วันเสาร์, พฤศจิกายน 16, 2567
ประชาธิปไตยกับการสร้างอำนาจโน้มนำ (soft power) ของเกาหลีใต้
Puangthong Pawakapan
10h ·
ประชาธิปไตยกับการสร้างอำนาจโน้มนำ (soft power) ของเกาหลีใต้
สัปดาห์ที่แล้วเราได้มีโอกาสไปร่วมงานสัมมนาเรื่อง “Empowering Asian Democracy: A Vision of Unity” ที่โซล เกาหลีใต้ จัดโดย Korea Democracy Foundation ที่เป็นหน่วยงานของรัฐบาลเกาหลีใต้ จึงอยากใช้โอกาสนี้พูดถึงการผลักดันเรื่องประชาธิปไตยในเวทีระหว่างประเทศ ในฐานะที่เป็นหนึ่งในแนวทางส่งเสริมอำนาจโน้มนำของภาครัฐและประชาสังคมเกาหลีใต้
ที่ผ่านมาเวลาที่คนพูดถึงอำนาจโน้มนำของเกาหลีใต้ มักจะพูดแต่เรื่องการเติบโตของวัฒนธรรม K-Pop สินค้า และการท่องเที่ยว จนทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าอำนาจโน้มนำมุ่งหารายได้เข้าประเทศเท่านั้น รัฐบาลไทยก็ดูจะเข้าใจแค่นี้เช่นกัน ทั้งๆ ที่ทฤษฎีนี้ถูกคิดขึ้นมาเพื่ออธิบายอิทธิพลในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
หนึ่งในปัจจัยสำคัญของการสร้างอำนาจโน้มนำที่ Joseph Nye เน้นย้ำ แต่คนไทยไม่ค่อยพูดถึงคือ คุณค่าทางการเมืองแบบประชาธิปไตย ซึ่งหมายรวมถึงการเคารพสิทธิมนุษยชน มีธรรมาภิบาล ตรวจสอบได้ มี rule of law เปิดโอกาสให้ประชาชนมีเสรีภาพในทางความคิด อันเป็นหัวใจสำคัญที่จะนำไปสู่การสร้างสรรค์ความรู้ทุกด้านของมนุษยชาติ โจเซฟ นาย ย้ำว่าคุณค่าเช่นนี้จะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของโลกตะวันตกในหมู่ประชาชนส่วนอื่นๆ ของโลก คุณค่านี้เป็นสิ่งที่จีนและรัสเซียไม่สามารถแข่งขันด้วยได้ (แต่ไม่ได้แปลว่า ไม่มีประชาชนประเทศใดนิยมความเป็นเผด็จการของจีนและรัสเซียเลย ดังจะเห็นว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยชื่นชอบการใช้อำนาจเด็ดขาดของจีนและรัสเซีย)
ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา เราพบว่ารัฐบาลและภาคประชาสังคมในเกาหลีใต้มีโครงการส่งเสริมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในประเทศที่เผชิญกับระบอบอำนาจนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ หนึ่งในองค์กรที่แข็งขันอย่างยิ่งก็คือ The May 18th Memorial Foundation ที่โฟกัสเรื่องการปราบปรามประชาชนที่กวางจูในปี 1980
ในด้านหนึ่ง มูลนิธินี้สืบทอดสปิริตของขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของชาวเกาหลีที่สืบทอดมาตั้งแต่ทศวรรษ 1980 พวกเขาต้องการให้ประชาชนจดจำ-เรียนรู้ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของตน เพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศหวนคืนสู่ระบอบเผด็จการทหารอีก ในอีกด้านหนึ่ง มูลนิธินี้ขยายภารกิจส่งเสริมประชาธิปไตยออกไปนอกประเทศตั้งแต่ปี 2000 อันเป็นปีแรกที่มูลนิธิมอบ “รางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน” ให้กับนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในเอเชียทุกปี ประเทศไทยมีผู้ได้รับรางวัลนี้มาแล้ว 3 คน คือ คุณอังคณา นีละไพจิตร, ไผ่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, และทนายอานนท์ นำภา
มูลนิธิยังร่วมจัดงาน The Kwangju Biennale เทศกาลศิลปะอันยิ่งใหญ่ที่เมืองกวางจูที่สองปี งานศิลปะที่นำมาแสดงมักมี theme เกี่ยวกับปชต. ความรุนแรง สิทธิมนุษยชน ฯลฯ ในงานยังมีเวทีอภิปรายเรื่องปชต.และสิทธิฯ ทั่วโลกด้วย
รัฐบาลเกาหลีใต้ยังแข็งขันเป็นเจ้าภาพเวทีประชาธิปไตยและธรรมาภิบาลระดับโลกอีกมากมาย ทั้งในประเทศและนอกประเทศ เขาต้องการเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำประชาธิปไตยของโลก
เรามักได้ยินเพื่อนชาวเกาหลีพูดว่าเศรษฐกิจที่เติบโตแข็งแกร่งของเกาหลีใต้ในปัจจุบันแยกไม่ออกจากการพัฒนาประชาธิปไตย เราพบว่าระบอบประชาธิปไตยนำไปสู่การตรวจสอบ-เอาผิดการฉ้อฉลของรัฐบาลทหารในอดีต, ปฏิรูประบบราชการ การเงินการคลังของประเทศ จัดการกับการฉ้อราษฎร์บังหลวงที่ฝังลึกในระบบ (a systemic corruption), กฎหมายคือกฎหมาย ไม่ใช่กฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย, มีประสิทธิภาพ ทันสมัย ปลอดภัย ร่ำรวย ระบอบประชาธิปไตยยังช่วยปลดปล่อยศักยภาพของผู้คนในสังคมให้ปรากฏออกมา เปิดให้มีการแข่งขันที่ยุติธรรมมากขึ้น มีพื้นที่ให้กับความคิดสร้างสรรค์ ไปจนถึงท้าทายจารีตประเพณีทั้งหลาย
อำนาจโน้มนำสารพัดชนิดจึงแยกออกจากกันไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า การต่อสู้ที่กวางจู K-Pop, ภาพยนตร์เรื่อง Parasite, รางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมของฮัน คัง ฯลฯ ล้วนเกี่ยวเนื่องกัน ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เกาหลีใต้ประสบความสำเร็จในฐานะประเทศขนาดกลางที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของโลกอย่างยิ่ง
ขณะเดียวกันในแง่ภูมิรัฐศาสตร์ เกาหลีใต้อยู่ใจกลางของพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความตึงเครียด-เผชิญหน้าระหว่างมหาอำนาจ และประเทศเพื่อนบ้านที่ก้าวร้าวคุกคาม (เกาหลีเหนือ) การส่งเสริมประชาธิปไตย-สิทธิมนุษยชนนอกประเทศย่อมทำให้เกาหลีใต้มีเพื่อนมากขึ้นด้วย ลองจินตนาการดูว่าหากเกาหลีเหนือหรือจีนโจมตีเกาหลีใต้ ประเทศที่มีศักยภาพเต็มเปี่ยม ผู้คนทั่วโลกจะรู้สึกเจ็บปวดไปด้วยมากเพียงใด ซอฟท์พาวเวอร์อาจไม่สามารถป้องกันสงครามได้ แต่ประเทศที่มีซอฟท์พาวเวอร์มีแนวโน้มที่จะมีอำนาจต่อรองและกำแพงปกป้องตัวเอง (ทั้งที่เห็นได้และมองไม่เห็น) มากกว่าประเทศที่ไม่มีเลย
Chanho Lundteigen Thanks for having me at KDF Forum.