วันศุกร์, มกราคม 24, 2568

ดูตัวอย่างประเทศใกล้ไทย เค้าทำได้ มันต้องคุมให้ได้ - ทุกนาทีที่รัฐบาลแก้ฝุ่นพิษล่าช้า คือความถดถอยของสุขภาพคนไทยทั้งประเทศ


@backpackertoon
·7h
ตัวอย่างประเทศใกล้ไทยนะคะ เค้าทำได้ค่ะ มันต้องคุมให้ได้ค่ะ











ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ - Natthaphong Ruengpanyawut
8 hours ago
·
[ ทุกนาทีที่รัฐบาลแก้ฝุ่นพิษล่าช้า คือความถดถอยของสุขภาพคนไทยทั้งประเทศ ]
.
วันนี้ผมได้ยื่นญัตติด่วนด้วยวาจา ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเสนอมาตรการเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาระยะกลาง และระยะยาวต่อการจัดการปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ให้ ครม. รับไปพิจารณาดำเนินการ
.
ที่ผ่านมาอดีตพรรคก้าวไกล และพรรคประชาชนเคยเสนอมาตรการให้รัฐบาลดำเนินการมาแล้วหลายครั้ง ตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 แต่จนถึงวันนี้รัฐบาลก็ยังไม่ได้ดำเนินการ และแม้วันนี้นายกรัฐมนตรีแพทองธารได้สั่งการประชุมเร่งด่วนแล้ว แต่หลายมาตรการยังไม่ตรงจุดและไม่ตอบโจทย์ เช่น
.
- มาตรการห้ามนำเข้าสินค้าเกษตรที่มาจากการเผา การนำเข้าสินค้าเกษตร เช่น ข้าวโพดต้องระบุที่มา (Geolocation) ว่ามาจากแหล่งที่มีการเผาหรือไม่ ปัจจุบันก็ยังไม่มีความชัดเจน

- การจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอกับการต่อสู้ฝุ่นและการจัดสรรงบประมาณอุดหนุนให้กับท้องถิ่น

- การเพิ่มโรคมะเร็งปอดเป็นโรคที่ต้องป้องกันและเฝ้าระวังจากปัญหาฝุ่นพิษ เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถตั้งงบประมาณมารองรับกับโรคร้ายที่เกิดขึ้นได้จากปัญหาฝุ่น pm 2.5 ได้

- รวมถึงการออกกฎหมายลำดับรองต่างๆ ตาม พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร เพื่อควบคุมการนำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตรต่างๆ ว่าจะต้องไม่เกิดจากการเผา
.
ปัญหาฝุ่นโดยสรุปแล้วมีที่มาจาก 4 แหล่ง ได้แก่ ในไร่ ในป่า ในเมือง และฝุ่นข้ามพรมแดน ซึ่งสามารถสรุปออกมาได้เป็นมาตรการ 5 ด้าน ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณ ด้านกฎหมาย ด้านการจัดการการเกษตร ด้านไฟป่า และระบบการแจ้งเตือนและฐานข้อมูลต่างๆ
.
เช่นกรณี การจัดการอ้อยไฟไหม้ที่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วก็มีปัญหารถขนอ้อยไฟไหม้ต้องจอดค้าง ส่งอ้อยเข้าโรงงานไม่ได้เป็นจำนวนมาก ปัญหานี้เกิดขึ้นเพราะที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีไม่มีความชัดเจน ทั้งที่ในการดำเนินการปีก่อนๆ กระทรวงอุตสาหกรรมก็เคยมีการตั้งเพดานการรับซื้ออ้อยไฟไหม้แล้ว และได้ผลดีทำให้สัดส่วนอ้อยไฟไหม้ลดลงด้วย แต่ปีนี้คณะรัฐมนตรีกลับไม่ได้ออกมาเป็นมติหรือประกาศที่ชัดเจน ทำให้เกษตรกรในฤดูกาลนี้ใช้วิธีการเผาในช่วงเก็บเกี่ยว แล้วพอถึงเวลานำผลผลิตเข้าสู่โรงงาน รัฐบาลก็มาใช้วิธีการขอความร่วมมือโรงงานไม่ให้ซื้ออ้อยเผา จนเกิดอ้อยคงค้างจำนวนมาก หากก่อนหน้านี้รัฐบาลมีความชัดเจนและประกาศแผนต่างๆ ล่วงหน้าให้ทั้งเกษตรกรและโรงงานรับรู้ ปัญหาเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้น
.
เช่นเดียวกับการลดการเผาในพื้นที่นาข้าว แทนที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนพี่น้องชาวนาแบบมียุทธศาสตร์ ด้วยการสนับสนุนเทคนิควิธี การใช้เครื่องจักรที่เหมาะสม และมีแรงจูงใจสำหรับพี่น้องชาวนาที่ลดการเผา รัฐบาลกลับจ่ายเงินสนับสนุนกว่า 30,000 ล้านบาท โดยไม่มีการตั้งเป้าหมายและเงื่อนไขในการลดการเผาเลย
.
เช่นเดียวกับเรื่องไฟป่า ที่แทนที่รัฐบาลจะเตรียมงบประมาณสนับสนุนให้เพียงพอไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ แต่ล่าสุด กลับมี อปท.เพียง 90 แห่งจาก 1,800 แห่งที่ได้รับงบประมาณในการป้องกันไฟป่า และหากยังล่าช้า ปัญหาฝุ่นในช่วงเดือนต่อๆ ไปก็จะไม่ลดลง เพียงแต่จะเริ่มไปหนักทางตอนกลางและตอนบนของประเทศเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
.
สิ่งที่รัฐบาลสามารถทำได้เลยคือการประกาศหลักเกณฑ์ว่าค่าฝุ่นเมื่อถึงจุดวิกฤติเท่าไหร่แล้วจะต้องมีการแจ้งเตือนต่อประชาชน และให้ประชาชนต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง ซึ่งที่ผ่านมามีแต่ กทม. ที่มีการประกาศเช่นนี้ ทั้งที่รัฐบาลสามารถออกประกาศเป็นหลักเกณฑ์กลางให้มีผลโดยทั่วไปได้
.
พรรคประชาชนได้เคยนำเสนอมาตรการต่างๆ เหล่านี้ต่อรัฐบาลมาเป็นเวลานานแล้ว สิ่งที่ผมอยากเน้นย้ำอีกครั้งวันนี้ คือทุกนาทีที่เสียไปจากการยังขาดความชัดเจนและการสั่งการจากรัฐบาลอย่างดีเพียงพอ ย่อมหมายถึงความถดถอยของสุขภาพประชาชนคนไทยทั้งประเทศ

#PM25 #ฝุ่นพิษ



https://www.facebook.com/photo/?fbid=1199959958155340&set=a.496140455203964