คนพิการอยู่ตรงไหนในการเมืองไทย?
2023-03-26
This Able.Me
23 มี.ค.ที่ผ่านมา เครือข่ายคนพิการและภาคีร่วมภาคประชาชน ร่วมกับ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม คณะเศรษฐศาสตร์ และสถาบันปฎิรูปประเทศไทย มหาวิทยาลัยรังสิต จัดเสวนาในหัวข้อเรื่อง “เวทีประชาชน คนพิการอยู่ไหนในการเมืองไทย” โดยเชิญกลุ่มคนพิการหลากหลายประเภทแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายพรรคการเมืองที่อยากเห็น ณ ห้องออดิทอเรียม อาคาร Student Center มหาวิทยาลัยรังสิต โดยมี กิตติพงศ์ สุทธิ ผู้อำนวยการสถาบันคนตาบอดแห่งชาติเพื่อการวิจัยและพัฒนา เป็นผู้ดำเนินรายการ
คนพิการต้องเข้าถึงผู้ช่วย
อรรถพล ศรีชิษณุวรานนท์ ผู้จัดการศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการพุทธมณฑล เสนอเรื่องบริการผู้ช่วยคนพิการหรือ Personal assistance (PA) โดยระบุว่า คนพิการทางร่างกายปี 2565 มีจำนวน 1,092,000 คน แต่งานวิจัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระบุว่า ปัจจุบันมีผู้ช่วยคนพิการ 1,571 คน เมื่อเฉลี่ยดูแล้วพบว่าผู้ช่วยคนพิการ 1 คนจะต้องดูแลคนพิการ 695 คน ทำให้เห็นภาพว่า จำนวนผู้ช่วยคนพิการไม่เพียงพอกับสถานการณ์ความเป็นจริง เมื่อจำนวนผู้ช่วยคนพิการน้อยก็ทำให้ปัญหายิ่งทวีคูณความรุนแรง เขายกตัวอย่างในจังหวัดนครปฐมทั้งจังหวัดที่มีผู้ช่วยคนพิการอยู่เพียง 7 คน
นอกจากนี้สถานการณ์ของผู้ช่วยคนพิการยังมีข้อจำกัดในเรื่องค่าตอบแทน โดยปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 50 บาทต่อชั่วโมงเท่านั้น อีกทั้งขั้นตอนขอใช้บริการผู้ช่วยคนพิการจากภาครัฐก็มีความซับซ้อนพอสมควร และเข้าถึงยากสำหรับคนพิการรุนแรง
อรรถพลเสนอว่า อาชีพผู้ช่วยคนพิการควรถูกยกระดับให้มีมาตรฐานและได้รับการยอมรับตามกฎหมาย เป็นแรงงานในระบบที่ได้รับสวัสดิการ มีการเพิ่มค่าตอบแทนที่เหมาะสม ต่อมาคือเรื่องของการลดขั้นตอนการขอบริการและเอกสาร ที่จะทำให้คนพิการเข้าถึงได้มากขึ้น เมื่อคนพิการสามารถเข้าถึงบริการผู้ช่วยคนพิการได้ก็จะลดภาระครอบครัว ทำให้ครอบครัวมีเวลาพักผ่อนหย่อนใจมากขึ้น และมีเวลาไปทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังลดแรงกดดันที่จะเกิดขึ้นกับตัวคนพิการได้
“สุดท้ายแล้วผมเชื่อว่า ควรมีการคัดสรรหรือสรรหาคนที่มีความเข้าอกเข้าใจในประเด็นคนพิการเข้าไปบริหารกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เพราะที่ผ่านมาคนพิการล้วนได้แต่สวัสดิการในเชิงสงเคราะห์ ทั้งที่ในระบอบประชาธิปไตย เรื่องเหล่านี้ควรเป็นสิทธิพื้นฐานที่ประชาชนคนพิการควรเข้าถึงได้”
คนหูหนวกต้องมีส่วนร่วมทางการเมือง
บุญเลิศ ฆนาพรวรกาญจน์ ตัวแทนจากสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย เสนอว่า ประเทศไทยควรสร้างการเรียนรู้ให้กับคนพิการในเรื่องกฎหมาย สังคม และการเมืองให้มากกว่านี้ โดยเฉพาะกับคนหูหนวก นอกจากนี้ยังอยากเห็นคนพิการเข้าไปอยู่ในพรรคการเมืองและมีบทบาทมากขึ้น
บุญเลิศอยากเห็นคนหูหนวกมีตำแหน่งทางการเมืองไม่ว่าจะเป็น ส.ส. ส.ว.หรือองค์กรส่วนท้องถิ่น อย่างองค์การบริหารส่วนตำบลหรือหน่วยงานระดับชาติอย่างคณะกรรมาธิการกิจการต่างๆ ภายในรัฐสภา เพื่อส่งเสริมนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของคนหูหนวกให้มากขึ้น
“ผมอยากให้ทุกคนเข้าถึงสิทธิคนพิการทุกประเภทอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อพัฒนาคนพิการได้อย่างเท่าเทียมกันยิ่งขึ้น”
อยากเห็นการแก้ปัญหาคนพิการที่โครงสร้าง
ไมตรี คงเรือง เลขาธิการสมาคมกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และนายกสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนศรีสังวาลย์ เริ่มด้วยการตั้งคำถามว่า ทำอย่างไรคนพิการจะสามารถเข้าถึงการศึกษาได้จริง แม้ปัจจุบันจะมีกฎหมายที่ระบุว่าคนพิการเรียนฟรี แต่ภาพความเป็นจริงกลับไม่ใช่ เนื่องจากคนพิการไปเรียนไม่ได้ หลายสถานศึกษาก็ไม่รับคนพิการเข้าเรียนเนื่องจากไม่มีทางลาด ไม่มีลิฟต์ ไม่มีเบรลล์บล็อก เขาจึงอยากเห็นพรรคการเมืองมีนโยบายแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม
ในประเด็นเรื่องของการจ้างงานคนพิการ ไมตรีเสนอว่า แม้วันนี้จะมีกฎหมายการจ้างงานคนพิการแต่คนพิการก็ยังมีเงื่อนไขในการดำรงชีวิตอยู่ เช่น การเดินทางไปทำงาน ค่าเดินทาง สำหรับเขาแล้วเขาไม่สนใจว่าพรรคการเมืองจะให้เงินคนพิการเท่าไหร่ เพราะอยากได้การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างมากกว่า
“ถ้าคนพิการมีการศึกษาที่ดี ก็จะนำไปสู่การมีคุณภาพงานที่ดี สิ่งนี้คือความยั่งยืนที่จะเกิดขึ้น”
สิทธิคนพิการควรทั่วถึง เป็นธรรมและมีคุณภาพ
ดร.คณิตย์ ฐามณี นักวิชาการด้านการศึกษาของคนพิการ นำเสนอว่านโยบายคนพิการควรทั่วถึง เป็นธรรมและมีคุณภาพ ทั่วถึงในที่นี้ก็คือทั้งเรื่องของประเภทความพิการและเรื่องของพื้นที่ รวมถึงความรุนแรงของความพิการด้วย เช่น การศึกษาของคนพิการรุนแรงที่ถูกผลักออกไปนอกระบบ ทั้งที่คนเหล่านี้ควรถูกรวมเข้ามาอยู่ในการศึกษารวมกับผู้อื่นและได้รับการสนับสนุนที่ถูกต้อง
ต่อมาเขาตั้งคำถามถึงเรื่องความเป็นธรรม ทำอย่างไรคนพิการจะเข้าถึงการศึกษาอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมกับคนอื่น ทำอย่างไรให้คนตาบอดสามารถอ่านหนังสือได้และรัฐจะทำอย่างไรให้คนตาบอดเข้าถึงได้มากขึ้น ขณะที่คนหูหนวกจำเป็นต้องใช้ล่ามเพื่อเข้าถึงสื่อ รัฐจะทำอย่างไรให้คนหูหนวกเข้าถึงล่ามได้เพราะทุกวันนี้มีจำนวนล่ามน้อย ส่วนคนนั่งวีลแชร์จะทำอย่างไรให้พวกเขาขึ้นไปเรียนตามอาคารเรียนได้ สิ่งสำคัญคือเราต้องไม่ผลักภาระให้เป็นปัญหาของคนพิการตามลำพัง
สุดท้ายคือการแก้ปัญหาต้องมีคุณภาพและยั่งยืน การศึกษาคือเรื่องที่ต้องทำไปตลอดชีวิตตั้งแต่แรกเกิดที่เผชิญความพิการ ยิ่งช่วยเร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีโอกาสในการพัฒนาทั้งในเรื่องของการศึกษาและคุณภาพชีวิตได้มากเท่านั้น
กฎหมายสิ่งอำนวยความสะดวกดีแล้วแต่ยังไม่ถูกปฏิบัติจริง
มานิตย์ อินทร์พิมพ์ นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิและความเท่าเทียม ภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ กล่าวว่ารัฐธรรมนูญของไทยระบุว่าสิทธิของทุกคนเท่าเทียมกัน เพราะฉะนั้นคนพิการควรได้รับความเท่าเทียมด้วย วันนี้ประเทศไทยมีกฎหมายเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคนพิการมากมาย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีแต่ปัญหาก็คือยังไม่เกิดขึ้นจริง ทางเท้า ป้ายรถเมล์สะพานลอย ก็ยังไม่เอื้ออำนวยให้แก่ประชาชนทุกกลุ่ม ยังมีวิถีชีวิตหลายอย่างที่คนพิการไม่สามารถทำได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาและกลุ่มเครือข่ายคนพิการจะต้องผลักดันต่อ
มานิตย์ ระบุว่าวันนี้หากมีพรรคการเมืองไหนสามารถทำเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกให้เกิดขึ้นจริงและทำให้คนพิการออกไปใช้ชีวิตได้ ตนก็จะสนับสนุนพรรคการเมืองนั้น
อยากให้เบี้ยความพิการ 1,000 บาท ถ้วนหน้าก่อน
สุชาติ โอวาทวรรณสกุล นายกสมาคมผู้ปกครองคนพิการทางสติปัญญาแห่งประเทศไทย ระบุว่า การจ้างงานคนพิการตามกฎหมายโดยภาครัฐ 17,000 ตำแหน่ง ตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบันมีจำนวนน้อยลง ปีแรก 24% ปีถัดมา 19% จนถึงปัจจุบันมีไม่ถึง 10% นี่เป็นสิ่งที่ภาครัฐควรทำแต่กลับไม่ทำ เอกชนทำแล้ว 90% ทุกปี จึงอยากให้พรรคการเมืองที่จะเข้าไปเป็นรัฐบาลผลักดันเรื่องนี้
เรื่องต่อมาที่เขาอยากเสนอคือเรื่องสลากกินแบ่งรัฐบาล วันนี้คนพิการหลายคนต้องไปซื้อจากพ่อค้าคนกลาง จึงอยากเสนอว่าเมื่อรัฐไม่จ้างงานคนพิการก็ขอให้เปลี่ยนเป็นโควต้าสลากได้หรือไม่ เพื่อให้คนพิการสามารถนำไปเป็นทุนในการค้าขายและมองว่าการค้าสลากเป็นอาชีพที่เหมาะสมกับคนพิการ
ในเรื่องของเบี้ยความพิการ เขาเห็นหลายพรรคการเมืองเสนอตัวเลข 3,000 บาทซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่สำหรับสมาคมคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทยอยากเสนอให้ปรับเบี้ยความพิการเป็นถ้วนหน้า 1,000 บาททุกคนก่อน เพราะเรียกร้องมา 4-5 ปีแล้วก็ยังไม่ได้
สุดท้ายคือเรื่องของการศึกษา เขาแลกเปลี่ยนว่า วันนี้คนพิการก็ยังไม่สามารถเข้าถึงได้ อยากเห็นระบบที่คล้ายกับการจ้างงานคนพิการ คือจัดให้เป็นโควต้า มีนักศึกษา 100 คนต้องรับคนพิการ 1 คน มหาวิทยาลัยและหน่วยงานการศึกษาต่างๆ จะได้บรรจุคนพิการเข้าไปอยู่ในนั้นด้วย วันนี้ลูกของเขาก็เพิ่งถูกมหาวิทยาลัยปฏิเสธ เราจะทำอย่างไรให้คนเหล่านี้เข้าถึงได้
นโยบายควรคิดโดยคนพิการเพื่อคนพิการ
ผศ.ดร. อรุณี ลิ้มมณี นักวิชาการและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิเด็กสตรี เสนอว่าวันนี้ผู้หญิงพิการเข้าไปมีบทบาทในสังคมมากขึ้นไม่ว่าจะเป็น ผู้บริหารมหาวิทยาลัย หรือคนขับเคลื่อนนโยบาย เป็นผู้บริหารองค์กรธุรกิจ เป็นนักวิชาการ และเป็นได้อีกหลายอย่างนอกเหนือบทบาทเป็นภรรยาและเป็นแม่อย่างที่หลายคนพยายามจำกัดบทบาท ฉะนั้นการนึกถึงทุกคนจึงสำคัญ
อรุณีเป็นประธานฝ่ายเด็ก สตรี ในสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย จึงได้เห็นว่าผู้หญิงพิการเป็นกลุ่มด้อยโอกาสในด้อยโอกาส ต้องยอมรับความจริงว่าผู้ชายพิการมีโอกาสที่มากกว่ากลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศหรือกลุ่มผู้หญิงเธอจึงอยากเห็นพรรคการเมืองให้ความสำคัญกับเรื่องนี้
สิ่งที่คนพิการเข้าไม่ถึงคือเรื่องของนโยบาย หลายนโยบายไม่สอดคล้องกับความต้องการของคนพิการจริงๆ สาเหตุมาจากคนพิการไม่ได้มีบทบาทในการทำนโยบาย ฉะนั้นนโยบายที่เกี่ยวข้องกับคนพิการควรมาจากคนพิการจริงๆ
2 ประเด็นสุดท้ายที่อยากขอฝาก อย่างแรกเธอตั้งคำถามเรื่องการเรียนรวม ทำไมเด็กพิการจึงต้องถูกแยกไปอยู่สถานสงเคราะห์หรือศูนย์เด็กพิการ ส่วนอีกเรื่องคือเบี้ยความพิการที่วันนี้รัฐแจกให้เฉพาะกับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีหรือต้องมีบัตรประชารัฐซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ไม่ทั่วถึง ก็ควรปรับให้ถ้วนหน้า
“ถึงเราจะไม่ได้เป็นเมียใครหรือเป็นแม่ใครแต่เราก็มีคุณค่า”
inclusive Society
วิจิตรา รชตะนันทิกุล นักวิชาการด้านการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กล่าวว่า คนพิการก็คือคนธรรมดาคนหนึ่งที่อยู่ในสังคม เพียงแต่มีข้อจำกัดจากสภาพทางร่างกายและสภาพแวดล้อม เธอสรุปประเด็นข้อเสนอของคนพิการในวันนี้ว่า Inclusive equality หรือไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังด้วยความเสมอภาคและเท่าเทียม เห็นว่าคนพิการไม่ได้ต้องการความช่วยเหลือ แต่ต้องการโอกาสและศักดิ์ศรี รวมถึงคุณค่าของตัวเอง
วิจิตราเสนอว่าการเสริมพลังเป็นสิ่งที่สำคัญ คือการเสริมสร้างคนพิการด้วยอาชีพและการมีงานทำ เราจะทำอย่างไรเพื่อส่งเสริมคนพิการให้กลายเป็นผู้ประกอบการเชิงสังคม พึ่งพาและเลี้ยงดูตัวเองได้ และนำรายได้เหล่านั้นกลับไปสู่การพัฒนาสังคม ถ้าพรรคการเมืองสนับสนุนคนพิการก็สามารถพึ่งพาตัวเองได้
ต่อมาคือการเฝ้าระวังเรื่องการถูกล่วงละเมิดทางเพศ การกระทำความรุนแรงและเลือกปฏิบัติในสังคมไทย เราทุกคนและทุกพรรคการเมืองต้องช่วยกัน โดยสร้างชุมชนและพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับครอบครัวและคนพิการ เธอเสนอให้ พรรคการเมืองปรับปรุง ปฏิรูปมาตรการกลไกในการคุ้มครอง และเฝ้าระวังคนพิการในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการร้องทุกข์ร้องเรียนกล่าวโทษ การฟื้นฟูเยียวยาและการช่วยเหลือจากทุกภาคีและทุกภาคส่วน
ข้อเสนอสุดท้ายคือเรื่องของ inclusive Society หรือเรื่องของการปฏิรูปสังคม รัฐบาลก่อนเคยเสนอเรื่องของการปฏิรูปสังคมไว้ 5 ประเด็น ประเด็นที่ 1. คือเรื่องการขึ้นทะเบียนคนพิการ ที่จำนวนคนพิการในความเป็นจริงมีมากกว่า 2 ล้านคนเราจะทำอย่างไรให้เข้าถึง ประเด็นที่ 2. คือเรื่องกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เราจะทำอย่างไรให้การใช้เงินในกองทุนเกิดประโยชน์สูงสุด ประเด็นที่ 3. คือเรื่องของการจ้างงานคนพิการ ทำอย่างไรจะให้มีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น เรื่องที่ 4. คือสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวก ไม่ว่าจะเป็นถนนหนทางรวมถึงเทคโนโลยี สุดท้ายคือเรื่องของการจัดสรรงบประมาณที่เป็นธรรม คือควรคำนึงให้ครบทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นเด็กสตรีและผู้ด้อยโอกาส อยากให้มีสัดส่วนเป็น 2% ของ GDP
ม.รังสิต จัด “เวทีประชาชนคนพิการอยู่ไหนในการเมืองไทย” | 23 มี.ค. 66
RSU Academic
Mar 28, 2023
ภาพบรรยากาศการจัดงานรับฟัง “เวทีประชาชนคนพิการอยู่ไหนในการเมืองไทย” พร้อมรับฟังมุมมองจากพรรคการเมือง ต่อประเด็นคนพิการ คุณภาพชีวิตและสิทธิของคนพิการ เมื่อวันที่ 23 มี.ค.66 ที่ผ่านมา ซึ่งจัดโดย เครือข่ายคนพิการและภาคีร่วมภาคประชาชน ร่วมกับ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม คณะเศรษฐศาสตร์ และสถาบันปฏิรูปประเทศไทย มหาวิทยาลัยรังสิต