วันอังคาร, มกราคม 25, 2565

คาดว่าอนุญาโตตุลาการเตรียมตัดสินข้อพิพาทเหมืองทองอัครา ภายในวันที่ 31 ม.ค.นี้ ไทยต้องจ่าย 3 หมื่นล้านบาทให้คิงส์เกตหรือไม่ 3 ฉากทัศน์ที่มีความเป็นไปได้



ผ่านมาแล้วกว่า 4 ปี กรณีพิพาทระหว่างรัฐไทยกับ บ.คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด ลิมิเต็ด ของออสเตรเลีย ในคดีเหมืองทองอัคราหลัง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สั่งระงับกิจการเหมืองแร่ทั่วประเทศ

เหมืองทองอัคราหรือเหมืองทองคำชาตรีตั้งอยู่ในพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัด คือ จ.พิจิตร จ.พิษณุโลก และ จ.เพชรบูรณ์ ดำเนินการโดย บ.อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บ.คิงส์เกตฯ

บ.คิงส์เกตฯ เรียกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 72/2559 ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ว่า "คำสั่งปิดเหมืองโดยมิชอบด้วยกฎหมายของรัฐบาลไทย" และเห็นว่าคำสั่งนี้ละเมิดข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย แม้ว่าจะมีความพยายามในการเจรจาแล้วแต่ไม่สามารถหาข้อยุติได้ จึงเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศเพื่อระงับข้อพิพาทเมื่อเดือน พ.ย. 2560 โดยเรียกร้องให้รัฐบาลไทยชดเชยค่าเสียหายกว่า 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 30,000 ล้านบาท

"คิงส์เกต" เผย รัฐบาลไทยอนุญาตเอากากแร่ทองและเงินออกขายได้
คสช. ออกคำสั่งยกเลิก 3 องค์กร-ระงับกิจการเหมืองแร่ทองคำ
ศาลรัฐธรรมนูญชี้ พล.อ.ประยุทธ์ไม่มีลักษณะต้องห้ามเป็นนายกฯ เพราะหัวหน้า คสช. "ไม่เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ"
คิงส์เกตระบุรัฐบาลอนุมัติประทานบัตรเหมืองแร่ 4 แปลง ปูทางสู่การเปิดเหมืองชาตรีอีกครั้ง

อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศเสร็จสิ้นกระบวนการไต่สวนไปตั้งแต่วันที่ 12 ก.พ. 2563 แล้ว แต่ยังไม่มีคำชี้ขาดใด ๆ เนื่องจากคู่กรณีทั้งสองได้ร้องขอให้คณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศเลื่อนการอ่านคำตัดสินมาแล้วถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกขอให้เลื่อนการอ่านคำตัดสินมาเป็นภายในวันที่ 31 ต.ค. 2564 และขอเลื่อนอีกครั้งมาเป็นภายในวันที่ 31 ม.ค. 2565 เนื่องจากกระบวนการเจรจาคู่ขนานยังไม่ได้ข้อยุติ

หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง คาดว่าอนุญาโตตุลาการจะอ่านคำชี้ขาดภายในวันที่ 31 ม.ค. นี้

ดร.อำนาจ ตั้งคีรีพิมาน
"...หากเป็นฝ่ายคิงส์เกตฯ ชนะสิ่งที่จะต้องติดตามดูต่อไปก็คือ ค่าสินไหมทดแทนที่คณะอนุญาโตตุลาการจะสั่งให้ประเทศไทยจ่าย จะเป็นเท่าไหร่ และไทยจะยอมจ่ายหรือไม่"

อะไรคือฉากทัศน์และผลพวงจากคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ บีบีซีไทยสนทนากับผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอนุญาโตตุลาการ และการลงทุนระหว่างประเทศ และนักเคลื่อนไหวภาคประชาชนที่ติดตามกรณีเหมืองทองอัคราเพื่อวิเคราะห์ทิศทางแนวโน้มและผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อประเทศไทย

ฉากทัศน์ที่ 1 "Happy Ending"

นับตั้งแต่เข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ ทั้งรัฐบาลไทยและคู่กรณีอย่าง บ.คิงส์เกตฯ ต่างแสดงเจตจำนงในการเจรจาเพื่อหาทางระงับข้อพิพาทควบคู่ไปกับกระบวนการระงับข้อพิพาทตามกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งปรากฏในถ้อยแถลงของ บ.คิงส์เกตฯ ที่แจ้งต่อหน่วยงานกำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์ของออสเตรเลียหลายครั้งในระยะหลัง

ดร.อำนาจ ตั้งคีรีพิมาน ผู้ช่วยคณบดีหลักสูตรนานาชาติ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกกับบีบีซีไทยว่าหากการเจรจาได้ข้อยุติ ข้อพิพาทนี้ก็จะถือว่าจบลงแบบ "happy ending" หรือเป็นที่พอใจของทุกฝ่าย คู่กรณีก็จะเข้าสู่การทำสัญญาประนีประนอมยอมความ (Settlement Agreements)

ส่วนสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากทั้งสองฝ่ายบรรลุสัญญาประนีประนอมยอมความ ดร.อำนาจวิเคราะห์ว่ามี 2 แนวทาง คือ

แนวทางที่ 1 บ.คิงส์เกตฯ ถอนคดีออกจากกระบวนการอนุญาโตตุลาการ
แนวทางที่ 2 ขอให้คณะอนุญาโตตุลาการ "ชี้ขาดตามยอม" กล่าวคือมีคำชี้ขาดที่ไม่ได้ตัดสินว่าฝ่ายใดถูกฝ่ายใดผิด แต่ชี้ขาดว่าทั้งสองฝ่ายจะต้องปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ได้ตกลงกันไว้ หากว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว ก็สามารถนำคำชี้ขาดนี้ใช้บังคับคดีกันต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ หัวหน้าพรรคสามัญชนและนักต่อสู้ด้านสิทธิในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเคลื่อนไหวและติดตามคดีเหมืองทองอัครามาอย่างต่อเนื่อง แสดงความกังวลต่อท่าทีการเจรจาที่ผ่านมาของรัฐบาลไทยกับ บ.คิงเกตฯ หลังจากเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการแล้ว รวมทั้งผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ที่จะทำให้ประชาชนเสียเปรียบ

"สิ่งที่ผมกังวลมากที่สุด ในส่วนของการเจรจาระหว่างรัฐไทยและนักลงทุนต่างชาติ คือ อาจนำไปสู่ดีล (ข้อตกลง) ที่เกินไปกว่าข้อพิพาทในลักษณะ 'มาตรา 44 ซ่อนรูป' เพื่อแลกกับการชดใช้ให้กับเอกชน เช่น การอนุญาตให้ขยายประทานบัตรเพิ่ม และข้อตกลงที่อาจจะไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ. แร่ 2560" นายเลิศศักดิ์วิเคราะห์โดยอ้างถึงมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ที่ให้อำนาจหัวหน้า คสช. สั่งการ ระงับ ยับยั้งหรือกระทำการใด ๆ ได้ทั้งทางนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ เพื่อประโยชน์และป้องกันปราบปรามการกระทำที่ทำลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ

ฉากทัศน์ที่ 2 ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ชนะ

การเข้าสู่ข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลไทยและผู้ลงทุนรายใหญ่จากออสเตรเลีย ถือว่าเป็นการเดิมพันมูลค่าสูงเป็นหลักหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งยังไม่นับรวมกับงบประมาณแผ่นดินที่รัฐบาลไทยนำไปใช้ในการระงับข้อพิพาทกรณีปิดเหมืองทองอัคราระหว่างปี 2562-2564 รวมทั้งผลกระทบอื่น ๆ ที่จะตามมา ซึ่งยังไม่มีการประเมินมูลค่าในภาพรวม

"หากตกลงกันไม่ได้ (ในการเจรจา) และคณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดออกมา นั่นหมายความว่า ไม่ฝ่ายไทยชนะ ก็ฝ่าย บ.คิงส์เกตฯ ชนะ หากฝ่ายไทยชนะเรื่องอาจจะจบไปเลย แต่หากเป็นฝ่ายคิงส์เกตฯ ชนะสิ่งที่จะต้องติดตามดูต่อไปก็คือ ค่าสินไหมทดแทนที่คณะอนุญาโตตุลาการจะสั่งให้ประเทศไทยจ่าย จะเป็นเท่าไหร่ และไทยจะยอมจ่ายหรือไม่" ดร.อำนาจกล่าว

หากว่าทางรัฐบาลไทยไม่ยอมจ่ายค่าชดเชยแก่คู่กรณี นักวิชาการด้านกฎหมายรายนี้อธิบายว่า ก็จะต้องมีการบังคับตามคำขี้ขาด ซึ่งประเทศไทยเคยเจอมาแล้วครั้งหนึ่งในคดีโครงการก่อสร้างและให้บริการทางยกระดับดินแดง-ดอนเมือง ซึ่งพิพาทกับ บ.วอลเตอร์ บาว เอจี (Walter Bau AG) ผู้ลงทุนจากเยอรมนี ที่ บมจ. ทางยกระดับดอนเมืองยื่นคำร้องต่ออนุญาโตตุลาการฟ้องกระทรวงคมนาคมในปี 2550 และต่อมาในปี 2552 อนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดว่าประเทศไทยผิดพันธกรณีภายใต้ข้อตกลง และต้องชดใช้ค่าเสียหายกว่า 29.21 ล้านยูโร บวกกับดอกเบี้ย

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยไม่ยอมจ่ายค่าชดเชย จึงทำให้ บ.วอลเตอร์ บาว นำคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการไปบังคับใช้ในประเทศต่าง ๆ ผ่านบริษัทผู้พิทักษ์ทรัพย์ ตามอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับนับถือและการบังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ หรือ อนุสัญญานิวยอร์ก (New York Convention 1958) ซึ่งมีประเทศภาคีราว 170 ประเทศ และได้สืบทราบว่าในประเทศเยอรมนีมีทรัพยสินที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยอยู่

"ถ้ายังจำข่าวกันได้ (เมื่อปี 2554) บ.วอลเตอร์ บาว ได้นำคำชี้ขาดดังกล่าวไปบังคับที่ศาลเยอรมนี และนำไปสู่การอายัดเครื่องบินพระที่นั่งส่วนพระองค์ ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร" อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มธ. ยกตัวอย่างเหตุการณ์ในอดีตประกอบ

กองทัพอากาศจ้างการบินไทยปรับปรุงห้องที่ประทับในเครื่องบินพระที่นั่ง มูลค่า 750 ล้านบาท

ต่อมาศาลเยอรมนีมีคำสั่งให้ถอนอายัดเครื่องบินโบอิ้ง 737 ลำดังกล่าว โดยมีเงื่อนไขว่าต้องวางเงินเป็นหลักประกันมูลค่า 20 ล้านยูโร หรือประมาณ 850 ล้านบาท ทั้งนี้ จากรายงานข่าวสื่อมวลชนไทยระบุว่า ทางการไทยชี้แจงกับศาลในเยอรมนีว่า เครื่องบินลำดังกล่าวไม่ใช่เครื่องบินของทางราชการ แต่เป็นเครื่องบินส่วนพระองค์

"หากเทียบกันกับคดีวอลเตอร์ บาว หากว่าไทยแพ้คดีให้กับคิงส์เกตฯ และไม่ยอมจ่ายค่าสินไหมทดแทนก็อาจจะเอาคำชี้ขาดที่ชนะคดีไปบังคับในประเทศต่าง ๆ ที่เป็นสมาชิกของอนุสัญญานิวยอร์กได้" ดร.อำนาจกล่าวและวิเคราะห์ว่า มีความเป็นไปได้ที่คิงส์เกตฯ อาจจะนำคำชี้ขาดมาบังคับใช้ เช่นเดียวกันกับคดีโฮปเวลล์

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับโครงการที่รัฐต้องจ่าย "ค่าโง่" 1.2 หมื่นล้าน

ทางด้านนายเลิศศักดิ์บอกว่า แม้ว่าหลังมีคำชี้ขาดจะยังสามารถต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมไทยได้ แต่ก็อยากเห็นรัฐบาลไทยแสดงเจตนารมณ์ในการต่อสู้ในชั้นอนุญาโตตุลาการให้มากกว่านี้ โดยใช้หลักฐานต่าง ๆ ที่มีอยู่อย่างเต็มที่ เช่น ผลการสอบสวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รวมทั้งข้อกำหนดในกฎหมายใหม่ ๆ เกี่ยวกับการทำเหมืองแร่

"ถ้าแพ้ในชั้นอนุญาโตตุลาการโดยไม่เห็นการต่อสู้อย่างเต็มที่ของรัฐบาลไทย ในฐานะประชาชนก็จะรู้สึกเสียใจ รู้สึกล้มเหลว เพราะ (ผมรู้สึกว่า) คุณไม่ได้จัดการเรื่องนี้ภายใต้ผลประโยชน์และความสงบสุขของประชาชนอย่างจริงใจ แต่พวกคุณกำลังเกลี่ยผลประโยชน์ใหม่สำหรับนายทุนเหมืองแร่ทองคำเท่านั้นเอง ที่มากกว่าคิงส์เกตฯ" นายเลิศศักดิ์ตั้งข้อสังเกต

ฉากทัศน์ที่ 3 คู่กรณีซื้อเวลาเจรจาต่อ

นอกจากความเป็นไปได้ตาม 2 แนวทางข้างต้นแล้ว การเจรจาคู่ขนานที่กำลังดำเนินอยู่และยังไม่สามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้อาจจะเป็นปัจจัยที่ทำให้การอ่านคำพิพากษาชี้ขาดที่อาจจะมีขึ้นภายในสิ้นเดือนนี้ ต้องถูกเลื่อนออกไปอีกเป็นครั้งที่ 3

"ตอนแรกผมก็ไม่คิดว่าคำชี้ขาดจะออกมาช้าขนาดนี้ แต่ก็เข้าใจว่าคู่พิพาทคงจะส่งสัญญาณไปเรื่อย ๆ ว่า กำลังคุยกันอยู่ ขอให้ขยายเวลา ขออย่าให้คณะอนุญาโตตุลาการออกคำตัดสินหรือพักคำชี้ขาดไว้ก่อน" ดร.อำนาจกล่าว

บ.คิงส์เกตฯ แจ้งหน่วยงานกำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์ของออสเตรเลียในครั้งแรกว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจะออกมาในวันที่ 31 ต.ค. 2564 แต่เมื่อใกล้ถึงกำหนด คู่กรณีก็ได้ขอให้เลื่อนการอ่านคำชี้ขาดออกไปเป็นวันที่ 31 ม.ค. อีก

"หากถามว่า ในครั้งนี้มีความเป็นไปได้ไหมว่าจะขยายระยะเวลาออกไปอีก ผมคิดว่า มีความเป็นไปได้ โดยหลักการแล้ว การขอขยายระยะเวลาจำเป็นต้องได้รับความยินยอมเห็นด้วยของทั้งสองฝ่ายเมื่อเห็นว่าการเจรจายังคงสามารถดำเนินต่อไปได้"

ดร. อำนาจให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ตามหลักการไม่มีข้อกำหนดหรือข้อจำกัดจำนวนครั้งของการขยายระยะเวลาพักการอ่านคำขี้ขาด และหากพิจารณาจากสถิติคดีที่เข้าสู่ชั้นอนุญาโตตุลาการตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศแล้ว จะใช้เวลาเฉลี่ยคดีละ 4 ปี ขึ้นอยู่กับความยากง่ายและความซับซ้อนของคดี บางคดีอาจจะใช้เวลายาวนานถึง 10 ปี บางคดีอาจจะใช้ระยะเวลาสั้นกว่า 4 ปีก็เป็นได้

นักวิชาการด้านกฎหมายธุรกิจระหว่างประเทศจากสำนักธรรมศาสตร์ยังได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลของรัฐบาลไทยเกี่ยวกับการต่อสู้คดีในอนุญาโตตุลาการด้วยว่า รัฐบาลให้ข้อมูลต่อสาธารณะไม่มากนัก จนทำให้เกิดข้อสงสัยต่าง ๆ ถึงกระบวนการ ในทางกลับกัน ดูเหมืองฝ่ายผู้ฟ้องคดีอย่าง บ.คิงส์เกตฯ จะเป็นผู้ให้ข้อมูลความเคลื่อนไหวมากกว่า ซึ่ง ดร.อำนาจอธิบายประเด็นนี้ว่า อาจจะเป็นเพราะว่า บ.คิงส์เกตฯ มีหน้าที่รายงานข้อมูลต่อหน่วยงานกำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์ของออสเตรเลีย เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นและผลการดำเนินการของบริษัทฯ จึงทำให้ข้อมูลส่วนใหญ่มาจากฝ่ายคิงส์เกตฯ

"ที่ผ่านมา ทางรัฐไทยไม่มีความจำเป็นในการเปิดเผยข้อมูล อาจจะมองว่าเป็นความลับทางราชการ แต่ในช่วงหลัง ๆ มีคดีพิพาทระหว่างรัฐและนักลงทุนมากขึ้น ซึ่งเกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะ จะเป็นปัจจัยผลักดันให้เรื่องนี้ต้องมีความโปร่งใสมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่พยายามเปิดเผยข้อมูลเพื่อประโยชน์สาธารณ์เท่าที่จำเป็น" ดร. อำนาจกล่าว