
เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2568 พบทหารกัมพูชาบรรจุกระสุนจรวด BM-21 ในพื้นที่จังหวัดพระวิหารของกัมพูชา หลังเกิดการยกระดับความขัดแย้งบริเวณชายแดนที่ยืดเยื้อมายาวนาน
วิเคราะห์ความขัดแย้งไทย-กัมพูชา เหตุใดจึงยกระดับสู่ความรุนแรงอย่างมากในวันเดียว
จิราภรณ์ ศรีแจ่ม และ ปณิศา เอมโอชา
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
เมื่อ 8 ชั่วโมงที่แล้ว
เมื่อ 14 ปีก่อน ไทยและกัมพูชาเคยเปิดฉากตอบโต้กันด้วยอาวุธหนักจากข้อพิพาทเหนือปราสาทเขาพระวิหาร วันนี้เหตุการณ์คล้ายกันได้ปะทุขึ้นอีกครั้ง เมื่อกองกำลังทั้งสองฝ่ายปะทะกันใกล้ปราสาทตาเมือนธม ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่พิพาทล่าสุด
ต่างฝ่ายต้างอ่างว่าอีกฝ่ายเป็นผู้เริ่มเปิดฉากยิงก่อน ซึ่งเป็นการกล่าวอ้างลักษณะเดิมที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะในกรณีการยิงปะทะกันเมื่อวันที่ 28 พ.ค. ซึ่งทำให้ทหารกัมพูชาเสียชีวิตบริเวณชายแดน และนำไปสู่การยกระดับความตึงเครียดข้อพิพาทชายแดนระหว่างสองประเทศ โดยทางกัมพูชาพยายามนำพื้นที่พิพาทที่ตกลงกันไม่ได้ขึ้นสู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ขณะที่ไทยยืนยันว่าต้องการใช้กรอบทวิภาคีเช่นเดิม และไม่ยอมรับอำนาจศาลโลก
กรณีที่สมเด็จฮุน เซน ประธานสมาชิกวุฒิสภาของกัมพูชา ปล่อยคลิปเสียงสนทนาระหว่างเขากับ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย ยังนำไปสู่การแตกหักของสองตระกูลการเมืองที่ทรงอิทธิพลระดับภูมิภาค และมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมายาวนานกว่า 3 ทศวรรษ
คลิปเสียงดังกล่าวยังทำให้ลูกสาวของนายทักษิณ ชินวัตร ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีชั่วคราว เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์รับคำร้องที่กล่าวหาว่าผู้นำรัฐบาลของไทยฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง จากข้อความบางส่วนที่ปรากฏในคลิปเสียง
ความตึงเครียดระหว่างสองประเทศดำเนินมาอย่างต่อเนื่องเกือบทุกระดับ ตั้งแต่ระดับประชาชนในสื่อสังคมออนไลน์ที่ฟาดฟันกันด้วยข้อความยั่วยุและสร้างความเกลียดชัง การปะทะคารมกันระหว่างชาวไทยและชาวกัมพูชาที่ขึ้นมาเยือนปราสาทหินตาเมือนธม ใน จ.สุรินทร์ มาตรการตอบโต้ด่านชายแดนของกองทัพและรัฐบาล ไปจนถึงความสัมพันธ์ระดับประเทศ

กัมพูชาลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทยในระดับต่ำสุด และให้ทูตไทยในกรุงพนมเปญ เดินทางกลับกรุงเทพฯ
วานนี้ (23 ก.ค.) ไทยเริ่มลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตกับกัมพูชา โดยให้เหตุผลว่าห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่ากำลังพลที่ลาดตระเวนแนวชายแดนบริเวณช่องบกและช่องอานม้า ใน อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากทุ่นระเบิดสังหารบุคคลชนิด PMN-2 ซึ่งทางการไทยอ้างว่าพิสูจน์ได้ว่าเป็นระเบิดที่ถูกนำเข้ามาลอบวางใหม่ พร้อมกับยืนยันว่าระเบิดอยู่ในแนวเส้นทางลาดตระเวนในเขตแดนอธิปไตยของไทย
ขณะที่ทางกัมพูชาปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ พร้อมกับชี้ว่าทหารไทยลาดตระเวนออกนอกเส้นทางที่ตกลงกันไว้ในบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชาว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก หรือ MoU 2543 โดยอ้างว่าทหารไทยเดินล้ำเข้ามาในเขตอธิปไตยของกัมพูชา และประสบกับทุ่นระเบิดเก่าที่ยังหลงเหลือจากสงคราม
พร้อมกันนี้ กัมพูชายังประกาศลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทยในระดับต่ำสุด พร้อมกับประณามการใช้กำลังทางทหารของไทยในแนวชายแดน
ด้าน ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้ส่งจดหมายถึงนายอาซิม อิฟติคาร์ อาหมัด ประธานคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ ขอให้สหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น (UN) เปิดประชุมคณะมนตรีความมั่นคง "เร่งด่วน" เพื่อหยุดการปะทะระหว่างไทยและกัมพูชา
บีบีซีไทยรวบรวมความเห็นจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้เชี่ยวชาญ เพื่อวิเคราะห์ว่าเหตุรุนแรงครั้งนี้จะนำไปสู่จุดใด
เหตุการณ์ความรุนแรงยกระดับขึ้นจุดสูงสุดได้อย่างไรนายวิชานา สาร์ นักวิเคราะห์ชาวกัมพูชาจากราชวิทยาลัยแห่งกัมพูชา ให้ความเห็นกับบีบีซีไทยว่าชนวนที่ทำให้ทั้งสองประเทศมาถึงการโต้ตอบทางทหาร เกิดจากฝ่ายไทยเองที่ไม่ยอมนำ 4 พื้นที่ ได้แก่ ปราสาทตาเมือนธม (Ta Moan Thom), ตาเมือนโต๊ด (Ta Moan Toch), ปราสาทตาควาย (Ta Kro Bei) และพื้นที่สามเหลี่ยมมรกต (Mombei area) ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลโลกตามที่กัมพูชาเสนอ เพราะเห็นแล้วว่าการเจรจาแบบทวิภาคีไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาให้กับสองประเทศ
"การล้ำเส้นของไทยตามแผนที่กองทัพประกาศไว้เมื่อวานนี้ ประเทศไทยกำลังทำตัวเหมือนรัสเซียที่กำลังรุกรานยูเครน" นายวิชานา กล่าว
ด้าน ดร.ธนเชษฐ วิสัยจร หัวหน้าสาขาวิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เห็นต่างจากนักวิชาการชาวกัมพูชา เขาบอกว่า "การอยู่ติดกับเพื่อนบ้านที่จ้องจะหาเรื่องตลอดเวลา" ทำให้ไทยควบคุมสถานการณ์แนวชายแดนได้ยาก
นักวิชาการจาก ม.อุบลราชธานี เห็นว่าตระกูลฮุนผู้ปกครองกัมพูชามาหลายสิบปี กำลังยกระดับสถานการณ์ชายแดนให้รุนแรงเพื่อดึงนานาชาติให้เข้ามาเกี่ยวข้อง และนำกรณีพิพาทเขตแดนที่มีกับไทยไปสู่เวทีโลก ทั้งที่ไทยพยายามทำให้ปัญหานี้อยู่ในระดับทวิภาคีมาโดยตลอด
เขายังบอกด้วยว่า ความเคลื่อนไหวของกัมพูชาครั้งนี้ ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือสร้างคะแนนนิยมในประเทศ จากท่าทีแข็งกร้าวของผู้นำกัมพูชาที่ไม่แสดงความหวาดหวั่นเมื่อต้องเผชิญหน้ากับประเทศที่พวกเขามองว่า "ใหญ่กว่า"

กองทัพบกของไทยรายงานว่ากัมพูชาใช้อาวุธโจมตีเป้าหมายพลเรือนในเขตแดนไทย
ด้าน นายแมทธิว วีเลอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกรณีพิพาทชายแดนไทย-กัมพูชา จากองค์กรอินเตอร์เนชันแนลไครซิสกรุ๊ปหรือไอซีจี (International Crisis Group - ICG) บอกกับบีบีซีไทยว่า "ดูเหมือนว่าสมเด็จฮุน เซน ได้เลือกเล่นไพ่ชาตินิยม เมื่อเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมถึงความไม่แน่นอน" ในอำนาจของทายาทรุ่นสองอย่าง ฮุน มาเนต
"เขายังใช้เล่ห์เหลี่ยมในการจัดการกับความแตกแยกที่มีอยู่แล้วในการเมืองไทยอย่างชาญฉลาด จนทำให้รัฐบาลในกรุงเทพฯ เหลือผู้นำที่เป็นรักษาการนายกรัฐมนตรี และมีพรรคร่วมรัฐบาลที่อ่อนแอ" นายแมทธิว กล่าว
อย่างไรก็ดี วีร็อก อู นักวิเคราะห์การเมืองชาวกัมพูชา ซึ่งเป็นประธานและผู้ก่อตั้งฟิวเจอร์ ฟอรัม (Future Forum) สถาบันคลังสมองด้านนโยบายสาธารณะในกัมพูชา เผยกับบีบีซีไทยว่า จุดเริ่มต้นของความรุนแรงครั้งล่าสุดนี้ เกิดขึ้นเมื่อฝั่งกองทัพไทยประกาศปิดการเข้าถึงปราสาททั้ง 3 หลัง และปิดพรมแดน
"ทันทีที่กองทัพไทย ประกาศปิดปราสาทตาเมือน แล้วจะล้อมรั้วลวดหนาม มันก็เหมือนเป็นการนำไปสู่สงครามแล้ว ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง กัมพูชาจะยอมรับแบบนั้นได้อย่างไร... เพราะถ้าคุณไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามเข้าไปได้เลย ก็เหมือนคุณประกาศให้พื้นที่นั้นเป็นของคุณทั้งหมด ไม่มีใครยอมรับได้หรอก สำหรับผม มันชัดเจนมากว่าการกระทำแบบนั้นก็เหมือนเป็นการ 'ประกาศสงคราม' นั่นเอง" นายวีร็อก กล่าว
พื้นที่จุดปะทะกำลังบอกอะไรในตอนนี้ ยังไม่มีผลการสืบสวนข้อเท็จจริงอย่างเป็นทางการที่ได้รับการเผยแพร่ต่อสาธารณะ ในกรณีการเผาศาลาตรีมุข บริเวณพื้นที่สามเหลี่ยมมรกตที่เกิดขึ้นในเดือน มี.ค. รวมถึงกรณีเหตุปะทะบริเวณช่องบกที่ทำให้ทหารกัมพูชาเสียชีวิต 1 นาย เมื่อช่วงปลายเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา
ทว่า หากนับรวมกับกรณีทหารไทยเหยียบทุ่นระเบิดจนขาขาดและกลายเป็นผู้พิการถาวร 2 นาย จะเห็นได้ว่าพื้นที่ที่ทำให้สถานการณ์ความตึงเครียดยกระดับขึ้นไปอีกขั้นมักอยู่ในบริเวณแนวชายแดน อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี ของไทย หรือ อ.จวมกสาน จ.พระวิหาร ของกัมพูชา ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทที่ทางกัมพูชาพยายามนำขึ้นสู่ศาลโลก องค์กรระหว่างประเทศที่เคยตัดสินเป็นคุณแก่กัมพูชาในกรณีปราสาทเขาพระวิหารมาแล้ว
ล่าสุด เหตุปะทะกันนับตั้งแต่ช่วงเช้าก็เกิดบริเวณชายแดน จ.อุดรมีชัย ของกัมพูชา ซึ่งอยู่ติดกับ จ.สุรินทร์, จ.บุรีรัมย์ และ จ.ศรีสะเกษ ของไทย ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของกลุ่มปราสาทหินที่เป็นกรณีพิพาท
นายแมทธิว บอกกับบีบีซีไทยว่า ดูเหมือนว่าการสู้รบจะปะทุขึ้นจากปฏิบัติการเฉพาะพื้นที่ในพื้นที่นั้น ๆ และทวีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว
"ทั้งสองฝ่ายเตรียมพร้อมที่จะสู้รบกันมาหลายสัปดาห์แล้ว ดังนั้น มันอาจใช้เวลาไม่นานนักที่จะพลิกสถานการณ์ให้กลายเป็นความขัดแย้งโดยตรง ซึ่งรวมถึงการยิงปะทะกันด้วยปืนใหญ่และการโจมตีทางอากาศได้" ผู้เชี่ยวชาญจาก ICG ระบุ

ร่องรอยทาสีทับคำหยาบคายบริเวณกำแพงสถานเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย ซึ่งตำรวจจับกุมชายไทยผู้ก่อเหตุได้ 1 คน
ด้านนายวิชานา มองว่าสาเหตุหลัก ๆ ที่พื้นที่ดังกล่าวเกิดปัญหาอยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากตลอดแนวบริเวณนี้ยังไม่สามารถปักหลักเขตแดนร่วมกันได้ ประกอบกับ "ข่าวสารบิดเบือนที่อันตราย" ทำให้สถานการณ์แย่ลง
ขณเดียวกัน นายวีร็อก มีมุมมองคล้ายคลึงกัน โดยบอกว่าเมื่อพูดถึงสถานที่สำคัญตามพื้นที่พิพาทชายแดนไทย-กัมพูชา เขาชี้ว่ามันคือปราสาทเขาพระวิหาร แต่เมื่อข้อพิพาทนั้นได้รับการตัดสินในระดับนานาชาติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ความขัดแย้งจึงเคลื่อนไปที่พื้นที่ใกล้เคียง
"ถ้าดูพื้นที่อื่น ๆ อย่างปราสาทตาเมือนธม หรือบริเวณรอบ ๆ ทั้งหมดนั้น ต่างก็เคยเป็นจุดปะทะมาแล้วในช่วงปี 2551 เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่ประเด็นใหม่ แต่เป็นพื้นที่พิพาทเก่าที่ถูกจุดขึ้นมาอีกครั้ง แค่ครั้งนี้ เป้าหมายหลักไม่ได้อยู่ที่ปราสาทพระวิหารแล้ว จึงย้ายความเคลื่อนไหวมาอยู่ที่พื้นที่ใกล้เคียงแทน ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญรองลงมา แต่ก็ยังมีความหมายในเชิงยุทธศาสตร์และการเมืองอยู่"
ฝ่ายใดได้ประโยชน์จากการตอบโต้ทางทหารครั้งล่าสุด
ทหารกัมพูชากำลังลำเลียงจรวด BM-21 ขณะที่ทางไทยใช้ F-16 โจมตีทางอากาศ
ทั้งนายวิชานาและนายแมทธิวเห็นตรงกันว่า ไม่มีประเทศใดได้ประโยชน์จากเหตุปะทะครั้งนี้ และน่าเศร้าที่ประชาชนตามแนวชายแดนกลับได้รับผลกระทบจากความรุนแรงมากที่สุด
"ชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาถูกกระทบกระเทือนจากความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นและการปิดพรมแดนที่ยืดเยื้อมาหลายเดือน บางคนถึงกับต้องสูญเสียชีวิตไปแล้ว" นายแมทธิว กล่าว
ด้าน นายวีร็อก อู กล่าวว่าจากสถานการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นนั้น เป็นไปได้อย่างมากที่กัมพูชาจะเดินหน้าผลักดันให้ข้อพิพาทชายแดนกับไทยกลายเป็นประเด็นระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเขาเชื่อว่ากฎหมายระหว่างประเทศจะอยู่ข้างกัมพูชา
กลยุทธ์นี้รวมถึงการเรียกร้องให้มีคนกลางเข้ามาไกล่เกลี่ย หรือการยื่นเรื่องต่อองค์กรระหว่างประเทศ เช่น สหประชาชาติ หรือศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ
"กัมพูชาจะพยายามดึงประเด็นเข้าสู่เวทีโลกแน่นอน เพราะเราเป็นรัฐเล็กกว่า และเราก็เชื่อว่ากฎหมายระหว่างประเทศอยู่ฝ่ายเรา" นายวีร็อกกล่าว
เขายังระบุว่า ความแตกแยกภายในของไทย และการที่แต่ละฝ่ายไม่ไว้วางใจกันเอง ทั้งทางการเมืองและกองทัพ เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการลดความตึงเครียดและหาทางประนีประนอม พร้อมระบุว่าเป้าหมายหลักของกัมพูชาคือการนำสถานการณ์กลับสู่จุดเดิมก่อนเกิดความขัดแย้ง โดยใช้วิกฤตครั้งนี้เพื่อสร้างความชอบธรรมบนเวทีระหว่างประเทศ
"ผมคิดว่ากัมพูชาจะชนะในเป้าหมายนั้น" นายวีร็อก กล่าว
เหตุการณ์กำลังมุ่งหน้าไปทางทิศใด
นายวิชานา นักวิชาการจากกัมพูชา ประเมินว่าสถานการณ์อาจยกระดับจากกรณีพิพาทพื้นที่ชายแดนทางบกไปสู่กรณีพื้นที่ทับซ้อนไหล่ทวีปในทะเล ซึ่งเป็นอีกหนึ่งข้อพิพาทของทั้งสองประเทศ
ขณะที่ นายแมทธิว มองว่าหากเหตุปะทะยังดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ "มีแนวโน้มว่ากัมพูชาจะได้รับความสูญเสียอย่างหนัก หากการสู้รบยังคงดำเนินต่อไป เนื่องจากความได้เปรียบทางทหารอยู่ที่ฝ่ายไทย"
ผู้เชี่ยวชาญจาก ICG เสนอว่าทั้งสองประเทศควรดำเนินมาตรการลดความตึงเครียด และแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ด้วยวิธีการสันติ เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียชีวิตเพิ่มเติม
ด้าน นายวีร็อก ชี้ว่าสิ่งที่ควรทำตอนนี้คือการหยุดยิงชั่วคราว แล้วกลับไปสู่การเจรจา โดยอาจเริ่มต้นจากการเปิด-ปิดด่านชายแด
"แค่เปิดด่านกลับมาให้เป็นเหมือนเดิม กัมพูชาก็ให้สัญญามาหลายครั้งแล้วว่า ถ้าฝั่งไทยเปิด ฝั่งกัมพูชาจะเปิดภายใน 5 ชั่วโมงอย่างเร็วที่สุด นี่เป็นทางออกที่ง่ายมาก ไม่ต้องมีการเจรจาอะไรซับซ้อนด้วยซ้ำ" เขาบอก
อย่างไรก็ดี ทางการไทยยืนยันมาเสมอว่าไม่มีนโยบายปิดด่าน โดย พล.ร.ต.สุรสันติ คงสิริ โฆษกศูนย์เฉพาะกิจชายแดนไทย-กัมพูชา (ศบ.ทก.) บอกว่า "ที่ผ่านมาเป็นการควบคุมด่านต่าง ๆ ที่เข้มข้นขึ้น" โดยเฉพาะการจำกัดจำนวนคน และการจำกัดเวลาการเข้า-ออก
นักวิเคราะห์จากกัมพูชายังเสนอเพิ่มเติมด้วยว่าทั้งสองประเทศควรกลับไปสู่สถานะเดิมที่เคยเป็นมา นั่นคือการลาดตระเวนร่วมกันในพื้นที่พิพาททั้ง 4 แห่ง ซึ่งทำกันมาเกิน 15 ปีแล้ว
"อย่างน้อยมันก็ช่วยลดความตึงเครียดลงได้มาก" นายวีร็อก บอกกับบีบีซีไทย
https://www.bbc.com/thai/articles/c2ezek0p10jo