วันพุธ, เมษายน 19, 2566

'ไทยรัฐดีเบตเลือกตั้ง'66': เช็กจุดยืน 10 พรรคการเมืองต่อมาตรา 112


'ไทยรัฐดีเบตเลือกตั้ง'66': เช็กจุดยืน 10 พรรคการเมืองต่อมาตรา 112

19 เม.ย. 2566
ประชาไท

เช็กจุดยืน 10 พรรคการเมือง เรื่อง ม.112 ผ่านรายการ "ไทยรัฐดีเบตเลือกตั้ง'66" มี 3 พรรคมอง ม.112 ไม่มีปัญหาทุกมิติ ได้แก่ ภูมิใจไทย พปชร. และ รทสช. ที่เหลือมองมีปัญหาเรื่องการบังคับใช้และ/หรือตัวบทกฎหมาย พร้อมเสนอวิธีการแก้ไขที่หลากหลาย

18 เม.ย. 2566 รายการ ไทยรัฐดีเบตเลือกตั้ง’66 ประชันวิสัยทัศน์และจุดยืนทางการเมือง ออกอากาศทางช่องยูทูบ ‘Thairath TV’ โดยมี จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ ในช่วงท้ายของรายการมีการหยิบยกประเด็นจุดยืนของแต่ละพรรคการเมืองต่อกฎหมายมาตรา 112 ขึ้นมาพูดคุยกันในรายการ

พรรคการเมืองที่มาร่วมรายการของไทยรัฐ มีจำนวน 10 พรรค ส่วนใหญ่เป็นหัวหน้าพรรคมาเองหลายพรรค ประกอบด้วย
  • สุดารัตน์ เกยุราพันธ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย ย้ำต้องมีกฎหมายคุ้มครองประมุข เพิ่มบทลงโทษคนที่ใช้ กม.กลั่นแกล้ง
  • พรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดช ตัวแทนพรรคเพื่อไทย ชงเข้าสภา หาทางออกร่วมกันอย่างสันติวิธี
  • เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย แยกอาฆาตมาดร้ายออกมา ย้ำต้องมีกฎหมายคุ้มครองประมุข
  • สุวัจน์ ลิปตพัลลภ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า เสนอตั้ง คกก.พิเศษดูแลเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย
  • พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เสนอแก้ 4 ประเด็น
  • พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ตัวแทนพรรคภูมิใจไทย มองมาตรา 112 ไม่มีปัญหา
  • จุติ ไกรฤกษ์ ตัวแทนพรรครวมไทยสร้างชาติ มองมาตรา 112 ไม่มีปัญหา ที่มีปัญหา เพราะคนเข้าไปมีปัญหาเอง
  • ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ตัวแทนพรรคพลังประชารัฐ มองมาตรา 112 ไม่ใช่คดีการเมือง ไม่มีปัญหา กษัตริย์อยู่เหนือการเมือง
  • จุรินทร์ ลักษณวิศิฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่ามีปัญหาเรื่องการบังคับใช้ แต่ไม่ยกเลิก ไม่เห็นด้วยที่ให้สำนักพระราชวังเป็นตัวแทนฟ้อง
  • วราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ชงทำประชามติแก้มาตรา 112
เบื้องต้น ผู้ดำเนินรายการ ได้สอบถามทางพรรคการเมืองแต่ละพรรคว่า ใครมีจุดยืนแบบใดบ้าง โดยแบ่งเป็นพรรคการเมืองที่มองว่า มาตรา 112 ไม่ต้องแก้ไข/ยกเลิก ได้แก่ พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ

ขณะที่พรรคที่เหลือมองว่า มาตรา 112 มีปัญหาเรื่องการบังคับใช้และ/หรือตัวบทกฎหมาย แต่มีวิธีการแก้ไขปัญหาที่หลากหลาย

3 พรรคมองมาตรา 112 ไม่มีปัญหา

พลังประชารัฐ: ม.112 ไม่มีปัญหา-ไม่ใช่คดีการเมือง

เริ่มที่พรรคที่ไม่มีปัญหากับมาตรา112 โดยส่วนใหญ่พรรคเหล่านี้มองว่า มาตรา 112 ไม่มีปัญหาในทุกมิติ และมองว่าสถาบันกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง

ขณะที่ชัยวุฒิ มองเพิ่มว่า คดีมาตรา 112 ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคดีการเมือง ไม่ใช่คดีการเมือง แต่มีบางคน หรือนักการเมือง นำมาใช้เป็นคดีการเมือง เนื่องจากถูกนำไปใช้โดยนักการเมือง และมองว่าในอดีต มาตรา 112 นี้ไม่เคยมีปัญหา แต่เพิ่งมามีปัญหายุคนี้เท่านั้น

ชัยวุฒิ ยืนยันว่า ไม่ใช่คดีการเมือง และไม่มีภาครัฐกลั่นแกล้งประชาชนอยู่แล้ว มีแต่ให้ความรู้และความเข้าใจ ภาครัฐสืบพบว่ามันมีขบวนการยุยงปลุกปั่น และคำวิจารณ์มันแรงมาก เจ้าหน้าที่ก็ดำเนินคดีตามหน้าที่เท่านั้นเพื่อรักษาสถาบันสูงสุดของชาติ ดังนั้น มันไม่ใช่การเมือง แต่มีนักการเมืองกลุ่มหนึ่งเข้าไปยุ่งเลยกลายเป็นคดีการเมือง
 
ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์

ภูมิใจไทย: ม.112 ไม่มีปัญหาทุกมิติ-สถาบันกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง

พุทธิพงษ์ ปุณกัน ตัวแทนพรรคภูมิใจไทย ระบุว่า ในส่วนของพรรคภูมิใจไทย เรามีความรู้สึกว่าในเรื่องมาตรา 112 ไม่มีอะไรที่เป็นปัญหา

"นั่นคือสิ่งที่ภูมิใจไทย มองว่ามาตรา 112 ไม่ใช่เป็นปัญหาสำหรับประชาชน แล้วเราบอกแล้วว่า ระบบการปกครองของประเทศเรา เราเชื่อว่าพระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง" ตัวแทนภูมิใจไทย กล่าว
 
รวมไทยสร้างชาติ: ม.112 ไม่มีปัญหา ที่มีปัญหาเพราะคนเข้าไปมีปัญหาเอง

จุติ ไกรฤกษ์ พรรครวมไทยสร้างชาติ ระบุว่า ประเด็นแรก ประเทศไทยอยู่มา 700 ปี เพราะชาติ ศาสนา และกษัตริย์ ประเด็นที่ 2 คือ ถ้าไม่อยากคัน อย่าเข้าดงหมามุ่ย หรือไม่มีใครเขาอยากให้ไปมีปัญหา อยากเข้าไปมีปัญหาเอง และก็ไปโทษคนอื่นเขา
 
7 พรรคการเมืองมองมีปัญหา การบังคับใช้/ตัวบทกฎหมาย

ก้าวไกล: เสนอแก้ 4 ประเด็น

พรรคก้าวไกล นำโดยพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เสนอแก้ปัญหากฎหมายมาตรา 112 จำนวน 4 ประเด็นหลัก คือ 1. แก้ไขเรื่องโทษจำคุก 3-15 ปี เท่ากับข้อหา ฆ่าคนโดยไม่เจตนา ลดลงเหลือ 1 ปี เนื่องจากแต่เดิมโทษสูงเกินไป

2. คนฟ้องร้องไม่ใช่ใครก็ได้ แต่ต้องเป็นสำนักราชเลขาฯ หรือสำนักพระราชวัง เป็นตัวแทนฟ้องร้อง 3. แทนที่จะอยู่ในหมวดของความมั่นคง มันทำให้ดุลยพินิจและการบังคับใช้ของศาลมีปัญหา ก็ต้องแยกออกมา และ 4. ถ้าเป็นการตั้งคำถามโดยสุจริตใจ ไม่ได้เป็นการอาฆาตมาดร้าย ไม่ควรถูกฟ้องมาตรา 112

ประชาธิปัตย์: เห็นว่ามีปัญหาเรื่องการบังคับใช้ แต่ไม่ยกเลิก ไม่เห็นด้วยที่ให้สำนักพระราชวังเป็นตัวแทนฟ้อง

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มองว่า มาตรา 112 ยังเป็นเรื่องจำเป็น เพราะเป็นบทบัญญัติที่ว่าด้วยการคุ้มครองประมุขของประเทศ ซึ่งหลายประเทศก็มีเหมือนกัน และมองว่าไทยก็ยังควรมีกฎหมายคุ้มครองประมุขประเทศเหมือนกัน

ส่วนเรื่องปัญหาเรื่องการบังคับใช้ จุรินทร์ มองว่า ถ้ามาตรา 112 มีปัญหาเรื่องการบังคับใช้ ให้แก้ไขที่การบังคับใช้ แต่ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกกฎหมาย

ท้ายสุด จุรินทร์ ไม่เห็นด้วยว่า การดำเนินคดีมาตรา 112 จะต้องให้สำนักพระราชวัง หรือสำนักพระราชเลขาธิการ เป็นคนฟ้องร้อง ถ้าเป็นแบบนี้ถือว่าเป็นการนำเอาพระมหากษัตริย์ไปชนกับประชาชนโดยไม่จำเป็น

อย่างไรก็ตาม ในประเด็นที่มีหลายพรรคการเมืองระบุว่า ต่างประเทศก็มีกฎหมายคุ้มครองประมุขทุกประเทศนั้น ทางพรรคก้าวไกลมองว่า อย่างน้อย ที่ญี่ปุ่นไม่ได้มีกฎหมายคุ้มครองหมิ่นประมาทเฉพะประมุข เพราะประชาชนและจักรพรรดิญี่ปุ่นใช้กฎหมายตัวเดียวกัน


จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

ชาติไทยพัฒนา: ชงแก้มาตรา 112 ผ่านประชามติทั่วประเทศ

วราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา เสนอว่าวิธีแก้ปัญหาการบังคับใช้หรือตัวบทกฎหมายของมาตรา 112 ผ่านกลไกประชามติถามคนทั้งประเทศว่าต้องการแก้ไขแบบไหน เนื่องจากเกี่ยวข้องประชาชนทุกคน และสถาบันอันเป็นที่รักของคนไทย

"อยากถามคนไทยทั้งประเทศเลยว่า 112 อยากจะไปในทิศทางไหน" วราวุธ กล่าว

เพื่อไทย: เสนอนำไปคุยกันในรัฐสภา หาทางออกร่วมอย่างสันติวิธี

พรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดช ตัวแทนพรรคเพื่อไทย มองว่า การนำเรื่องแก้ไขมาตรา 112 เข้าไปคุยในสภา เพราะเป็นการแก้ไขความขัดแย้งในสังคมอย่างสันติวิธี และมองว่าไม่ต้องถึงขนาดทำประชามติอย่างที่พรรคชาติไทยพัฒนาเสนอ เพราะสามารถให้ ส.ส. ไปรับฟังเสียงของประชาชน เพื่อนำมาพูดในสภา หาทางออกร่วมกัน

เสรีรวมไทย: ชงแยก อาฆาตมาดร้าย ออกจากหมิ่นประมาท แต่เห็นว่ายังต้องมีกฎหมายคุ้มครองประมุข

เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย แสดงวิสัยทัศน์แก้ไขตัวบทกฎหมาย มาตรา 112 เอาเรื่องดูหมิ่นประมาท และอาฆาตมาดร้าย แยกออกจากกัน โดยคงโทษอาฆาตมาดร้าย จำคุกสูงสุด 15 ปี เหมือนเดิม งั้นมาตรา 112 จะเหลือแค่ดูหมิ่น โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ซึ่งได้ประโยชน์ทั้งสถาบันพระมหากษัตริย์ และประชาชน แต่ทางพรรคยืนยันว่าต้องมีกฎหมายป้องกันหมิ่นประมาทประมุขของรัฐ
 
ไทยสร้างไทย: เห็นด้วยต้องมีกฎหมายคุ้มครองประมุข ชงเรื่องเข้าสภา เพิ่มโทษคนฟ้องกลั่นแกล้ง

สุดารัตน์ เกยุราพันธ์ุ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย ระบุว่า เบื้องต้น เธอเห็นด้วยกับแนวคิดของเสรีพิสุทธ์ ต้องมีกฎหมายคุ้มครองพระมหากษัตริย์ ส่วนเรื่องที่กฎหมายมีปัญหา เสนอว่าให้เข้าไปคุยกันในสภา เพื่อรับฟังความเห็นอย่างรอบด้าน ทั้งคนรุ่นใหม่ หรือเด็ก ต้องมาคุยกันด้วยเหตุผล เพื่อนำมาสู่การหาทางออกร่วมกัน

สุดารัตน์ เสนออีกประเด็นคือ เรื่องการกำหนดโทษสำหรับบุคคลที่ใช้กฎหมายทำร้ายผู้อื่น เพราะว่าเห็นแตกต่างทางการเมืองและไปยัดข้อหา และคนเหล่านี้เท่ากับดึงให้สถาบันตกต่ำลงมา คนที่ทำพฤติกรรมแบบนี้ต้องมีโทษมากกว่าคนอื่นด้วย


สุดารัตน์ เกยุราพันธ์ุ

ชาติพัฒนากล้า: ไม่มีนโยบายแก้มาตรา 112 ชงตั้ง คกก.พิเศษ ดูแลเรื่องการบังคับใช้

สุวัจน์ ลิปตพัลลภ พรรคชาติพัฒนากล้า ระบุว่า ไม่มีนโยบายแก้ไขมาตรา 112 แต่ถ้าเกิดการบังคับใช้กฎหมายนำไปสู่ความไม่เป็นธรรม หรือนำไปเป็นเครื่องมือทางการเมือง ก็ต้องมีการพิจารณา

สุวัจน์ อ้างอิงข้อเสนอของอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ที่เคยเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และนายกรัฐมนตรี ให้มีการตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นมาคณะหนึ่ง ประกอบด้วย บุคคลหลายฝ่ายไม่ใช่เพียงตำรวจ และอัยการ เพื่อมาดูแลให้เกิดความรอบคอบและความเป็นธรรมในการบังคับใช้กฎหมายมาตรา 112


สุวัจน์ ลิปตพัลลภ