วันเสาร์, กันยายน 28, 2567

ชวนแกะรอยปฏิบัติการ "แทรกซึม" ของกองทัพไทย ในนามของความมั่นคงภายใน


เทวฤทธิ์ มณีฉาย - Bus Tewarit Maneechai
6 hours ago
·
[ ชวนแกะรอยปฏิบัติการ "แทรกซึม" ของกองทัพไทย ในนามของความมั่นคงภายใน ]
เป็นประเด็นร้อนในช่วงไม่นานมานี้สำหรับหนังสือ "ในนามของความมั่นคงภายใน การแทรกซึมสังคมของกองทัพไทย” โดย รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังถูกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ขอความร่วมมือระงับการจำหน่าย ก่อนจะถึงงานเปิดตัวหนังสือในอีกไม่กี่วัน
.
วันนี้ (27 ก.ย.67) ทีมงาน เทวฤทธิ์ มณีฉาย สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ได้ร่วมงานเปิดตัวหนังสือ "ในนามของความมั่นคงภายใน การแทรกซึมสังคมของกองทัพไทย” ซึ่งจัดขึ้นที่ห้องประชุมชั้น 13 ตึกเกษม อุทยานิน คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งงานดังกล่าวได้รับความสนใจจากนิสิต นักศึกษา ประชาชน และบุคคลในแวดวงการเมืองเข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก
.
กิจกรรมดังกล่าวมาพร้อมกับการเสวนา “ความมั่นคงภายใน: อำนาจของทหาร ภารกิจของประชาชน” เนื่องในโอกาสตีพิมพ์หนังสือ “ในนามของความมั่นคงภายใน การแทรกซึมสังคมของกองทัพไทย” ของ รศ.ดร.พวงทอง ดำเนินรายการโดย รศ.ดร. ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ งานเสวนามีหลากหลายประเด็นที่น่าสนใจ ซึ่งทีมงานจะขอสรุปสาระสำคัญไว้ดังนี้
.
ผศ.ดร.กรพินธุ์ พัวพันสวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าหนังสือเล่มนี้มีความโดดเด่นอยู่ 3 ประเด็น คือ การแสดงภาพกองทัพไทยในฐานะกลไกของรัฐในการแทรกซึม นำเสนอการตีความแนวคิดว่าด้วยการพัฒนาและความมั่นคงของมนุษย์ในลักษณะที่ไม่สอดคล้องกับหลักสากลของโลกร่วมสมัย และพลวัตทางอำนาจ การปรับตัวและเปลี่ยนแปลงของกองทัพไทย ที่สำคัญคือการศึกษาเรื่องอุดมการณ์และการสถาปนาอำนาจนำของกองทัพไทย ผ่านการตีแผ่เห็นการแทรกซึมทางสังคมของหน่วยงานนี้และกองทัพโดยรวม บทบาท ปฏิบัติการที่ครอบคลุมกิจการในวงกว้างไม่ใช่แค่ความมั่นคงแบบดั้งเดิม โครงการจำนวนมากที่ดูไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองถูกนับรวมเข้ากับกิจการภายในด้านความมั่นคง และมีความเข้มข้น หลากหลาย รุกคืบมากขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ยุคสงครามเย็นจนถึงยุคหลังรัฐประหาร 2549 ที่มาการใช้เครื่องมือทางไซเบอร์เข้ามา
.
ขณะเดียวกัน กองทัพยังใช้การพัฒนาเรื่องความมั่นคงมนุษย์แบบผิดฝาผิดตัว นำไปขยายอำนาจตนเอง นำการพัฒนาทางเศรษฐกิจไปเพื่อรักษาเสถียรภาพ จารีตประเพณี วัฒนธรรม ความเป็นไทย เอารัฐเป็นศูนย์กลางบนอุดมการณ์ชาตินิยม อนุรักษ์นิยม สวนทางกับแนวคิดเรื่องการพัฒนาโดยทั่วไป
.
ด้านธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ระบุว่าหนังสือเล่มนี้จะทำให้ประชาชนรู้ทันกองทัพ ให้รู้ว่ามีเบื้องหลังทางความคิดอย่างไร เชื่อมโยงปรากฏการณ์ต่าง ๆ เข้าด้วยกันให้เห็นว่าไม่ใช่เรื่องบังเอิญ หลาย ๆ โครงการของกองทัพควรเป็นของพลเรือน การกระทำเช่นนี้เป็นการแย่งชิงทรัพยากรจากหน่วยงานพลเรือนที่มีหน้าที่โดยตรง ประเด็นเศรษฐกิจ การเมือง สังคม กลายเป็นประเด็นของทหาร และใช้วิธีแก้ปัญหาแบบทหาร ความมั่นคงภายในกลายเป็นเรื่องสำคัญที่สุด สามารถอ้างชาติ ศาสน์ กษัตริย์ โดยที่ไม่มีใครสามารถตรวจสอบได้
.
ธนาธรชี้ว่า เมื่อรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน แถลงนโยบายต่อรัฐสภากลับไม่มีเรื่องยกเลิกเกณฑ์ทหารและปฏิรูปกองทัพเลย ทำเหมือนรัฐบาลก่อน ๆ หน้าตั้งแต่สมัยชวน หลีกภัย คือ เอาใจกองทัพอย่างออกนอกหน้า ก่อนหน้านี้ตอนที่พรรคก้าวไกลและเพื่อไทย ทำ MOU เรื่องวาระที่จะทำร่วมกันตอนเลือกประธานสภา ทั้งสองพรรคสัญญาจะแก้ไข พรบ. กฎอัยการศึก แก้ พรบ. จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหมให้พลเรือนมีสัดส่วนมากขึ้น และยุบ กอ.รมน. แต่รัฐบาลเศรษฐา กลับให้กฎหมายยุบ กอ.รมน. เป็นกฎหมายการเงินและปัดตก ทั้ง ๆ ที่การยุบ กอ.รมน. เป็นการลดงบ ไม่ใช่เพิ่ม
.
รศ.ดร. วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร นักวิชาการ National Graduate Institute for Policy Studies (GRIPS), Japan ตั้งคำถามว่ากองทัพทำงานด้วยอุดมการณ์หรือผลประโยชน์ ซึ่งวิธีพิสูจน์ง่ายมาก คือ กองทัพสามารถออกนโยบายที่กระทบหรือขัดแย้งกับผลประโยชน์ของตนได้หรือไม่ เช่น ช่วงเศรษฐกิจแย่กองทัพยอมลดงบตัวเองแค่ไหน
.
กองทัพเป็นสถาบันที่มั่นคงที่สุดแห่งหนึ่ง แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร กลไกสถาบันของกองทัพก็อยู่มา 50 – 60 ปี ดูได้จากการเปลี่ยนแปลงพันธมิตรไปเรื่อย ๆ เพื่อให้อยู่ได้ เชื่อในคนมากกว่าระบบ ไม่ว่ารัฐบาลเลือกตั้งหรือรัฐบาลทหารก็อยากใช้ กอ.รมน. เพราะเชื่อว่าจะส่งคนเข้าไปคุมได้ จึงไม่แก้ระบบอะไร ขณะที่ภาวะความเป็นสมัยใหม่จะเชื่อเรื่องสถาบันและระบบมากกว่าคน สังคมไทยไม่ใช่สังคมสมัยใหม่จึงมีความย้อนแย้ง อย่างไรก็ดี ในปี 2567 อัตรากำลังพลของ กอ.รมน. มี 46,000 คนจากอัตรากำลัง 49,000 คน ซึ่งใหญ่กว่ากระทรวง เราไม่อาจมอง กอ.รมน. แยกจากปัญหาของระบบราชการไทยทั้งระบบได้ จึงต้องมีการปฏิรูปราชการทั้งระบบเช่นกัน ซึ่งหน่วยราชการไม่ควรแข็งเกร็งมากหรือสืบทอดอำนาจกัน
.
ขณะที่ รศ.ดร.พวงทอง กล่าวเปิดใจถึงการเขียนหนังสือเล่มนี้ว่า สองอาทิตย์ที่ผ่านมาตนรู้สึกเหนือจริงมาก ไม่นึกว่างานของตนจะสร้างผลกระทบขนาดนี้ เพราะการวิจารณ์ กอ.รมน. เพิ่มขึ้นมากทั้งในและนอกสภา แต่ก็ไม่มีใครที่ กอ.รมน. จะสนใจขนาดออกมาเช่นนี้
.
เสรีภาพจากความกลัวและเสรีภาพทางเศรษฐกิจแยกกันไม่ได้ สังคมไทยยังเผชิญความกลัวตลอด ตนคิดว่าสังคมไทยเดินมาไกลแล้ว แต่สองอาทิตย์ที่ผ่านมาก็แสดงให้เห็นว่าไทยยังไม่พ้นสังคมแห่งความกลัว นักการเมืองที่อยากปฏิรูปกองทัพเมื่ออ่านแล้วจะเห็นอะไรใหม่ กองทัพต้องพิสูจน์ว่าทำเพื่ออุดมการณ์หรือผลประโยชน์ต้องทำด้วยการปฏิบัติ กองทัพต้องพิสูจน์ด้วยการตัดงบประมาณและโครงการที่ไม่จำเป็นและไม่มีประสิทธิภาพออกไปและให้หน่วยงานอื่นทำแทน เรื่องการตั้งอาสาต่าง ๆ ย่อมมีการใช้งบเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เป็นภาระทางภาษี ซึ่งหน่วยงานเหล่านี้เรียนรู้จาก กอ.รมน. และมักอ้างว่าไม่ใช่ภาระทางงบประมาณประจำปีและมีค่าใช้จ่ายต่อคนน้อยกว่าข้าราชการ แต่จำนวนก็เพิ่มขึ้นตลอดเวลาและตรวจสอบยากกว่า เป็นช่องทางทุจริตได้
.
ส่วนการที่ กอ.รมน. อ้างว่าตนไม่ใช้เอกสารราชการนั้น แท้จริงแล้วเอกสารที่ใช้มีทั้งเอกสารของ กอ.รมน. กองทัพ และหน่วยงานอื่น ๆ ที่ทำงานร่วมกันมากกว่าร้อยชิ้น เฉพาะบรรณานุกรมก็ยาว 28 หน้า ซึ่ง กอ.รมน. อ้างว่าตนไม่ยอมขอเอกสารราชการ แต่ขอยากมากและมักได้เอกสารที่ไม่มีประโยชน์ ถ้า กอ.รมน. อยากให้ตนได้ข้อมูลที่ถูกต้องก็เปิดเอกสารทั้งหมดให้ตนดู ตนใช้ข้อมูลที่ กอ.รมน. เอาขึ้นเว็บเองเพราะ กอ.รมน. มั่นใจในผลงานภาคพลเรือน
.
รศ.ดร.พวงทอง ระบุว่า กอ.รมน. ส่วนใหญ่เป็นทหาร การกำหนดว่าอะไรเป็นความมั่นคงและอะไรเป็นภัยคุกคามจึงเป็นวิธีคิดแบบทหาร ไม่สนใจคนเห็นต่างในระบอบประชาธิปไตย ควรใช้วิธีสนทนาและอธิบายไม่ใช่การฟ้องร้อง ตนยอมรับได้กับการอภิปรายอย่างเป็นเหตุเป็นผลในทางวิชาการ กองทัพไม่ใช่ปัจเจกชน แต่มีอำนาจ พล.ต.วินธัย พูดในฐานะหน่วยงาน ไม่ได้พูดฐานะส่วนบุคคล ทำให้ตนกังวล
.
ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่เรื่องของตนหรือหนังสือเล่มนี้ แต่เกี่ยวกับเสรีภาพทางวิชาการที่แย่ลงเรื่อย ๆ ใครที่จะทำวิจัยเรื่องกองทัพต้องถามตนเองเพราะเป็นพื้นที่หวงห้าม ต้องเสี่ยงเอาเอง ความกลัวคืบคลานเข้ามาในมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นพื้นที่สุดท้ายที่ควรถูกคุกความ จะปล่อยให้เป็นเช่นนี้หรือ ตนไม่ได้อยากให้ขายหนังสือได้เพราะเหตุนี้ หากมีนักวิชาการรุ่นใหม่คนไหนกล้าเสี่ยง ตนอยากให้ศึกษาบทบาทการทำงานของ กอ.รมน. ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
.
(ทีมงาน)