วันพฤหัสบดี, มกราคม 27, 2565

เปิดเนื้อหา “แถลงข่าวร่วมหลังการเยือนซาอุฯของนายกฯไทย” + จักรภพ เพ็ญแข วิพากษ์



เปิดเนื้อหา “แถลงข่าวร่วมหลังการเยือนซาอุฯของนายกฯไทย”

26 มกราคม 2565
มติชนออนไลน์

หลังพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เสร็จสิ้นการเดินทางเยือนประเทศซาอุดิอาระเบียอย่างเป็นทางการเพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างกันให้กลับมาเป็นปกติ กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ได้เผยแพร่ถ้อยแถลงข่าวร่วมซึ่งเป็นผลสรุปอย่างเป็นทางการของทั้ง 2 ประเทศจากการเดินทางเยือนดังกล่าว โดยมีรายละเอียดดังนี้

1.พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแห่งราชอาณาจักรไทยได้เดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการในวันที่ 25 มกราคม 2565 ตามคำเชิญของเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด (His Royal Highness Prince Mohammad bin Salman bin Abdulaziz Al Saud) มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย

2.มกุฎราชกุมารแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียทรงให้การต้อนรับนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย และทั้งสองฝ่ายได้ประชุมหารืออย่างเป็นทางการ โดยทั้งสองฝ่ายได้ยืนยันความตั้งใจร่วมกันในการสะสางประเด็นที่คั่งค้างทั้งหมดระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียและปรับความสัมพันธ์ระหว่างสองราชอาณาจักรให้เป็นปกติ ทั้งสองฝ่ายยังได้ย้ำความสำคัญของการส่งเสริมความสัมพันธ์ฉันมิตรของสองราชอาณาจักรและการเปิดศักราชใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทยย้ำว่า ไทยให้ความสำคัญสูงสุดกับความสัมพันธ์ฉันมิตรกับซาอุดีอาระเบีย และแสดงความเสียใจยิ่งต่อโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นที่ประเทศไทยระหว่างปี พ.ศ. 2532-2533 (ค.ศ. 1989-1990)

นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทยยืนยันว่า ไทยได้พยายามอย่างที่สุดแล้วในการสะสางกรณีต่าง ๆ และหากมีหลักฐานใหม่เกี่ยวกับเรื่องเหล่านั้น ก็พร้อมที่จะนำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยพิจารณา นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทยยังได้ยืนยันความมุ่งมั่นของไทยในการให้ความคุ้มครองที่เหมาะสมแก่บุคคลในคณะผู้แทนของสถานเอกอัครราชทูตซาอุดีอาระเบียที่กรุงเทพฯ ตามอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางทูต ปี ค.ศ. 1961 ทั้งสองฝ่ายยังได้ยืนยันความมุ่งมั่นในการดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อดูแลความปลอดภัยของคนชาติของกันและกันในแต่ละประเทศ

3.ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นในภูมิภาคและระหว่างประเทศต่าง ๆ และได้หารือถึงแนวทางในการส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีในทุกสาขา ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องที่จะเพิ่มการมีปฏิสัมพันธ์และการติดต่อประสานงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนของแต่ละฝ่ายเพื่อยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคีเพื่อประโยชน์ร่วมกันของราชอาณาจักรทั้งสอง

4.โดยคำนึงถึงจิตวิญญาณของความร่วมมือและความตั้งใจร่วมกันเพื่อฟื้นฟูมิตรภาพและความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างสองราชอาณาจักรและประชาชน ภายใต้การนำและพระราชวิสัยทัศน์อันเข้มแข็งของผู้พิทักษ์ สองมหามัสยิดอันศักดิ์สิทธิ์ สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด (His Majesty King Salman bin Abdulaziz Al Saud) และมกุฎราชกุมารแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย และวิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย ทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบร่วมกันให้ปรับความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันให้เป็นปกติอย่างสมบูรณ์ ความสำเร็จครั้งประวัติศาสตร์นี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากความพยายามในหลายระดับของทั้งสองฝ่ายที่มีมาอย่างยาวนานเพื่อฟื้นฟูความไว้เนื้อเชื่อใจและความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างกัน

5.ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกับขั้นตอนสำคัญต่าง ๆ ที่จะดำเนินการเพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ทวิภาคี ซึ่งรวมถึงการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตประจำเมืองหลวงของทั้งสองประเทศในอนาคตอันใกล้ และการจัดตั้งกลไกการปรึกษาหารือเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทวิภาคี การติดต่อประสานงานอย่างเต็มที่จะเริ่มต้นขึ้นในช่วงหลายเดือนข้างหน้าเพื่อหารือความร่วมมือทวิภาคีในสาขายุทธศาสตร์ที่สำคัญ

6.ทั้งสองฝ่ายได้หารือแนวทางในการส่งเสริมและเสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างสองราชอาณาจักรโดยการแสวงหาโอกาสในด้านการลงทุนและอื่น ๆ ในบริบทของวิสัยทัศน์ ค.ศ 2030 ของซาอุดีอาระเบียและวาระการพัฒนาแห่งชาติของไทย กล่าวคือ นโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio – Circular – Green Economy) ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องที่จะแสวงหาความร่วมมือในสาขาใหม่ ๆ อาทิ พลังงานทดแทน สิ่งแวดล้อม การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการพัฒนา และความมั่นคงทางไซเบอร์ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้เน้นย้ำความสำคัญของการส่งเสริมความสัมพันธ์ในระดับประชาชน ซึ่งจะเป็นรากฐานสำหรับความสัมพันธ์ที่กำลังเติบโตระหว่างทั้งสองราชอาณาจักร รวมทั้งการส่งเสริมการสนทนาแลกเปลี่ยนระหว่างศาสนาและพหุวัฒนธรรม

7. ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะสนับสนุนซึ่งกันและกันในองค์การและเวทีระหว่างประเทศ และเน้นย้ำความสำคัญของการยึดมั่นของทุกประเทศต่อกฎบัตรสหประชาชาติ บรรทัดฐานระหว่างประเทศ รวมถึงหลักการการเป็นเพื่อนบ้านที่ดี การเคารพในบูรณภาพแห่งดินแดนและอธิปไตย การไม่แทรกแซงกิจการภายใน และการระงับข้อขัดแย้งโดยสันติวิธี ทั้งสองฝ่ายยินดีกับบทบาทที่สร้างสรรค์ของกันและกันในแต่ละภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทที่สำคัญของไทยในอาเซียน และบทบาทนำของซาอุดีอาระเบียในการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ ความมั่นคง และการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการพัฒนา

8. นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทยได้แสดงความยินดีกับซาอุดีอาระเบียสำหรับความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพและการจัดการประชุมผู้นำกลุ่ม G20 ซึ่งได้ส่งผลเชิงบวกในหลายด้าน เช่น เศรษฐกิจ การพัฒนา สิ่งแวดล้อม สาธารณสุข พลังงาน เป็นต้น มกุฎราชกุมารแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียทรงแสดงความมั่นใจว่าการเป็นเจ้าภาพกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC) และการประชุมกรอบความร่วมมือความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสําหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation: BIMSTEC) ในปี 2565 ของไทยจะประสบความสำเร็จและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเติบโตที่ยั่งยืน สมดุลและมีส่วนร่วมของเศรษฐกิจของภูมิภาคและของโลกในยุคหลังโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

9.นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทยยินดีกับกับข้อริเริ่มซาอุดีอาระเบียสีเขียวและตะวันออกกลางสีเขียว ที่ริเริ่มโดยมกุฎราชกุมารแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย รวมถึงชื่นชมบทบาทนำของซาอุดีอาระเบียในประเด็นระหว่างประเทศร่วมกันต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผลกระทบเชิงบวกต่อภูมิภาคและประชาชน มกุฎราชกุมารแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียทรงชื่นชมนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวของไทย ซึ่งมุ่งส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ แปลงขยะให้กลายเป็นความมั่งคั่ง ฟื้นคืนความหลากหลายทางชีวภาพ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

10.ในช่วงท้ายของการเยือน นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทยได้แสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของผู้พิทักษ์สองมหามัสยิดอันศักดิ์สิทธิ์ สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด และมกุฎราชกุมารแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย และได้ถวายพระพรชัยมงคลแด่ทั้งสองพระองค์ให้ทรงมีพระพลานามัยที่สมบูรณ์ และขออวยพรให้ประชาชนชาวซาอุดีอาระเบียมีความมั่งคั่งและความเจริญรุ่งเรือง มกุฎราชกุมารแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียได้ถวายพระพรชัยมงคลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงมีพระพลานามัยที่สมบูรณ์และทรงพระเจริญ และทรงอำนวยพรให้นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทยมีสุขภาพดีและประสบความสุขสวัสดี และทรงอำนวยพรให้ประชาชนชาวไทยมีความมั่งคั่งและความเจริญรุ่งเรือง


จักรภพ เพ็ญแข - Jakrapob Penkair
14h ·

วิพากษ์แถลงการณ์ร่วมไทยกับซาอุดีอาระเบีย 25 ม.ค. 65
โดย จักรภพ เพ็ญแข
ข่าวลือและข่าวมโนเกิดขึ้นมากในกรณีซาอุดีอาระเบีย ที่จู่ ๆ ก็เกิดการเยือนกรุงริยาร์ดของฝ่ายไทยขึ้นมา เราควรตั้งคำถามกับตัวเอง 2 ข้อเพื่อให้นำทางเราไปสู่คำตอบ ซึ่งถึงอาจจะยังไม่ใช่คำตอบสุดท้ายแต่ก็ใกล้เข้าไปหน่อย คำถามนั้นคือ:
1. เบื้องหน้า: สาระจริง ๆ ของการรับระบอบไทยครั้งนี้คืออะไร?
2. เบื้องหลัง: เกิดขึ้นได้เพราะอะไร?
คำถามที่ 1
อ่านแถลงการณ์ไทย-ซาอุดีอาระเบียให้ละเอียด ในนั้นได้บอกอะไรเราอย่างชัดเจนเกือบทั้งหมดแล้ว ผมจะขอว่าไปทีละข้อ และอาจจะรวบบางข้อเข้าด้วยกัน เพราะหลายข้อเป็นข้อความที่ว่างเปล่าแบบการทูตยุคโบราณเท่านั้น
ข้อ 1 ชัดเจนตั้งแต่ข้อแรกนี้เลยว่า งานนี้ไทยเป็นคนไปของอนง้อกับทางซาอุดีอาระเบีย เพราะรองนายกรัฐมนตรีของซาอุดีอาระเบียเป็นผู้ออกจดหมายเชิญนายกรัฐมนตรีไทย ตามประเพณีการทูตแล้ว คนในตำแหน่งเดียวกันหรือเทียบเท่ากันเท่านั้นเขาจะเชิญกัน นายกฯ ต้องเชิญนายกฯ ด้วยกัน ไม่ใช่รองนายกฯ เชิญนายกฯ ซึ่งเท่ากับบอกกลาย ๆ ว่า คนตำแหน่งต่ำกว่าของบ้านฉัน ใหญ่เท่ากับคนตำแหน่งสูงกว่าที่บ้านเธอ ส่งสัญญาณตั้งแต่แรกว่าใครง้อใคร และใครตัวซี้ตัวสั่นรีบวิ่งไปหาเขาเมื่อได้ยินเสียงเคาะกะลา เรารู้ครับว่า เจ้าชายบินซัลมานฯ หรือ MBS คือผู้มีอำนาจจริงในซาอุดีอาระเบีย ถ้าจะคุยให้ได้เรื่องก็ต้องคุยกับคนนี้เท่านั้น เรื่องนี้ใครก็เข้าใจ แต่จะต้องไม่ลืมด้วยว่าประเทศไทยไม่ได้เซ็นสัญญาเป็นคนรับใช้ หรือยอมตัวเป็นชาติไก่รองบ่อนของชาติใดอย่างเป็นทางการ การแสดงความเสมอภาคและเท่าเทียมระหว่างคู่เจรจาคือเกียรติภูมิของชาติอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะในขั้นต้น แต่พออ่านข้อ 1 เลยทำให้คิดว่า หรือคนไทยเราบางคนไม่รู้จักคำว่า เกียรติภูมิ หรือ เกียรติยศ
ข้อ 2 คราวนี้ ไทยเป็นฝ่ายเอ่ยปากแสดงความเสียใจเกี่ยวกับกรณีที่พวกเราเรียกกันว่า คดีเพชรซาอุฯ ขึ้นมาก่อน โดยเฉพาะระบุปีเสียด้วยว่า ระหว่าง พ.ศ. 2532-2533 ทั้งที่เรื่องจริงมันยาวนานกว่านั้นมาก อาจมีเจตนาเพื่อตัดบางกรณีที่ลามต่อเนื่องออกไป เพื่อจะได้ไม่ต้องไปสืบสวนและสอบสวนเพิ่มแบบขยายประเด็น แบบนี้ต้องเรียกว่าตั้งข้อหาตัวเองแบบตำรวจบางคน คือช่วยตั้งข้อหาให้มันแคบเข้าไว้ แต่สาระสำคัญกว่านั้นอยู่ที่ตรงฝ่ายไทยชิงสรุปว่า เท่าที่ผ่านมา ได้ทำคดีนั้นอย่างดีที่สุดแล้ว แต่ยินดีจะเปิดแฟ้มใหม่ให้กับซาอุดีฯ หากมี "หลักฐานเพิ่ม" คำถามที่เกิดขึ้นทันทีคือ หลักฐานใหม่พวกนี้มาจากไหน? มาจากฝ่ายไทยเอง หรือรอให้ฝ่ายซาอุดีฯ เขาจะส่งเป้าชี้มาให้เลยเสร็จสรรพ? เรื่องนี้อ่านแล้วรู้สึกได้เลยว่า ไทยจะยังไม่ได้อะไรเป็นมรรคเป็นผลอย่างที่ใครบางคนฝันกลางวันเอาไว้หรอกครับ ยกเว้นว่าอาจจะได้เอกอัครราชทูตที่ริยาร์ดส่งมาประจำที่กรุงเทพฯ สักคน และก็รอเรื่องอื่นไปจนกว่าทางซาอุดีฯ จะบอกมาอีกทีว่าฉันพอใจกับเรื่องเพชรซาอุฯ รอบใหม่แล้ว นั่นก็เท่ากับว่า การวิ่งไปคราวนี้เป็นเพียงภารกิจรักษาหน้าเท่านั้น คุยได้นิด ๆ ว่าเราจะกลับมามีความสัมพันธ์ทางการทูตกับซาอุดีอาระเบียแล้วนะ ถ้าถามต่อว่าแล้วว่าได้อะไรเป็นรูปธรรมกลับมาบ้าง ก็คงม้วนหน้าหลบเร้นไปตามระเบียบ
ข้อ 3, ข้อ 7, ข้อ 8 คือความว่างเปล่าแห่งทุ่งดอกไม้ (ฮา)
ข้อ 5 เงื่อนเวลาที่ระบุไว้ว่าจะยกระดับความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันคือ "อนาคตอันใกล้" และ "หลายเดือนข้างหน้า" ซึ่งฟังเผิน ๆ ก็ระบุได้ชัดเจนเพียงพอสำหรับงานระดับระหว่างประเทศ แต่เอาเข้าจริงก็เหมือนกับที่ผมเขียนไว้ใน ข้อ 2 นั่นคือ ถ้าจะได้อะไร ก็คงได้แค่เปลือกทางการทูต เช่น เปิดสถานเอกอัครราชทูตซาอุดีอาระเบียประจำประเทศไทยกันใหม่ ส่งทูตใกล้เกษียณหรือเกษียณแล้วมานั่งตบยุงที่กรุงเทพฯ สักคน เป็นต้น ส่วนของที่เป็นเนื้อ ๆ ก็โปรดรอไปก่อนนะน้อง
ข้อ 6, ข้อ 9 แนวคิดเศรษฐกิจสีเขียวของเจ้าชายมกุฏราชกุมารของซาอุดีอาระเบีย ซึ่งระบุไว้ในข้อนี้ว่าฝ่ายไทยไปรับหลักการมาเรียบร้อยแล้วและพร้อมจะเข้าร่วมโครงการด้วย เป็นเรื่องที่ต้องคิดให้ลึกซึ้ง ซึ่งผมขออนุญาตยังไม่เขียนละเอียดในตอนนี้ ขอฝากไว้ในฐานะคนไทยด้วยกันแต่เพียงว่า ทุนที่มาจากชาติต่าง ๆ นั้น บางครั้งก็มาพร้อมเงื่อนไขและกิจกรรมเสริมที่อาจไม่เหมาะสมสำหรับเมืองไทยก็ได้ ในโครงการเดียวกัน บางแง่ก็ดี แต่บางมุมก็ต้องคิดกันให้นานหน่อยก่อนจะหลุดปากตกลงอะไรออกไป ไม่ควรกระดี๊กระด๊าเกินสมควรในเรื่องแบบนี้
ข้อ 10 เป็นไปตามธรรมเนียมทางการทูต
คำถามที่ 2
เขียนข้างบนมายาวมากแล้ว ก็จะตอบคำถามที่ 2 แบบรวบรัดหน่อยครับ
ประเด็นสำคัญที่ทำให้เกิดการเยี่ยมเยือนในครั้งนี้ มาจากทางซาอุดีอาระเบียมากกว่าฝ่ายไทย ปัญหาของเจ้าชายมกุฎราชกุมารของซาอุดีอาระเบียมีมาก ตั้งแต่ปัญหานโยบายเข้าสู่สงครามในเยเมน การกวาดล้างญาติมิตรในประเทศเพื่อเหตุผลเชิงอำนาจ (ซึ่งทำให้เกิดคลื่นใต้น้ำมากมาย) จนถึงคดีฆาตกรรมศัตรูทางการเมืองอย่าง จามัล คาช็อกจี้ ที่ตุรกีซึ่งถูกสหรัฐอเมริกากล่าวโทษอยู่ ซาอุดีอาระเบียในยุคนี้ต้องแสวงหาพันธมิตรให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ใครที่พูดว่าไทยจะไปทำอะไรให้ซาอุดีอาระเบียได้ อาจจะลืมไปว่าทุกประเทศมี 1 เสียงในเวทีระหว่างชาติเท่ากัน ไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือใหญ่ ตรงนี้ก็เป็นประโยชน์ต่อเขาโดยตรง
อีกนัยหนึ่ง MBS เป็นคนรุ่นหลังเพชรซาอุฯ จึงไม่มีความรู้สึกเกี่ยวข้องผูกพันอะไรในเรื่องนี้อีกแล้ว แถมญาติมิตรที่เคยคั่งแค้นในเรื่องนี้ ก็ถูกถอดจากอำนาจ ถูกจำคุก เกษียณ หรือตายไปแล้วจนเกือบหมดรุ่น ก็ทำให้ดูเสมือนว่าศักราชใหม่ได้เริ่มต้นขึ้น เขาจึงอยากสานต่อในเรื่องนี้เพราะความจำเป็นของตัวเอง ส่วนฝ่ายไทยก็คงคอยงอนง้อขอคืนดีอยู่ที่เก่า คาดว่าจะไม่ได้ทำอะไรเพิ่มใหม่ จนกิ่งอินทผลัมมันตกใส่กบาลเอง
สรุปแล้วเรื่องนี้ไม่น่าตื่นเต้นอะไรนัก การเพิ่มสัมพันธภาพระหว่างประเทศต่าง ๆ ถือเป็นเรื่องดี แต่ต้องดูว่าต้องเอาอะไรไปแลก ถ้าของที่ต้องเสียไปมีค่าสูง เช่น เกียรติภูมิของชาติและประชาชน เป็นต้น ก็ไม่ต่างอะไรจากการขายอวัยวะในร่างกายแล้วเอามาซื้อข้าวกิน อนาคตถ้ามีก็คงไม่สดใสนัก.
จักรภพ เพ็ญแข
26 ม.ค. 65
**********************************************************************
ที่มา : https://www.matichon.co.th/foreign/news_3150813