วันจันทร์, มิถุนายน 02, 2568

ศาสตร์ของการโกหก โดยทั่วไป คนเราโกหกได้สองเรื่อง คือโกหกเรื่องข้อเท็จจริง (Fact) กับโกหกเรื่องคุณค่า (Value) และโกหกให้กับผู้คนได้สองแบบ นั่นคือโกหกให้ ‘คนอื่น’ รับรู้ กับอีกแบบหนึ่งที่ล้ำลึกมาก ก็คือการ ‘โกหกตัวเอง’

Somnuck Jongmeewasin ·
Yesterday
·
นักวิทยาศาสตร์บอกว่า มนุษย์เรานั้น ‘พูดความจริง’ ง่ายกว่าโกหกเยอะ
เพราะถ้าจะโกหก เราต้องตระหนักรู้ให้ได้เสียก่อนว่าความจริงคืออะไร
แล้วจากนั้นจึงค่อย ‘ประดิษฐ์’ ฉากทัศน์ที่เป็นไปได้ขึ้นในหัว
โดยฉากทัศน์นั้นจะต้องมีความสอดคล้องกลมกลืน ไม่ขัดแย้งกับความจริงที่คนอื่นจะสังเกตได้ และพร้อมกับการสร้างเรื่องใหม่ สมองของเราก็ต้อง ‘กด’ เรื่องจริงเอาไว้ไม่ให้เกิดความว่อกแว่กขณะโกหก สมองของเราจึงต้องทำงานคู่ขนานระหว่างความจริงกับความเท็จที่สร้างขึ้น สมองจึงทำงานหนัก เพราะต้องนึกถึง ‘สตอรี่’ สองเรื่องควบคู่กันอยู่ตลอดเวลา อย่างหนึ่งเพื่อกดเก็บ อีกอย่างหนึ่งเพื่อจินตนาการสร้างเรื่อง
มากไปกว่านั้น เรายังต้องใช้สมองเพื่อ ‘ประเมิน’ ผู้ฟัง ณ ขณะเวลานั้นๆ อีก ว่าตอนนี้ปฏิกิริยาของผู้ฟังเรื่องโกหกของเราเป็นอย่างไร เขา ‘รู้ทัน’ เราหรือเปล่า และถ้าจำเป็น เราต้อง ‘ปรับเปลี่ยน’ เส้นเรื่องแห่งการโกหกไปอย่างไรจึงจะแนบเนียน โดยเฉพาะถ้าการโกหกนั้นมันไปละเมิดกฎเกณฑ์ทางสังคมจนอาจเสี่ยงที่จะถูกจับได้
ทั้งหมดนี้ใช้ ‘การควบคุมตัวเอง’ (Self control) ในระดับสูงมาก สมองส่วนที่ทำหน้าที่โกหกในระดับนี้ คือคอร์เท็กซ์กลีบสมองส่วนหน้า (Prefrontal Cortex) ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์ วางแผน และประมวลผลต่างๆ
มีการทดลองของนักประสาทศาสตร์ชื่อ ฌอน สเปนซ์ (Sean Spence) จากมหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ในอังกฤษ โดยใช้เครื่องสแกนสมอง fMRI พบว่าสมองส่วนหน้าของคนที่กำลังโกหกอยู่นั้น มัน ‘ทำงานหนัก’ มากกว่าคนที่ไม่ได้โกหกจริงๆ และการทดลองอื่นอีกหลายการทดลองก็ยืนยันบทบาทของสมองส่วนนี้ขณะโกหกเช่นเดียวกัน
โดยทั่วไป คนเราโกหกได้สองเรื่อง คือโกหกเรื่องข้อเท็จจริง (Fact) กับโกหกเรื่องคุณค่า (Value)
และโกหกให้กับผู้คนได้สองแบบ
นั่นคือโกหกให้ ‘คนอื่น’ รับรู้ กับอีกแบบหนึ่งที่ล้ำลึกมาก ก็คือการ ‘โกหกตัวเอง’
เมื่อจับสี่เรื่องนี้มาไขว้กัน เราจะได้ ‘นักโกหก’ สี่ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่
– Deceitful liars คือ คนที่โกหกคนอื่นเกี่ยวกับข้อเท็จจริง : อันนี้เป็นการโกหกที่พบได้ทั่วไป เด็กๆ โกหกแบบนี้ได้ตั้งแต่อายุราวสามขวบ และนักวิจัยเชื่อว่านี่เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้สมองมนุษย์เกิดการพัฒนา
– Duplicitous liars คือ คนที่โกหกคนอื่นด้วยเรื่องคุณค่า : เป็นการโกหกคนอื่นว่าตัวเราเองไม่ได้เป็นคนที่ยึดถือคุณค่าแบบนั้นเพื่อให้คนอื่นเชื่อ แล้วจะได้รับผลประโยชน์บางอย่างจากการโกหกนั้น ซึ่งก็เป็นการโกหกที่เราพบได้บ่อยครั้งอีกเช่นกัน
– Delusional liars คือ คนที่โกหกตัวเองเรื่องข้อเท็จจริง : นอกจากเราจะโกหกคนอื่นแล้ว บ่อยครั้งเรายัง ‘โกหกตัวเอง’ อีกด้วย โดยเฉพาะการโกหกเรื่องข้อเท็จจริงต่างๆ นั่นคือเรามักจะเลือก ‘เชื่อ’ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงที่ชี้ไปยังข้อสรุปที่เราต้องการ คนที่โกหกตัวเองแบบนี้มักจะมีอคติแบบที่เรียกว่า Confirmation Bias อยู่ในตัวสูงลิบ ซึ่งมักนำไปสู่สภาวะการรู้คิดที่ขัดแย้งกับความจริง (Cognitive Dissonance) ได้
– Demoralized liars คือ คนที่โกหกตัวเองด้วยเรื่องคุณค่า : การโกหกแบบที่สาม ถ้าเกิดขึ้นมากๆ มักจะนำมาสู่การโกหกแบบที่สี่ นั่นคือการ ‘เชื่อ’ ว่าข้อมูลหรือข้อเท็จจริงที่เรามีอยู่ในมือนั้น เป็นอุดมการณ์ที่ ‘จริงแท้’ และ ‘มีคุณค่า’ มากกว่าของคนอื่นๆ การโกหกแบบนี้จึงสะท้อนย้อนกลับไปสู่การโกหกอื่นๆ ได้ง่าย เพราะกลายเป็นว่าเราจะไม่เห็นอีกต่อไป ว่าเรื่องที่เรากำลังพูดและทำอยู่นั้นมันคือเรื่องโกหก ทว่าไปถึงขั้นเชื่อมั่นว่าสิ่งที่ตัวเองพูดและทำนั้น – คือความจริง!
.
.
.
อ้างอิง:
โตมร ศุขปรีชา (2023). 'ตระบัดศาสตร์: วิทยาศาสตร์ของการโกหก'. Life & Culture. Life Style. The 101.World. 8/12/2023.
https://www.the101.world/phenomenon-02-lie/
.
.
ภาพประกอบ และ อ่านเพิ่มเติม:
Nir Eyal. (2025). 'An Illustrated Guide to the 4 Types of Liars'. NirAndFar. https://www.nirandfar.com/types-of-liars/


https://www.facebook.com/somnuckj/posts/10236600555411507