ไข่แมวชีส
8h
“คำสั่งจากกำแพงวัง เสียงดังที่โลกต้องได้ยิน”
.4 เม.ย. 2566 ‘แมวส้ม’ รายงานวันนี้ว่า เมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา มีมวลชนอิสระยื่นหนังสือถึงผู้แทนองค์การสหประชาชาติ (UN) ประจำประเทศไทย กรณีที่ ‘หยก’ ธนลภย์ (สงวนนามสกุล) เยาวชนอายุ 15 ปี และ ‘หิน’ (นามสมมติ) เยาวชนอายุ 19 ปี ตกเป็นผู้ต้องหาคดีการเมือง และปัจจุบันถูกควบคุมตัวอยู่ในสถานพินิจ
.
นอกจากการยื่นหนังสือแล้ว มวลชนอิสระมีการแถลงข้อเท็จจริง เปิดเผยภาพการจับกุมซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมายของรัฐไทยที่ปฏิบัติกับเยาวชนทั้งสองคน และเปิดหลักฐานคลิปเสียงของ ‘นาย’ ที่สั่งมา
.
แมวส้ม รายงานว่า ล่าสุดทางมวลชนยื่นหนังสือผ่านระบบจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ หรืออีเมล
.
สำหรับ ‘หิน’ (นามสมมติ) อายุ 19 ปี (แต่ขณะเกิดเหตุอายุ 17 ปี) ถูกดำเนินคดีจากการปาลูกกระทบ 9 ครั้ง ระหว่างร่วมชุมนุมม็อบบริเวณราชปรารภเมื่อ 21 พ.ย. 2564 โดยหิน ถูกจับกุมตามหมายจับเมื่อช่วงกลางดึกของวันที่ 24 มี.ค. 2566
.
ก่อนที่วันถัดมา ตร.ส่งตัวหินไปที่ศาลเยาวชนฯ เพื่อที่ตรวจสอบการจับกุม และศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว ส่งผลให้หิน ถูกส่งตัวไปที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร
.
ปัจจุบัน หิน ถูกควบคุมมาแล้วเป็นเวลา 11 วัน ระหว่างวันที่ 25 มี.ค. จนถึง 4 เม.ย. 2566
.
ขณะที่ ‘หยก’ ธนลภย์ (สงวนนามสกุล) เยาวชนอายุ 15 ปี ถูกดำเนินคดีในข้อหา #มาตรา112 จากการแสดงออกทางการเมือง "#13ตุลาหวังว่าสายฝนจะพาล่องลอยไป" ที่ลานเสาชิงช้า เมื่อ 13 ต.ค. 2565 โดยมีอานนท์ กลิ่นแก้ว ประธานศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน ซึ่งเป็นกลุ่มเทิดทูนสถาบันกษัตริย์ เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ
.
ปัจจุบัน หยก ถูกควบคุมตัวที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนหญิงบ้านปรานี ภายใต้การดูแลของสถานพินิจ เมื่อ 28 มี.ค. 2566 หลังเธอปฏิเสธแต่งตั้งที่ปรึกษาทางกฎหมาย (ทนายความ) และใช้สิทธิประกันตัว เยาวชนอายุ 15 ปี ถูกควบคุมตัวเป็นระยะเวลารวม 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 29 มี.ค. จนถึง 4 เม.ย. 2566
.
ธนลภย์ ถือเป็นเยาวชนที่อายุน้อยที่สุดที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 โดยขณะเกิดเหตุเธอมีอายุเพียง 14 ปี 7 เดือนเศษเท่านั้น
ข้อมูลโดย ประชาไท
*อ่านแถลงการณ์เพิ่มเติม
เราคือผู้แทนนักกิจกรรม ขอรายงานสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงที่เกิดขึ้นกับเยาวชนในประเทศไทย กรณีของ ด.ญ. ธนลภย์ หรือ หยก เยาวชนวัย 15 ปี ที่ถูกจับกุมด้วยคดีหมิ่นประมาทอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในประเทศไทย บริเวณสถานีตำรวจนครบาลพระราชวัง ปัจจุบันเธอถูกคุมขังอยู่ในสถานพินิจบ้านปรานี จังหวัดนครปฐม
เหตุแห่งคดีคือ หยก ได้เข้าร่วมกิจกรรมแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ในวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสวรรคต ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร์ มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระมหากษัตริย์พระองค์ก่อน โดยหยกได้ใช้ชอล์กเขียนรายชื่อบุคคลผู้ถูกบังคับสูญหายหรือเสียชีวิตอย่างผิดปกติจากการแสดงออกทางความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ และต่อมา นายอานนท์ กลิ่นแก้ว บุคคลผู้สำคัญตนเองว่าเป็นประธานศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน ได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีต่อหยก ทำให้เธอมีหมายเรียกรับทราบข้อกล่าวหา โดยมีการนัดหมายกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า เธอและที่ปรึกษาทางกฎหมายจะเข้าพบตำรวจในวันที่ 9 เมษายน 2566 แต่เธอกลับถูกจับกุมก่อนอย่างผิดปกติตามกระบวนการ และถูกละเมิดสิทธิ์อย่างร้ายแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐไทย
“อ๋อง” เยาวชนอายุ 14 ปี เพื่อนของหยกได้อ่านแถลงการณ์ภาษาไทย “เวหา” เป็นผู้อ่านแถลงการณ์ภาษาอังกฤษ และนอกจากนั้น “บังเอิญ” นักกิจกรรมที่พ่นสีสเปรย์ที่กำแพงพระบรมมหาราชวังได้กล่าวถึงหยกด้วย
การแถลงการณ์ดังกล่าวเป็นการอ่านแถลงการตามรายงานที่ได้ส่งไปยังคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ที่นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส เพื่อขอความช่วยเหลือจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ พร้อมด้วยคณะทำงานต่างๆในกลไกสหประชาชาติว่าด้วยการพิทักษ์สิทธิเด็กและเยาวชน เข้ามาตรวจสอบการปฏิบัติของรัฐไทยโดยด่วน เพื่อไม่ให้กระบวนการยุติธรรมที่ดำเนินการกับเด็กและเยาวชน ถูกใช้อย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย และละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างร้ายแรง และขอเรียกร้องให้นานาชาติที่เป็นภาคีในกลไกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้ร่วมกันแสดงออกต่อรัฐบาลไทยถึงการกระทำที่ไม่ถูกต้องดังกล่าวด้วย เพื่อยืนยันจุดยืนของภาคีประเทศสมาชิกที่ยึดมั่นในสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
#saveหยก