ต่อข้อพิพาทชายแดนไทย-กัมพูชา หลายต่อหลายท่านเสนอความเห็นปรากฏทางสื่อสังคมเป็นจำนวนมาก ที่โดดเด่นเห็นจะเป็นข้อเขียนของ Pavin Chachavalpongpun หลายชิ้นให้ข้อคิดตามหลักการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศละเอียดและแม่นยำ
ล่าสุดเขาบอกว่ามันเป็น “ปมขัดแย้งเก่า ปัญหาใหม่ และเดิมพันที่สูงขึ้น” โดยต้นตอมาจากการผิดใจกันระหว่าง ทักษิณ ชินวัตร กับ ฮุนเซน แม้นว่าบางแห่งชี้ว่าฮุนเซนพยายามปั่นกระแสเพื่อนำไปสู่ศาลอาญาระหว่างประเทศ สร้างความนิยมในประเทศ
มีไม่น้อยที่เชื่อว่าฮุนเซนต้องการปกป้องผลประโยชน์ของครอบครัวตน ที่ได้รับอย่างมหาศาลจากปฏิบัติการแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์และคาสิโนตามชายแดน แต่ว่านอกจากการส่งฝูงบิน เอฟ-๑๖ ไปโจมตีที่มั่นทางทหารเขมรสองรอบอย่างได้ผลแล้ว
การต่อสู้ในชั้นเชิงการเมืองระหว่างประเทศที่องค์การสหประชาชาติ โดยเฉพาะในคณะมนตรีความมั่นคง ที่ฮุนมาเนต นายกฯ เขมร ยื่นฟ้องทันทีทันใดหลังจากการระดมยิงใส่ประเทศไทย ปวินให้ข้อคิดเห็นไว้อย่างเข้าที
“หากไทยสามารถพิสูจน์ได้ว่ากัมพูชาเป็นฝ่ายเริ่มยิงก่อน นั่นหมายถึงกัมพูชาเป็นฝ่ายรุกรานโดยไม่มีเหตุอันควร ซึ่งจะทำให้การกระทำของไทยเป็นการป้องกันตนเองโดยชอบธรรม ตามที่ระบุไว้ในกฎบัตรสหประชาชาติ มาตรา ๕๑”
โดยเฉพาะการยิงใส่โรงพยาบาล “ซึ่งเป็นสถานที่ที่ให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บ ถือเป็นการกระทำที่สะเทือนใจและมักจะดึงดูดความเห็นอกเห็นใจและการสนับสนุนจากนานาชาติได้เป็นอย่างดี” ทำให้นานาชาติเห็นใจและสนับสนุนไทย
ถึงกระนั้นการต่อสู้ในยูเอ็นยังมีข้อจำกัด
ไม่เพียงว่าฉันทามติของประเทศสมาชิกเป็นอย่างไร แล้วการที่สมาชิกถาวรผู้ร่วมเริ่มก่อตั้งองค์การ
๕ ประเทศ คือสหรัฐ รัสเซีย สหราชอาณาจักร ฝร่งเศส และจีน มีสิทธิพิเศษยับยั้งมติขององค์การได้
ปวินตั้งข้อสังเกตุว่า “หากจีนเลือกที่จะไม่ใช้สิทธิยับยั้งและสนับสนุนให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างสันติ อาจจะทำให้กระบวนการยุติความขัดแย้งเดินหน้าได้รวดเร็วขึ้น” แต่ถ้ามีประเทศใดในห้าใช้สิทธิยับยั้ง การแก้ไขปัญหาจะ “ถูกจำกัดลง
และอาจต้องพึ่งพาบทบาทขององค์กรระดับภูมิภาคอย่างอาเซียน หรือการเจรจาทวิภาคีเป็นหลักต่อไป” ต่อการใช้อาเซียนเป็นสรณะนี้ อันวาร์ อิบราฮิม นายกฯ มาเลย์ ซึ่งเป็นประธานอาเซียนปีนี้ ได้ยื่นมือเข้ามาเป็นตัวกลาง
“สถานการณ์น่ากังวลมาก ทั้งไทยและกัมพูชาเป็นสมาชิกสำคัญของอาเซียน และเป็นเพื่อนบ้านที่สนิทชิดเชื้อกับมาเลเซีย ผมได้ส่งข้อความไปยังนายกฯ ของทั้งสองประเทศ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้พูดคุยกับเขาภายในคืนนี้” (๒๔ กรกฎา)
สื่อในมาเลเซียวิจารณ์ว่าบทบาทของอันวาร์ในฐานะประธานอาเซียนสำคัญมาก ต่อการแก้ไขกรณีพิพาทไทย-กัมพูชานี้ “อาเซียนควรออกมาจัดการปัญหาและวางตัวเป็น ‘ผู้ไกล่เกลี่ย’ เช่น ประสานงานกับสหประชาชาติ” เสียเองด้วยซ้ำไป
(https://www.facebook.com/permalink.php=100044866014352,
https://www.facebook.com/pavinchachavalpongpun/posts/95gDm32Z และ https://www.facebook.com/TheReportersTH/posts/2yx1JDemJLqA)