วันศุกร์, มกราคม 28, 2565

มัวแต่ล้อมคอก ‘ทางม้าลาย’ ในกรุงฯ อยู่นั่น น้ำมันรั่วอ่าวไทยลอยเป็นแผงใหญ่กว่าเกาะเสม็ด ๙ เท่า กำลังจะเข้าฝั่งระยองแล้วนี่

มัวแต่ล้อมคอก ทางม้าลาย ทาสีใหม่ ตีเส้นนูน ที่ไหนได้ชีวิตรายวันการสัญจรของคนกรุงเทพฯ ยังเจอ มอไซค์จอดรอรถติดกันเต็มทางข้ามอยู่ดี คนเดินเท้าต้องยักเอวเบี่ยงซ้ายหลบขวาตามเคย แล้วก็มองไปข้างหน้า เพ้อพก กัญชารักษามะเร็ง’* เกินไปมิใช่ที่

เรื่องที่คนทั่วไปยังใส่ใจน้อย อาจไกลตัวอยู่กลางทะเลโน่น ก็น้ำมันดิบรั่วมาตั้งแต่เมื่อคืน ๒๕ มกรา กลางอ่าวมาบตาพุด แรกว่าห่างฝั่งเกือบ ๑๗ กิโลเมตร วันนี้อีกไม่ถึง ๗ กิโลถึงเมืองระยอง ซ้ำร้ายขนาดกว้างแผงน้ำมันลอยน้ำขยายใหญ่กว่าเดิมเกือบสิบเท่า

เพียงข้ามคืนจาก ๒๖ ถึง ๒๗ มกรา เดิมว่าขนาดน้ำมันแค่สองเท่าของเกาะเสม็ด ราว ๑๑ ตารางกิโลเมตรครึ่ง วันรุ่งขึ้นขยายเป็น ๔๗ ตารางกิโลเมตรเสียแล้ว ปริมาณน้ำมันโดยประเมินที่ผิวน้ำ ทางทัพเรือคาดว่าประมาณ ๒ หมื่นลิตร ใช้เวลา ๕ วันกำจัดหมด

แต่เมื่อวานนี้ ‘GISTDA’ หรือสำนักพัฒนาเทคโนโลยี่ฯ วิเคราะห์จากภาพถ่ายดาวเทียมอีกลูก (เปลี่ยนจาก Sentinel-2 มาเป็น TerraSAR-X) นอกจากพบพื้นที่น้ำมันลอยน้ำห่างจากเกาะเสม็ด ๑๒ กิโลเมตร ขนาด ๙ เท่าของเกาะ (เกือบ ๓ หมื่นไร่) แล้ว

“คาดว่าคราบน้ำมันจะขึ้นฝั่งในวันศุกร์ที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๖๕ (จุดสีน้ำเงิน และสีส้ม) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชายฝั่งเมืองระยอง ชายหาดแม่รำพึง และพื้นที่ชายหาดใกล้เคียง” แต่เรื่องปริมาตรของน้ำมันไม่สามารถประเมินจากภาพถ่ายดาวเทียมได้

ต้องลงไปวัดปริมาตรในพื้นที่จริง ซึ่งโฆษกกองทัพเรือแจ้งว่าได้ลงไปดูสภาพจริงแล้ว “คราบน้ำมันลดลงเยอะ และเบากว่าที่คาดการณ์ไว้” กองทัพไทยนี่อะไรที่จะเข้าเนื้อ ก็มักมองโลกในแง่ดีไว้เสมอ “จากใช้เครื่องบินบินสำรวจด้วยสายตาคาดว่าตัวเลข ๒๐,๐๐๐ ลิตร”

คือภายในสองวันนี่ปริมาณน้ำมันรั่วลดจากที่พบครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๕ จำนวน ๑๒๘ ตัน หรือ ๑๖๐,๐๐๐ ลิตร ไม่ทราบว่าน้ำมันอ่าวไทยเวลารั่วนี่ต่างกับชายฝั่งแคลิฟอร์เนียขนาดไหน หรือว่าวิธีการกำจัดน้ำมันรั่วของไทย ได้ผลดีเยี่ยมเป็นเลิศ

คือช่วงสองวันแรกนี่เขาใช้สารเคมี dispersant ในการกำจัดคราบน้ำมัน แต่เมื่อวาน พล.ร.ต.วิจณุ ถูปาอ่าง ผู้อำนวยการสำนักกิจการความมั่นคง กรมยุทธการทหารเรือ พูดถึงความคืบหน้าในการกู้คราบน้ำมันว่า “จะใช้ทุ่นล้อมกักน้ำมันขนาดใหญ่” แทน

“และใช้เครื่องดูดหรือ Skimmer เก็บในถัง ๒๐๐ ลิตร...เพื่อส่งให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมทำลาย ส่วนกลุ่มคราบน้ำมันที่มีทิศทางเคลื่อนเข้าสู่ฝั่งและพื้นที่เปราะบางจะใช้ทุ่นล้อมเบี่ยงทิศออกสู่ทะเลเปิด จากนั้นล้อมดักและดูดไปทำลาย”

ฟังแล้วดูจะเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพ และสมจริง (กว่าการใช้สารเคมีเสกน้ำมันให้หายไปจากแสนกว่าลิตรเหลือสองหมื่น) อีกทั้งยังวางแผน “ขจัดคราบน้ำมันกรณีเคลื่อนเข้าฝั่ง” เช่นใช้ทุ่นล้อมกันเอาไว้นอกฝั่ง ส่วนที่ติดตามโขดหิน ก็ “ตักเก็บไปทำลาย”

สำหรับปัญหาที่นักนิเวศวิทยาและนักกิจกรรมสิ่งแวดล้อมเป็นห่วง เรื่องความรับผิดชอบของบริษัทผู้ดำเนินการ รัฐบาลต้อง “ตั้งคณะทำงานสอบสวนสาเหตุ” แล้วแถลงแจ้งผลต่อสาธารณะตามความเป็นจริง รวมทั้งปริมาณน้ำมันที่ รั่ว ไม่ใช่ที่ ลอย

เท่าที่ปรากฏ นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสไว้ว่า “ล่าสุดคราบน้ำมันย่อยสลายแล้ว ๘๐% เหลือคราบน้ำมันอีก ๒๑ ตัน และคาดว่าอย่างช้าจะกำจัดคราบน้ำมันบนผิวน้ำให้หมดภายในวันที่ ๒๗ มกราคม”

แต่ไหงวันนี้ (๒๘ มกรา) กลับมีแผงน้ำมันลอยน้ำขนาดพื้นที่เกือบ ๓ หมื่นไร่กำลังลอยเข้าฝั่งระยองล่ะ นี่คือความไม่โปร่งใสของราชการไทย ความเสียหายอันเกิดจากน้ำมันรั่วในทะเลแล้วซัดเข้าฝั่ง ที่ไหนๆ ก็ระบมทั้งนั้น ในอเมริกานั่นขาประจำ

แต่เกิดเหตุครั้งไร จะเห็นว่าบริษัทน้ำมันโดนปรับมหาศาลทุกครั้งไป จริงอยู่ค่าปรับเป็นหมื่นล้านดอลลาร์ ไม่กระเทือนพุงบริษัทน้ำมันเลยแม้แต่นิด แต่ก็ทำให้บริษัทยักษ์ๆ อเมริกันระมัดระวัง และเริ่มหันเข้าหาวิธีการ ‘eco-friendly’ เป็นมิตรต่อสภาพแวดล้อมกันแล้ว

ทางการรัฐเองก็จำกัดจำเขี่ยกับเรื่องนี้จริงจัง แคลิฟอร์เนียห้ามขุดเจาะน้ำมันนอกฝั่งมาพักใหญ่แล้ว มณฑลลอสแองเจลีสกำหนดยุติการขุดจะน้ำมันบนฝั่ง ซึ่งหลายพื้นที่ยังดำเนินการสูบอยู่จากหัวเจาะเก่า ภายในปี ค.ศ. ๒๐๓๕

มาตรฐานเหล่านี้ เชฟร่อน ผู้เป็นบริษัทแม่ของ สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง ซึ่งท่อส่งน้ำมันดิบของตนรั่วในอ่าวไทย ควรจะต้องถือปฏิบัติให้เหมือนกับในสหรัฐ

*(หมายเหตุ เกี่ยวกับเรื่องกัญชา ดูข้อเขียนของ Atukkit Sawangsuk ที่ https://www.facebook.com/baitongpost/posts/4890536627694794 นอกนั้น https://www.facebook.com/greennewsagency/posts/307112451441453, https://www.facebook.com/igreenstory/posts/3031797963802763 และ https://www.facebook.com/igreenstory/posts/3031258127190080)