วันพฤหัสบดี, มกราคม 09, 2568

จีนหลอกจีนมีมานาน ไทยปิดตาข้างเดียว



จีนหลอกจีนมีมานาน ไทยปิดตาข้างเดียว

ทีมข่าว THE STANDARD พูดคุยกับ ศ. ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะผู้ที่ศึกษาขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์

อาจารย์ปิ่นแก้วอธิบายว่า การที่คนจีนหลอกคนจีนด้วยกันมีมานานแล้ว ฐานที่ตั้งคอลเซ็นเตอร์ไม่ใช่ว่าที่ประเทศจีนไม่มี แต่กลับปรากฏทั้งเมืองฉงชิ่ง และมณฑลในยูนนาน อย่างสิบสองปันนาที่ถือเป็นแหล่งคอลเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่ กลุ่มธุรกิจนี้ที่ผ่านมาเราอาจจะเข้าใจว่านายทุนเลือกใช้ประเทศเพื่อนบ้านของไทยเป็นฐานที่ตั้ง แต่ในความเป็นจริงแม้แต่กลางเมืองเฉิงตูในประเทศของเขาเองก็มีขบวนการนี้แฝงตัวอยู่

เรื่องของซิงซิงที่ตกเป็นเหยื่อด้วยวิธีการหลอกให้มาทำงานเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมากในช่วงหลังมานี้ แต่เป็นส่วนน้อยที่ได้รับการช่วยเหลือที่รวดเร็วแบบนี้

“การที่ซิงซิงได้รับการปล่อยตัวรวดเร็วแน่นอนว่าเกิดจากการที่ตัวเขาเป็นข่าวกระจายไปทั่วโลก เป็นเหมือนสปอตไลต์ที่ฉายแสงค้นหาไปในธุรกิจนี้” อาจารย์ปิ่นแก้วกล่าว

อาจารย์เล่าว่า จากที่ติดตามการรายงานข่าวเคสของซิงซิง ทางการไทยมีการประสานไปทางเจ้าหน้าที่ทหารเมียนมาที่ดูแลธุรกิจนี้อยู่ซึ่งก็คือกลุ่ม BGF และขอให้อย่าทำอะไรกับนักแสดงชายรายนี้เพราะจะทำให้ทั่วโลกจับตา และจะส่งผลเป็นวงกว้างต่อการทำธุรกิจต่อไป ซึ่งทางฝั่งประเทศเพื่อนบ้านก็ตกลงที่จะดูแลกรณีนี้ให้พิเศษ

เรื่องนี้สะท้อนข้อเท็จจริงว่าฝั่งไทยรู้ว่าใครเป็นผู้ดูแล ใครเป็นผู้ดำเนินการและมีอิทธิพลในการตัดสินใจเรื่องเหล่านี้ อีกทั้งส่วนตัวคิดว่าการที่บุคคลรายนี้เป็นสปอตไลต์และเป็นคนของประเทศจีน เจ้าของกิจการต่างๆ ก็เกรงว่าในอนาคตจะมีปฏิบัติการจากประเทศจีนมาจัดการกวาดล้าง ส่วนกรณีเหยื่อคนอื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นข่าวพวกเขาก็ถูกส่งเข้าระบบตามปกติ

อาจารย์ปิ่นแก้วกล่าวต่อว่า กลุ่มจีนที่ทำธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้านไทยแยกเป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ 1. สแกมเมอร์ (ธุรกิจหลอกลวง เช่น เว็บพนัน, คอลเซ็นเตอร์, โรแมนซ์สแกม) 2. ค้ามนุษย์ (ธุรกิจตั้งต้นของสแกมเมอร์ เป็นแหล่งคัดแยกคนให้ไปทำงานสแกมเมอร์ต่างๆ)

เรื่องพวกนี้อาจารย์ยืนยันว่าไม่ใช่สิ่งที่เจ้าหน้าที่ไม่รู้ ข้อมูลเหล่านี้ไม่ใช่ข้อมูลดำมืดที่เข้าไม่ถึง แต่คำถามคือ เหตุใดจึงไม่หาแนวทางที่ชัดเจนในการจัดการปัญหาเรื่องนี้อย่างเด็ดขาด

นานมาแล้วที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ถูกใช้เป็นทางผ่านไปสู่ประเทศที่ 3 ที่ริมน้ำเมยมีท่าข้ามธรรมชาติมากถึง 50 ท่า ทุกท่ามีเจ้าของหมดซึ่งส่วนมากเป็นคนไทย การที่จะมีคนหรือของข้ามไปมาตัวเจ้าของท่าย่อมรู้เห็นเพราะต้องเก็บเงินค่าบริการ เพียงแต่เจ้าของท่าอาจจะบอกได้ว่าไม่รู้ว่าใครเป็นใคร คนจีนที่ข้ามก็มีทั้งนักธุรกิจสีเทาและผู้เสียหาย

อาจารย์ปิ่นแก้วอธิบายต่อว่า 2 จุดใหญ่ที่มีชื่อเสียงเรื่องขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ อาชญากรรมระหว่างประเทศ อย่าง ‘ชเวโก๊กโก่’ หรือที่เรียกกันว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษย่าไถ่, ชเวโก๊กโก่ และโครงการเคเคพาร์ก (KK Park) มีท่าข้ามเรือจากประเทศไทยมุ่งไปโดยตรง เนื่องจากทั้ง 2 จุดนี้ต้องรับสินค้าอุปโภค-บริโภคจากฝั่งไทย 100%

“เราไม่ได้บอกให้ต้องปิดท่าข้ามเรือ แต่เจ้าหน้าที่ต้องควบคุมไม่ปล่อยให้มีการขนเหยื่อข้ามท่า ทุกคนรู้หมดว่าจะข้ามเรือได้ที่จุดไหน เจ้าหน้าที่เองก็รู้ว่าธุรกิจเป็นของใคร แต่ไม่เคยมีการเอาข้อมูลพวกนี้มาพูดและจัดการกันอย่างแท้จริง” อาจารย์ปิ่นแก้วกล่าว

เพราะฉะนั้นต้องถามกลับไปที่รัฐบาลว่า มีความตั้งใจจริงที่จะแก้ปัญหาคอลเซ็นเตอร์หรือไม่ รู้ตัวนักการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์หรือเปล่า หากยังตอบใน 2 ข้อนี้ไม่ได้ก็ไม่จำเป็นต้องพูดปัญหานี้กันต่อไป เพราะเราเองก็เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการค้ามนุษย์

“เราอาจจะคิดว่าเราปิดตาข้างเดียว เราเป็นแค่ทางผ่าน เราไม่ใช่เมืองต้นปัญหา คิดว่าเราเป็นแค่เมืองที่สนับสนุนให้เกิดกระบวนการเหล่านี้ การจัดการมุ่งหมายเพื่อไม่ให้กระทบกับการท่องเที่ยวของประเทศ ซึ่งชุดความคิดทั้งหมดนี้ถือว่าผิดเพี้ยนมาก” อาจารย์ปิ่นแก้วกล่าว

พร้อมทิ้งท้ายว่า การที่รัฐบาลกังวลเรื่องซิงซิงมาก หนึ่ง เพราะเป็นข่าวใหญ่กลัวกระทบภาพลักษณ์การท่องเที่ยวซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าเศร้ามาก เป็นการสะท้อนว่าไม่ได้ตั้งใจจะแก้ไขให้จริงจัง อะไรก็ตามที่จะกระทบกับการท่องเที่ยวถึงจะลุกขึ้นมาจัดการ แล้วเมื่อใดที่จะแก้ปัญหาให้ตรงจุด

No More Bets กระจกสะท้อนอาชญากรรมสแกมเมอร์

เมื่อพิจารณาเรื่องราวของซิงซิงที่เกิดขึ้น มีเหตุการณ์หลายส่วนที่คล้ายกับเนื้อหาภาพยนตร์จีนเรื่อง ‘No More Bets’ ที่ฉายเมื่อปี 2566 กำกับโดย Shen Ao

โดยภาพยนตร์เรื่องนี้บอกเล่าเรื่องราวที่ตัวเอกซึ่งเป็นนักพัฒนาโปรแกรมที่มีความสามารถ ตัดสินใจไปทำงานต่างประเทศแต่กลายเป็นว่าถูกหลอกให้ต้องเขียนโปรแกรมให้เว็บพนันขององค์กรแห่งหนึ่ง ซึ่งทำธุรกิจผิดกฎหมายหลอกลวง (สแกมเมอร์)

ในภาพยนตร์ฉายภาพให้เราเห็นตั้งแต่ต้นทางของวงจรเริ่มต้นที่คนที่ถูกหลอกไปทำ คนที่ตั้งใจไปทำ และคนที่พยายามหลบหนี ทุกเหตุการณ์เกิดขึ้นในอาคารที่ถูกแบ่งไว้เป็นชั้นๆ ชั้นที่รวมเฉพาะแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ชั้นที่มีเฉพาะโปรแกรมเมอร์ และชั้นถ่ายทอดสดโต๊ะพนันทุกประเภท

ธุรกิจดำเนินไปโดยตั้งเป้าความสำเร็จไว้ที่มูลค่าเงินของเหยื่อที่ถูกหลอก ยิ่งหลอกได้มากจะยิ่งตอบแทนให้มดงานที่ทำงานในอาคารแห่งนี้ และหากใครคิดจะหนีจะไม่มีทางสำเร็จ เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารในเมืองต่างรู้เห็นเป็นใจและพร้อมสนับสนุน

อ่านบทความเต็ม
https://thestandard.co/xingxing-disappearance-trafficking-analysis/
.....


7 ม.ค. 2568
Work Point Today

จากการหายตัวปริศนาของ “ซิงซิง” จนพบตัวในสภาพอิดโรย เทียบกับ No More Bets ภาพยนตร์ที่บอกเล่าเรื่องจริง ถึงความดาร์กของแก๊งจีนเทา ตามเขตชายแดน

หลังกระแสการหายตัวไปของ ‘ซิงซิง’ หรือ ‘หวังซิง’ นักแสดงชาวจีน ที่กำลังเป็นประเด็นร้อนในโลกออนไลน์มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วงเช้าที่ผ่านมา (7 ม.ค. 68) จะพบตัวแล้วในฝั่งประเทศเมียนมาพร้อมภาพถ่ายปัจจุบัน ซึ่งทางการไทยได้ประสานกับทางการเมียนมา เเละล่าสุดส่งตัวกลับประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อย

จากเหตุการณ์ของ ‘ซิงซิง’ ทำให้ชาวเน็ตหลาย ๆ คนต่างคิดถึงภาพยนตร์จีนเรื่องหนึ่งที่ถูกเผยแพร่ไปเมื่อปี 2023 ที่ใช้ชื่อว่า “No More Bets” ซึ่งเนื้อหาของภาพยนตร์มีความคล้ายคลึงกับประเด็นที่กำลังเกิดขึ้น คือ การหลอกคนจีนด้วยกันเอง เข้าไปทำงานผิดกฎหมายอยู่ตามชายแดน นำแสดงโดย จางอี้ชิง (เลย์ EXO), จีน่า จิน, หย่งเหมย, หวังฉวนจุน, แดร์เรน หวัง, โจวเหยี่ย และ ซันนี่ ซุน



No More Bets เป็นภาพยนตร์จีน แนวแอ็คชั่น-อาชญากรรม ที่บอกเล่าเรื่องราวถึงโปรแกรมเมอร์หนุ่มและนางแบบสาวได้ถูกเชิญชวนให้ไปทำงานในต่างแดนที่หลอกล่อด้วยเงินเดือนที่สูงและสวัสดิการที่ดี ทำให้ทั้งคู่ต่างคว้าโอกาสทองครั้งนี้ไว้ แต่เมื่อไปถึงกลับกลายเป็นว่า งานที่ดีลไว้กลายเป็นทุนจีนเทาที่หลอกให้ทั้งคู่ไปทำงานในบ่อนที่ผิดกฎหมาย เหมือนกับค่ายทาส ทั้งคู่ถูกคุมขัง ทารุณ และถูกบังคับให้ใช้แรงงาน เพื่อหลอกคนบริสุทธิ์ให้เข้ามาเล่นพนันออนไลน์

ก่อนที่เรื่องราวจะเผยให้เห็นอีกด้านหนึ่งของหนุ่มอนาคตไกล ที่ตกเป็นเหยื่อของแก๊งมิจฉาชีพเหล่านี้ ถูกหลอกเข้าไปผัวพันกับพนันออนไลน์ จนหมดตัว และสุดท้ายก็พยายามที่จะจบชีวิตตัวเอง ซึ่งแฟนสาวของเขาที่ได้พยายามแจ้งความ และขอความช่วยเหลือจากตำรวจ จนสุดท้ายสามารถทลายแก๊งออนไลน์เหล่านี้ได้


ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำรายได้ถล่มทลายในการเปิดตัวสัปดาห์แรกไปกว่า 3 พันล้านบาท ซึ่งในภาพยนตร์เผยว่า ถูกสร้างมาจากเรื่องจริง โดยเรื่องราวที่ถูกเล่าผ่านภาพยนตร์คล้ายคลึงกับเหตุการณ์เหยื่อที่ถูกหลอกไปทำงานตามแถบชายแดน ทั้งเรื่องการค้ามนุษย์, ความรุนแรง การทำร้ายร่างกาย, การบังคับให้ทำงานในแก๊งมิจฉาชีพ คอลเซ็นเตอร์ และสแกมเมอร์ออนไลน์ หรือแก๊งจีนเทา ที่เข้ามาเปิดธุรกิจสีเทาตามแถบชายแดนก็ตาม

ด้าน The Japan Times เผยว่า No More Bets เป็นภาพยนตร์ทำรายได้สูงสุดใน Box Office ของจีนตั้งแต่เข้าฉายในช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2023 เป็นภาพยนตร์ที่นำเสนอในมุมมองที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เกี่ยวกับเรื่องราวของการก่ออาชญากรรมทางไซเบอร์ที่เชื่อมโยงในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ท่ามกลางข้อวิจารณ์ของกระทรวงวัฒนธรรมในประเทศกัมพูชา และ เมียนมา ถึงภาพยนตร์ที่อาจจะส่งผลเสียต่อชื่อเสียงของประเทศ

แม้ว่าเรื่องราวในภาพยนตร์จะถูกสร้างมาจากเรื่องราวจริงของแก๊งจีนเทาและได้ถูกทลายไปแล้ว แต่ในเรื่องจริงแก๊งจีนเทายังคงมีอีกมากมายตามแถบชายแดน และยังมีคนที่ถูกหลอกไปเป็นเหยื่ออีกมากมาย สำหรับใครที่อยากความดาร์กของภาพยนตร์เรื่อง No More Bets สามารรับชมได้แล้วทาง Netflix

ขอบคุณข้อมูลจาก

https://www.todayonline.com/world/no-more-bets-movie-chinese-tourists-2271816

https://global.chinadaily.com.cn/a/202308/08/WS64d1ff39a31035260b81af29.html

https://www.the-numbers.com/movie/No-More-Bets-(2023-China)#tab=summary

https://www.sohu.com/a/710313185_121627717

https://en.wikipedia.org/wiki/No_More_Bets

https://www.theguardian.com/film/2023/sep/04/no-more-bets-review-ao-shen-chinese-thriller

https://workpointtoday.com/no-more-bets-750004-2/