“สงกรานต์”ที่ไม่ได้กลับบ้าน
เรื่อง/ภาพ โดย หมอกเตหว่า
14/04/2023
Transborder.news
“ผมไม่ได้กลับบ้านเป็นเวลา 3 ปีแล้ว แต่ปีนี้ผมก็ส่งเงินให้ครอบครัวเพื่อให้พวกเขานำไปใช้จ่ายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ คนที่ผมห่วงและคิดถึงที่สุดคือย่าของผม ท่านอายุมากแล้ว ปีนี้ท่านอายุ 86 ปี”โก่อ่องเท็ต หนุ่มวัย 24 ปีหน้าตาคมเข้มเชื้อสายพม่า กล่าวด้วยน้ำเสียงเรียบเฉย แต่แฝงด้วยความปวดร้าวในดวงตา
“ผมไม่รู้จะได้กลับไปหาท่านเมื่อไหร่ และไม่รู้ว่าที่ไหนคือบ้านในตอนนี้ ตั้งแต่เกิดรัฐประหาร ผมก็เหมือนคนไร้บ้าน”เขาพูดพร้อมกับชี้ให้ดูบาดแผลบริเวณหน้าผากและกลางหลังจากการถูกทรมานร่างกายโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารพม่า
โก่อ่องเท็ตเป็นเยาวชนอีกคนหนึ่งที่ถูกจับกุมหลังกองทัพพม่าตัดสินใจใช้วิธีปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงอย่างสันติในเมืองแห่งหนึ่งของรัฐฉาน แม้จะถูกจับเป็นระยะเวลาสั้นๆ เพียงไม่กี่ชั่วโมง และบาดแผลบนร่างกายหายแล้ว แต่บาดแผลทางใจยังคงทิ้งร่องรอยมาจนถึงทุกวันนี้
เขาเป็น 1 ในเยาวชนอีกหลายล้านคนในพม่าที่ชะตาชีวิตต้องพลิกผันและมองไม่เห็นอนาคตภายหลังเหตุการณ์รัฐประหารในพม่า ก่อนหน้าทหารยึดอำนาจ เขามีความฝันที่จะเป็นนักดนตรีมืออาชีพ
“ตอนที่ผมต้องเดินทางในพม่า ผมมักเหน็บมีดไว้ที่เอวเสมอ ถ้าเมื่อไหร่ที่ถูกจับ ผมจะใช้มีดเล่มนั้นฆ่าตัวเองตาย เพราะผมจะไม่ยอมถูกจับเป็นครั้งที่ 2 หากต้องตายจริงๆ ผมจะไม่ยอมตายด้วยน้ำมือของทหารพม่า ชีวิตผมมีค่ามากกว่าให้พวกเขามาฆ่าเล่น” เด็กหนุ่มกล่าวด้วยสีหน้าจริงจัง
เขาเล่าว่า ที่หนีออกมาจากคุกได้เพราะครอบครัวยอมจ่ายเงินก้อนโตใต้โต๊ะให้เจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อแลกกับอิสรภาพของเขา แม้จะออกมาจากคุกได้แต่เขาก็ไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวได้เหมือนเดิมอีกต่อไป เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารพม่าเข้าตรวจบ้านของเขาอยู่หลายครั้ง จนท้ายที่สุดเพื่อให้ครอบครัวปลอดภัยและไม่มีทางเลือกอื่น เขาจึงตัดสินใจเดินทางมายังชายแดนติดไทย เพื่อร่วมกับฝ่ายต่อต้านในฐานะเจ้าหน้าที่หน่วยคอมมานโด
“พวกเราถูกฝึกกันหนักมาก เช่น ต้องยืนอยู่ในน้ำนิ่งๆ เป็นเวลา 2 คืน ห้ามกิน ห้ามถ่าย เขาต้องการฝึกให้เราเป็นทหารที่สมบูรณ์แบบและแข็งแกร่ง ผมเปลี่ยนไปนับตั้งแต่ได้รับการฝึกในครั้งนั้น ไม่ว่าจะเจอสถานการณ์อะไร ผมก็อดทนได้” โก่อ่องเท็ตเล่าต่อว่า พวกเขาถูกฝึกให้มีจริยธรรมมากกว่าทหารพม่า เช่น ต้องปฏิบัติกับคนรอบข้างอย่างไรในสถานการณ์ที่อยู่แนวหน้าและแนวหลัง ซึ่งต่างจากทหารพม่าที่ถูกฝึกด้วยการใช้ความรุนแรง ถูกล้างสมองและฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชาเพียงอย่างเดียว เหมือนที่กองทัพพม่าทิ้งระเบิดใส่ชุมชน โรงเรียน คร่าชีวิตเด็กๆโดยไม่สะทกสะท้าน
เหตุการณ์ล่าสุดที่กองทัพพม่าอากาศพม่าโจมตีชาวบ้านในหมู่บ้านปะสิจี เขตสะกาย เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2566 จนทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 100 คน โก่อ่องเท็ตเล่าว่า เหตุการณ์นี้ทำให้ตัวเขาเองช็อค เป็นเหตุการณ์เศร้าสลดก่อนหน้าสงกรานต์เพียงไม่กี่วัน
“มันทำให้ผมนึกถึงตอนที่ผมถูกทหารพม่าทำร้ายทรมาน เหมือนความทรงจำมันกลับมาอีกครั้ง มันทั้งเจ็บใจและเสียใจกับคนที่ต้องมาเสียชีวิต ผมอยากจะตอบโต้กลับ” เขากล่าว
……
ขณะที่อีกด้านหนึ่งหญิงสาวชาติพันธุ์ “อินตา” พนมมือไหว้พ่อแม่ของเธอและรับพรจากหน้าจอมือถือด้วยท่าทีนอบน้อม นั่นคงเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่เธอได้ใช้เวลากับครอบครัวในเทศกาลสงกรานต์ปีนี้
“ฉันรดน้ำดำหัวพ่อแม่ทางวิดีโอคอล เพราะฉันและพี่น้องคนอื่นๆ ต่างอยู่กันคนละที่ ปล่อยให้พ่อแม่อยู่ลำพังที่รัฐฉาน และฉันก็อยู่ตามลำพังที่นี่ มันรู้สึกหวิวๆ อย่างบอกไม่ถูก ยิ่งในเทศกาลสงกรานต์เช่นนี้ ต่างบ้านต่างเมืองในปีแรก” เอ เอ หญิงสาวไกลบ้านกล่าวด้วยใบหน้าเศร้า
เธอเล่าว่า ปกติแล้วในช่วงเทศกาลตะจั่นหรือปีใหม่ของพม่า ซึ่งตรงกับเทศกาลสงกรานต์ของไทย เธอและครอบครัวจะอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา ไปวัดทำบุญ ทำขนมและอาหารกินที่บ้าน ถือเป็นช่วงเทศกาลที่สมาชิกครอบครัวไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็จะกลับมาเยี่ยมบ้าน แต่ปีนี้กลับต่างออกไป
แม้อยากจะกลับบ้านเพียงใดแต่ก็ทำไม่ได้ เพราะหากต้องกลับบ้านตอนนี้ พ่อแม่ของเธออาจต้องเผชิญกับสถานการณ์ยากลำบากมากขึ้นในการดำรงชีวิต เพราะ เอ เอ คือเสาหลักของบ้าน นอกจากต้องเลี้ยงดูพ่อแม่แล้ว ยังมีหลานกำพร้าแม่อีกสองคนที่เธอต้องเลี้ยงดู พี่สาวของเธอเสียชีวิตเมื่อสองปีก่อนหลังจากฉีดวัคซีนโควิด
แม้ เอ เอ จะไม่เคยเข้าร่วมในเหตุประท้วงหรือเคลื่อนไหวทางการเมืองใดๆ ก็ตาม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ชีวิตของเธอลำบากขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจซบเซานับตั้งแต่รัฐประหาร
เอ เอ ก็เป็นเด็กสาวคนหนึ่งในอีกหลายล้านคนจากพม่าที่ตัดสินใจเดินทางมาตายเอาดาบหน้าในประเทศเพื่อนบ้าน แม้จะรู้ว่าเสี่ยงที่จะหางานทำไม่ได้ หรือเสี่ยงที่จะถูกจับ หรือถูกนายหน้าหลอกก็ตาม
“ตอนที่ยังไม่ได้เอกสารบัตรแรงงาน ฉันอยู่อย่างหวาดระแวง ทุกๆ วัน เฝ้ารอว่าเมื่อไหร่จะได้เอกสาร เพราะฉันไม่อยากเป็นคนผิดกฎหมายในประเทศไทย ฉันไม่อยากถูกจับ ฉันอยากกลับบ้าน แต่คงไม่ใช่ตอนนี้ แต่ก็ไม่รู้ว่าอีกเมื่อไหร่” เอ เอ กล่าว
สาวน้อยมองบรรยากาศเล่นน้ำสงกรานต์ในประเทศเพื่อนบ้านตรงหน้าด้วยยิ้มเล็กๆ บางที บรรยากาศคึกคักอาจทำให้เธอพอหายคิดถึงครอบครัวได้ชั่วขณะ แต่เมื่อถามถึงแผนอนาคต เอ เอ ก็ยังไม่สามารถตอบได้ แต่สัญญากับตัวเองว่าจะตั้งใจเรียนภาษาและพัฒนาตัวเอง
ขณะที่โก่อ่องเท็ตกล่าวว่า อนาคตของเขาได้ถูกพรากไปตั้งแต่ทหารพม่ายึดอำนาจ
“ผมจะกลับมามีอนาคตอีกครั้งก็ต่อเมื่อกองทัพพม่าถูกโค่นล้มลงจากอำนาจ ผมมั่นใจว่า การปฏิวัติครั้งนี้ ประชาชนจะชนะ และไม่แน่สักวันหนึ่งผมจะได้กลับไปพบหน้าครอบครัว” โก่อ่องเท็ตกล่าว
สงกรานต์ในประเทศไทยคึกคักมาตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน ที่ถนนข้าวสาร กทม.มีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศเล่นน้ำสงกรานต์อย่างเนืองแน่น จนเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องประกาศให้ยุติการท่องเที่ยวหลัง 22.00 น. เพราะกลัวจะเกิดจลาจล เช่นเดียวกับหลายแหล่งท่องเที่ยวในไทยที่มีนักท่องเที่ยวออกมาเล่นน้ำสงกรานต์กันอย่างคึกคัก รวมทั้งเข้าวัดทำบุญตักบาตร
แต่ในมุมๆ หนึ่งของสังคมไทยยังมีคนอย่างโก่อ่องเท็ต และเอ เอ อีกนับหมื่นนับแสนชีวิตที่ทำได้เพียง “คิดถึงสงกรานต์ที่บ้านเกิด”
.....
Paskorn Jumlongrach
3d
คนที่ไม่ได้กลับบ้าน
ในวันสงกรานต์
——-
วันก่อนกองทัพพม่า
ทิ้งระเบิดใส่หมู่บ้านเขตสะกาย
ทำให้มีผู้เสียชีวิตนับร้อย
ทำให้เกิดปฏิกริยากว้างและลึก
การที่กองทัพพม่าโจมตีโดยไม่แยกแยะ
ไม่คำนึงถึงความเสียหายของพลเรือน
สะท้อนสถานการณ์ “เลือดเข้าตา”
ชวนให้วิเคราะห์ความเปราะบาง
ที่น่าสนใจคือ
สายสัมพันธ์ระหว่าง พล.อ.มินอ่องหลาย
กับผู้นำไทยและผู้นำกองทัพ
กำลังเป็นประเด็นที่ชวนเจาะลึก
ทั้งในเรื่องผลประโยชน์แห่งตน-พรรคพวก
และผลประโยชน์ส่วนรวม
ในขณะที่ประชาชนหลายแสนจากฝั่งพม่า
หนีภัยทั้งการเมือง/สงคราม/เศรษฐกิจ
ข้ามมาอยู่ประเทศไทย
ในวันที่สังคมไทยกำลังคึกคักด้วยสงกรานต์
คนกลุ่มหนึ่งที่เป็นเครือญาติที่มาหลบพักอาศัย
กลับไม่มีโอกาสร่วมฉลองกับครอบครัว
(อ่านรายละเอียด
https://transbordernews.in.th/home/?p=33728 )
บทบาทของประเทศไทยมีผลอย่างยิ่ง
กับประชาชนในพม่านับล้าน
ดังนั้นความสัมพันธ์ส่วนตัวของเหล่าผู้นำ
ต้องไม่เกินเลยและมากกว่ามิตรภาพ
ของประชาชนสองฝั่งแดน
หลังเหตุการณ์รัฐประหารในเมียนมา ชีวิตความเป็นไปของผู้คนที่นั่นกลายเป็นเรื่องเร้นลับ แทบไม่ปรากฏต่อสื่อมวลชนกระแสหลักในโลก คนทำหนังรุ่นเยาว์จำนวนหนึ่งซึ่งไม่เปิดเผยนามจึงขอทำหนังเรื่องนี้ออกมาถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านั้น#MyanmarDiaries
— HOUSE SAMYAN (@houseSamyan) April 17, 2023
20 เมษายน #พฤหัสนี้ ในโรงภาพยนตร์ #HouseSAMYAN pic.twitter.com/bTsUsuI7Tw