วันอังคาร, เมษายน 11, 2566

13 ปีการสังหารคนเสื้อแดง ขบวนการยุติธรรมไทยมีปัญหา ประเทศไทยต้องยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ


Puangthong Pawakapan
17h

13 ปีการสังหารคนเสื้อแดง
ความยุติธรรมที่ถูกทำให้ล่าช้าคือความอยุติธรรม (Justice delayed is justice denied.) ประโยคนี้มักถูกใช้โจมตีฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามคนเสื้อแดงในปี 2553 นั่นคือรัฐบาลนายอภิสิทธิ์-สุเทพและผู้นำกองทัพ รวมทั้งองค์กรอิสระและศาล แต่ผู้ที่ทำให้ความยุติธรรมล่าช้ามีแค่นี้จริงหรือ?
13 ปีที่ผ่านมา มีความพยายามโดยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ นปช. และญาติของผู้เสียชีวิต ทวงคืนความยุติธรรมให้กับผู้เสียชีวิตและครอบครัว แต่กระบวนการยุติธรรมก็มาถึงทางตันเมื่อศาลฎีกาในปี 2560 ได้ตัดสินว่า กรณีสลายการชุมนุมปี 2553 ไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลอาญา แต่อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) แต่ ปปช.ก็สรุปไปแล้วว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์-สุเทพไม่มีความผิด
ในระหว่างนี้ก็มีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์หันไปพึ่งพิงกลไกยุติธรรมระหว่างประเทศแทน นั่นคือ ศาลอาญาระหว่างประเทศหรือ ICC แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ไม่กล้าทำ
ปัจจุบันมีเสียงเรียกร้องให้พรรคเพื่อไทยประกาศเจตน์จำนงว่าหากได้เป็นรัฐบาลในสมัยหน้า จะเดินหน้านำเรื่องนี้ไปสู่ศาล ICC โดย “ขอแค่” ให้รัฐบาลประกาศฝ่ายเดียว (unilateral) ว่าจะยอมรับเขตอำนาจศาล ICC ตามมาตรา 12(3) ของธรรมนูญกรุงโรม โดยขอให้ ICC เข้ามาสืบสวนสอบสวนกรณีการสลายการชุมนุมปี 2553 เท่านั้น ซึ่งจะทำให้ ICC มีสิทธิพิจารณาแค่กรณีเดียว ไม่เกี่ยวข้องกับกรณีอื่นๆ ทั้งในอดีตและอนาคต กรณีนี้ไม่มีหลักฐานว่าพระมหากษัตริย์เกี่ยวข้องกับการลงนามในเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมเลย ประมุขของประเทศจึงไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้น
แต่พรรคเพื่อไทย อันเป็นพรรคการเมืองที่อยู่เบื้องหลังการชุมนุมของคนเสื้อแดง กลับนิ่งเงียบ ไม่แสดงเจตน์จำนงด้วยการสัญญากับประชาชนว่าจะใช้แนวทางนี้
เมื่อปีที่แล้วแกนนำ นปช. คุณณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ให้สัมภาษณ์ในงานรำลึก 6 ตุลาว่า “โดยหลักการเห็นด้วยกับการให้สัตยาบันใน ICC .. แต่ผมคิดว่าสิ่งที่มันเป็นไปได้แน่ๆ และยังคาดหวังอยู่คือ กระบวนการยุติธรรมในประเทศต้องยังคงทำหน้าที่เพราะนี่เป็นเรื่องใกล้ตัวที่สุดที่เราจะทำได้” ดิฉันเข้าใจว่าคุณณัฐวุฒิกำลังบอกว่าเราควรคาดหวังกับกระบวนการยุติธรรมในประเทศก่อนค่อยพิจารณาทางเลือกอื่นหรือ ICC คำถามก็คือ อะไรคือหนทางสู่ความยุติธรรมในประเทศที่เหลืออยู่... ถ้ายังมีหนทางสู่ความยุติธรรมในประเทศเหลืออยู่ แล้วทำไมหลายปีที่ผ่านมา นปช. จึงไม่ดำเนินการต่อ???
ผู้มีส่วนทำให้ความยุติธรรมล่าช้า จึงไม่ได้มีแต่คนที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามประชาชนเท่านั้น แต่คนที่เรียกร้องชักชวนประชาชนให้ร่วมชุมนุม พรรคการเมืองที่สนับสนุนการชุมนุม เจ้าของพรรคการเมืองที่ได้ประโยชน์จากการชุมนุม ก็มีส่วนที่ทำให้กระบวนการยุติธรรมล่าช้าเช่นกัน
ความยุติธรรมที่ล่าช้าอาจจึงเป็นปัญหาจากฝ่ายประชาชนด้วยเช่นกัน 13 ปีที่ผ่านมา เราพูดซ้ำๆ เรื่องความยุติธรรม การลอยนวลพ้นผิด การนำคนผิดมารับโทษ มวลชนจำนวนหนึ่งอ้างความเป็นเจ้าของคนเสื้อแดง อ้างว่าสู้มาก่อนใคร อ้างว่าแดงมากกว่าใครๆ ฯลฯ แต่กลับเอาหูทวนลม หรือบ้างก็หันมาด่ากราดคนที่เรียกร้องให้พรรคเพื่อไทยกล้าเผชิญหน้ากับกลุ่มอำนาจเดิม ยอมรับข้ออ้างแต่ว่าต้องเป็นรัฐบาลก่อน แต่กลับไม่เคยยืนยันเจตน์จำนงที่จะคืนความยุติธรรมให้กับประชาชนของตนหากได้เป็นรัฐบาล
ฝ่ายประชาชนจึงควรต้องถามตนเองด้วยว่าให้ค่ากับความยุติธรรมจริงๆ หรือ? หรือมันมีความหมายเป็นแค่เครื่องมือไว้โจมตีกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น
โปรดอย่าทำให้การเรียกร้องความยุติธรรมให้กับคนตายเป็นแค่โวหารทางการเมือง เป็นแค่ตรายางประทับความเป็นนักสู้ให้ตนเอง เป็นแค่วัตถุเพื่อการต่อรองทางการเมือง เพราะการปฏิเสธที่จะต่อสู้ผลักดันให้เกิดความยุติธรรมกับประชาชนในความรับผิดชอบของตน ก็คือความอยุติธรรมนั่นเอง
ปล. ขอรีไซเคิลข้อเรียกร้องว่าไทยต้องยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ
https://waymagazine.org/puangthong-pawakapan-icc/
.....
https://www.facebook.com/photo/?fbid=6354467141270658&set=a.138005429583558