วันอังคาร, พฤศจิกายน 19, 2567

จากผู้ผดุงความยุติธรรมสู่ผู้ต้องหา ความเฟื่องฟูของบรรดานักร้องเรียนและทนายหน้าสื่อ เกิดขึ้นได้อย่างไร และมันสะท้อนให้เห็นปัญหาอะไรในสังคมไทยบ้าง ?


นายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือ ทนายตั้ม "ทีมทนายประชาชน" (เสื้อขาวคนกลาง) ถูกตั้งข้อหาฉ้อโกงเงิน 71 ล้านบาท และร่วมกันฟอกเงิน

เหตุใด นักร้องเรียน-ทนายหน้าสื่อ เฟื่องฟูในสังคมไทย ?

จิราภรณ์ ศรีแจ่ม
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
เมื่อ 9 ชั่วโมงที่แล้ว

น.ส.กฤษอนงค์ สุวรรณวงศ์ หรือที่ผู้คนรู้จักกันในชื่อว่า “เจ๊พัช” ผู้เคยทำหน้าที่เป็นตัวกลางช่วยประชาชนร้องทุกข์ในคดีความต่าง ๆ ในฐานะประธานอำนวยการศูนย์ประสานงานส่งเสริมเครือข่าย-ออนไลน์ ตอนนี้ถูกตั้งข้อหากรรโชกทรัพย์และเป็นตัวกลางเรียกรับสินบน

กรณีนี้เกี่ยวเนื่องกับ บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ซึ่งถูกตั้งข้อหาเมื่อเดือนที่แล้วว่ามีพฤติกรรมหลอกชักชวนให้ประชาชนมาร่วมลงทุน หรืออาจเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ และพบว่ามีบุคคลที่มีชื่อเสียงเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก

เจ๊พัชถูกกล่าวหาว่าเรียกรับเงิน 750,000 บาท จากนายวรัตน์พล วรัทย์วรกุล หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า “บอสพอล” ผู้ต้องหาคนสำคัญของคดี ดิไอคอนกรุ๊ป รวมถึงเรียกเงิน 20 ล้านบาทจาก “บอสปัน” ปัญจรัศม์ กนกรักษ์ธนพร ซึ่งเป็นผู้บริหารของดิไอคอนกรุ๊ปอีกคนหนึ่ง โดยแอบอ้างว่าจะพาไปออกรายการ “โหนกระแส” ทางช่อง 3 เอชดี โดยผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าร่วมกันเรียกรับเงินในครั้งนี้มีชื่อของ นายรัฐภูมิ โตคงทรัพย์ หรือ ฟิล์ม อดีตศิลปินชื่อดังด้วย

ด้านนายกรรชัย กำเนิดพลอย ผู้ดำเนินรายการโหนกระแส ได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับทั้ง 2 คน ฐานร่วมกันหมิ่นประมาทแล้ว

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เส้นทาง นักร้องเรียน-ทนายหน้าสื่อ ต้องหยุดชะงักลงด้วยคดีความส่วนตัวที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ก่อนหน้านี้ไม่นาน เลขาธิการมูลนิธิทีมทนายประชาชนฯ อย่างนายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือ ทนายตั้ม ถูกตั้งข้อหาฉ้อโกง ฟอกเงิน ร่วมกันฟอกเงินและสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงิน หลังจาก น.ส.จตุพร อุบลเลิศ หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า “เจ๊อ้อย” ยืนยันว่าตนเองไม่ได้ให้เงิน 71 ล้านบาทด้วยความเสน่หา แต่อ้างว่าถูกหลอกให้ลงทุนซื้อแพลตฟอร์มหวยออนไลน์

ที่ผ่านมาความเฟื่องฟูของบรรดานักร้องเรียน-ทนายหน้าสื่อ เกิดขึ้นได้อย่างไร และมันสะท้อนให้เห็นปัญหาอะไรในระบบยุติธรรมและวงการสื่อสารมวลชนไทยบ้าง บีบีซีไทยชวนไปหาคำตอบ

สะท้อนให้เห็นว่าระบบยุติธรรมพึ่งพาไม่ได้

พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม บอกกับบีบีซีไทยว่า การเกิดขึ้นของนักร้องเรียนรวมถึงทนายความหน้าสื่อ สะท้อนให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมในชั้นต้น ซึ่งก็คือขั้นตอนของพนักงานสอบสวนนั้นพึ่งพาไม่ได้ และไม่เป็นที่น่าเชื่อถือของประชาชน โดยคาดการณ์ว่ามีเพียง 5% ของคดีความเท่านั้นที่มีความคืบหน้า

“มันไม่เป็นที่พึ่งของสังคม ทำให้เกิดขบวนการที่ต้องออกมาเปิดเผยข้อมูลผ่านเพจผี ผ่านทนาย หรืออินฟลูเอนเซอร์ต่าง ๆ เพื่อให้รัฐหรือหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ได้ดำเนินการตามกฎหมาย” เขาบอก และอธิบายต่อว่าปัญหาในปัจจุบันที่พบคือคดีความต่าง ๆ ที่ประชาชนหรือหน่วยงานรัฐแจ้งความกับตำรวจนั้นเกิดความคืบหน้าน้อยมาก

“เขาก็อยากไปแจ้งความกันทั้งนั้นแหละ แต่มันไม่ได้เรื่อง” พ.ต.อ.วิรุตม์ อดีตนายตำรวจ บอก “เขาถึงต้องหันไปแจ้งเพจผี นักร้องฯ และอินฟลูเอนเซอร์ต่าง ๆ แทน ซึ่งคนเหล่านี้บางทีเขาก็ไม่ได้ทำอะไรให้มาก ก็อาจโพสต์ลงเพจให้ แต่ที่สำคัญคือพวกเขามีคอนเนคชัน (connection) กับสื่อหลักที่มีคนชมเยอะ จึงเกิดแรงกดดันให้เจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าหน้าที่ตำรวจทำงานตามหน้าที่”


น.ส.กฤษอนงค์ สุวรรณวงศ์ ตอนนี้ถูกตั้งข้อหากรรโชกทรัพย์และเป็นตัวกลางเรียกรับสินบนในคดีดิไอคอนกรุ๊ป

เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม บอกว่า หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ “ก็จะเป็นความวิบัติของชาติ” เพราะไม่รู้ว่าจะมีตำรวจไปทำไม เนื่องจากปัญหาคือประชาชนต้องการให้ตำรวจทำหน้าที่ แต่ในขณะเดียวกันก็รู้สึกว่าตำรวจพึ่งพาไม่ได้ ทำให้ภาษีและงบประมาณที่ลงไปยังองค์กรตำรวจนั้นถูกตั้งคำถามถึงความคุ้มค่า

เขาชี้ว่าผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติไม่ควรนิ่งเฉยกับปรากฏการณ์อินฟลูเอนเซอร์รับร้องทุกข์ที่มีอยู่เกลื่อนเมือง เนื่องจากมันกำลังสะท้อนถึงความไม่มีประสิทธิภาพขององค์กรตำรวจ รวมถึงส่งผลลบต่อนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้ดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยตรง

“หากผมเป็น ผบ.ตร. จะตรวจสอบว่าแต่ละคดีที่ออกข่าวไปนั้น ผ่านโรงพักมาก่อนไหม หรือเขาผ่านแล้ว แต่เขาพึ่งไม่ได้ ซึ่งส่วนใหญ่ผมว่าผ่านโรงพักมาเกือบทั้งหมด ก็ต้องตรวจสอบว่าทำไมมันไม่คืบหน้า มันมีปัญหาอะไร มันเป็นความบกพร่องของนายสถานี ของผู้บัญชาการหรือผู้บังคับการหรือเปล่า” พ.ต.อ.วิรุตม์ ระบุ “ถ้าผมเป็น ผบ.ตร. ตรวจสอบแล้วว่ามีความบกพร่องขึ้นจริง ผมจะลงโทษ ซึ่งมันทำได้ง่ายนิดเดียว”

สื่อมีส่วนสร้าง "ทนายหน้าสื่อ" เหล่านี้ขึ้นมาได้อย่างไร ?

ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์และสื่อสารมวลชนจาก ม.หอการค้า บอกกับบีบีซีไทยว่า การเติบโตขึ้นของนักร้องเรียน-ทนายหน้าสื่อ ส่วนหนึ่งมีสื่อมวลชนเป็นปัจจัยสนับสนุนร่วมด้วย โดยปรากฎการณ์เช่นนี้ไม่ใช่เพิ่งเคยเกิดขึ้น แต่ในสมัยก่อนที่สื่อหลักยังคงเป็นหนังสือพิมพ์ วิทยุ หรือโทรทัศน์ ก็พบว่าสื่อเองที่เป็นผู้มีอิทธิพลทางความคิดหลัก ๆ จนกลายเป็นที่พึ่งของประชาชนที่พึ่งพากระบวนการยุติธรรมไม่ได้

“มันก็เป็นภาพสะท้อนหนึ่งที่ทำให้เห็นความบกพร่องของหน่วยงานราชการเองด้วย” เขาบอก “แต่ในส่วนของกองบรรณาธิการก็มีการกรองข้อมูล ตรวจเช็ค และบาลานซ์ (balance) ข้อมูลอยู่พอสมควร เช่น หากมีการร้องเรียนเรื่องการรุกที่ป่า บางสำนักข่าวก็อาจตั้งทีมข่าวพิเศษขึ้นมาเพื่อทำข่าวสืบสวน โดยหยิบข้อร้องเรียนของประชาชนมาเป็นสารตั้งต้น”

แต่เมื่อเปลี่ยนผ่านเป็นยุคอินเทอร์เน็ตเบ่งบาน พบว่านักร้องเรียน ทนายความต่าง ๆ ก็มีสื่อเป็นของตัวเองผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ที่มีให้เลือกสรร และเริ่มผันตัวมาเป็นอินฟลูเอนเซอร์ที่มีภาพลักษณ์ช่วยเหลือประชาชน จนสามารถเข้ายึดครองพื้นที่สื่อกระแสหลักมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากภูมิทัศน์ของวงการสื่อมวลชนในไทยที่มีปัญหาภายใน เช่น การลดจำนวนพนักงานในบริษัทสื่อลง ซึ่งทำให้มีนักข่าวลดจำนวนลงตามไปด้วย

“นอกจากนี้องค์กรสื่อต่าง ๆ ก็ไม่ได้ลงทุนทำข่าวสืบสวน ซึ่งก็ต้องเข้าใจว่าการทำข่าวสืบสวนนั้นใช้ทั้งเงินทุนและเวลา รวมถึงต้องดึงคนที่ทำข่าวรายวันออกมาทำเรื่องนี้เฉพาะ และยังเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้อง สื่อกระแสหลักจำนวนไม่น้อยจึงให้ความสำคัญกับงานข่าวประเภทนี้น้อยลง” นักวิชาการด้านสื่อระบุ


นายวรัตน์พล วรัทย์วรกุล หรือ บอสพอล

ดร.มานะตั้งข้อสังเกตว่าในระยะหลัง ๆ เห็นนักข่าวสัมภาษณ์ทนายความต่าง ๆ มากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพวกเขาอาจให้ข้อมูลบางอย่างเกี่ยวกับคดีได้ ทั้งที่ในสมัยก่อนนั้น ข้อมูลส่วนนี้มักเกิดจากการทำงานของนักข่าวเอง หรืออาศัยการวิเคราะห์ของนักวิชาการที่เชี่ยวชาญในคดีเหล่านั้น

แต่ในปัจจุบัน สื่อมักอาศัยข้อมูลจากการซักถามทนายความ และรายงานตามคำพูดของแหล่งข่าวโดยไม่ได้คัดกรองว่าข้อมูลที่ได้มานั้นมีความถูกต้องทั้งหมดหรือไม่ หรือตรงกับข้อเท็จจริงมากน้อยเพียงใด ประกอบกับการเล่าเรื่องของทนายความหรืออินฟลูเอนเซอร์ที่มักมีสีสัน “พูดแล้วมันกว่านักวิชาการ” ก็ทำให้สื่อกระแสหลักให้พื้นที่กับคนกลุ่มนี้มากขึ้น เนื่องจากเรียกเรตติ้งให้กับรายการได้

เขาจึงเห็นว่าสิ่งที่สื่อมวลชนควรตระหนักคือ ทนายความหรือนักร้องเรียนต่าง ๆ นั้นเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับเรื่องราวที่พวกเขาพูดถึง

“หากเป็นทนายฝ่ายจำเลย ก็ต้องบอกว่าจำเลยเป็นฝ่ายถูก หากเป็นทนายฝ่ายโจทก์ ก็ย่อมบอกว่าโจทก์นั้นเป็นฝ่ายถูก” อาจารย์จาก ม.หอการค้า กล่าว “ดังนั้นจากหลาย ๆ ส่วน รวมกัน มันจึงเกิดจากการที่นักข่าวไม่ได้ทำงานในส่วนที่เราควรจะทำงาน ด้วยเงื่อนไขหลาย ๆ อย่างที่กล่าวในตอนต้น”

พื้นที่สีเทาระหว่าง ตำรวจ ทนายหน้าสื่อ และสื่อ

อีกประเด็นหนึ่งที่อดีตนายตำรวจผู้นี้กังวลคือ สายสัมพันธ์หรือคอนเนคชันที่ก่อตัวขึ้นระหว่างฝั่งตำรวจและทนายหน้าสื่อ

“พวกอินฟลูเอนเซอร์ไม่ว่าจะเป็นทนายหรือใครก็ตาม ทำไปทำมา เขาก็มีคอนเนคชันกับตำรวจ เช่น พาไปออกทีวี หรือไปออกเพจที่เริ่มมีอิทธิพลกับความคิดผู้คนแล้ว ตำรวจก็จะเอาใจคนพวกนี้ ‘พาไปออกทีวีก็อย่าเพิ่งเปิดเผยหลักฐานหมดนะ เปิดให้เป็นประเด็นนิด ๆ หน่อย ๆ 50:50’ ที่เหลือก็ตำรวจขอไว้ มีอะไรพึ่งพาอาศัยกัน อินฟลูเอนเซอร์เหล่านี้ก็ชอบเพราะเห็นว่ามีบุญคุณกัน ทีนี้พอมีข่าวหรือข้อมูลอะไรก็ให้กันเป็นพิเศษ บางทีตำรวจอาจจะต้องการปล่อยข่าวข้อมูลบางอย่างเพื่ออัดผู้เสียหายหรือผู้ต้องหา ก็อาศัยปล่อยผ่านคนพวกนี้ เพราะตัวเองทำเองไม่ได้เต็มที่ มันผิดวินัย” พ.ต.อ.วิรุตม์ อธิบาย

เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมยังตั้งข้อสังเกตว่า อินฟลูเอ็นเซอร์เหล่านี้มักเข้ามาจับคดีที่เกี่ยวข้องกับเงินจำนวนมากหรือเห็นแล้วว่าผู้เสียหายเป็นคนมีเงิน ดังนั้น ในทางกลับกัน ผู้เสียหายก็ตกเป็นเหยื่อของขบวนการเหล่านี้อีกทีโดยไม่รู้ตัว โดยอาจถูกพาไปออกรายการดัง ๆ สักช่วงหนึ่ง ก่อนจะพบว่าคดีไม่มีความคืบหน้าใด ๆ ในเวลาต่อมา เนื่องจากทีมอินฟลูเอนเซอร์เหล่านี้ไม่ได้ติดตามคดีให้อย่างสม่ำเสมออยู่ตลอด

“กลายเป็นว่าใช้สื่อเป็นเครื่องมือแบล็คเมล์ได้อีก โดยบอกว่าถ้าไม่ทำแบบนั้น แบบนี้ จะไปร้องสื่อเจ้านั้นเจ้านี้นะ” เขากล่าว

ดร.มานะยังกล่าวเสริมด้วยว่า ในอดีตก็พบปัญหาว่าสื่อมวลชนบางคนอาศัยอิทธิพลดังกล่าวในการเรียกรับประโยชน์จากแหล่งข่าวด้วย

“อาจจะเป็นทางตรง ทั้งในเรื่องของเงินหรือผลตอบแทนอื่น ๆ รวมถึงทางอ้อม เช่น การพาไปเที่ยวต่างประเทศ หรือได้อภิสิทธิ์ในบางอย่าง เป็นต้น” นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน กล่าว

“พอมันมีอำนาจขึ้นมา มันก็เหมือนเป็นดาบสองคม ดังนั้นในวันนี้ ใครที่มีอิทธิพลทำให้กระแสสังคมเชื่อหรือไม่เชื่อ ก็ต้องระวัง เพราะถึงแม้เขาเองไม่ได้ใช้อิทธิพลดังกล่าว แต่ก็อาจมีคนเอาไปแอบอ้างก็ได้” ดร.มานะ ระบุ

ด้าน พ.ต.อ.วิรุตม์ยังบอกด้วยว่า บางครั้งทิศทางการนำเสนอข่าวที่เป็นไปตามข้อมูลของอินฟลูเอนเซอร์เหล่านี้ ก็มีส่วนกำหนดทิศทางการทำคดีของตำรวจด้วย ซึ่งไม่ได้ส่งผลดีต่อกระบวนการยุติธรรมแต่อย่างใด เนื่องจากโดยปกติแล้วเจ้าหน้าที่ควรได้ทำงานโดยปราศจากการชี้นำ

นอกจากนี้อาจทำให้ประเด็นที่ออกสื่อถูกทุ่มเททรัพยากรในการทำคดีมากกว่าคดีอื่น ๆ ที่มีความสำคัญเร่งด่วนกว่าด้วย

https://bbc.in/4fO8Taf