วันอาทิตย์, มกราคม 23, 2565

เปิดคำฟ้องดคีชุมนุม "ดูหมิ่นศาล" ของ 3 นักกิจกรรม เห็นเลยว่า ศาลที่ถูกเกลียดชัง ไร้ความเคารพเชื่อถือ มันไม่ได้อยู่ที่คนอื่น


เปิดคำฟ้องดคีชุมนุม "ดูหมิ่นศาล" ของ 3 นักกิจกรรม
การชุมนุมที่หน้าศาลอาญาเพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้เพื่อน เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2564 เป็นเหตุให้ผู้เกี่ยวข้องถูกดำเนินคดีตามมา ข้อหา "ดูหมิ่นศาล" และ "มั่วสุมก่อความวุ่นวาย" ตามประมวลกฎหมายอาญมาตรา 198 และมาตรา 215 ถูกใช้กล่าวหาจำเลยสามคน ได้แก่ ณัฐชนน ไพโรจน์, เบนจา อะปัญ และสมยศ พฤกษาเกษมสุข โดยณัฐชนนและเบนจาถูกตั้งเรื่องพิจารณาในคดีละเมิดอำนาจศาลแยกเป็นอีกคดี ซึ่งศาลอาญามีคำพิพากษาไปแล้วสั่งปรับเบนจาเป็นเงิน 500 บาท ส่วนณัฐชนนให้จำคุกสองเดือน (https://freedom.ilaw.or.th/case/944)
สำหรับคดีฐาน "ดูหมิ่นศาล" ซึ่งดำเนินคดีแยกกับข้อหาละเมิดอำนาจศาล ก่อนหน้านี้ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ศาลอาญานัดสอบคำให้การ จำเลยทั้งสามมาพร้อมที่ศาลและให้การปฏิเสธ และนัดตรวจพยานหลักฐานไปในวันที่ 17 มกราคม 2565 และกำหนดวันครั้งหน้าเพื่อตรวจพยานหลักฐานอีกครั้งนวันที่ 28 มีนาคม 2565
คดีนี้ตามคำฟ้องระบุว่า วันที่ 30 เมษายน 2564 แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมนัดชุมนุมทำกิจกรรมเพื่อร่วมกันติดตามและเป็นกำลังใจให้กับสุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ในการยื่นขอประกันตัวเพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ ที่ศาลอาญาในเวลา 14.00 น. ใกล้เวลานัดหมายมีผู้ชุมนุมประมาณ 200-300 คนรวมตัวกันที่บริเวณหน้าศาลอาญา มีการใช้เครื่องกระจายเสียงจากรถยนต์ปราศรัย และตะโกนด้วยคำพูดโจมตีการทำงานหรือการปฏิบัติหน้าที่ของศาลอาญา เพื่อกดดันให้ศาลอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวเพนกวิน-พริษฐ์กับพวกรวม 7 คนที่ถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
พนักงานอัยการบรรยาคำฟ้อง โดยกล่าวหาจำเลยทั้งสามคนในสามประเด็นดังนี้
๐ ละเมิดมาตรการควบคุมโควิด 19
ทั้งสามเข้าร่วมกิจกรรมการรวมกลุ่มเพื่อชุมนุมทางการเมืองดังกล่าวอันเป็นการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ สถานที่ใดๆ ที่แออัด และมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่ายในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคในเขตพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงประกาศกำหนด มีพฤติการณ์ คือ ไม่จำกัดทางเข้าออก, ไม่จัดให้ผู้เข้าร่วมสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า, ไม่จัดให้มีการเว้นระยะห่าง, ไม่มีจุดบริการแอลกอลฮอล์, ไม่มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้าไปดูแล, ไม่จัดให้มีการตรวจวัดอุณหภูมิ โดยเป็นการฝ่าฝืนประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 25)
๐ ชุมนุมสร้างความวุ่นวายในบ้านเมือง
กิจกรรมในวันดังกล่าวเป็นการร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไปกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง มีการชุมนุมหรือจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ด้วยการโกนผมการเผารูปถ่ายของผู้พิพากษา ประมวลกฎหมายและดอกไม้จันทน์เพื่อแสดงความไว้อาลัยแก่ความอยุติธรรมของศาล และการส่งแผ่นกระดาษที่มีรายชื่อของผู้ที่ลงชื่อร่วมเรียกร้องให้ศาล หรือผู้พิพากษาพิจารณาการปล่อยตัวชั่วคราว ติดป้ายผ้าขนาดใหญ่ด้วยข้อความว่า “ปล่อยเพื่อนเรา”
อีกทั้ง มีการใช้เครื่องขยายเสียงซึ่งติดตั้งบนรถยนต์ และใช้เครื่องขยายเสียงแบบพกพา ปลุกระดมกลุ่มผู้ร่วมชุมนุมด้วยถ้อยคำหยาบคาย เพื่อให้กลุ่มผู้ร่วมชุมนุม ตะโกน ด่าทอ ตำหนิโห่ไล่ แสดงอากัปกิริยาไม่พอใจ เขียนข้อความลงบนกระดาษ และพ่นสีบนกำแพงของศาลอาญาด้วยถ้อยคำด่าหยาบคายอันมีความหมายลักษณะว่า “ปล่อยเพื่อนเรา” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตำหนิ กดดัน ขู่เข็ญผู้พิพากษา องค์คณะผู้พิพากษา หรือศาล ในการใช้ดุลพินิจเพื่อพิจารณาการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยที่ถูกคุมขังในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล และระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวน
และเพื่อให้ผู้เข้าร่วมชุมนุม ประชาชนทั่วไปเกิดความเกลียดชัง มีความเคลือบแคลงสงสัยในความน่าเชื่อถือ หรือศรัทธาในการใช้ดุลพินิจของพิพากษา องค์คณะผู้พิพากษา หรือศาล ตลอดจนเปิดเพลงอันเป็นการก่อกวนการทำงานของศาล ผู้พิพากษา และเจ้าหน้าที่ของศาล ที่บริเวณด้านในรั้วของศาลอาญา และบริเวณด้านนอกรั้วของศาลอาญา เป็นเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจจำต้องปิดกั้นช่องทางการจราจรบนถนนรัชดาภิเษกมุ่งหน้าสี่แยกรัชโยธินส่งผลกระทบกับประชาชนทั่วไป ต่อมาตำรวจได้สั่งให้เลิกการชุมนุม แต่จำเลยทั้งสามกับพวกยังคงไม่เลิกชุมนุม
๐ ปราศรัยดูหมิ่นศาล
จำเลยทั้งสามยังได้ดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาคดี มีการปราศรัย เช่น
ณัฐชนนกล่าวว่า “...ตอนนี้เรามองว่าระบบความอยุติธรรมของไทย เป็นระบอบยุติธรรมที่มีความด่างพร้อย สมควรแก่การตั้งคำถามแก่สังคมเป็นอย่างยิ่ง รบกวนมวลชนนั่งลงนิดนึงครับ เพื่อนบอกมา ดังนั้น วันนี้คุณแม่สุ ได้โกนหัวประท้วงให้กับระบบความยุติธรรม ที่ไม่ให้ประกันเพื่อนๆ ของเราทุกคน...” “...พวกเราต่อสู้กับกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม สู้คนที่มีอำนาจ ความเลื่อมล้ำในสังคม และระบอบเฮงซวยในประเทศนี้ พวกเราทุกคนในที่นี้เป็นประจักษ์พยานและเห็นได้ชัดว่า ณ ศาลอาญารัชดาแห่งนี้ หมดความชอบธรรมที่จะตัดสินคดีใดๆ และหมดความชอบธรรมไร้ซึ่งความยุติธรรมไปแล้ว...”
เบนจากล่าวว่า “...การที่มีการฝากขังระหว่างพิจารณาคดีผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับคดีที่เกี่ยวพันทางการเมือง ทั้งนี้พวกเค้าทั้งหมดยังถูกปฏิเสธสิทธิในการประกันตัวของผู้ต้องหาในระหว่างการดำเนินคดี และถูกฝากขังมาจนถึงวันนี้ ตอนนี้ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นคงอาจกล่าวได้ว่านี่คืออยุติธรรมและจุดต่ำตมที่สุดของการใช้กฎหมาย เพราะกลายเป็นว่ากฎหมายเหล่านี้ที่ควรจะมีบรรทัดฐานในการใช้ไม่ว่ามาตราใด กลับกลายเป็นเครื่องมือในการปิดปากของผู้เห็นต่างทางการเมืองอย่างเห็นได้ชัด”
สมยศกล่าวว่า “...ในเมื่อเราถูกคุมขัง ดังนั้นเราจึงบอกว่าถ้าเดินหน้าไปเนี่ยคำว่ายุติธรรม กระบวนการพิจารณาในศาล...เราจะเดินหน้าไปไม่ได้ เพราะเราถูกขัง เราจะสู้คดีอะไรละครับ ผมก็แถลงต่อศาลว่า ผมจะสู้คดียังไง ฝ่ายพวกผมเป็นราษฎร...” “...ผมอยากให้น้ำตาของแม่เพนกวิน กลายเป็นน้ำกรดไปรดหัวใจผู้พิพากษาทั้งหมด...”
ข้อความปราศรัยและพฤติการณ์อื่นๆ ตามฟ้องเป็นการกระทำที่ดูหมิ่น ดูถูก เหยียดหยาม ด่าทอ สบประมาท ทำให้อับอาย และลดคุณค่าของผู้พิพากษาในการพิจารณาคดีว่า ศาลหรือผู้พิพากษามีคำสั่งยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวของเพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ กับพวกดังกล่าว เป็นการใช้ดุลยพินิจพิจารณาคดีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรม เพื่อให้กลุ่มผู้ร่วมชุมนุมเกลียดชัง ไม่ยอมรับ และต่อต้านการใช้ดุลยพินิจพิจารณาคดีดังกล่าวของศาลหรือผู้พิพากษา เป็นเหตุให้ศาลหรือผู้พิพากษาผู้พิจารณาคดี ได้รับความเสียหาย ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง อันเป็นการดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาคดี