วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 17, 2567

จะทวงคืนความยุติธรรมให้นักโทษคดีทางการเมืองได้อย่างไร? บีบีซีไทยถาม ทักษิณ


ทักษิณ ใช้เวลา 1 คืน 2 วันใน จ.อุดรธานี ที่ถูกขนานนามว่า "เมืองหลวงคนเสื้อแดง" เพื่อขึ้นปราศรัย 3 เวที

หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
14 พฤศจิกายน 2024

ทักษิณ ชินวัตร ไม่ได้ตอบคำถามชัดเจนว่าจะทวงคืนความยุติธรรมให้นักโทษคดีการเมืองได้อย่างไร พร้อมตัดพ้อว่าตัวเองเป็น “เหยื่อรายหนึ่ง” ของคดี 112

ตลอดเวลา 2 วัน ในระหว่างเปิดปราศรัยใน จ.อุดรธานี ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย (ทรท.) เน้นย้ำหลายครั้งว่า “ผมกลับมาแล้ว”

อะไรคือ “ข้อมูลใหม่” ที่ทำให้อดีต “ผู้นำพเนจร” ผู้เคย “ขออนุญาตกลับบ้านมาเลี้ยงหลาน” เมื่อปี 2566 ตัดสินใจกระโดดขึ้นสู่เวทีหาเสียงทางการเมืองอย่างเป็นทางการ?

“ก็ไม่มีอะไรหรอก ก็อยากช่วยบ้านเมือง ในฐานะคนเคยเป็นอดีตนายกฯ เป็นคนไทย มันอดไม่ได้ที่จะห่วงใยบ้านเมือง เห็นอะไรไม่ดี ก็อดไม่ได้ ถึงต้องตั้งตำแหน่ง สทร. ให้ตัวเอง” ทักษิณ ตอบคำถามบีบีซีไทย

ในระหว่างขึ้นปราศรัยครั้งแรกในรอบ 18 ปีที่ อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี เย็นวานนี้ (13 พ.ย.) อดีตนายกฯ วัย 75 ปี ประกาศตั้งตำแหน่ง สทร. ให้ตัวเอง พร้อมระบุความหมายเอาไว้ว่า “เสือกทุกเรื่อง” หากเห็นอะไรน่ารำคาญต้องตะโกนโวยวายในฐานะประชาชนคนชรา

เขายังเปิดเผยความรู้สึกต่อหน้าประชาชนชาวอุดรฯ ว่า “เวลาได้มาเห็นพี่น้องเยอะ ๆ หัวใจมันพองโต” และเตรียม “ขอไปเยี่ยมประชาชนทุกที่ที่ไม่ลืมกัน”

จึงน่าสนใจว่าผู้นำตระกูลชินวัตรและอดีตผู้นำพรรครัฐบาลจัดความสำคัญอย่างไร ระหว่าง การดูแลครอบครัวชินวัตร กับ การทำให้พรรคเพื่อไทย (พท.) กลับมายิ่งใหญ่-ชนะเลือกตั้งอีกครั้ง?

ทักษิณ ตอบเพียงว่า “ไม่มีอะไร ทำอยู่แล้ว”

เมื่อให้มองจากสายตาของคนที่อยู่นอกประเทศ 17 ปี ความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่สุดในการเมืองไทยที่ ทักษิณ เห็นคือการเมือง “แย่ลง” และ “ไม่เข้มแข็งเท่าที่ควร” การเมืองต้องเข้มแข็งกว่านี้ถึงจะแก้ไขปัญหาประเทศชาติได้


ประชาชนร่วมฟังการปราศรัยของ ทักษิณ ที่ อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี เมื่อ 14 พ.ย.

หนึ่งในวาทะสำคัญของ ทักษิณ ที่เกิดขึ้นบนเวทีปราศรัยที่ 2 ที่ อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี ช่วงเช้าวันนี้ (14 พ.ย.) ว่าด้วยเรื่อง “ความเท่าเทียม”

ทักษิณ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทย (พท.) กับพรรคประชาชน (ปชน.) หรือพรรคสีส้มนั้น มีความเหมือนกันคือเรื่องของความเท่าเทียม

“แต่ความเท่าเทียมของพรรคประชาชนบอกว่าทุกคนต้องฐานะหรือสถานะเท่ากัน มันไม่ได้หรอก พ่อกับลูก มันเป็นไปไม่ได้หรอกที่จะเท่าเทียมกัน แต่พรรคเพื่อไทย ความเท่าเทียมคือความเท่าเทียมทางโอกาส พยายามอย่างยิ่งที่เปิดโอกาสให้คนยากจนได้รับโอกาสเท่าเทียมกัน” ทักษิณ ปราศรัยตอนหนึ่ง

เมื่อตอนนี้เราอยู่ในจังหวัดที่ถูกขนานนามว่า “เมืองหลวงของคนเสื้อแดง” บีบีซีไทยจึงนำคำว่า “ความเท่าเทียมทางโอกาส” ของ ทักษิณ มาตั้งคำถามต่อไปว่า พอระบุเป็นเจตจำนงได้หรือไม่ว่าจะสามารถทวงคืนความยุติธรรมให้กับนักโทษคดีทางการเมืองได้อย่างไร?

อดีตนายกฯ อธิบายว่า “อันนี้มันมีความซับซ้อนหลายอย่าง จริง ๆ แล้วเรื่องการเมือง หลังจากที่ผมโดนปฏิวัติ ก็ไล่ห้ำหั่นกันในทางการเมือง และต่อมาจนถึง ปู (ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 28 น้องสาวของ ทักษิณ) โดนปฏิวัติเหมือนกัน หลังจากนั้นก็ผสมโรงด้วยคนต่าง ๆ ซึ่งวันนี้ผมจะพูดบนเวทีมากกว่านี้ จะได้เห็นความชัดเจนมากขึ้น”

เมื่อพิจารณาความเป็นไปได้ในการนิรโทษกรรมคดีการเมืองระลอกใหม่ดูจะไม่ง่ายนัก เนื่องจากพรรคร่วมรัฐบาลตั้งเงื่อนแง่ไม่นิรโทษกรรมคดีมาตรา 110 และมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา?

เกี่ยวกับเรื่องนี้ บิดาของหัวหน้าพรรคแกนนำรัฐบาลกล่าวว่า คดี 112 เป็นเรื่องที่พรรคร่วมรัฐบาลให้สัตยาบันกันไว้ว่าเราจะเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ เราจะไม่แตะเรื่อง 112 แต่จริง ๆ ตัว 112 ปัญหามันอยู่ที่การบังคับใช้กฎหมาย

“ผมก็เป็นเหยื่อรายหนึ่ง แล้วการบังคับใช้กฎหมาย จุดมันอย่างนี้ สมมติคนที่รับคดีครั้งแรกบอกว่า เดี๋ยวก็จะหาว่าไม่จงรักภักดี ฟ้องไว้ก่อนทั้ง ๆ ที่หลักฐานไม่มี คนที่สองไม่ฟ้องเดี๋ยวก็จะโดนอีก จึงฟ้อง ๆ มา โดยที่ไม่ได้ดูความถูกต้องของหลักพยานหลักฐาน เลยทำให้จริง ๆ แล้วการจงรักภักดีในลักษณะนี้ไม่ถูกต้อง การจงรักภักดีที่ถูกต้องคือการรักษากฎหมายที่เกิดความเป็นธรรม อันนี้คือสิ่งที่ต้องแก้ไข แต่ก็ไม่ง่ายในการแก้ ต้องใช้เวลา แต่เดี๋ยวจะแก้ให้” ทักษิณ ให้ความเห็น


รัฐบาล 377 เสียงภายใต้การนำของ ทักษิณ ต้องพ้นจากอำนาจด้วยรัฐประหารปี 2549 โดย 1 ใน 4 เหตุผลที่คณะรัฐประหารใช้เป็น “ข้ออ้าง” ในการยึดอำนาจหนนั้นก็คือเรื่องความไม่จงรักภักดี

ปัจจุบัน ทักษิณ มีสถานะเป็นจำเลยคดี 112 จากการให้สัมภาษณ์สื่อเกาหลีใต้เมื่อปี 2558 ซึ่งเป็นคดีที่ได้รับภายหลังรัฐประหารปี 2557 โดยมีนายทหารฝ่ายกฎหมายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ

อะไรที่ทำให้ข้อหาไม่จงรักภักดีใช้ได้ผลเสมอในทางการเมืองไทย บีบีซีไทยถาม

“ก็การเมืองไงครับ ดูสิ ผมนี่โดนหนักที่สุด ทั้ง ๆ ที่เป็นคนที่ถวายงานที่สุด แต่ด้วยความหมั่นไส้ เป็นเรื่องธรรมดา” อดีตนายกฯ ตอบ

เมื่อให้ชายที่บอกว่าตัวเองคือ “เหยื่อ” เปรียบเทียบบริบทของแต่ละเหตุการณ์ ตั้งแต่แต่รัฐประหารปี 2549 รัฐประหารปี 2557 จนถึงมีพรรคการเมืองถูกยุบพรรค เพราะมีนโยบายแก้ไขมาตรา 112 อะไรคือความเหมือน-ความต่าง?

ทักษิณ เปิดเผยว่า จริง ๆ แล้วเคยคุยกับ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล และประธานคณะก้าวหน้า และนำบทสนทนามาถ่ายทอด

“ผมบอกว่า ผมก็โดน (ยุบ) 3 พรรค แล้วไปอยู่เมืองนอกตั้ง 17 ปี ดังนั้นยังไงขอให้เราช่วยทำงานให้บ้านเมืองเป็นหลัก อย่าไปพยายามรื้อโครงสร้างจนมากเกินไป ถ้าเราแก้ปัญหาด้วยหลักการ และเอาบ้านเมืองให้อยู่ได้ มันจะดีที่สุด อย่าไปคิดถึงสิ่งที่มีอยู่ สิ่งที่ประชาชนคนไทยเคารพนับถือซึ่งเป็นโครงสร้างสำคัญของสถาบันฯ เราต้องจรรโลงอย่างเดียว” เขากล่าว

อย่างไรก็ตาม ทักษิณ ออกตัวว่า ไม่ได้บอกว่า ธนาธร หรือพรรคก้าวไกลจะไม่จงรักภักดี แต่ต้องมีวิธีการ ยึดหลักให้ถูกต้องของบ้านเมือง อย่าไปมุ่งหาเสียง บางทีจุดโฆษณามันอันตราย กว่าความตั้งใจที่จะทำ

แล้วถ้าจะแก้ปัญหานี้โดยไม่แตะโครงสร้าง จะต้องทำอย่างไร?

ทักษิณ ไม่ได้ลงรายละเอียด โดยบอกเพียงว่า ก็ทำตามหลักการของกฎหมาย ถ้ากฎหมายไม่ดี ก็ต้องแก้ไขกฎหมายไปทีละขั้นตอน ไม่ใช่บอกว่ากฎหมายไม่ดี ต้องไม่ทำเลย กฎหมายมันมีอยู่ก็ต้องเคารพ


ทักษิณยื่นทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ก่อนมีพระราชหัตถเลขาพระราชทานอภัยลดโทษให้ นักโทษเด็ดขาดชาย ทักษิณ จากจำคุก 3 คดี รวมเวลา 8 ปี เหลือโทษจำคุก 1 ปี

ทักษิณ เดินทางกลับไทยเมื่อ 22 ส.ค. 2566 วันเดียวกับการได้คนเพื่อไทยเป็นหัวหน้า “รัฐบาลข้ามขั้ว” เมื่อที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภามีมติเลือก เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ คนที่ 30 ก่อนเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองต้องเปลี่ยนตัวผู้นำ เป็น แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ คนที่ 31

ในรอบปีที่ผ่านมา พรรค พท. ต้องเผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่องจากการ “รับโทษนอกเรือนจำ” ของ ทักษิณ ซึ่งถูกย้ายตัวไปนอนรักษาตัวที่ รพ.ตำรวจ ชั้น 14 ตั้งแต่คืนแรกที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จึงไม่ได้นอนเรือนจำแม้แต่วันเดียว กระทั่งได้รับการพักโทษตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์ และได้รับการอภัยโทษกรณีวันมหามงคล จึงกลายเป็นผู้บริสุทธิ์เต็มตัว

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ธงชัย วินิจจะกูล แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ให้คำจำกัดความกับบีบีซีไทยถึงสิ่งที่เกิดขึ้นว่า “อภิสิทธิ์โจ๋งครึ่ม” โดยหมายถึงความไม่เท่าเทียมทางกฎหมายที่เกิดจากการให้อภิสิทธิ์แก่ฝ่ายที่ให้ความมั่นคงต่อรัฐ

ธนาธร โต้ ทักษิณ ไม่เคยคุยเรื่อง 112

ต่อมาในช่วงค่ำ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวซึ่งตั้งค่าเป็นสาธารณะ ปฏิเสธว่าไม่เคยพูดคุยตกลงกับ ทักษิณ เรื่อง 112 โดยระบุว่า ทักษิณ รู้ดีที่สุดว่าเหตุผลที่ก้าวไกลและเพื่อไทยไม่ได้ร่วมรัฐบาลกัน ไม่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 เลย

“สิ่งที่คุณทักษิณกล่าว อาจทำให้คนทั่วเข้าใจไปได้ว่าผมเคยคุยกับคุณทักษิณเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 หรือมีความคิดรุนแรงเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งในความเป็นจริงเราไม่ได้พูดคุยตกลงอะไรกันเรื่องนี้เลย การพูดคลุมเครือแบบที่คุณทักษิณกล่าวในวันนี้ ยังเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งต่อพรรคก้าวไกลและพรรคประชาชน เพื่อพยายามสร้างความเข้าใจในหมู่ประชาชนว่าเหตุที่ดีลร่วมรัฐบาลล่ม เป็นเพราะพรรคก้าวไกลไม่ยอมลดราวาศอกเรื่อง 112” ธนาธร ระบุ

เขาย้ำว่า 112 ไม่ใช่เงื่อนไขการร่วมรัฐบาล และไม่เคยอยู่ในเงื่อนไขตั้งแต่แรก ไม่มีอยู่ในบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมรัฐบาลที่เซ็นร่วมกันและเป็นที่รับรู้ต่อสาธารณะ

ในทางกลับกัน ธนาธร มองว่า ทักษิณ น่าจะเป็นคนที่เข้าใจปัญหาโครงสร้างดีที่สุด “แทนที่จะร่วมแก้ปัญหา กลับเลือกเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา”

เขาทราบดีว่าการแก้ไขปัญหาโครงสร้างที่สั่งสมมาหลายสิบปีของประเทศไม่ใช่สิ่งที่ ‘ลัดขั้นตอน’ ได้ แต่ต้องทำงานความคิดอย่างหนักและต่อเนื่อง เพื่อให้สังคมเห็นชอบร่วมกัน และแก้ปัญหาอย่างค่อยเป็นค่อยไป

“ไม่แก้ปัญหาโครงสร้าง ก็ปะผุประเทศไทยกันต่อไป” เขาระบุตอนหนึ่งในเฟซบุ๊ก

https://www.bbc.com/thai/articles/c20g804n1ypo