วันจันทร์, มกราคม 13, 2568

"ในช่วงปีที่ผ่านมานี้ ผู้สนใจศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนาทั้งหลายต่างถกเถียงกันว่าในช่วงที่ล้านนาถูกผนวกรวมเป็นดินแดนของสยามสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น จะถือได้ว่าล้านนาตกเป็นอาณานิคมของสยามหรือไม่?"


10 Jan 2024
เรื่อง " พริษฐ์ ชิวารักษ์
ภาพประกอบ: ณัฐพล อุปฮาด
1O1 World

ในช่วงปีที่ผ่านมานี้ ผู้เขียนสังเกตเห็นว่าประเด็นความเป็นอาณานิคมกลายเป็นประเด็นถกเถียงที่ได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้นในหมู่ผู้สนใจศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนา กล่าวคือ ผู้สนใจศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนาทั้งหลายต่างถกเถียงกันว่าในช่วงที่ล้านนาถูกผนวกรวมเป็นดินแดนของสยามสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น จะถือได้ว่าล้านนาตกเป็นอาณานิคมของสยามหรือไม่?

สำหรับผู้เขียนและผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนาอีกจำนวนมาก ความสัมพันธ์ระหว่างล้านนาและสยามสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (ซึ่งจะตรงกับสมัยที่นิยมเรียกว่า ‘สมัยปฏิรูปการปกครองมณฑลพายัพ’ หรือ ‘สมัยผนวกรวมดินแดนเป็นส่วนหนึ่งของสยาม’ ในประวัติศาสตร์ล้านนา) เป็นความสัมพันธ์เชิงอาณานิคมอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะเป็นความสัมพันธ์ที่รัฐหนึ่งเข้ามามีอำนาจเหนืออีกรัฐหนึ่งโดยตรงผ่านการครอบครอง ครอบงำ และขูดรีด อันเป็นนิยามพื้นฐานของการปกครองระบอบอาณานิคมอยู่แล้ว

ในเรื่องนี้ ต้องกล่าวเท้าความเสียก่อนว่าก่อนที่รัฐสยามจะก่อตัวเป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์และนำระบอบอาณานิคมมาใช้กับหัวเมืองต่างๆ ในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้น ล้านนาก็ตกเป็น ‘เมืองขึ้น’ หรือ ‘ประเทศราช’ ของสยามอยู่ก่อนแล้ว การเป็นประเทศราชมีลักษณะคล้ายคลึงกับอาณานิคมตรงที่มีรัฐหนึ่งมีอำนาจเหนืออีกรัฐหนึ่งเหมือนกัน แต่ต่างกันที่รัฐที่มีอำนาจเหนือกว่าหรือเรียกว่า ‘เจ้าอธิราช’ (หรือกล่าวให้ตรงสมัยคือเป็นเจ้าจักรพรรดิราช หมายถึงเป็นกษัตริย์เหนือกษัตริย์) ยังอนุญาตให้รัฐที่ตกอยู่ใต้อำนาจ เรียกว่า ‘ประเทศราช’ ปกครองกันเอง เจ้าอธิราชจะแทรกแซงกิจการภายในของประเทศราชแต่เพียงจำกัด รวมถึงจะไม่เปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียม ประเพณี และกฎหมายของประเทศราชโดยตรง (แต่มีการแผ่อิทธิพลทางอ้อม)

หัวใจของความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าอธิราชและประเทศราช คือประเทศราชจะต้องยอมรับอำนาจและสถานะที่สูงกว่าของเจ้าอธิราช เรียกตามภาษาของยุคสมัยนั้นคือต้องยอมตนเป็น ‘ข้าขอบขัณฑสีมา’ การใช้อำนาจของเจ้าอธิราชเหนือประเทศราชนั้นมักเกี่ยวข้องกับเรื่องการทหาร การทูต และการเรียกเก็บส่วยบรรณาการเสียส่วนมาก ลักษณะเช่นนี้เป็นไปตามลักษณะการปกครองแบบศักดินา ที่เจ้าสูงสุดของรัฐหรือจักรวรรดิหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องมีหรือใช้อำนาจอธิปไตยควบคุมทุกเรื่องในเขตอำนาจของตนอย่างเบ็ดเสร็จเสมอไป

แต่เมื่อถึงช่วงปลายศตวรรษที่ 19 มาจนต้นศตวรรษที่ 20 สยามเปลี่ยนนโยบายความสัมพันธ์กับหัวเมืองประเทศราชล้านนา จากเดิมที่ปล่อยให้หัวเมืองล้านนาสามารถปกครองตนเอง มาเป็นให้รัฐบาลกรุงเทพฯ เข้าไปปกครองล้านนาได้โดยตรง โดยเริ่มจากการส่งข้าราชการของตนเข้าไปดำเนินกิจการด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับชาวต่างประเทศก่อน จากนั้นค่อยส่งข้าราชการเข้าไปจัดการปกครองเรื่อยๆ จนสยามยกเลิกสถานะประเทศราชของล้านนาอย่างสิ้นเชิงในปี 1899 จากนั้น รัฐบาลสยามที่กรุงเทพฯ ก็มีอำนาจบังคับใช้นโยบายว่าด้วยกิจการต่างๆ ในล้านนาได้เต็มที่ และข้าราชการชาวสยามเข้ามามีบทบาทเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองแทนเจ้านายท้องถิ่นของล้านนา กล่าวได้ว่าเป็นปีที่ล้านนาได้แปรเปลี่ยนจาก ‘ประเทศราช’ มาเป็น ‘อาณานิคม’ อย่างสมบูรณ์

สำหรับเรื่องการยึดครองล้านนาเป็นอาณานิคมของรัฐสยามนี้ ผู้ใดใคร่ ‘อ่านถี่ๆ’ ได้มีผู้เผยแพร่ผลงานศึกษาเรื่องนี้โดยละเอียดหลายเรื่อง เช่น วิทยานิพนธ์ รัฐสยามกับล้านนา พ.ศ.2417-2476 ของเนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว ที่ได้ดัดแปลงเป็นหนังสือเรื่อง เปิดแผนยึดล้านนา เป็นต้น ท่านที่สนใจสามารถอ่านต่อได้ในหนังสือเหล่านี้

กระนั้น มีผู้สนใจศึกษาประวัติศาสตร์จำนวนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับความรู้ที่ว่าล้านนาเป็นอาณานิคมของสยาม หลายท่านแสดงข้อคิดเห็นทั้งในข้อเขียนขนาดยาวและในสื่อสังคมออนไลน์ ว่าล้านนาไม่เคยตกเป็นอาณานิคมของสยามแต่อย่างใด ผู้เขียนจะขอใช้พื้นที่บทความนี้ลองตอบข้อคิดเห็นของท่านเหล่านั้นบางประการเท่าที่ผู้เขียนได้เคยอ่านผ่านตามาบ้าง

ประการแรก บางท่านมีความเห็นว่าการเข้ามาปกครองล้านนาของสยามนั้น มิใช่การยึดครองเป็นอาณานิคม เป็นแต่เพียงการผนวกรวมดินแดนเท่านั้น โดยเป็นการผนวกรวมดินแดนรัฐข้างเคียงที่มีวัฒนธรรมคล้ายคลึงกัน จึงไม่ใช่การยึดครองหรือล่าอาณานิคมแต่อย่างใด

ผู้เขียนขอเรียนตอบประเด็นนี้ว่า การผนวกหรือไม่ผนวกรวมดินแดนนั้น ไม่เกี่ยวข้องกับการเป็นหรือไม่เป็นอาณานิคม เพราะระบอบอาณานิคมในช่วงศตวรรษที่ 19-20 มีอยู่หลายรูปแบบ ทั้งระบอบอาณานิคมที่แบ่งแยกดินแดนและผู้คนของประเทศแม่กับอาณานิคมออกจากกันอย่างชัดเจน และมิได้พยายามผนวกดินแดนเป็นส่วนหนึ่งของประเทศแม่ เช่น ระบอบอาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษ ซึ่งได้ทยอยปลดปล่อยอาณานิคมเป็นเอกราชในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 ทั้งระบอบอาณานิคมที่พยายามผนวกดินแดนอาณานิคมเป็นส่วนหนึ่งส่วนเดียวกับประเทศแม่ แต่ทำไม่สำเร็จ เช่น จักรวรรดิฝรั่งเศส ซึ่งพยายามผนวกอาณานิคมของตนเป็นส่วนเดียวกันกับตัวสาธารณรัฐฝรั่งเศสในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 แต่อาณานิคมสามารถทำสงครามประกาศเอกราชได้ และก็ยังมีทั้งระบอบอาณานิคมที่เข้าไปยึดครอง ผนวกรวมดินแดนอาณานิคมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศแม่อย่างถาวร เช่น การยึดครองเอเชียกลางและยุโรปตะวันออกของจักรวรรดิรัสเซีย การยึดครองเกาหลีของจักรวรรดิญี่ปุ่น และการยึดครองฮาวายของสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

นอกจากนี้ ต่อให้ดินแดนที่ถูกยึดครองจะเป็นดินแดนเพื่อนบ้านที่มีวัฒนธรรมคล้ายคลึงกันหรือดินแดนโพ้นทะเล ก็ไม่เกี่ยวอะไรกันกับประเด็นที่ว่าการยึดครองดังกล่าวจะเป็นการล่าอาณานิคมหรือไม่ เพราะความสัมพันธ์เชิงอาณานิคมเป็นเรื่องระดับชั้นในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐหรือดินแดน มิใช่เรื่องความใกล้ชิดห่างไกล ทั้งในเชิงระยะทางกายภาพและเชิงวัฒนธรรม ดังที่ในประวัติศาสตร์สมัยล่าอาณานิคมนั้น ก็มีบางจักรวรรดิที่เน้นยึดครองรัฐเพื่อนบ้านที่อ่อนแอกว่าเป็นอาณานิคม เช่นการล่าอาณานิคมของจักรวรรดิรัสเซียดังที่ยกตัวอย่างแล้ว กระทั่งการล่าอาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษ ซึ่งนิยมล่าดินแดนโพ้นทะเลเป็นอาณานิคมมากกว่านั้น ก็ยังปรากฏว่าได้ล่าไอร์แลนด์ ดินแดนเพื่อนบ้านที่มีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมใกล้เคียงกันมาเป็นอาณานิคมเช่นกัน

ประการที่สอง มีบางท่านเห็นว่าการที่รัฐสยามเข้ามาปกครองดินแดนล้านนาโดยตรงนั้น มิใช่การปกครองระบอบอาณานิคม เพราะรัฐสยามมิได้มีการตั้งกระทรวงอาณานิคมเพื่อกำกับดูแลการปกครองล้านนาแต่อย่างใด

ผู้เขียนจำต้องเรียนตอบในประเด็นนี้ในทำนองเดียวกับที่ได้ตอบในประเด็นที่แล้วว่าการมีหรือไม่มีกระทรวงอาณานิคมนั้น ไม่เกี่ยวข้องกับการที่ระบอบการปกครองหนึ่งจะเป็นหรือไม่เป็นการปกครองระบอบอาณานิคม เพราะการปกครองระบอบอาณานิคมเป็นเรื่องของความสัมพันธ์อันไม่เท่าเทียมระหว่างรัฐหรือดินแดน ไม่เกี่ยวกับว่าจะมีการตั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกิจการอาณานิคมโดยตรงในระบบราชการหรือไม่ และยังมีจักรวรรดิอาณานิคมบางจักรวรรดิที่ไม่เคยมีหน่วยงานทำนองนี้ หรือมิได้มีตั้งแต่แรก หรือมิได้มีมาตลอด เช่น จักรวรรดิรัสเซียไม่เคยมีหน่วยงานเกี่ยวข้องกับการปกครองดินแดนอาณานิคมโดยตรงแม้จะมีจักรวรรดิอาณานิคมขนาดใหญ่มาก สหรัฐอเมริกาเองก็มิได้มีหน่วยงานระดับกระทรวงมากำกับดูแลกิจการอาณานิคมและดินแดนโพ้นทะเล มีแต่หน่วยงานระดับกรมหรือระดับสำนัก ซึ่งก็เพิ่งตั้งเมื่อปี 1939 ทั้งที่จักรวรรดิอาณานิคมของสหรัฐฯ มีมาแล้วก่อนหน้านั้นหลายทศวรรษ ดังนั้น ก็มิได้หมายความว่าระหว่างที่ยังไม่ได้ตั้งหน่วยงานอาณานิคมขึ้นมา สหรัฐฯ จะไม่มีอาณานิคมเป็นของตนแต่อย่างใด

ประการสุดท้าย มีบางท่านเห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างล้านนาและสยามไม่เป็นความสัมพันธ์เชิงอาณานิคม เพราะเป็นความสัมพันธ์ที่เท่าเทียม รัฐสยามปฏิบัติต่อผู้คนและดินแดนล้านนาเท่าเทียมกับผู้คนและดินแดนอื่นในรัฐสยาม

ในข้อนี้ ผู้เขียนยังไม่เห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างล้านนาและสยามเป็นความสัมพันธ์เท่าเทียมดังที่ความคิดเห็นนี้ว่า เพราะในทางการเมืองนั้น การปรับเปลี่ยนนโยบายต่อล้านนาเป็นการตัดสินใจโดยฝ่ายสยามฝ่ายเดียว มิได้เกิดจากความเห็นพ้องต้องกันของทั้งสองฝ่าย การที่ชนชั้นปกครองล้านนาจำต้องยอมรับนโยบายดังกล่าวในท้ายที่สุดก็มิใช่ด้วยความเต็มใจ แต่เพราะไม่สามารถต้านทานอำนาจและแรงกดดันของรัฐบาลสยามได้ สถานะของล้านนาในการตัดสินใจผนวกรวมดินแดนดังกล่าวจึงเป็นรองสยาม

ในทางกฎหมายและการปกครอง จริงอยู่ว่ารัฐสยามไม่เคยตรากฎหมายจำกัดสิทธิของ ‘คน’ ล้านนาโดยจำเพาะเจาะจง แต่สำหรับ ‘ดินแดน’ ล้านนา (รวมถึงอดีตประเทศราชอีกหลายแห่ง) ยังมีสถานะไม่เท่าเทียมกับสยาม ดังที่ในช่วงก่อนปี 1899 นั้น สยามได้จัดหมวดหมู่ดินแดนล้านนาเป็น ‘หัวเมืองชั้นนอก’ (อย่าสับสนกับกลุ่มหัวเมืองชั้นนอกในสมัยศักดินา) ซึ่งยังมิได้ใช้การปกครองระบอบมณฑลเทศาภิบาลและมิได้บังคับใช้กฎหมายที่ออกโดยรัฐบาลสยาม กระทั่งภายหลังการสถาปนาหัวเมืองล้านนาเป็น ‘มณฑลพายัพ’ แล้ว รัฐบาลสยามก็ยังมิได้บังคับใช้กฎหมายในมณฑลพายัพอย่างเท่าเทียมพร้อมกันกับดินแดนอื่นๆ ในสยาม ตัวอย่างเช่น กรณีของพระราชบัญญัติลักษณะการเกณฑ์ทหาร รัตนโกสินทร์ศก 124 ประกาศใช้ในมณฑลพายัพหลังมณฑลที่เป็นหัวเมืองเดิมของอาณาจักรสยามถึง 9 ปี พระราชบัญญัติอื่นๆ หลายฉบับก็มีลักษณะเดียวกัน และแน่นอนว่าการตรากฎหมายเหล่านี้ ชาวล้านนาทั้งที่เป็นสามัญชนและชนชั้นปกครองมิได้มีส่วนร่วมแต่อย่างใด

ในทางเศรษฐกิจ ล้านนาตกอยู่ในสถานะเป็นรองสยามอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากสยามได้เข้ามาบังคับใช้ระบบการเก็บภาษีแบบใหม่ คือการเก็บภาษีด้วยเงินตรา (tax in cash) แทนการเก็บภาษีด้วยสิ่งของ (tax in kind) ซึ่งเป็นระบบการเก็บภาษีที่ทำให้คนล้านนาพื้นถิ่นเสียเปรียบชนชั้นกลางจากกรุงเทพฯ เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากวิถีชีวิตของคนล้านนาส่วนมากยังมิได้อยู่ในเศรษฐกิจแบบเงินตรา (currency economy) รัฐบาลสยามยังตั้งภาษีอากรเพิ่มเติมสำหรับสินค้าหลายประเภทเพื่อนำรายได้มาจัดการกิจการของรัฐบาลสยามเอง แน่นอนว่ารัฐบาลสยามเป็นผู้กำหนดและแต่งตั้งเจ้าภาษีนายอากรมาจัดเก็บภาษีอากรเหล่านี้เองทั้งหมด นอกจากนี้ รัฐบาลสยามยังขายสัมปทานทรัพยากรธรรมชาติในล้านนา โดยเฉพาะการทำป่าไม้ ให้กับบริษัทต่างชาติ จนสร้างกำไรได้เป็นกอบเป็นกำ โดยมิได้ใส่ใจลงทุนกับการพัฒนาล้านนามากเท่าที่ได้ไปจากล้านนา

ในทางสังคมและวัฒนธรรม แม้รัฐบาลสยามจะมีนโยบายขจัดการเลือกปฏิบัติระหว่างคนสยามและคนล้านนา แต่ก็ยังปรากฏว่ามีข้าราชการและคนของรัฐบาลสยามข่มเหงชาวล้านนาอยู่เนืองๆ ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมข่มเหงรังแกของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองต่อชาวบ้านในล้านนาที่ถูกเกณฑ์แรงงานตามระบบรัชชูปการ หรือพฤติกรรมการทุจริตและเอารัดเอาเปรียบของเจ้าภาษีนายอากรในการเรียกเก็บภาษีจากชาวบ้าน จนเป็นเหตุให้เกิดการลุกฮือต่อต้านรัฐบาลสยามในล้านนาหลายครั้ง

นอกจากนี้ การยอมรับชาวล้านนาของรัฐบาลสยามยังตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่าชาวล้านนาจะต้องยอมรับวัฒนธรรมสยามแทนที่วัฒนธรรมเดิมของตน โดยเฉพาะในด้านภาษาที่มีการบังคับเรียนภาษาไทยและห้ามพูดภาษาล้านนาในโรงเรียนมาจนกระทั่งเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้ วัฒนธรรมล้านนาในช่วงถูกผนวกรวมดินแดนนี้จึงถูกจัดวางไว้ในสถานะต่ำกว่าหรือเป็นรองวัฒนธรรมสยาม แม้ปัจจุบัน การเหยียดหรือดูถูกวัฒนธรรมล้านนาจะเบาบางลงไปมากแล้ว แต่วัฒนธรรมล้านนาก็ยังมีสถานะไม่เท่ากับวัฒนธรรมสยาม กล่าวคือวัฒนธรรมล้านนาถูกยอมรับในฐานะ ‘วัฒนธรรมท้องถิ่น’ ในขณะที่วัฒนธรรมสยามเป็น ‘วัฒนธรรมประจำชาติ’ ซึ่งมีสถานะสำคัญกว่า ทั้งที่สยามก็เป็นเพียงดินแดนหนึ่งที่ประกอบกันเป็นประเทศไทยในปัจจุบัน แต่กลับไม่ถูกจัดไว้ในสถานะ ‘วัฒนธรรมท้องถิ่น’ แต่อย่างใด

กล่าวโดยสรุปในประเด็นนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างล้านนาและสยามสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์มิใช่ความสัมพันธ์อันเท่าเทียมตามความเข้าใจของบางท่าน เป็นความสัมพันธ์ที่สยามมีสถานะเหนือกว่าล้านนา สามารถใช้อำนาจเหนือล้านนาได้อย่างเต็มที่ และรัฐสยามปฏิบัติต่อล้านนา (และอดีตประเทศราชอื่นๆ) กับดินแดนเดิมของสยามแตกต่างกัน ความไม่เท่าเทียมดังนี้เองเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างล้านนาและสยามสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นเป็นความสัมพันธ์แบบอาณานิคม

สภาวะความไม่เท่าเทียมระหว่างล้านนาและสยามดังนี้จะค่อยๆ คลี่คลายลง และยุติไปภายหลังการปฏิวัติ 2475 เมื่อมีการยกเลิกระบบมณฑลเทศาภิบาล ส่งผลให้ดินแดนทั้งประเทศถูกจัดสรรเป็นจังหวัดเท่าเทียมกัน และมีการใช้หลักความบังคับใช้ทั่วไปของกฎหมาย ที่ระบุให้กฎหมาย (อย่างน้อยในระดับพระราชบัญญัติ) ต้องบังคับใช้โดยเสมอกันทั่วขอบเขตอำนาจของกฎหมาย (คือทั่วราชอาณาจักร) นโยบายการเลือกบังคับใช้กฎหมายในล้านนาจึงสิ้นสุดลง ความเป็นอาณานิคมสยามของล้านนาในด้านการเมือง การปกครอง และกฎหมายจึงสิ้นสุดลง แต่ร่องรอยที่เกิดขึ้นจากความเป็นอาณานิคมนั้น ยังอาจเห็นได้จนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี ยังมีประเด็นอยู่ว่าตัวรัฐสยามในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์พยายามปฏิเสธความเป็นเจ้าอาณานิคมของตัวเองตลอด ดังที่กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เคยออกความเห็นว่า ‘ระบบประเทศราช’ ที่ใช้ปกครองล้านนาดั้งเดิมนั้นเทียบได้กับ ‘ระบบโกโลนี’ ของฝรั่ง แต่ระบบที่สยามนำมาปกครองล้านนานั้นเป็นการสร้างชาติขึ้นมาใหม่ ผู้เขียนขอเน้นย้ำว่านี่เป็นเพียงมุมมองที่ชนชั้นนำในรัฐสยามมองการกระทำของตนเท่านั้น เมื่อพิจารณาจากมุมกว้างที่แสดงความไม่เท่าเทียมในความสัมพันธ์ และมุมของคนล้านนาที่ถูกผู้มีอำนาจต่างภาษาต่างวัฒนธรรมเข้ามาใช้อำนาจปกครอง บังคับให้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต วัฒนธรรม รวมถึงถูกลิดรอนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของตนไปอย่างรวดเร็วนั้น ไม่มีเหตุผลใดเลยที่จะไม่เรียกการเข้ามาปกครองล้านนาของสยามว่าการปกครองระบอบอาณานิคม

พูดถึงการล่าดินแดนรอบข้างมาเป็นอาณานิคมแล้วพยายาม ‘กลืน’ อาณานิคมให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศแม่ ดังที่สยามกระทำกับล้านนา ช่างคล้ายคลึงกับวิธีการที่จักรวรรดิรัสเซียกระทำกับอาณานิคมของตนอย่างยิ่ง เพราะเหตุนี้เอง ธงชัย วินิจจะกูล จึงได้เคยเปรียบเทียบการล่าอาณานิคมแบบสยามว่าเป็นการล่าอาณานิคมแบบรัสเซีย และการกลืนล้านนาให้เป็นไทยนั้น ก็คล้ายคลึงกับการที่จักรวรรดิรัสเซียกลืนอาณานิคมของตนให้กลายเป็นรัสเซีย (Russification)

ด้วยเหตุผลทั้งหมดที่อภิปรายมาในบทความนี้ ไม่มีเหตุใดเลยที่จะกล่าวได้ว่าล้านนาไม่เคยเป็นอาณานิคมของสยามในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ทั้งนี้ บทความนี้เป็นเพียงการอภิปรายเชิงทฤษฎีว่าด้วยการศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนา มิใช่ข้อคิดเห็นทางการเมืองที่ต้องตัดสินว่าการปกครองระบอบอาณานิคมของสยามเหนือล้านนานั้นเป็นเรื่องที่ดีหรือสมเหตุสมผลหรือไม่ หรือหากล้านนาไม่ตกเป็นอาณานิคมของสยามแล้วปัจจุบันจะเป็นอย่างไร เพราะเกินเลยไปจากขอบเขตของการศึกษาประวัติศาสตร์ ผู้ใดจะคิดเห็นอย่างไรต่อประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องนานาจิตตังที่ผู้เขียนไม่ขอไปก้าวล่วง บทความนี้เขียนขึ้นเพียงเพื่อยืนยันว่าการผนวกรวมล้านนาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยามนั้นคือส่วนหนึ่งของการปกครองระบอบอาณานิคมที่รัฐสยามสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์สถาปนาขึ้นเพื่อปกครองล้านนา

ส่วนปัจจุบันล้านนาจะยังเป็นอาณานิคมร่วมสมัยหรือที่บางคนเรียกว่า ‘อาณานิคมภายใน’ หรือไม่นั้น ไม่ขออภิปรายในบทความนี้

ท้ายที่สุด เนื่องจากทุกครั้งที่ผู้เขียนเขียนเรื่องทำนองนี้ มักจะเกิดปรากฏการณ์ ‘ทัวร์ลง’ ในพื้นที่แสดงความคิดเห็นต่อบทความ โดยมีลูกทัวร์หลายท่านขึ้นรถทัวร์มาทั้งที่ยังไม่ทันอ่านบทความจบ หรือบางคนไม่เข้ามาอ่านเนื้อหาบทความด้วยซ้ำ อ่านเพียงพาดหัวก็จองตั๋วรถทัวร์เลย ผู้เขียนหวังว่าหากจะมีทัวร์คณะใดมาลงที่บทความนี้ หวังว่าท่านจะได้อ่านมาถึงบรรทัดนี้ก่อนจะตัดสินใจจองทัวร์ อย่างน้อยจะได้เข้าใจสิ่งที่ทัวร์ของท่านพาท่านมาอย่างแท้จริง


บรรณานุกรม

“ไชยันต์” เปิดเวที “ทุ่นดำ-ทุ่นแดง” โต้ “ธงชัย” แย้งสยาม “ผนวกดินแดน” มิใช่ “ล่าอาณานิคม” ชี้ “เสียดินแดนจริง” ผู้จัดการออนไลน์. 17 มิถุนายน 2021. https://mgronline.com/politics/detail/9640000058779

ไชยันต์ รัชชกูล, อาณานิคมสมบูรณาญาสิทธิราชย์. พิมพ์ครั้งที่ 2. (กรุงเทพฯ: อ่าน, 2021).

ธงชัย วินิจจะกุล, ในงานเสวนา “อำนาจอิสระของภูมิภาคและท้องถิ่น: ทำไมถึงยากจะคิด-ยากจะคุยกันขนาดนี้”. ขอนแก่น. 17 กันยายน 2022. https://theisaanrecord.co/2022/09/19/thongchai-winichakul-the-roots-of-a-free-local/

เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว. เปิดแผนยึดล้านนา. (กรุงเทพฯ : มติชน, 2019).

เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว. “รัฐสยามกับล้านนา พ.ศ.2417-2476” วิทยานิพนธ์หลักสูตรอักษรศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2010.

สรัสวดี อ๋องสกุล, ประวัติศาสตร์ล้านนา ฉบับสมบูรณ์. พิมพ์ครั้งที่ 12. (กรุงเทพฯ: อมรินทร์, 2018).

Geraci, Robert. “On ‘Colonial’ Forms and Functions.” Slavic Review, vol. 69, no. 1, 2010, pp. 180–84. JSTOR, http://www.jstor.org/stable/25621733. Accessed 4 Jan. 2024.

Perkins, Whitney T. Denial of Empire: The United States and its Dependencies. (A. W. Sythoff 1962).

Sunderland, Willard. “The Ministry of Asiatic Russia: The Colonial Office That Never Was but Might Have Been.” Slavic Review. 69. 2010, pp.120-150. 10.2307/25621731.

https://www.the101.world/lanna-history-17/