Patani NOTES
March 31
ครั้งแรก: 29 พรรคการเมืองร่วมให้สัญญาสนับสนุนกระบวนการสันติภาพเป็นวาระแห่งชาติ
.
รวมทั้งสนับสนุนการกระจายอำนาจ จะไม่พยายามจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย ผลักดันให้ประชาชนได้ลงประชามติว่าต้องการแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่สนับสนุนสิทธิมนุษยชน ด้านนักวิชาการแนะวิธีประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการเลือกตั้งผ่านช่องทางที่กลุ่มองค์กรต่างๆกำลังเตรียมกันอย่างคึกคัก
.
สัญญาจากพรรคการเมืองดังกล่าวนี้ผ่านการลงนามโดยพิธีที่หลายฝ่ายจับมือกันจัดขึ้นเมื่อวันที่ 29 มีค.ที่ผ่านมา คณะผู้ร่วมจัดมีภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย มูลนิธิสันติภาพและวัฒนธรรม มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม เครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งปี 2566 กลุ่ม WeWatch กลุ่ม WeVis มูลนิธิปรีดี พนมยงค์และสถาบันปรีดี พนมยงค์ ศูนย์ประสานงานเพื่อการพูดคุยเชิงมนุษยธรรม โครงการผู้หญิงผู้นำทางการเมือง โคแฟค (ประเทศไทย) สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสภาองค์กรของผู้บริโภค
.
บรรดาตัวแทนพรรคการเมืองในงานได้ลงนามในเอกสารสองฉบับคือ “สัญญาที่พรรคการเมืองขอให้ไว้แก่ประชาชน พศ.2566” อันเป็นการให้คำมั่นกับประชาชนกำหนดแนวทางการทำงานการเมือง ซึ่งมีพรรคการเมืองร่วมลงนามในตัวสัญญาฉบับนี้ 29 พรรคด้วยกัน ประกอบด้วยพรรคใหญ่แทบทุกพรรคยกเว้นพรรครวมไทยสร้างชาติและพรรคพลังประชารัฐ
.
เอกสารอีกฉบับที่ร่วมลงนามกันแต่ในจำนวนพรรคที่มากกว่าคือ 32 พรรคซึ่งรวมทั้งตัวแทนคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือกกต.คือเอกสาร “จรรยาบรรณในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พศ.2566” ซึ่งเป็นการให้คำมั่นในเรื่องของแนวทางการหาเสียงในการเลือกตั้ง ผู้จัดเปิดเผยว่าได้ส่งคำเชิญไปยังทุกพรรคที่จดทะเบียนซึ่งรวมแล้วราว 80 พรรค อย่างไรก็ตามยืนยันว่าพรรคการเมืองที่ยังไม่ได้ลงนาม สามารถร่วมลงนามได้ในหนึ่งสัปดาห์หลังจากที่มีการจัดพิธีแล้ว ในงานนอกจากภาคประชาสังคม สื่อมวลชน ยังมีตัวแทนจากสถานทูต ผู้นำศาสนาเข้าร่วมเป็นพยานด้วย
.
ประเด็นสำคัญใน "สัญญาที่พรรคการเมืองขอให้ไว้แก่ประชาชน พศ.2566” คือพรรคที่ลงนามจะไม่พยายามจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย ร่วมมือกันให้มีการลงประชามติว่าประชาชนต้องการให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ สนับสนุนกระบวนการสันติภาพภาคใต้ให้เป็นวาระแห่งชาติ สนับสนุนการกระจายอำนาจ ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ไม่ให้ข้าราชการการเมืองที่เป็นสมาชิกใช้อำนาจในทางไม่ชอบให้คุณให้โทษแก่ผู้สมัครสส.และสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ
.
ส่วนเนื้อหาสำคัญของจรรยาบรรณในการหาเสียงคือการเคารพในกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ไม่ทุจริตซื้อเสียง ไม่ใช้กลไกหรือทรัพยากรของรัฐในการหาเสียง หาเสียงอย่างสร้างสรรค์และด้วยสันติวิธี คำนึงถึงความละเอียดอ่อนและหลากหลายทางเพศ ไม่ปลุกเร้าความเกลียดชัง ไม่ข่มขู่ใช้ข่าวปลอม ลดทอนคุณค่าเชิงอัตลักษณ์ และธำรงไว้ซึ่งความน่าเชื่อถือของพรรคการเมืองในฐานะสถาบันการเมือง นำเสนอนโยบายที่มาจากการมีส่วนร่วมของสมาชิกและประชาชนและรับผิดชอบต่อนโยบายนั้น รายละเอียดของเอกสารสองฉบับปรากฎตามท้ายข่าวนี้
.
ดร เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช แห่งสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยอธิบายเพิ่มเติมกับ Patani NOTES ว่า ประเด็นเรื่องการสนับสนุนให้กระบวนการสันติภาพสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นวาระแห่งชาตินี้ก็เช่นเดียวกันกับอีกหลายประเด็นที่อยู่ในสัญญา คือเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายนำเสนอผ่านการแลกเปลี่ยนและเสวนากันในช่วงสามสี่ปีที่ผ่านมา การที่สถานการณ์ในจชต.ไม่นิ่งทำให้ประเด็นนี้อยู่ในความสนใจของทั้งพรรคการเมืองและภาคประชาสังคม พรรคการเมืองให้ความเห็นพ้องว่าไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาลก็ตามจะต้องร่วมกันผลักดันประเด็นนี้
.
ดร.เอกพันธุ์ระบุว่า สัญญาที่พรรคการเมืองให้ไว้กับประชาชนจะเป็นหลักการที่ช่วยดึงการเมืองให้กลับเข้ารูปเข้ารอย “มันเป็นหลักที่ประเทศเราละทิ้งมาพักหนึ่งแล้วหลังจากที่ถูกแทรกแซงทางการเมืองผ่านการรัฐประหาร” โดยเฉพาะหลักที่ว่าเมื่อประชาชนเลือกผู้แทน ผู้แทนมีหน้าที่ไปเลือกผู้บริหารประเทศ แต่อำนาจนี้กลับถูกโยนไปให้สว. สัญญาที่ลง
นามกันนี้จะช่วยให้พกม.กลับไปยึดหลักการประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา ดังนั้นเรื่องสำคัญคือพรรคการเมืองให้คำมั่นกันไว้ว่าจะไม่เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยนั่นเอง และเชื่อว่าเรื่องนี้จะเป็นการส่งสัญญานให้กับสว.ว่าแม้รัฐธรรมนูญจะให้อำนาจสว.เอาไว้ แต่ก็ควรจะตระหนักถึงหลักการข้อนี้เช่นกัน
.
เมื่อถามถึงความคาดหวังต่อการทำงานของกกต. ดร.เอกพันธุ์ให้ความเห็นว่ากกต.เป็นที่คาดหวังว่าจะจัดการเลือกตั้งให้ได้ดีและเป็นธรรม อย่างน้อยผู้สมัครต้องมีเสรีภาพในการหาเสียง สามารถนำความจริงหลายอย่างมาเปิดเผยได้ และต้องไม่มีการเลือกปฎิบัติ กล่าวคือกกต.ต้องทำหน้าที่เป็นทั้งกรรมการและจัดพื้นที่ให้แต่ละฝ่่ายสามารถจะทำกิจกรรมทางการเมืองได้โดยถูกข่มขู่คุกคาม เพราะไม่เช่นนั้นจะนำไปสู่ปัญหาว่าผู้คนจะไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งถ้ากระบวนการไม่ดีหรือไม่โปร่งใส พร้อมกับชี้ว่าการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือในการลดความขัดแย้งของสังคมถ้าทำได้อย่างเป็นธรรมแต่ถ้าไม่เช่นนั้นมันจะกลายเป็นชนวนของความขัดแย้งเสียเอง ดังนั้นการจัดการเลือกตั้งต้องมีมาตรฐานและไม่ใช่เพียงมาตรฐานของตนเองแต่ต้องเป็นมาตรฐานที่สอดคล้องกับนานาประเทศที่ใช้ระบอบประชาธิปไตย
.
ยังมีหลายประเด็นที่กกต.ควรให้ความสนใจ ดร.เอกพันธุ์ยกตัวอย่างเช่นการดูแลในเรื่องสิทธิพลเมือง ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งมีความหลากหลาย แต่ละกลุ่มได้รับการดูแลให้มีการเข้าถึงได้ดีพอหรือไม่เช่นกลุ่มคนพิการ คนอยู่ไกล คนป่วยในสถานพยาบาลเป็นต้น หรือเรื่องความเท่าเทียมกันในการใช้สิทธิ เช่นเรื่องความถูกต้องแม่นยำของบัญชีผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง การแบ่งเขตเลือกตั้งที่ดูจำนวนประชากรต้องทำแบบไหนจึงจะเป็นธรรม การนับคะแนนโปร่งใสหรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้ยังขึ้นอยู่กับว่ากกต.เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมผ่านการสังเกตการณ์การเลือกตั้งแค่ไหน อันที่จริงแล้วกระบวนการทุกขั้นตอนของเลือกตั้งต้องโปร่งใส ประชาชนเห็นได้ เช่นหน่วยเลือกตั้งและกระบวนการ ประชาชนสามารถถ่ายรูปเป็นหลักฐานได้ยกเว้นในการลงคะแนนของแต่ละคนเท่านั้น บางครั้งแม้แต่จนท.หน่วยเลือกตั้งเองบางคนยังไม่เข้าใจจุดนี้และห้ามหมดทุกเรื่องส่งผลต่อการมีส่วนร่วมสังเกตการณ์ของประชาชน เป็นเรื่องที่กกต.ควรทำความเข้าใจกับจนท.
.
ดร.เอกพันธุ์ให้ความเห็นอีกว่า สิ่งที่ประชาชนจะช่วยได้เพื่อให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรมโปร่งใสก็คือเข้ามีส่วนร่วมในการตรวจสอบซึ่งขณะนี้มีกลุ่มองค์กรจำนวนมากเข้าร่วมกันเป็นภาคีเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการเลือกตั้ง มีตั้งแต่ระดับง่ายๆเช่นเมื่อไปลงคะแนนในหน่วยเลือกตั้งของตัวเอง ในช่วงที่นับคะแนนเสร็จให้ช่วยกันถ่ายรูปกระดานนับคะแนนที่แสดงผลการนับคะแนนเรียบร้อยแล้ว แล้วนำไปอัพโหลดในแอพพลิเคชั่น Vote62 พร้อมแจ้งว่าเป็นของหน่วยใด นอกจากนี้อาจช่วยรายงานปัญหาความผิดปกติในระดับที่ไม่ยากมากนัก เช่นพบเห็นการจ่ายเงิน การรวบรวมบัตร ฯลฯ ก็ให้ถ่ายรูปและอัพโหลดในแอพพลิเคชั่นของกลุ่มที่รวบรวมเรื่องนี้ ซึ่งกลุ่มไอลอว์ iLaw กับอีกสองหน่วยงานกำลังทำแอพพลิเคชั่น ถัดจากนั้นยังอาจไปเป็นอาสาสมัครสังเกตการณ์การเลือกตั้งซึ่งจะมีการฝึกอบรมเสริมความรู้และไปสังเกตการณ์พร้อมเขียนรายงานด้วย
.
รายละเอียดของสัญญา
1. เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาล เมื่อมีเสียงสนับสนุนรวมกันเกินกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับกลุ่มของพรรคการเมืองที่มีเสียงรวมกันไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาฯ
2. เมื่อร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล จะนำนโยบายที่แต่ละพรรคใช้ในการหาเสียงมาบูรณาการกันอย่างจริงจัง และให้ความสำคัญแก่นโยบายร่วมกันนี้
3. จะร่วมมือกับทุกพรรคการเมืองในการดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติ เพื่อถามประชาชนว่าเห็นด้วยกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ร่างโดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนหรือไม่
4. จะสนับสนุนให้กระบวนการพูดคุยสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นวาระแห่งชาติภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ เพื่อให้บรรลุข้อตกลงของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ด้วยความเคารพซึ่งกันและกัน
5. จะดำเนินนโยบายการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรชุมชนมีอำนาจการตัดสินใจในเรื่องของท้องถิ่นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และจะพิจารณาโอนงาน งบประมาณ และบุคลากร จากราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคไปสู่ราชการส่วนท้องถิ่นมากขึ้นอย่างพอเพียง
6. จะส่งเสริมสิทธิมนุษยชน และส่งเสริมการรวมกลุ่มของประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำในทุกด้าน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ โดยมีนโยบายการดูแลผู้ด้อยโอกาสและผู้สูงอายุ รวมทั้งการสร้างแรงจูงใจในการออม และสนับสนุนให้แรงงานนอกระบบทุกกลุ่ม รวมถึงลูกจ้างส่วนราชการและลูกจ้างทำงานบ้าน เข้าสู่ระบบประกันสังคมอย่างทั่วถึง
7. กำกับดูแลไม่ให้สมาชิกที่เป็นราชการการเมืองใช้ตำแหน่งหน้าที่ในทางไม่ชอบ เพื่อให้คุณหรือโทษแก่ผู้สมัคร ส.ส. และให้เคารพความเป็นกลางของข้าราชการประจำ
8. จะสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ให้ผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศได้เป็นผู้นำทางการเมือง ผู้สมัคร ส.ส. ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และผู้บริหารพรรคการเมืองให้สัดส่วนที่เพิ่มขึ้น
.
ส่วนจรรยาบรรณในการหาเสียงระบุว่าพรรคการเมืองจะ
1) เคารพและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายเลือกตั้ง กฎหมายพรรคการเมือง ระเบียบ ประกาศและคำสั่งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง
2) ไม่กระทำการใดๆที่ทุจริต ไม่ซื้อเสียง ไม่ใช้กลไกหรือทรัพยากรของรัฐในการหาเสียง
3) หาเสียงอย่างสร้างสรรค์และด้วยสันติวิธี คำนึงถึงความละเอียดอ่อนและหลากหลายทางเพศ ไม่สร้างความหวาดกลัวใช้่ความรุนแรงและไม่รบกวนการหาเสียงของพรรคอื่น
4) ปฏิเสธและไม่สนับสนุนการปลุกเร้าความเกลียดชัง ความรุนแรงและการใส่ร้ายผู้อื่นด้วยความเท็จทำให้ผู้อื่นเสื่อมเสียชื่อเสียง ไม่ข่มขู่ใช้การกระทำที่หยาบคาย ใช้ข่าวปลอม ลดทอนคุณค่าเชิงอัตลักษณ์ เผยแพร่ข้อมูลด้วยวิธีการหลอกลวง
5) ธำรงไว้ซึ่งความน่าเชื่อถือของพรรคการเมืองในฐานะสถาบันการเมืองที่สำคัญ นำเสนอนโยบายที่มาจากการมีส่วนร่วมของสมาชิกและประชาชน และรับผิดชอบต่อนโยบายที่เสนอนั้น
นอกจากนี้ผู้แทนพรรคการเมืองยังให้คำมั่นว่าจะปฏิบัติตามแนวทางการหาเสียงเลือกตั้งที่ระบุในภาคผนวกว่าด้วยการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างมีความรับผิดชอบ และเรื่องการหาเสียงที่เป็นมิตรต่อผู้หญิงและบุคคลทุกเพศสภาพ
.
ภาคผนวก 1 ระบุว่า ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง สื่อสังคมออนไลน์ต้องเป็นพื้นที่ของการสื่อสารที่ปลอดภัย สร้างสรรค์ ดังนั้น0พรรคการเมือง ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ตลอดจนผู้สนับสนุนพรรคการเมืองจะต้องไม่กระทำและไม่วางเฉยต่อพฤติกรรมและกลวิธีทางสื่อสังคมออนไลน์ที่เป็นอันตราย ได้แก่ การใช้ข้อมูลบิดเบือน, การลดทอนคุณค่าเชิงอัตลักษณ์, การยั่วยุปลุกปั่นที่มุ่งร้ายให้เกิดความรุนแรงต่อผู้อื่น, การข่มขู่คุกคามและการจงใจรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคล, การใช้ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารด้วยการใช้เครือข่ายบัญชีผู้ใช้งาน, การแอบอ้างเป็นบุคคลอื่น, การระดมแจ้งผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ให้ถอดถอนเนื้อหาของผู้อื่น และการใช้วิธีการทางกฎหมายเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองแอบแฝง
ภาคผนวก 2 ระบุถึงข้อพึงปฏิบัติในการหาเสียงเลือกตั้งที่คำนึงถึงผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศ ได้แก่ ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพในการหาเสียงให้แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งหญิง, ไม่ใช้ข้อความหรือวาทกรรมที่ดูถูก เหยียดหยาม หรือลดทอนคุณค่าและศักดิ์ศรีของผู้สมัครรับเลือกตั้งด้วยเหตุแห่งอายุหรือรูปลักษณ์ภายนอกของผู้หญิงและบุคคลทุกเพศสภาพ, ไม่ใช้วิธีการสร้างข่าวลวง ข่าวเท็จ ข้อความที่บิดเบือน แสดงความเกลียดชัง หรือข่มขู่ใช้ความรุนแรงต่อผู้แข่งขันทางการเมือง ไม่ว่าทางกายภาพหรือทางสื่อสังคมออนไลน์
.
#เลือกตั้งกับสามจังหวัดภาคใต้
#สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
#เลือกตั้ง66
#กระบวนการสันติภาพ