วันพฤหัสบดี, มกราคม 16, 2568

มีรายงานว่า ทางการไทยจะเนรเทศผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ที่เหลืออยู่ในไทยกลับจีน ท่ามกลางความกังวลจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนว่า จะทำให้สถานการณ์ "การกดปราบข้ามชาติ" ในไทยจะย่ำแย่ลง เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

สถานกักตัวคนต่างด้าวของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่ซอยสวนพลู กลายเป็นที่คุมขังผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์จำนวน 43 คน ในไทยเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี

ภูมิรัฐศาสตร์การเมืองโลกและในไทยที่เปลี่ยนไป เพิ่มความเสี่ยงต่อผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ในไทยอย่างไร ?


วัชชิรานนท์ ทองเทพ
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
15 มกราคม 2025

ย่างเข้าสู่ปี 2025 ประเด็นว่าด้วย "การกดปราบข้ามชาติ" (transnational repression) ต่อนักเคลื่อนไหวทางการเมือง กลายเป็นประเด็นร้อนและถูกจับตาจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ถึงท่าทีรัฐบาลไทยภายใต้การนำของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ว่าจะมีแนวทางเป็นอย่างไร

ในสัปดาห์แรกของปี เกิดคดีอุกอาจกลางกรุงเทพมหานคร ใจกลางย่านแหล่งท่องเที่ยว จากเหตุลอบสังหารนายลิม กิมยา อดีต สส. ฝ่ายค้านกัมพูชา

ตามมาด้วยการรายงานข่าวเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ 48 คน ซึ่งทางการไทยยังคุมขังในสถานกักกันคนต่างด้าว สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สวนพลู) ย่านสาทร กรุงเทพมหานคร

โครงการรณรงค์ที่ใช้ชื่อว่า เซฟ อุยกูร์ ขององค์กร Justice For All ออกมาเปิดเผยผ่านแถลงการณ์เมื่อวันที่ 10 ม.ค. เรียกร้องให้รัฐบาลไทยให้ยุติแผนการเนรเทศผู้ขอสถานะผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ 48 คนไปยังประเทศจีนทันที พร้อมระบุว่าการตัดสินใจครั้งนี้ทำให้ชีวิตของบุคคลเหล่านี้ตกอยู่ในความเสี่ยงและละเมิดมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

จากกระแสดังกล่าว พ.ต.อ. คธาธร คำเที่ยง รอง ผบก.ตม.3 ในฐานะโฆษกสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า ยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ ในระดับผู้ปฏิบัติการ และบอกว่าในช่วงที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ ตม. มีการประชุมหารือกันเป็นประจำและยังไม่มีข้อสั่งการใด ๆ จากระดับนโยบาย

"ถ้าเป็นเรื่องนโยบายที่กระทบความมั่นคงและละเอียดอ่อน ในขณะนี้ยังไม่มีรายละเอียด" โฆษกสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กล่าวสั้น ๆ

อย่างไรก็ตาม องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและนักการเมืองฝ่ายค้านของไทยที่ขับเคลื่อนเรื่องสิทธิมนุษยชนต่างกังวลต่อสถานการณ์ดังกล่าวว่าจะทำให้สถานการณ์ "การกดปราบข้ามชาติ" ย่ำแย่ลงหรือไม่ โดยเฉพาะหลังจากที่การเมืองในประเทศ ในภูมิภาค และระหว่างประเทศเปลี่ยนไป

บีบีซีไทยประมวลภาพรวมของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงชะตากรรมของผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ที่เหลือ 48 คน ที่อยู่บนความไม่ชัดเจนของนโยบายของรัฐไทย

เกิดอะไรขึ้นกับกลุ่มผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ในรอบล่าสุด

องค์กร Justice For All ระบุในแถลงการณ์โดยอ้างว่าได้รับรายงานล่าสุดจากชาวอุยกูร์ภายในศูนย์กักกันคนเข้าเมืองของไทยในกรุงเทพฯ ซึ่งระบุว่า ทางการไทยกําลังบีบบังคับให้ผู้ถูกคุมขังชาวอุยกูร์ให้ข้อมูลโดยการกรอกแบบฟอร์มเพื่อวัตถุประสงค์ในการส่งกลับประเทศ เดิมทีเป็นการนําเสนอว่าเป็นการกระทําโดยสมัครใจในวันที่ 8 ม.ค. 2568 และกดดันเพิ่มขึ้นอีกในวันที่ 9 ม.ค. ส่งผลให้ผู้ถูกคุมขังอดอาหารประท้วง


แถลงการณ์ขององค์กร Justice For All เกี่ยวกับประเด็นการเนรเทศผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์มีขึ้น หลังจากเหตุการณ์ลอบสังหาร อดีต สส. ฝ่ายค้านกัมพูชาในย่านการท่องเที่ยวสำคัญในกรุงเทพฯ เพียงไม่กี่วัน

นอกจากนี้ ยังได้รับการยืนยันว่ามีการถ่ายของพวกเขาด้วย และชาวอุยกูร์ที่ถูกควบคุมตัวอ้างอีกว่า ในช่วงหลังมีการข่มขู่ด้วยวาจาเจ้าหน้าที่ในศูนย์ตรวจคนเข้าเมืองมากขึ้นว่าจะเนรเทศพวกเขากลับไปยังจีน แม้ว่าการขอลี้ภัยของพวกเขาจะได้รับการยอมรับจากองค์การสหประชาชาติก็ตาม

อิมมาม อับดุล มาลิก มูจาฮิด ประธาน Justice For All ระบุในแถลงการณ์โดยเตือนถึงผลที่ตามมาอย่างเลวร้ายว่า "ประวัติศาสตร์ต้องไม่ซ้ำรอย ประชาคมระหว่างประเทศและไทยต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่า ผู้ขอลี้ภัยเหล่านี้ได้รับการคุ้มครองภายใต้หลักการไม่ส่งกลับ ซึ่งห้ามไม่ให้ส่งตัวบุคคลไปยังสถานที่ที่เสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ความปลอดภัยและสิทธิของพวกเขาต้องได้รับการจัดลําดับความสําคัญ"

ขณะเดียวกัน สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ได้รับจดหมายจากกลุ่มชาวอุยกูร์ 43 คน ที่ถูกคุมขังในกรุงเทพฯ โดยได้เรียกร้องต่อสาธารณชนให้หยุดสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า "การขู่ว่าจะเนรเทศที่กำลังจะมาถึง"

ส่วนหนึ่งในข้อความในจดหมายดังกล่าวระบุว่า "เราอาจถูกคุมขัง และเราอาจถึงกับเสียชีวิต" และพวกเขายังเรียกร้องว่า "เราขอเรียกร้องอย่างเร่งด่วนไปยังองค์กรระหว่างประเทศและประเทศที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนทั้งหมดเข้าแทรกแซงทันที เพื่อช่วยเราให้รอดพ้นจากชะตากรรมอันน่าเศร้านี้ก่อนที่มันจะสายเกินไป"

ด้านนางชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ประธานมูลนิธิศักยภาพชุมชน บอกกับบีบีซีไทย เมื่อ 15 ม.ค. ว่า ได้รับรายงานว่า เจ้าหน้าที่ ตม. ที่สวนพลูได้ดำเนินการกรอกแบบฟอร์มเพื่อลงชื่อ โดยอ้างว่าเพื่ออัพเดทข้อมูลส่วนตัว ด้วยความกังวลในขณะนี้ทางมูลนิธิฯ จึงกำลังเปิดให้ผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมลงนามสนับสนุนถ้อยแถลงเกี่ยวกับความปลอดภัยของผู้แสวงหาที่พักพิงชาวอุยกูร์ในประเทศไทย การสนับสนุนถ้อยแถลงนี้เน้นย้ำถึงความสำคัญของความโปร่งใส ความรับผิดชอบ และการปฏิบัติตามมาตรฐานสากล เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ขอลี้ภัยเหล่านี้ได้รับการปฏิบัติอย่างมีศักดิ์ศรีและความเคารพ

นอกจากนี้เธอยังเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขออนุญาต ตม. เข้าไปตรวจสอบเรื่องดังกล่าวว่า แบบฟอร์มที่ว่านี้เป็นประโยชน์ต่อผู้ลี้ภัยหรือไม่

เหตุใดผ่านไปแล้วกว่า 10 ปี แต่ไทยไม่ตัดสินใจเรื่องนี้

ตามคำชี้แจงของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จากกรณีที่มีการเสียชีวิตของผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์รายหนึ่ง อายุ 49 ปี ภายในห้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) เมื่อเดือน พ.ค. 2566 เหตุที่ตลอด10 ปีที่ผ่านมา ท่าทีของทางการไทยต่อการจัดการปัญหาผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ที่เหลือ 48 คน ไม่มีความคืบหน้า ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายด้านความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ยังไม่ชัดเจนและไม่มีกำหนดเวลาดำเนินการเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้อย่างจริงจัง


สถานกักตัวคนต่างด้าวของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่สวนพลู แห่งนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความแออัดและความเป็นอยู่ที่เลวร้าย และอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเสียชีวิตของผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์สองคน

ความเห็นของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สอดคล้องกับทัศนะของฟิล โรเบิร์ตสัน ผู้อำนวยการองค์กรสิทธิมนุษยชนและผู้สนับสนุนแรงงาน ที่บอกกับบีบีซีไทยว่า ทางการไทยไม่ยอมตัดสินใจในเรื่องดังกล่าว และให้เป็นนโยบายด้านความมั่นคง ซึ่งเป็นประเด็นที่อ่อนไหว

โรเบิร์ตสันอธิบายว่า ต้นตอของเรื่องนี้น่าจะมาจากเหตุการณ์เมื่อปี 2558 ที่ทางการไทยส่งตัวผู้หญิงและเด็กชาวอุยกูร์จำนวน 170 คน จากทั้งหมดกว่า 300 คน ที่พบในที่สวนยางพารา อ.รัตภูมิ จ. สงขลา ไปยังตุรกีในเดือน มิ.ย. 2558 และหนึ่งเดือนถัดมาได้ส่งตัวชายชาวอุยกูร์ จำนวน 109 ราย กลับไปยังประเทศจีน

การดำเนินการทั้งสองครั้งกลับถูกวิพากษ์วิจารณ์จากทั้งสองฝ่าย รัฐบาลจีนแสดงความไม่พอใจที่ทางการไทยไม่ส่งชาวอุยกูร์กลับประเทศจีน แต่เลือกส่งไปยังประเทศที่สามแทน

ขณะเดียวกัน ชาติตะวันตกซึ่งรวมทั้งองค์กรนานาชาติต่าง ๆ เช่น สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ได้ออกมาเรียกร้องให้ไทยยุติดำเนินการส่งผู้ลี้ภัยที่เหลือกลับไปยังจีน หลังจากพบภาพที่ปรากฏในสื่อมวลชนของจีน ที่เผยให้เห็นว่าพวกเขาถูกใส่กุญแจมือ และคลุมถุงดำ ในระหว่างที่ส่งตัวพวกเขาให้กับเจ้าหน้าที่จีนในกรุงเทพฯ


ฟิล โรเบิร์ตสัน ผู้อำนวยการองค์กรสิทธิมนุษยชนและผู้สนับสนุนแรงงาน

ผอ.องค์กรสิทธิมนุษยชนและผู้สนับสนุนแรงงาน อธิบายว่า จากกระแสวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าว จึงทำให้ทางการไทยอยู่ในภาวะไม่ตัดสินใจใด ๆ เลยตลอดระยะเวลาเกือบสิบปีมานี้

นอกจากนี้ปัญหาอีกประการ คือ ทางการไทยมองว่าเรื่องดังกล่าวเป็นปัญหาด้านความมั่นคง จึงทำให้องค์กรนานาชาติถูกจำกัดการเข้าถึงกลุ่มผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้ โดยเฉพาะสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ที่ควรได้รับโอกาสในการสัมภาษณ์พวกเขาเพื่อให้สามารถช่วยให้ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการ เพื่อปกป้องสิทธิของพวกเขาตามหลักสิทธิมนุษยชน รวมทั้งมีโอกาสในการส่งตัวไปยังประเทศที่สาม

หวั่นภูมิรัฐศาสตร์เปลี่ยน นโยบายรัฐไทยจะเปลี่ยนตาม

แม้ว่าที่ผ่านมา ไทยยังไม่ดำเนินการใด ๆ ต่อผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้ แต่ด้วยภูมิรัฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งในประเทศไทย ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงการเมืองโลก ปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของไทย ท่ามกลางความกังวลขององค์กรสิทธิมนุษยชนนานาชาติ

โรเบิร์ตสัน วิเคราะห์ให้บีบีซีไทยฟังถึงแนวโน้มที่อาจจะเป็นไปได้ต่อกลุ่มผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ใน 3 ระดับ ประกอบด้วย
  • ในระดับรัฐต่อรัฐ: เนื่องจากปีนี้จะครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ไทย-จีน จึงมีหลายคนเป็นกังวลและตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลไทยอาจจะเตรียมของขวัญแก่รัฐบาลจีน โดยเขาตั้งคำถามว่า หนึ่งในนั้นอาจจะเป็นการตัดสินใจส่งกลุ่มผู้ลี้ภัยดังกล่าวให้ทางการจีนหรือไม่
  • ในระดับภูมิภาค: ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ท่าทีของทางการไทยต่อการส่งตัวนักเคลื่อนไหว หรือผู้ลี้ภัยชาวต่างชาติกลับประเทศมีมากขึ้น เช่น ปีที่แล้วมีความพยายามที่จะส่งตัวนักเคลื่อนไหวชาวเวียดนามกลับประเทศ รวมทั้งการส่งตัวนักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวกัมพูชา 6 คน ที่ถูกกล่าวหาด้วยข้อหากบฏจากการวิพากษ์รัฐบาล และกรณีล่าสุดคือ การลอบสังหารนายลิม กิมยา อดีต สส. ฝ่ายค้านกัมพูชา ทำให้นานาชาติต่างกังวลต่อสถานการณ์การกดปราบข้ามชาติ (transnational repression) ต่อนักเคลื่อนไหว และผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่ยังอยู่ในประเทศไทย รวมทั้งผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ 48 คนที่เหลือด้วย
  • ในระดับนานาชาติ: ภูมิรัฐศาสตร์การเมืองโลกหลังจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ เข้าสู่ทำเนียบขาวเป็นสมัยที่สอง อาจจะทำให้ท่าทีของทางการไทยต่อดุลอำนาจการเมืองโลกเปลี่ยนไปโดยหันไปมีความสัมพันธ์กับทางการจีนมากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้ดุลทางการค้ากับสหรัฐฯ และสหรัฐฯ เองต้องการลดการขาดดุลและอาจจะดำเนินการมาตรการทางภาษีนำเข้าในลักษณะเดียวกันกับที่นายทรัมป์จะดำเนินการต่อประเทศจีน จากแนวโน้มดังกล่าว อาจจะส่งผลให้รัฐบาลไทยหันมาเอาใจจีนมากขึ้นหรือไม่ นอกจากนี้ยังมองว่า ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีทรัมป์ อาจถูกลดบทบาทไปด้วยเช่นกัน
เปิดไทม์ไลน์เหตุการณ์สำคัญก่อนที่จะมาถึงวันนี้

กลุ่มผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์กลุ่มที่เหลืออยู่ราว 40 คนกลุ่มนี้ เป็นส่วนหนึ่งของคลื่นผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์กว่า 200 คน ที่หนีจากจากเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ในจีน เมื่อปี 2556 ก่อนถูกทางการไทยควบคุมตัวและเผชิญกับชะตากรรมที่พวกเขาไม่เคยคิดว่าพบเจอมาก่อน
  • 12-13 มี.ค. 2557 เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองพบชาวอุยกูร์ที่เดินทางจากเมืองซินเจียง ประเทศจีน จำนวนประมาณ 300 คน ตามรายงานของสื่อมวลชนระบุว่า เป็นผู้ชาย 78 คน ผู้หญิง 60 คน และเด็กอีก 82 คน ที่สวนยางพารา อ.รัตภูมิ จ. สงขลา หลังจากนั้นก็ได้นำตัวพวกเขาไปกักตามห้องกักของ ตม. ทั่วประเทศ
  • มิ.ย. 2558 ทางการไทยส่งตัวผู้หญิงและเด็กชาวอุยกูร์จำนวนกว่า 170 คน ไปยังประเทศตุรกี
ทางการไทยบังคับส่งตัวชาวอุยกูร์ 109 คน กลับประเทศจีนในปี 2558

  • 8 ก.ค. 2558 ทางการไทยส่งชายชาวอุยกูร์ จำนวน 109 คน ไปยังประเทศจีน โดยภาพที่ปรากฏในสื่อมวลชนของจีนเผยให้เห็นว่า พวกเขาถูกใส่กุญแจมือและถูกคลุมด้วยถุงดำในระหว่างที่ส่งตัวให้กับเจ้าหน้าที่จีนในกรุงเทพฯ จากนั้นปรากฏภาพว่า กลุ่มชาวอุยกูร์ถูกส่งตัวขึ้นเครื่องบินพร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจชาวจีนที่เดินทางมารับตัว ภาพดังกล่าวยิ่งทำให้เกิดความกังวลต่อชะตากรรมของพวกเขา แม้ว่ารัฐบาลหลายชาติ รวมถึงสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ จะออกมาเรียกร้องไทยให้ไม่กระทำการเช่นนั้นก็ตาม
  • 27 ก.ค. 2565 ทางการไทยย้ายชาวอุยกูร์ราว 50 คน ในสถานกันกัก ตม. ทั่วประเทศ มาอยู่ที่ ตม.สวนพลู กรุงเทพฯ
  • พ.ค. 2566 นายอาซิซ อับดุลลาห์ (Mr. Aziz Abdullah) ผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ อายุ 49 ปี เสียชีวิตในห้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) ก่อนหน้านั้นในเดือน ก.พ.นายอาซิซเคยแจ้งเจ้าหน้าที่ว่า มีอาการแน่นหน้าอกและเหนื่อยหอบ จึงขอให้ส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาล แต่ถูกปฏิเสธ
อะซิซ อับดุลเลาะห์ (ขวา) และครอบครัว ก่อนจะเดินทางมาไทย
  • เม.ย. 2566 นายมูฮัมหมัด คุรบาน (Mr. Muhammed Kurban) อายุ 40 ปี เสียชีวิตในห้องกัก ก่อนที่จะเสียชีวิต นายมูฮัมหมัดมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรงและอาเจียนในช่วงหลายสัปดาห์ก่อนถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ทั้งนายอาซิซกับนายมูฮัมหมัด เป็นผู้ลี้ภัย 2 คน จากจำนวน 5 คนที่เสียชีวิตระหว่างการคุมขัง โดยองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนเชื่อว่า ความแออัดและความเป็นอยู่ที่เลวร้ายเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเสียชีวิต ปัจจุบันมีผู้ลี้ภัยที่ยังคงอยู่ภายในสถานกักกันดังกล่าว 43 คน ขณะที่อีก 5 คน ถูกสั่งจำคุกจากความพยายามหลบหนีออกจากศูนย์กัก
  • 10 ม.ค. 2568 มีรายงานระบุว่า ทางการไทยบีบบังคับให้ผู้ถูกคุมขังชาวอุยกูร์ให้ข้อมูลโดยการกรอกแบบฟอร์มเพื่อวัตถุประสงค์ในการส่งกลับประเทศ

https://www.bbc.com/thai/articles/ce9ng4gzgxeo