถูกข่มขู่ด้วย ม.112 ซึ่งมีพยานวัตถุเป็นแชท"

ล่าสุดวานนี้ (21 ม.ค.) นายเดชา กิตติวิทยานันท์ ทนายความ แถลงข่าวว่าฝั่งคู่กรณีของแสตมป์มาปรึกษาเรื่องคดีความ ยินดียุติคดีเรื่องราวทั้งหมด ยกเว้นคดี ม.112 เนื่องจากหลังจากปรากฏเป็นข่าว ทำให้ครอบครัวของคู่กรณีที่บิดาเป็นนายทหารระดับสูงถูกเชิญไปให้การกับกระทรวงกลาโหมรวมถึงกองทัพบก ซึ่งเป็นกระบวนการที่ไปไกลกว่าประเด็นขัดแย้งแล้วในตอนนี้

"จึงเป็นเรื่องของกองทัพว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อมาตรา 112" ทนายเดชา กล่าว พร้อมกับยืนยันว่าพ่อของคู่กรณีไม่ได้คุกคามข่มขู่ว่าจะยัดคดี ม.112 ซึ่งแสตมป์ออกมากล่าวในรายการโหนกระแสทางช่อง 3 เมื่อวันที่ 21 ม.ค. ว่าทำให้ตนเองกังวลว่า "จะติดคุก" จึงยอมถอนฟ้อง

"แต่อาจจะมีการแจ้งให้เห็นว่าการแสดงความคิดเห็น หรือการพูด การสนทนาบางสิ่งบางอย่าง อาจหมิ่นเหม่ต่อการละเมิดสถาบัน อันนี้ไม่ได้เรียกว่าการข่มขู่ มันเป็นการแจ้งว่าการกระทำของคุณแสตมป์มันหมิ่นเหม่และเกี่ยวกับเรื่องมาตรา 112 ซึ่งเป็นสิทธิของประชาชนในการปกป้องสถาบันฯ เพราะฉะนั้นคดีนี้ก็ต้องว่ากันไปตามกฎหมาย เป็นคดียอมความไม่ได้" ทนายเดชากล่าวกับสื่อมวลชน

ม.112 "ขยายดินแดนความหวาดกลัวไปยังพื้นที่อื่น ๆ"

ด้าน พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน บอกว่า ในทางกฎหมายแล้วการบอกว่าจะใช้สิทธิในทางศาลเพื่อดำเนินคดีอะไรก็ตาม ไม่ถือว่าเป็นการข่มขู่

"แต่ถ้าเราลองพิจารณาในความเป็นจริง แต่คนฟังจะรู้สึก หรือเชื่อ หรือรู้สึกหวาดกลัวอย่างไรก็ได้ อันนี้ก็คงต้องให้สังคมพิจารณาดู" เธอกล่าว

"การที่มันสร้างความหวาดกลัวให้คุณแสตมป์ได้ จนเขายอมไม่ใช้สิทธิบางอย่างเพราะกังวลถึงเรื่องนี้ เราคิดว่ามันสะท้อนให้เห็นว่าสุดท้ายแล้วคดี 112 มันไม่ได้ส่งผลเฉพาะนักกิจกรรมทางการเมืองเท่านั้น แต่มันสร้างความหวาดกลัวในการใช้สิทธิและเสรีภาพ ขยายดินแดนความหวาดกลัวไปยังพื้นที่อื่น ๆ ทั้งที่ต้นเหตุมาจากความขัดแย้งส่วนบุคคล"

พูนสุขบอกว่าจากการเก็บสถิติโดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่านับตั้งแต่เกิดการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ในช่วงปี 2563 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน มีผู้ถูกดำเนินคดี ม.112 ทั้งหมด 309 คดี

แต่หากดูจากสถิติคดี ม.112 ซึ่งเกิดขึ้นนับตั้งแต่ปี 2557 ถึงปัจจุบัน พบว่าในจำนวนนี้มีอย่างน้อย 10 คดีด้วยกันที่อาศัยคดี ม.112 ฟ้องร้องอีกฝ่ายหนึ่ง แทนที่จะอาศัยเรื่องราวที่ไม่ถูกกันในทางส่วนตัว

ภาระทางคดี

ด้าน พริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคประชาชน ให้ความเห็นกับผู้สื่อข่าววันนี้ (21 ม.ค.) ว่า ไม่ขอให้ความเห็นในเรื่องส่วนตัวของนักร้องรายนี้ แต่ไม่ต้องการเห็นกฎหมายที่เปิดช่องให้มีการใช้ ม.112 มาแก้ไขความขัดแย้งส่วนตัว

"เป็นเพราะใครก็ได้มีสิทธิร้องทุกข์กล่าวโทษใน ม.112 ดังนั้นจึงเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการใช้เป็นเครื่องมือเพื่อแก้ปัญหาส่วนตน ซึ่งจะนำไปสู่ 2 ปัญหาที่ตามมาได้แก่ หนึ่ง คนที่ถูกกล่าวหาแม้ว่าท้ายที่สุดพิสูจน์ได้ว่าการกระทำไม่ได้เป็นในลักษณะที่เข้าข่ายฝ่าฝืน ม.112 แต่ก็ต้องรับภาระตามกระบวนการทางคดี ซึ่งอาจจะรบกวนทั้งเวลาและการพิสูจน์ในแต่ละขั้นตอน"

ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังบอกด้วยว่า นอกเหนือจากอัตราโทษทางกฎหมายที่สูงมากแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้กฎหมายนี้รุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม คือ "การไม่กล้าตัดสินใจอย่างตรงไปตรงมา" ของแต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางกฎหมายของคดีนี้ ซึ่งเธอมองว่าเป็นการทำคดี "แบบให้พ้นจากตัวไป"

"เมื่อไปถึงตำรวจ ตำรวจก็สั่งฟ้องไปก่อน อัยการสั่งฟ้องไปก่อน ให้ไปพิสูจน์ที่ศาล แม้แต่ศาลชั้นต้นก็ตัดสินไปก่อนเพื่อให้ไปสู้ในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกา ทั้งที่ในบางกรณีเราเห็นว่ามันไม่เข้าข่าย ทั้งหมดทั้งมวลจึงทำให้เห็นปัญหาของตัวบท ปัญหาการบังคับใช้ และปัญหาของคนที่บังคับใช้" พูนสุขกล่าว และเสริมด้วยว่าโอกาสได้รับการประกันตัวจากคดี ม.112 ที่เรียกได้ว่า "แทบไม่มีโอกาส" หรือไม่ก็ "มีความผันผวนอย่างยิ่ง" จึงทำให้คดีนี้กลายเป็นเรื่องน่ากลัวสำหรับผู้ถูกกล่าวหาตามไปด้วย

แชทไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย

จนถึงตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลปรากฏสู่สาธารณะว่าข้อความที่ทนายเดชาอ้างว่า แชทระหว่างแสตมป์กับคู่กรณีมีความเกี่ยวข้องกับ ม.112 นั้น รายละเอียดของข้อความดังกล่าวเป็นเช่นไรและเข้าข่ายละเมิด ม.112 หรือไม่

แต่พูนสุขเน้นย้ำว่ากรณีนี้สะท้อนให้เห็นอีกหนึ่งปัญหา นั่นคือแชทไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย โดยชี้ว่าท้ายที่สุดแล้วผู้สนทนาควรระมัดระวังข้อความต่าง ๆ ที่ส่งไปจากตนเอง เนื่องจากที่ผ่านมาเคยมีผู้ถูกดำเนินคดี ม.112 เพราะถูกแคปหน้าจอที่ระบุข้อความแชทในบทสนทนาที่ละเมิด ม.112 มาแล้ว นั่นคือคดีการตอบแชทว่า "จ้า" ของ พัฒน์นรี ชาญกิจ แม่ของสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า จ่านิว นักกิจกรรมทางการเมืองซึ่งต่อต้านการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ฐานข้อมูลศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่าคดีดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อปี 2559 โดยพันเอกพงศธร อินทรตั้ง อัยการศาลทหารกรุงเทพ ยื่นฟ้องพัฒน์นรีต่อศาลทหารกรุงเทพว่าละเมิด ม.112 จากการตอบกลับการสนทนาทางช่องแชทของเฟซบุ๊กกับนายบุรินทร์ อินติน เพื่อนของลูกชาย ด้วยคำว่า "จ้า" ซึ่งถือว่าเป็นการยอมรับและเห็นด้วยกับการโพสต์ข้อความที่พาดพิงพระมหากษัตริย์ฯ ของนายบุรินทร์

ต่อมาในปี 2563 ศาลอาญาพิพากษายกฟ้องแม่ของจ่านิวในข้อหาตามมาตรา 112 รวมถึง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เนื่องจากเห็นว่าจำเลยพิมพ์ "จ้า" เพื่อตัดบท และคำว่า "จ้า" ไม่ได้สื่อความหมายเป็นการเห็นด้วยกับข้อความ

"ก็น่าสนใจว่าเมื่อกองทัพได้รับข้อมูล [เกี่ยวกับกรณีของแสตมป์] จริง แล้วทางกองทัพจะ take action (ดำเนินการ) อย่างไรต่อกรณีนี้ เพราะว่าในเชิงผลกระทบกับตัวสถาบันฯ การใช้คดี 112 ในลักษณะนี้มันจะเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์ ?" พูนสุขกล่าว



เป็นโอกาสดีที่สังคมจะถกเถียงปัญหาของมาตรานี้อีกครั้ง

ขณะเดียวกัน พริษฐ์ สส.จากพรรคประชาชน กล่าวด้วยว่า ทางพรรคเคยสื่อสารมาก่อนหน้านี้แล้วว่าไม่ควรเปิดช่องให้ใครก็ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษ แต่ควรมีขั้นตอนคัดกรองที่รัดกุม

"การที่หยิบยกกฎหมายมาตรานี้มาใช้แก้ปัญหาส่วนตน ท้ายที่สุดแล้วมาส่งผลดีต่อการรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจริงหรือ และส่งผลดีต่อมุมมองของประชาชนถึงสถาบันพระมหากษัตริย์จริงหรือ ?" เขากล่าวและบอกด้วยว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามแก้ไข ม.112 และที่ผ่านมาไม่ได้มีเพียงพรรคประชาชนเท่านั้นที่เสนอให้แก้ไขมาตรานี้

"ความจริงนายกรัฐมนตรีเราก็เคยพูดว่าจะนำเรื่องนี้เข้ามาคุยในสภาฯ ผมก็รอดูเหมือนกันว่าวันนี้เป็นนายกฯ แล้ว จะดำเนินการหาทางออกเรื่องนี้อย่างไร " นายพริษฐ์ กล่าว

ด้านทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนบอกว่า กรณีของแสตมป์ทำให้ผู้คนตระหนักรู้มากขึ้นเกี่ยวกับปัญหาของตัวบทกฎหมายนี้ รวมถึงกระบวนการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้ นี่จึงเป็นโอกาสอันดีที่สังคมจะกลับมาถกเถียงปัญหาของมาตรานี้อีกครั้ง

ทว่า ในทางส่วนตัวแล้วเธอคิดว่ากฎหมายดังกล่าวควรถูกแก้ไขหรือยกเลิกมานานแล้วด้วยซ้ำ เนื่องจากการยกเลิกมาตรานี้ไม่ได้หมายความว่าสถาบันพระมหากษัตริย์จะถูกลดสถานะลงแต่อย่างใด และยังได้รับความบุคคลในฐานะบุคคลอยู่

"เรายังเห็นกระแสการต่อต้านการแก้ไข ม.112 ความพยายามไม่รวม ม.112 ไปไว้ในการนิรโทษกรรม ทั้งที่มันทำได้ง่ายกว่าการแก้ไขมาตรานี้เสียอีก" พูนสุขกล่าว "ส่วนตัวจึงคิดว่ามันเป็นไปได้ลำบากในสถานการณ์การเมืองลักษณะนี้ ถ้าถามว่ามันจะแก้ไขหรือยกเลิกได้ไหม เราคิดว่ามันสามารถทำได้ก็ต่อเมื่อสังคมส่วนใหญ่ยอมรับ แต่มันจะถึงจุดนั้นเมื่อไร ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง"

https://www.bbc.com/thai/articles/c0e4l73r5q7o