วันอังคาร, กุมภาพันธ์ 25, 2568

เมื่อใดที่คุณรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรม คุณคือนักสิทธิมนุษยชน : ขนนกบนตราชู เรื่องเล่าการต่อสู้ของ 10 ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน



23 Feb 2025
Way Magazine

‘ขนนกบนตราชู’ คือหนังสือเล่มล่าที่จัดทำโดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (Thai Lawyers for Human Rights: TLHR) เป็นหนังสือที่รวบรวมเรื่องราวชีวิตและการต่อสู้ของ 10 ทนายความที่ยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย ท่ามกลางความอยุติธรรมที่แผ่คลุมไปทั่วสังคมไทย

20 กุมภาพันธ์ ‘วันทนายความ’ จึงเป็นฤกษ์งามยามดีของการจัดเวทีเสวนาเปิดตัวหนังสือเล่มนี้ ภายใต้ชื่องาน ‘ขนนกบนตราชู: บทบาททนายความในการปกป้องสิทธิมนุษยชน’ โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์ บรรณาธิการหนังสือ จันทร์จิรา จันทร์แผ้ว คุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ ทนายความเครือข่าย TLHR ดร.สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และวัลย์นภัสร์ เจนร่วมจิต เป็นผู้ดำเนินรายการ
 


ผู้รับใช้ประชาชน

‘ขนนกบนตราชู’ เล่มนี้เป็นเรื่องของคน ชีวิตของคน ที่มีความเชื่อมั่นในหลักการสิทธิมนุษยชน และประกอบอาชีพทนาย

“จุดร่วมที่ชัดเจนที่สุดของทนายความทั้ง 10 ในหนังสือเล่มนี้คือ เราสามารถพูดได้ว่าพวกเขาทำงานรับใช้ประชาชนอย่างชัดเจน และจุดร่วมอีกอย่าง คือการทำงานนั้นล้วนเต็มไปด้วยอุปสรรค”

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์ บรรณาธิการของหนังสือเล่มนี้สะท้อนถึงจุดร่วมของเรื่องเล่าชีวิตทนายทั้ง 10 ก่อนจะขยายความว่า อุปสรรคหนึ่งก็คือ “งานเหล่านี้ไม่ใช่งานที่ได้เงินเยอะ เราจะเห็นได้จากเรื่องเล่าว่าทนายแต่ละคนก็จะมีเส้นทางในสายอาชีพที่ต้องทำคดีธุรกิจด้วย เพื่อเป็นการเลี้ยงชีพและดูแลครอบครัว แต่ในอีกส่วนหนึ่ง การเป็นทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนก็เป็นการใช้วิชาชีพเพื่อทำในสิ่งที่เป็นตัวตนของทนายแต่ละคน เหมือนที่ทนายความท่านหนึ่งได้กล่าวว่า เขารู้สึกโชคดีมากที่ได้ทำอาชีพนี้ เพราะมันทำให้เขาสามารถ “เลี้ยงดูครอบครัว และดูแลสังคม”
 


ประโยชน์ที่ผู้สนใจจะได้จากการอ่าน ‘ขนนกบนตราชู’ วีรพงษ์เปรียบเปรยว่า หนังสือเล่มนี้เป็นเหมือนแผนที่ที่ทำให้เห็นเส้นทางของอาชีพทนายความ โดยเฉพาะทนายความที่ทำงานเรื่องสิทธิมนุษยชน เราจะเห็นว่าในอดีตนั้นมีสถานการณ์ใดบ้างที่บ่อนทำลายสิทธิมนุษยชน สิ่งเหล่านั้นจะสอดคล้องไปกับช่วงชีวิตของทนายทั้ง 10 ในหลากหลายช่วงวัย และบริบทการต่อสู้ในสังคมขณะนั้น

คนรุ่นใหม่หรือนักศึกษากฎหมาย หากได้อ่านก็อาจจะได้ศึกษาแง่มุมทางประวัติศาสตร์การเมือง แม้สถานการณ์และสภาพสังคมจะเปลี่ยนแปลงไป แต่ทุกยุคทุกสมัยย่อมปรากฏร่องรอยของการต่อสู้ และสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ในทางใดทางหนึ่ง

สังคมก้าวหน้า แต่กระบวนการยุติธรรมยังล้าหลัง

ห้วงเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา นับแต่การยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) การเมืองไทยเต็มไปด้วยความผันผวน กระบวนการยุติธรรมถูกตั้งคำถาม สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนลุกลามร้ายแรง ทั้งหมดนี้นับเป็นความท้าทายอย่างยิ่งต่อวิชาชีพทนายความในการผดุงความยุติธรรมในสังคมไทย

การเติบโตในครอบครัวชนชั้นล่างของ จันทร์จิรา จันทร์แผ้ว หรือ ‘ทนายหมวย’ ทำให้เธอสัมผัสได้ถึงความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น จึงตัดสินใจมุ่งสู่เส้นทางอาชีพนักกฎหมาย จากการเป็น ‘อาสาสมัครนักกฎหมาย’ รุ่น 1 ด้วยหวังว่าจะมีส่วนช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ไม่มากก็น้อย ก่อนที่ต่อมาจะเป็นผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

ทนายจันทร์จิรามองว่า ในอดีตนั้นประเด็นปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนยังไม่ถูกให้ความสำคัญนัก แต่ปัจจุบันสังคมเริ่มมีความตื่นตัวกันมากขึ้น โดยเฉพาะเหตุการณ์ชุมชนช่วงปี 2563 นับเป็นการขยับเพดานความเข้าใจด้านสิทธิมนุษยชนและมีแนวโน้มที่จะยกระดับความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น

“สังคมไทยตอนนี้เติบโตทางความคิดมากขึ้นแล้ว แต่กระบวนการยุติธรรมยังตามไม่ทัน และรัฐยังคงใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน แม้กระทั่งทนายอาสาก็ยังต้องเผชิญอุปสรรคอยู่ เช่น การข่มขู่คุกคาม การใช้อำนาจของผู้พิพากษาที่เกินเลยขอบเขต หรือการสร้างแรงกดดันต่อทนายในการต่อสู้คดี”
 


ความท้าทายอีกประการที่ทนายจันทร์จิรามองเห็นคือ ความไม่เป็นอิสระของศาล เช่น การที่เจ้าของสำนวนต้องส่งร่างคำพิพากษาให้กับอธิบดีภาคตรวจทานก่อน ซึ่งเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อความเป็นอิสระของผู้พิพากษาในการพิจารณาคดี โดยเฉพาะคดี ม.112
 
เมื่อใดที่คุณรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรม คุณคือนักสิทธิมนุษยชน

นิยามของการเป็นทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในความหมายของ คุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ คือการยืนอยู่บนหลักนิติธรรมและหลักกฎหมายเป็นสำคัญ คนทำงานด้านสิทธิมนุษยชนต้องมองเห็นว่าอะไรคือปัญหา และพาตัวเองไปเรียนรู้สิ่งเหล่านั้น ไปอยู่กับคนในพื้นที่นั้น เพื่อจะเข้าใจถึงต้นตอของปัญหาที่แท้จริง

ในฐานะคนทำงานด้านสิทธิ ทนายคุ้มเกล้าให้ข้อสังเกตว่า นับจากเกิดวิกฤตประชาธิปไตยตั้งแต่ช่วงปี 2550-2563 พบสถิติผู้ชุมนุมอายุน้อยลงเรื่อยๆ ลูกความส่วนใหญ่ที่ถูกดำเนินคดีเป็นเด็กและเยาวชน อายุต่ำสุดคือ 12 ปี ซึ่งสะท้อนถึงความตื่นตัวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่มากขึ้น เพราะเป็นผู้ได้รับผลกระทบทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจปากท้อง

“ในคดีการเมือง ถ้ามีความชัดเจนว่าเผาจริง พ่นสีจริง ลูกความก็จะถูกศาลจี้ถามก่อนเลยว่า รับไหม ถ้าไม่รับ แสดงว่าทนายยุให้ลูกความสู้รึเปล่า อยากจะโชว์ออฟรึเปล่า เราก็บอกไม่ใช่ นี่คือการยืนยันในหลักการต่อสู้เพื่อเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ”



ช่วงหนึ่งของเวทีเสวนา มีคำถามว่า ใครจะสามารถเป็นทนายสิทธิมนุษยชนได้บ้าง ทนายคุ้มเกล้าตอบว่า “ถ้าคุณเป็นนักเรียนกฎหมาย และคุณรู้สึกว่ามันมีความผิดปกติในสังคม ถ้าคุณยังเชื่อว่าสิทธิในการสันนิษฐานว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ก่อนที่จะมีคำพิพากษาถึงที่สุดนั้นเป็นเรื่องสำคัญ รู้สึกว่านี่เป็นปัญหาของสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งมีผู้ต้องขังในคดีการเมืองมากมายที่ต้องเข้าคุกรายวัน ถ้าคุณเห็นข่าวว่าแม้คดีจะยังไม่ถึงที่สุด แล้วทำไมเขายังถูกขังคุกอยู่ ถ้าเมื่อใดที่คุณรู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้มันไม่เป็นไปตามกฎหมาย และมันผิดปกติ นั่นแหละ คุณเป็นนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชนไปแล้วครึ่งหนึ่ง”

คุ้มเกล้าทิ้งช่วงก่อนเสริมว่า ส่วนอีกครึ่งที่เหลือ คือการลงมือทำงานเพื่อแก้ปัญหาร่วมกันในประเทศนี้ เธอย้ำพร้อมเชิญชวนนักกฎหมายทุกคนมาร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลง

ถ้างานสิทธิมนุษยชนมันยากลำบากขนาดนี้ แล้วทำไมยังมีคนทำ?

ทางด้าน ดร.สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ เสนอแง่มุมที่ได้จากการอ่าน ‘ขนนกบนตราชู’ ว่า “ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน คือทนายความที่ทำงานโดยใช้หลักกฎหมายผลักดันคุณค่าที่ตนเองเชื่อ มิใช่ทำงานเพื่อประกอบวิชาชีพเพียงอย่างเดียว และทนายกลุ่มนี้ต้องการผลักดันประเด็นสิทธิมนุษยชนให้เป็นที่ยอมรับในสังคมไทย”

ข้อเท็จจริงอีกประการที่ปฏิเสธไม่ได้คือ ความยากลำบากในการประกอบวิชาชีพ ไม่ว่าจะเป็นภาระงาน รายได้ ความมั่นคงในอาชีพ “อย่างไรก็ตาม มีคำถามว่า ถ้างานของทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมันลำบากยากแค้นขนาดนี้ แล้วทำไมยังมีคนทำอยู่ นั่นเพราะเขาเห็นคุณค่าในงานที่เขากำลังผลักดัน เขาจึงสามารถยืนหยัดอยู่ได้”



อาจารย์สงกรานต์กล่าวอีกว่า จิตใจที่รักความเป็นธรรม จิตใจที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลง จิตใจที่เห็นความสำคัญของสิทธิมนุษยชน คือหน่ออ่อนที่ทนายอาสาทุกคนต้องมี หลังจากนั้นคือการลงมือทำเพื่อเรียนรู้จากการปฏิบัติ และเพื่อลดช่องว่างของความไม่เป็นธรรมจากกฎหมายนั้นๆ

“ทนายวัฒนา (ทนายอาวุโส) ได้กล่าวไว้ในบทหนึ่งของหนังสือเล่มนี้ว่า ‘เขาไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม แต่ยังศรัทธาอยู่’ ซึ่งฟังดูแล้วอาจจะลักลั่น แต่นั่นหมายความว่า เขาเห็นปัญหาของกระบวนการยุติธรรม แต่ก็จำเป็นต้องใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการต่อสู้เพื่อลูกความอยู่ แสดงว่าเรายังควรมีความหวังกับอะไรบางอย่างอยู่ เพราะถ้าไม่มีความหวัง เราก็คงไม่ลงแรงทำงานเหล่านี้ต่อไป”

สุดท้ายแล้วอนาคตในการทำงานของนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชนจะเป็นเช่นไร อาจารย์สงกรานต์มองว่า เมื่อสถานการณ์บ้านเมืองไม่ปกติ จึงจำเป็นต้องมีทนายความที่ทำงานด้านสิทธิมากขึ้น รวมถึงการลงหลักปักฐานของงานกฎหมายสิทธิมนุษยชนให้มากขึ้นด้วย ควบคู่ไปกับการทำงานเคลื่อนไหวของกลุ่มนักกิจกรรมทางสังคม เป็นองคาพยพที่ต้องทำงานร่วมกัน

“ประเทศไทยมีศักยภาพอย่างหนึ่งที่ยังไม่ได้ใช้คือ เรามีทนายความทั่วประเทศกว่า 60,000 คน ขณะที่มีทนายความสิทธิมนุษยชนราว 100 คน คำถามก็คือ ทำอย่างไรจึงจะดึงศักยภาพของทนายความ 60,000 คน มาทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เราสามารถช่วยเหลือทางคดีแก่ชาวบ้านได้อย่างมหาศาล”





ช่วงท้ายของเวทีเสวนา อาจารย์สงกรานต์ได้หยิบยกคำกล่าวของทนายอานนท์ นำภา ผู้ต้องขังคดี ม.112 ในหนังสือเล่มนี้ว่า “ผมไม่เคยกลัวการต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม เพราะผมมั่นใจในหลักการ เราทำสิ่งที่ถูกต้องและสุจริตตามวิชาชีพ เมื่อเผชิญกับความกดดัน ผมมีหลักคิดว่า ถ้าเขาเถียงสู้เราไม่ได้ อย่างมากเขาก็ขังเรา…

“การได้เรียนกฎหมายและใช้กฎหมายเพื่อพี่น้องผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรม ถือเป็นเกียรติสูงสุดสำหรับผม อาจฟังดูกระแดะ แต่มันเป็นเช่นนั้น และเป็นมาโดยตลอด”

https://waymagazine.org/tlhr-book-feather-on-a-scale/