วันเสาร์, กุมภาพันธ์ 22, 2568

จากล้อการเมืองถึงสื่อมวลชน : สำรวจเหตุติดตาม-คุกคามปรชาชนใต้รัฐบาลพลเรือน


เทวฤทธิ์ มณีฉาย - Bus Tewarit Maneechai
10 hours ago
·
[ จากล้อการเมืองถึงสื่อมวลชน : สำรวจเหตุติดตาม-คุกคามปรชาชนใต้รัฐบาลพลเรือน ]
.
การคุกคามและติดตามความเคลื่อนไหวของนักกิจกรรมและนักต่อสู้ประเด็นต่าง ๆ ของเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายความมั่นคง ด้วยหลากหลายวิธีการหลากหลายทั้งโดยเปิดเผยและไม่เปิดเผย ทั้งเยี่ยมบ้าน ตามถ่ายภาพ เข้าห้ามปรามการทำกิจกรรม เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอด 8 ปี ภายใต้รัฐบาลเผด็จการของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา จนอาจเรียกได้ว่าเป็น "ลายเซ็น" ของ "ระบอบประยุทธ์" ก็ว่าได้
.
หลังจาก พล.อ. ประยุทธ์ก้าวลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กระทั่งเกิดการเลือกตั้งและมีรัฐบาลผสมพลเรือนเกิดขึ้นแล้ว แต่ความเป็นจริงกลับปรากฎว่าเหตุการณ์ติดตามคุกคามการทำกิจกรรมตลอดจนติดตามความเคลื่อนไหวของนักกิจกรรมและสื่อมวลชนยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
.
[เสียงจาก "ล้อการเมือง"]
.
กรณีล่าสุดเมื่อไม่นานมานี้ในช่วงงานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬา ครั้งที่ 75 ซึ่งมีกิจกรรมของฝั่งธรรมศาสตร์อย่างขบวน "ล้อการเมือง" ที่ดำเนินการโดยกลุ่มอิสระล้อการเมืองแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งกิจกรรมนี้ถือได้ว่าเป็น "ไม้เบื่อไม้เมา" กับรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ มาในช่วงเรืองอำนาจ มีการตรวจยึดป้ายผ้า สั่งแก้ไขหุ่น ตลอดจนเฝ้าติดตามการสร้างหุ่น รวบรวมข่าวสารเกี่ยวกับเนื้อหาขบวนทั้งในทางเปิดและทางลับ
.
หนึ่งในสมาชิกกลุ่มอิสระล้อการเมืองฯ ปี 2568 เปิดเผยกับทีมงานสมาชิกวุฒิสภา เทวฤทธิ์ มณีฉาย ว่าในปีนี้ยังพบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐติดตามสมาชิกกลุ่มฯ ถึงที่พักในช่วงใกล้พิธีพระราชทานปริญญาบัตร 1-3 กุมภาพันธ์ 2568 รวมถึงในช่วงวันพิธี ยังมีเจ้าหน้าที่มานั่งประจำในพื้นที่ทำงานของกลุ่มฯ นอกจากนี้ยังมีการนำกล้องวงจรปิดมาติดตั้งในบริเวณพื้นที่ทำงานโดยอ้างว่าเพื่อการรักษาความปลอดภัยพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ทั้งที่พื้นที่ทำงานของล้อการเมืองนั้นห่างจากบริเวณพิธีค่อนข้างมาก ขณะเดียวกันช่วงก่อนวันงานฟุตบอลประเพณีฯ ยังมีกรณีที่เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบเนื้อหาแผ่นป้ายและตรวจสอบการทำงานที่สนามจันทนยิ่งยง ในพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังมีการบอกกล่าวว่าจะมีการตรวจสอบป้ายที่บริเวณหน้าประตูทางเข้าสนามศุภชลาศัย หากพบเจอป้ายที่มีเนื้อหาเข้าข่ายแตะต้องหรือหมิ่นเบื้องสูงจะมีการเข้าริบป้าย ไปจนถึงกรณีที่ตำรวจสันติบาลเรียกประธานกลุ่มฯ ไปคุย ต่างจากการทำล้อการเมืองในกิจกรรมปี 2567 ที่ไม่มีเหตุลักษณะนี้มากนัก
.
เขายังเล่าว่าในช่วงงานพิธีพระราชทานปริญญาบัตรได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามโดยทำทีเป็นช่างภาพรับปริญญา โดยติดตามตั้งแต่ออกจากหอพักและพยายามเข้ามาอยู่ใกล้ นอกจากนี้ยังมีประสบการณ์จากเพื่อนในทีมที่เป็นหน้าใหม่ในกลุ่มฯ ถูกเจ้าหน้าที่ติดตามและห้ามปรามขณะประชาสัมพันธ์เรื่องการใช้สิทธิเลือกตั้งในช่วงเลือกตั้ง อบจ. ซึ่งเขาตั้งข้อสันนิษฐานว่ามีสาเหตุจากสมาชิกกลุ่มฯ หลายคนเคยมีประวัติเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงปี 2563-2565 รวมถึงตนเองด้วย
.
"คือถ้าจะกล่าวว่าเป็นรัฐบาลผสมนะ รัฐไม่สามารถควบคุมอะไรได้ แต่ถ้าเราไปสืบบางหน่วยงานมันขึ้นตรงกับสำนักนายกฯ ด้วยซ้ำ หรือบางหน่วยงานมันขึ้นตรงกับ ครม. ทำไมคุณจะควบคุมไม่ได้ ผมก็อยากรู้ว่าทำไมเขาต้องกลัวอะไรขนาดนั้นกับการที่เราทำป้าย คือปีนี้พูดแบบตรงไปตรงมาเราไม่มีป้ายพูดถึงสถาบันฯ เลย แต่เขาก็ยังจะส่งคนเข้ามาตรวจสอบ เข้ามาชาร์จ เข้ามาข่มขู่ ผมก็เลยรู้สึกว่ามันก็ยังมีความเป็นกึ่งของรัฐบาลประยุทธ์อยู่เลย อยากให้สถานการณ์ในการแสดงออกทางการเมืองมันดีกว่านี้ เพราะถึงแม้ว่าการแสดงออกทางการเมืองคือขบวนล้อฯ มันไม่ใช่ตัวชี้วัดหลักว่าเสรีภาพประเทศนี้มันไปในระดับไหน แต่อย่างน้อยมันก็เป็นหนึ่งในตัวชี้วัด เป็นภาพสะท้อนหนึ่งที่ชี้ได้แล้วว่าเราก็ไม่ได้มีเสรีภาพในการแสดงออกเท่าที่ควร" สมาชิกกลุ่มอิสระล้อการเมืองกล่าว
.
นักกิจกรรมรายนี้ยังเสริมว่าการทำล้อการเมืองไม่สามารถทำให้ทุกฝ่ายพอใจ แต่ก็ถือเป็นเสรีภาพทางการเมือง ท้ายที่สุดต้องการเพียงแค่แสดงออกได้โดยไม่ต้องมีใครมาติดตามคุกคาม
[เจ้าหน้าที่ไม่หยุด ใช้วิธีการรัฐบาลเดิม]
.
นอกเหนือจากกรณีของล้อการเมืองแล้วยังพบว่ามีเหตุการณ์เจ้าหน้าที่รัฐติดตามคุกคามนักกิจกรรม การทำกิจกรรมขององค์กรสิทธิมนุษยชน สื่อมวลชน ไปจนถึงผู้ช่วยหาเสียงพรรคการเมืองฝ่ายค้านในการเลือกตั้ง อบจ. อาทิ
.
29 มกราคม 2568 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า “พรสิทธิ์ รักษาทรัพย์” ทนายความและสมาชิกพรรคประชาชน จ.ศรีสะเกษ เผยข้อมูลว่า หนึ่งสัปดาห์ก่อนทักษิณ ชินวัตร มาเยือนศรีสะเกษ พบว่าตำรวจชุดสืบ สภ.เมืองศรีสะเกษ ติดต่อมาหาทุกวัน โดยเป็นตำรวจชุดเดิมกับที่เคยติดต่อตนในทุกครั้งที่มีบุคคลสำคัญเดินทางมา สาเหตุหลัก ๆ เพื่อปรามการแสดงออกทางการเมือง
.
จนเมื่อวันที่ 22 มกราคม พรสิทธิ์แจ้งกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ติดต่อมาว่าวันที่ 24-25 มกราคมเขาจะไม่อยู่ในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ เพราะมีแผนเดินทางไปดูคอนเสิร์ตที่ จ.เพชรบูรณ์ แต่แล้วในช่วงวันที่ 24 มกราคมก็ทราบจากคนที่บ้านว่ามีตำรวจ 4-5 นาย ไปที่บ้านเหมือนเดิม โดยให้เหตุผลว่าไปถ่ายรูปเพื่อยืนยันว่าตนไม่ได้อยู่ที่บ้านจริง ๆ
.
นอกจากนั้น ยังมีกรณีของ “มายด์” (นามสมมติ) ผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัวที่ อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ เล่าว่าระหว่างวันที่ 23-24 มกราคม 2568 มีตำรวจจาก สภ.ขุนหาญ โทรมาสอบถามว่าอยู่ที่ไหนทำอะไร ทั้งกำชับให้ส่งรูปไปให้ และยังมีกรณีของ“แท็ก” (นามสมมติ) เกษตรกร ใน อ.ขุนหาญ ย้อนเหตุการณ์ไปว่า ราว 1 เดือนที่แล้วมีตำรวจจาก สภ.ขุนหาญ มาหาที่บ้าน แต่ตอนนั้นตนอยู่บ้านของแฟนในอีกอำเภอหนึ่ง ตำรวจเลยถามคนที่บ้านว่าอยู่ที่ไหน จากนั้นอีกราว 1 ชั่วโมงตำรวจจึงไปตามหาถึง อ.กันทรลักษ์ วันนั้นตำรวจมีการขอเบอร์โทรศัพท์ ขอไลน์ แต่แท็กให้เพียงเบอร์โทรไป กระทั่ง 1-2 วัน ก่อนหน้าทักษิณจะเดินทางมาศรีสะเกษก็มีตำรวจชุดเดิมจาก สภ.ขุนหาญ โทรมาสอบถามว่ายังอยู่ในพื้นที่หรือไม่หรือจะออกเดินทางไปไหนไหม
.
29 มกราคม 2568 เพจ House of Commons - BookCafe & Space โพสต์ว่า ในการทำกิจกรรม “Write for Rights” ที่จัดร่วมกับ Amnesty International ประเทศไทย เมื่อวันที่ 25 มกราคมมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาสังเกตการณ์ที่ร้านโดยไม่ดูหนังสือหรือสั่งกาแฟ พร้อมทั้งพูดคุยกับผู้ดูแลร้านว่ามาตรวจสอบความเรียบร้อยในพื้นที่ เนื่องจากในตอนเย็นมีกำหนดการสำคัญแถวเยาวราช โดยได้สอบถามข้อมูลส่วนตัวผู้ดูแลร้าน และรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดงาน นอกจากนี้ยังมีการส่งเจ้าหน้าที่มาที่ร้าน พร้อมพยายามถ่ายภาพซูมโต๊ะลงทะเบียน
.
12 กุมภาพันธ์ 2568 ประชาไทรายงานว่าณัฐชยา ภักดี นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเป็นผู้ช่วยหาเสียงของพันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้สมัครนายก อบจ. เชียงใหม่ ในนามพรรคประชาชน โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า มีบุคคลคล้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบเดินทางไปที่หอพักและถามหาตนเองกับคนดูแลหอพัก โดยอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่ไม่มีการแสดงบัตรหรือหลักฐานยืนยัน ชายคนดังกล่าวได้ถามว่าณัฐชยาอยู่ห้องพักหมายเลข…ใช่หรือไม่ ขับรถอะไร อยู่กันกี่คน แต่คนดูแลหอพักไม่ได้ให้ข้อมูลอะไรกลับไป เนื่องจากเห็นว่ามีพฤติกรรมไม่น่าไว้วางใจ
.
15 กุมภาพันธ์ 2568 สำนักข่าว The Isaan Record รายงานว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ 2 นาย เดินทางเข้ามาหาพงศธรณ์ ตันเจริญ ผู้สื่อข่าว The Isaan Record ถึงที่ทำงาน โดยอ้างคำสั่งจากผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 ให้มาติดตามและสอบถามความเคลื่อนไหวของผู้ต้องหาในคดี มาตรา 112 ซึ่งพงศธรณ์ ตันเจริญ คือหนึ่งในบุคคลที่มีรายชื่อของการติดตาม โดยส่วนกลางสั่งการให้เจ้าหน้าที่ติดตามผู้ต้องหาคดี 112 ทุกคนในประเทศ
.
เหตุการณ์เหล่านี้ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการอ้างคำสั่ง "นาย" หรือเป็นการดูแลความปลอดภัยตามขั้นตอนปกติของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า "วิธีการ" ที่เจ้าหน้าที่ใช้เหล่านี้ไม่ต่างจากวิธีการของ "ระบอบประยุทธ์" แม้แต่น้อย สิ่งที่น่าตั้งคำถามต่อไปคือนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลพลเรือนเพื่อไทยปล่อยให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้วิธีการเดิม ๆ เหล่านี้อันเป็นมรดกจาก คสช. ที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้อย่างไร? ทั้งที่มีอำนาจเต็มในการควบคุมสั่งการเจ้าหน้าที่รัฐ
.
สิ่งที่เกิดขึ้นยังสะท้อนว่าสถานการณ์เรื่องสิทธิเสรีภาพการแสดงออกยังคงน่าเป็นห่วง รัฐบาลควรกระตุ้นเตือนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายความมั่นคงทุกสังกัดยุติการใช้วิธีการคุกคามประชาชนเหล่านี้โดยเร็ว ไม่ควรปล่อยปละละเลยให้เจ้าหน้าที่รัฐละเมิดสิทธิการแสดงออกและมองประชาชนเป็นศัตรูตามอำเภอใจ ก่อนที่ภาพลักษณ์และสถานการณ์สิทธิเสรีภาพภายใต้รัฐบาลพลเรือนปัจจุบันจะถูกครหาว่า “เปลี่ยนรัฐบาลแต่มาตรฐานเหมือนเดิม”
.
(ทีมงาน)

https://www.facebook.com/photo/?fbid=122139625322437811&set=a.122097843074437811