วันพฤหัสบดี, เมษายน 13, 2566

บันทึกก่อนกลับบ้าน : สงกรานต์ 2023 ‘ที่นี่หมอชิต’ มีใครชอบสถานีขนส่งหมอชิตบ้างไหม



บันทึกก่อนกลับบ้าน : สงกรานต์ 2023 ‘ที่นี่หมอชิต’

by nandialogue
updated on 12/04/2023

มันไม่ง่าย แบบที่จะบอกว่า–เกลียดก็ไม่ต้องมา

หลายเรื่องซับซ้อนเกินกว่าจะใช้อารมณ์ตัดสินเร็วๆ เอาแต่ใจ ถ้าเลือกได้ ใครก็อยากทำแบบนั้นแหละ แต่พอมันไม่ใช่ มันเป็นเงื่อนไขที่เกี่ยวกับโครงสร้าง นโยบาย เกี่ยวกับสายตาและหัวใจของรัฐ ต่อให้เราอึดอัด รังเกียจ กระทั่งเลือกไม่ได้ มันก็ต้องตั้งสติ ค่อยๆ เรียบเรียงพิจารณา เพื่อไม่ให้ตัวเองคลั่งบ้าไปเสียก่อนความเปลี่ยนแปลงจะเดินทางมาถึง

ยกมือให้ดูหน่อยสิ มีใครชอบสถานีขนส่งหมอชิตบ้างไหม

มีใครไม่เดือดร้อน ไม่ขยะแขยงหรือรู้สึกสมเพช



ทั้งที่รู้นิสัยลูกชาย รู้และไม่ก้าวก่ายกดดัน แต่แม่ก็โทรฯ ถาม–เป็นยังไง..

‘เป็นยังไง’ ของแม่แปลว่าสงกรานต์กลับบ้านหรือเปล่า ปกติแม่ไม่โทรฯ ไม่ทวงอะไรหรอก แต่นี่มันงานใหญ่ เชื่อมโยงหลายคนในครอบครัว ไม่นับว่าลูกหลานบ้านอื่นๆ เขาก็อยู่พร้อมหน้า เดินทางมาพบเจอถามไถ่ทุกข์สุขประจำปี

ลูกอยู่ทาง พ่อแม่อยู่อีกที่ ไม่มีบ้านไหนกินนอนร่วมชายคาครบทุกคน ใช่ว่าไม่อยาก แต่อย่างที่รู้ เงินมันอยู่ที่กรุงเทพฯ งาน การศึกษา โอกาส สนาม ศูนย์กลางทุกสิ่งทุกอย่างอยู่เมืองหลวง ถ้าไม่เข้ามาปะทะเรียนรู้กับยอดฝีมือ ไม่เคยขึ้นเวทีใหญ่ ก็โง่เง่าห่างไกลอยู่หลังเขา

ชั่วๆ ดีๆ ปีใหม่และสงกรานต์ ก็เป็นสองวาระค่านิยมสำคัญที่บังคับกลายๆ ให้ลูกชายลูกสาวไกลบ้านต้องคืนถิ่น

คนเป็นล้าน รถและถนนมีเท่านั้น พอทุกคนเข้าออกพร้อมกันมันก็วิกฤติ



รากเหง้าเงานรกแห่งวิกฤติคือกระจุก ทุกอำนาจกลไกรวมศูนย์อยู่ที่เดียวในกรุง ตลอดระยะ 40-50 ปีที่ผ่านมา การกระจายอำนาจมีน้อยเกินกว่าจะนับ น้อยในระดับที่เหมือนไม่มี พอไม่กระจาย นโยบายเรื่อง ‘คนเท่ากัน’ อ่อน ดูดรับแต่ทรัพยากร ไม่สร้างความเจริญ เศรษฐกิจ มหาวิทยาลัย ให้ทั่วถึงครอบคลุมในต่างจังหวัด ที่สุดเมืองหลวงก็บวมเน่า ไม่น่าอยู่

เน่าแค่ไหน หลักฐานง่ายๆ เราดูได้ที่ด่านหน้าหรือประตูเข้าออก

จากเมือง ไปหมอชิตทุกครั้งผมรู้สึกเหมือนถูกขับไล่

จากชนบท เข้ากรุงคราใดมันมีเซนส์ที่สัมผัสได้ว่าเมืองใหญ่เมืองนี้เขาไม่ต้อนรับ

อาการเน่าหมักหมมที่ว่ามาจากการบริหารผิดพลาด หรือแท้จริงหมอชิตคือภาพสะท้อนของความจงใจ ?

เป็นคำประกาศว่าผู้มีอำนาจไม่เคยเห็นหัวอ้ายอีบ้านนอกพวกนั้น ?



มืด

เหม็น

สกปรก

รกร้าง

ป้ายบอกทางสับสน

ถนนเฉอะแฉะ

มันเหมือนสลัมมากกว่าศูนย์กลางการขนส่งขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ

กว่าสิบปีที่ผมมาใช้บริการ สิ่งที่พบเห็นคือความแย่ที่แย่ได้อีก แย่อย่างต่อเนื่อง แย่ไม่แคร์การเปลี่ยนแปลงใดๆ ในโลก มันเหลือเชื่อ ไม่น่าเป็นไปได้ แต่ลองไปดูด้วยตาสักครั้ง ไปดูๆ คือขนาดคนมากประสบการณ์ ร่างกายแข็งแรงปกติ เดินเข้าออกหมอชิตมาไม่รู้กี่ครั้ง แต่ทุกครั้งก็ยังงง ลงรถมามึนๆ เบลอๆ ฟ้ายังไม่สว่าง เป็นใครก็ต้องเคว้งคว้างว่าหนทางที่เราจะไปอยู่ตรงไหน ไม่มีอะไรเอื้ออำนวยความสะดวก ไม่ฟังก์ชัน คลุมเครือ มีกลิ่นอายอบอวลอยู่โดยรอบว่าไม่ปลอดภัย ระมัดระวังแล้วก็ยังเหมือนน้อยไป กังวล สองมือกอดกระเป๋า สายตามองหาว่าเราควรเดินไปทางไหน



สถานีขนส่งสายอีสาน สายเหนือ แน่นอนว่าผู้มาใช้บริการมากที่สุดคือคนเหนือ คนอีสาน (คนใต้ คนกรุงเทพฯ และชาวต่างชาติก็มาช่วยใช้ แต่น้อยกว่าในอัตราส่วนที่คงเทียบกันไม่ได้)

เหนือและอีสานในความหมายหนึ่ง ความหมายอันหนีไม่พ้น ไม่ว่ายุคสมัยใดคือความจน ความด้อยโอกาส ซึ่งเราอาจถกเถียงกันได้อีกยาว ว่าไอ้สภาพที่จน ที่ด้อยโอกาสนั้นเพราะพวกเขาและเธอ ‘เป็น’ หรือ ‘ถูกทำให้เป็น’ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมองคนไม่เท่ากัน นโยบายกระจุกและการรวบอำนาจไว้ที่ศูนย์กลางกรุงเทพฯ ส่งผลกระทบมากน้อยแค่ไหน

จนจริงๆ แต่หาสาเหตุได้ถูกต้องชัดเจนบ้างหรือยัง เหนืออื่นใด ลงมือแก้ไขบ้างหรือเปล่า

ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส. จังหวัดน่าน ให้ข้อมูลว่ารายได้เฉลี่ยต่อปีต่อคนของพลเมืองน่านอยู่ที่ 7.8 หมื่นบาท

ใครๆ ก็รู้ก็เห็นว่าจน จนทำไมไม่แก้ งบประมาณบริหารราชการแผ่นดินก้อนใหญ่ตกอยู่กับใคร คำถามนี้ตอบง่ายดายและตรวจสอบได้ภายในนาทีเดียว ถามว่าทำไมเงินมันกองอยู่ตรงนั้นอย่างแข็งกร้าวยาวนาน เอ่อ.. ดูเหมือนชนชั้นนำไทยเขาไม่ค่อยชอบให้ถามเท่าไร ใครแหลมมาก กล้ามาก ก็จับไปติดคุก และคนที่ติดคุก คนถูกไล่ฆ่าจำนวนมากก็มาจากภาคเหนือภาคอีสาน

นี่หรือคือการตอบแทนแรงงานหลักที่ขับเคลื่อนกรุงเทพฯ



“วางกระเป๋าไว้ตรงนี้แหละ ไว้ใจได้” คนเฝ้าห้องน้ำส่งเสียง ระหว่างรับเงิน

เวลาขณะนั้นตีสี่กว่าๆ ยังไม่ตีห้า บรรยากาศมืดๆ ทึมๆ เปลี่ยว มองหาความปลอดภัยไม่เห็น ใครมันจะกล้าวาง ยิ่งพูดยิ่งต้องกอดกระเป๋าแน่นเดินเข้าไปปลดทุกข์

ทำให้ดีกว่านี้ก็ได้มั้ย ความสะอาดและสะดวกสบายของห้องน้ำ เช่นเดียวกับร้านรวงต่างๆ ที่นั่งรอ สถานีกับการรอคอยคือแสงและเงาของกันและกันอย่างไม่ต้องสงสัย ทำไมเขาไม่ยกสิ่งนี้เป็น priority แรกๆ สร้างที่นั่งที่รอให้รู้สึกสบาย จะมากจะน้อย การรอคอยคือความทรมานอยู่แล้ว นี่ยังถูกเพิ่มด้วยความโกรธเกลียดประเทศ สุดท้ายก็สมเพชตัวเอง

รอ รอ และรอ ความจริงที่เลี่ยงไม่ได้เลยของสถานีขนส่งคือการรอ ยิ่งช่วงเทศกาลยิ่งรอนาน ทุกคนรู้อยู่แล้วว่าต้องรอ ทำไมไม่หาวิธีย่นย่อ ทำไมไม่คิดจะทำให้การรอคอยเป็นโอกาสสร้างความรู้ สุขภาพ ความบันเทิง ฯลฯ

ใกล้เลือกตั้งใหม่ ฝากนักการเมืองใหม่ๆ ลองไปดูด้วยตัวเองเถอะ ดูและรีบคิด เพราะสภาพหมอชิตวันนี้พูดได้เลยว่า ‘นรกกับสลัม’ เท่านั้นจริงๆ

ประตูทางเข้าและทางออกอันเป็นความหมายที่แท้คล้ายถูกปิด เรียกชื่อหมอชิต แต่สภาพคล้ายคนไข้โคม่า ไปทุกครั้งก็ได้แต่บอกตัวเองว่าพอแล้ว พอเถอะ ครั้งสุดท้ายนะ แต่จะให้หนีไปไหน ก็ในเมื่อมันเป็นประตู



ขนส่งสาธารณะในเมืองไทยมีรถไฟ รถทัวร์ เครื่องบิน พอมีทางเลือกอยู่ แต่ไม่ครอบคลุม หลายจังหวัดมีทางเลือกเดียวคือรถทัวร์ (รถตู้) ช่วงเทศกาลซึ่งรับรู้กันว่านรกคูณสอง บางคนพร้อมจ่ายแพง อยากหนี แต่พร้อมก็ใช่ว่านาทีนั้นจะมีทางเลือก

โดยสรุป รังเกียจแค่ไหนก็ไปไม่พ้นหมอชิต

รวยหรือจนก็หนีไม่พ้นหมอชิต

บางคนเลือกที่จะไปรอในศูนย์วิภาวดี (เช่น ลูกค้าของสมบัติทัวร์) เย็นกว่าแน่ๆ สะดวกสบายกว่าแน่ๆ แต่ก็ทำได้บางครั้ง เพราะบริษัทรถทัวร์เหล่านั้นไม่ใช่ศูนย์กลางขนส่งมวลชน จะต่อรถเมล์สายนั้นสายนี้ก็ไม่มีให้ต่อเชื่อม ไม่ครอบคลุมเท่าหมอชิต อย่าว่าอย่างนั้นอย่างนี้เลย แม้แต่หมอชิตเองก็ยังไม่ครอบคลุม หลังๆ สังเกตว่ารถเมล์หายไปหลายสาย ยังไม่นับว่ารถไฟฟ้าและรถใต้ดินก็ไม่รู้ทะเลาะอะไรกัน ทำไมถึงดึงมาเชื่อมโดยตรงไม่ได้ ต้องให้เดิน ให้ไต่ปีนข้ามสะพานลอยสูงๆ เพื่อต่อรถเมล์ซึ่งคนหนุ่มสาวยังเหนื่อย ประสาอะไรกับร่างกายวัยชรา

ถามอีกที ก็ในเมื่อมันมีอยู่ใช้อยู่ ทำไมเราไม่ศัลยกรรมทำให้หมอชิตน่าใช้



ผลร้ายที่เกิดขึ้นต่อหน้า เกิดขึ้นมานาน พอขนส่งสาธารณะพิกลพิการ ไม่รับใช้ ไม่ตอบโจทย์ คนจำนวนไม่น้อยก็หนีไปซื้อรถยนต์ส่วนตัว ใครจะบ้านั่งรอวันตาย เห็นๆ อยู่ว่าทางเลือกเก่าไม่ดี ก็ต้องหาทางเลือกใหม่

ปัญหาใหม่ๆ ก็เกิดขึ้นตามมาคือรถติด มลพิษล้นเมือง

เช่นเดียวกับปัญหาหนี้สินซึ่งหลายรายผูกแล้วหาทางแก้ไขไม่ได้ ก็เคร่งเครียดบานปลายก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ไม่ว่าสัมพันธภาพในครอบครัว ยาเสพติด กระทั่งโจรกรรมฉกชิงวิ่งราว เพียงจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่เอาอยู่ ทำได้ ทำให้ดีก็ทำได้ ครั้นพอละเลย ไม่ปรับแก้ ยิ่งนานวันเรื่องเล็กๆ ที่ว่าก็ยิ่งลุกลามแพร่เชื้อร้าย สุดท้ายบ้านเมืองที่รักของเราก็กลายเป็นสังคมที่ไม่น่าอยู่



ในร้านข้าวแกง หน้าสถานีขนส่งจังหวัดน่าน (สะอาด เป็นมิตร น่าใช้บริการกว่าหมอชิตร้อยเท่า) มีเสียงคนคุยกันเรื่องราคาตั๋วเครื่องบินหน้าเทศกาล

“โอ้โฮ”

“บ้าไปแล้ว”

“ไม่ไหว”

“ตายๆๆๆ”

“ยอม”

นั่งตักข้าวแกงอยู่โต๊ะใกล้กัน แม้ไม่รู้ชื่อแซ่ ความเป็นมาหรือหน้าที่การงาน แต่เดาได้ว่าเงินในกระเป๋าของเราไม่ต่างกัน ตั๋วเครื่องบินราคาขนาดนั้นเก็บไว้เป็นค่าเทอมลูกหลานดีกว่า ยอมนั่งหลังขดหลังแข็งเหนื่อยหน่อยก็ช่างมัน

ใช่, Now Everyone Can Fly แต่มันอาจไม่ใช่วันนี้



ตัวคนเดียวมันไม่ยากหรอก เป็นผู้ชาย เวลา 3-4 ชั่วโมง นานยังไงก็พอหาที่ลง หาวิธีจับจ่ายใช้ให้เกิดประโยชน์ แต่บางคนเขามีลูกเล็ก คุณเคยมีหรือเปล่า คุณอาจไม่เคย แต่ทุกคนย่อมเคยผ่านการเป็นเด็ก นึกออก เข้าใจได้ว่าวัยเยาว์ต้องได้รับการปกป้องคุ้มครองที่มีประสิทธิภาพ

ผมเคยอุ้มลูกขึ้นรถเมล์ เด็กวัยไม่กี่เดือนในอ้อมกอด บนรถเมล์สาย 70 ที่ไม่มีใครลุกขึ้น หรือสละที่นั่งให้เลย

ไม่เป็นไร ผมเพียงแต่จะบอกว่าบางครั้งทั้งที่อยากเลือก ทุกคนอยากเป็นฝ่ายเลือกทั้งนั้น เพียงแต่บางทีชีวิตมันก็ตกอยู่ในวันเวลาและสถานการณ์ที่เลือกไม่ได้ นาทีและชั่วโมงเหล่านี้เรารู้และน้อมรับชะตากรรม ในทางส่วนตัวมันช่วยไม่ได้ เป็นปัญหาทางใจที่เราต่างต้องหาคำอธิบายเพื่อก้าวผ่านและเติบโตไปตามเส้นทางของแต่ละคน ประเด็นก็คือมนุษย์เรามีมิติทางสังคม เราอยู่กันหลายฝ่าย หลายศรัทธาความเชื่อ ฐานะทางเศรษฐกิจและการศึกษาซึ่งไม่ว่าจะอย่างไร ทุกฝ่ายพึงควรได้รับโอกาสในการมีชีวิตที่ดี โดยเฉพาะเด็กๆ พวกเขาและเธอไม่เกี่ยวข้องอะไรด้วยหรอกกับประวัติศาสตร์หรือเลือดเนื้อตัวตน ‘หมอชิต’ แต่ในความน่าจะเป็น เขาและเธอไม่ควรเติบโตขึ้นมาแบบเด็กหญิงคนหนึ่งในอ้อมแขนพ่อซึ่งไม่รู้จะไปหาที่นั่งรอตรงไหน รออีกยาวนานเท่าไร กว่ารถโดยสารคันนั้นจะเรียกขึ้นประจำที่นั่ง พาลัดเลาะออกจากเมืองหลวงถึงบ้านชนบท

‘สถานีขนส่ง’ กับ ‘สลัม’ แตกต่างกัน มันไม่ควรถูกทิ้งขว้าง-ไม่ไยดี จนถึงวันที่ชักเริ่มแยกแยะไม่ออก

‘คนจน’ กับ ‘ที่อยู่ที่ยืนและโอกาสในการมีชีวิตที่ดี’ ไม่ควรเป็นเหมือนทางคู่ขนานที่เวลาผ่านไปเท่าไรก็แตะมือกันไม่ถึงสักที



เสก โลโซ บอกว่า–
ป่านนี้จะเป็นอย่างไร จากมาไกลแสนนาน คิดถึง คิดถึงบ้าน จากมาตั้งนาน เมื่อไรจะได้กลับ
แม่จ๋า แม่รู้บ้างมั้ย ว่าดวงใจดวงนี้เป็นห่วง จากลูกน้อยที่แม่ห่วงหวง อยู่เมืองหลวงศิวิไลซ์ ไกลบ้านเรา
คิดถึงแม่ขึ้นมา น้ำตามันก็ไหล อยากกลับไปซบลงที่ตรงตักแม่..

เสือ ธนพล บอกว่า–
ตะวันจะค่ำลง ใจกลับห่วงหา บ้านที่ฉันไกล จากมาลับตา ป่านนี้อยู่ดีอย่างไร
อยู่ในเมืองวุ่นวาย เบื่อหน่ายชีวิต หลับตาถอนใจ อยากจะหนีไกลให้พ้น เหมือนคนหมดไฟ
คืนนี้ฟ้าไร้ดาวมืดมน เหมือนดังคนไม่มีที่ไป ใจฉันคิดขึ้นมาเมื่อไร น้ำตาเอ่อทุกที..

ลูกชายลูกสาว บ้าน การพลัดพราก ความเปลี่ยวเหงาในเมืองใหญ่ ฯลฯ ทุกเดือนทุกปี ยังมีเรื่องเล่าในบทเพลงอีกมากมายที่เปลือยปัญหาและปลอบประโลมผู้คนที่ตกที่นั่งเดียวกัน

ที่หมอชิต ก่อนขึ้นรถกลับบ้าน ผมรู้สึกอย่างที่บอกว่าเหมือนถูกขับไล่ คล้ายๆ มันมีเซนส์ของการไม่ต้อนรับ รู้สึกแบบนี้มานาน ทั้งที่มันเป็นศูนย์กลางทางผ่านของแรงงานสำคัญของประเทศ แปลกดีที่คุณหมอคนนี้ไม่มีไมตรีกับคนไข้หรือผู้ใช้บริการเลย มันอาจเป็นภาพสะท้อนของความจงใจหรือเปล่า จงใจทำให้จน จงใจทำให้เจ็บ จงใจยกเท้าเหยียบกดเอาไว้ไม่ให้ลืมตาอ้าปากด้วยคาถาชาติภพ บาปบุญ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ศูนย์รวมจิตใจ

ระหว่างเรา-ในหมู่คนเหนือคนอีสาน มันอาจถึงเวลาฉีกรื้อกฎเหล็กและเรื่องเล่าเก่าที่ ‘ถูกทำให้เป็น’ แล้วแสวงหาช่องทาง โอกาส และคำตอบใหม่ๆ แน่ละ, คงไม่ไหลออกมาง่ายๆ เท่าสมัยเมื่อครั้งเป็นผู้โดยสารขาเข้า แต่บาดแผลซ้ำซากบังคับให้เราต้องมองหาทางออก.

เรื่องและภาพ วรพจน์ พันธุ์พงศ์