วันจันทร์, มิถุนายน 02, 2568

Newsletter ของ 101 Editor's Talk น่าสนใจ - อานนท์ในโซ่ตรวน ความพยายามกดให้การเมืองของคนรุ่นใหม่เงียบงัน


The101.world 
18 hours ago
·
สวัสดี ผู้อ่านทุกท่าน
ภาพของ อานนท์ นำภา ทนายความและนักเคลื่อนไหวที่เป็นปากเสียงแทนขบวนการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ยืนอยู่ในศาลพร้อมโซ่ตรวนที่ข้อเท้า ไม่ควรเป็นภาพที่เราคุ้นชิน
สัปดาห์ที่ผ่านมา อ.ธงชัย วินิจจะกูล นักประวัติศาสตร์ผู้เคยผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ยื่นคำร้องต่อศาล ขอให้ปลดโซ่ตรวนที่พันธนาการระหว่างการพิจารณาคดี เขาอธิบายว่า การใช้เครื่องพันธนาการในศาลต่อผู้ต้องหาคดีการเมือง ไม่เพียงไม่จำเป็น แต่ยังเป็นแนวปฏิบัติที่ขัดกับหลักอารยธรรม ซึ่งรัชกาลที่ 5 เองเคยผลักดันให้ยกเลิกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2439
แม้ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 21 จะระบุว่าการใช้เครื่องพันธนาการควรใช้ในกรณีพิเศษเท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติ ผู้ต้องขังกลับถูกใส่ตรวนเป็นเรื่องปกติ หากต้องการยกเว้น กลับต้องร้องขอเป็นกรณีไป
การเคลื่อนไหวของอ.ธงชัย เป็นการท้วงติงผ่านสายตาของมนุษย์ธรรมดาๆ คนหนึ่ง ที่อยากเห็นสังคมให้ความเคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องขัง ไม่เพียงแต่กรณีของทนายอานนท์เท่านั้น แต่รวมถึงผู้ต้องขังคนอื่นๆ ด้วย
แม้ศาลจะเปิดให้มีการไต่สวนตามคำร้อง ซึ่ง อ.ธงชัย เห็นว่ามีความ ‘แฟร์’ พอสมควรที่เปิดให้ถกเถียงกันในประเด็นนี้ แต่ที่สุดแล้วศาลก็ยังไม่เห็นว่าข้อเรียกร้องเช่นนี้สมเหตุสมผลในทางปฏิบัติ เพราะเกรงว่าจะเป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาคดีต่อๆ ไปที่ผู้ต้องขังคนอื่นจะทำคำร้องขอไต่สวนทุกครั้งไป
ซ้ำร้าย ในวันนั้นศาลยังสั่งจำคุกอานนท์เพิ่มอีก 2 ปีในความผิด ม.112 จากคดีชุมนุมหน้า สน.บางเขนเมื่อปี 2563 ส่งผลให้เขาถูกดำเนินคดีแล้วอย่างน้อย 8 คดี ศาลชั้นต้นตัดสินรวมโทษจำคุก 22 ปี 25 เดือน 20 วัน โดยไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างสู้คดี และต้องอยู่ในเรือนจำนับตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2566 เป็นต้นมา
เท่าที่หลายคนพอจะทราบ การปราศรัยของอานนท์ นำภา ใน #ม็อบแฮร์รีพอตเตอร์ เมื่อ 3 สิงหาคม 2563 อานนท์จับไมค์พูดเพื่อ ‘พูดแทน’ กลุ่มนักศึกษาและนักกิจกรรมรุ่นใหม่จำนวนมาก เขาเปิดประเด็น ‘ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์’ อย่างเป็นทางการในที่สาธารณะ จนกลายเป็นจุดสำคัญของประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวยุคใหม่
เขาเคยพูดเอาไว้ในรายการพอดแคสต์ “30 ยังจ๋อย” ตอน “อานนท์ นำภา บทสนทนา ก่อนเข้าเรือนจำ (อีกครั้ง)” ว่า “มันไม่ใช่ความกล้าหาญ แต่เป็นความบ้าบิ่นที่รู้สึกว่าต้องพูดแทนยุคสมัย”
หากจะอธิบายขยายความคำว่า ‘พูดแทน' ก็คือ ในช่วงที่เยาวชนคนรุ่นใหม่พยายามสื่อสารกับสังคมในเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ อานนท์ นำภา ในฐานะทนายผู้เข้าใจกฎหมายและคดีการเมือง เข้ามาทำหน้าที่ปราศรัยและพูดแทน บนพื้นฐานที่เข้าใจเพดานของกฎหมาย เพื่อป้องกันไม่ให้การพูดของเยาวชนกลายเป็นภัยกับตัวเอง
ทนายอานนท์ผ่านประสบการณ์ว่าความคดีการเมืองมาตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2549 รับผิดชอบคดีการเมืองมากมายรวมถึงคดีมาตรา 112 หลายคดี เช่น คดีอากง SMS ใครที่โตมาทันจดจำการเคลื่อนไหวทางการเมืองช่วงทศวรรษ 2550 ได้ ก็คงจะจำได้ว่า การวิพากษ์สถาบันฯ คือความเสี่ยงขั้นสูงสุด แม้ช่วงหนึ่งบรรยากาศความเคลื่อนไหวจะซาลงไป แต่ในปี 2563 พลังคำถามที่ตรงไปตรงมาจากคนรุ่นใหม่ได้ปะทุขึ้นอีกครั้ง
ผลจากการเป็นปากเสียงของยุคสมัย ทำให้อานนท์กลายเป็นเป้าหมายของรัฐ - เรื่องนี้ใครจะปฏิเสธ แนวทางคำตัดสินของศาลและการไม่ให้ประกันตัวออกมาสู้คดีมีปัญหาเชิงหลักการ - เรื่องนี้ทุกคนรู้
ในสังคมที่เพดานทางความคิดพุ่งทะลุ แต่เพดานการวิพากษ์วิจารณ์เตี้ยลงเรื่อยๆ อานนท์ทำหน้าที่ไต่เส้นและ ‘พูดแทน’ เยาวชนคนรุ่นใหม่ เขาสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา โดยอาศัยความรู้ทางกฎหมายแสดงออกไม่ให้เลยขอบเลยเส้น แม้จะระมัดระวังเพียงใด โซ่ตรวนที่ข้อเท้าในศาล ก็คือตราประทับของระบบที่พยายามทำให้ขบวนการเงียบงัน
ในห้วงเวลาเช่นนี้ การท้วงติงของอ.ธงชัยจึงมีความหมาย ไม่ใช่แค่คำถามเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่คือการปฏิเสธที่จะยอมรับว่า ‘เรื่องเล็กน้อย’ เช่นการใส่ตรวนในศาลจะถูกปล่อยผ่านไปอย่างเงียบๆ แล้วลุกขึ้นพูดในสิ่งที่เชื่อว่าไม่ถูกต้อง
ถอดบริบทของคดีออกทั้งหมด คำท้วงติงของ อ.ธงชัย เป็นสิ่งเดียวกับที่ อานนท์ทำ นั่นคือ การเรียกร้องให้สังคมและกระบวนการยุติธรรมไทยกลับมาอยู่บนฐานของการถกเถียงด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริง
สมคิด พุทธศรี และ อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา
บรรณาธิการอำนวยการ The101.world
_________________
อ่านผลงานใหม่ทั้งหมดในสัปดาห์ที่ผ่านมาของ The101.world ได้ที่
https://mailchi.mp/4fada012dcf4/101-this-week-27a...
ภาพถ่าย: ธิติ มีแต้ม
#The101EditorsTalk
https://www.facebook.com/photo/?fbid=1248674016627402&set=a.523964959098315
.....

เอกชัย หงส์กังวาน
15 hours ago
·
10 มี.ค. 2554 คืนนั้นผมถูกตำรวจจับกุมในข้อหา ม.112 จากการจำหน่ายเอกสารวิกิลิกส์/แผ่น CD รายการ Foreign Correspondent ของสถานีโทรทัศน์ ABC (ออสเตรเลีย) ในม็อบแดงสยามซึ่งจัดแถวอนุสาวรีย์ทหารผ่านศึก (สนามหลวง) ผมถูกอุ้มตัวอย่างเงียบๆ
สถานการณ์ ม.112 ในยุคนั้นแตกต่างจากยุคน้องๆ 3 นิ้วอย่างสิ้นเชิง ยุคนั้นยังไม่มีศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ไม่มีกองทุนราษฎรที่คอยช่วยเหลือเหยื่อ ม.112
ด้วยเหตุนี้ตำรวจจึงมักอุ้มผู้ต้องหาคดีนี้อย่างลับๆเพื่อไม่ให้เป็นข่าว ผมถูกพาตัวมา สน.ชนะสงคราม โชคดีที่มีคนในม็อบเห็นเหตุการณ์การอุ้มตัวผมจึงแจ้งถึงสื่อมวลชน สื่อมวลชนจึงเดินทางมาถึง สน.ชนะสงคราม เพื่อขอทำข่าว แต่ สน.ชนะสงคราม ปฏิเสธ
วันรุ่งขึ้น (11 มี.ค. 2554) ผมถูกพาตัวมาที่กองบังคับการตำรวจนครบาล 1 (บชน. 1) เพื่อแถลงข่าว ก่อนที่ผมจะถูกส่งตัวฝากต่อศาลอาญา (ถ.รัชดาภิเษก) และถูกส่งเรือนจำพิเศษกรุงเทพในคืนนั้น
นี่เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ผมต้องเข้าเรือนจำ ผมไม่เคยมีประสบการณ์แบบนี้มาก่อน คืนนั้นเป็นวันศุกร์ ผมจึงต้องรอถึงวันจันทร์จึงจะมีคนมาเยี่ยมได้
14 มี.ค. 2554 วันจันทร์วันแรกในเรือนจำของผม ช่วงสายผมได้ยินการเรียกชื่อของผมเพื่อเยี่ยมญาติ (ยุคนั้นเรือนจำยังไม่มีกฎบัญชีรายชื่อเยี่ยมญาติ ใครๆก็สามารถเยี่ยมญาติได้)
ผมเดินไปห้องเยี่ยมญาติ ผู้หญิงคนหนึ่ง อายุประมาณเกือบ 30 ปีทักทายผม ผมไม่รู้จักเธอ เธอแจ้งว่า เธอเป็นนักข่าวจากสำนักข่าวประชาไท เธอทราบข่าวจากสื่อมวลชนว่า ผมถูกจับกุมในคดี ม.112 จึงขอเยี่ยมผม
เธอถามผมมีทนายความรึยัง ผมบอกไม่มี เธอจึงแนะนำ อานนท์ นำภา ให้ผม ผมตอบรับทันที นี่เป็นครั้งแรกที่ผมได้ยินชื่อของเขา
ต่อมา อานนท์ นำภา มาเยี่ยมผมที่เรือนจำเพื่อให้ผมแต่งตั้งเขาเป็นทนายความ เขาติดต่อพ่อแม่ของผมเพื่อใช้เงินสด ฿500,000 ของพ่อแม่ของผมเป็นหลักทรัพย์ในการประกันตัวผม (ยุคนั้นไม่มีใครช่วยเงินประกันตัวคดี ม.112)
18 มี.ค. 2554 ผมได้รับการประกันตัวในคดีนี้ นับเป็นเรื่องมหัศจรรย์ที่ผมได้ประกันตัวในคดี ม.112 เพราะแทบเป็นไปไม่ได้ที่ผู้ต้องหาในคดีนี้จะได้รับการประกันตัวในยุคนั้น
ในยุคนั้นแทบไม่มีทนายความคนไหนรับทำคดี ม.112 เพราะกระแสสลิ่มแรงมาก แถมทนายความส่วนใหญ่เป็นฝ่ายโปรเจ้า แม้แต่แกนนำ นปช. หลายคนยังไม่ยอมรับผู้ต้องหา ม.112 เป็นคดีเสื้อแดง
ในยุคนั้นทนายความที่ยอมรับทำคดี ม.112 มีไม่กี่คน เช่น ทนายอาคม ทนายประเวศ และ อานนท์ นำภา ถ้าคุณคิดว่าเป็นทนายความคดีนี้จะรวย จะดังคือ คุณคิดผิด ทนายความเหล่านี้แทบไม่สามารถรับทำคดีอื่นได้เลย เพราะถูกตราหน้าจากสลิ่ม
อานนท์ นำภา รับทำคดี ม.112 ให้กับผู้ต้องหาทางการเมืองหลายคน เช่น หนุ่ม เรดนนท์ และอากง ทุกคนไม่ได้ประกันตัว ผมเป็นคนแรกในคดี ม.112 ที่ได้ประกันตัว อานนท์ นำภา จึงดีใจมาก
ด้วยการที่ผมเป็นผู้ต้องหาคดี ม.112 ของเขาคนแรกที่ได้ประกันตัว ผมจึงไปมาหาสู่กับเขาบ่อยๆ ยุคนั้นเขาร่วมกับเพื่อนของเขาอีก 2 คนคือ ทนายเค และอานนท์น้อย เปิด "สำนักงานกฎหมายราษฎรประสงค์"
สำนักงานกฎหมายราษฎรประสงค์เช่าทาวน์เฮ้าส์ 2 ชั้นเก่าๆในซอยที่คดเคี้ยวแถว ถ.รัชดาภิเษก ฝั่งตรงข้ามศาลอาญา ที่นี่รับทำคดีการเมืองให้คนเสื้อแดงหลายคดี เช่น คดีเผาศาลากลางจังหวัด แต่คดีส่วนใหญ่เป็นคดี ม.112
อำพล ตั้งนพกุล (อากง) ลุงแก่ๆอายุเกือบ 60 ปีถูกกล่าวหาส่ง SMS 4 ข้อความให้กับเลขานุการของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรีในยุคนั้น) เขาจึงถูกแจ้งความ ม.112 ในปี พ.ศ. 2553 แม้เขาจะได้ปล่อยตัวในชั้นตำรวจ แต่เมื่ออัยการส่งฟ้องเขาต่อศาลอาญา เขาไม่เคยได้ประกันตัวอีกเลย
อานนท์ นำภา เป็นทนายความให้กับคดี ม.112 ของอากง เขาพยายามยื่นขอประกันตัวให้อากงโดยอ้างถึงปัญหาสุขภาพของอากงหลายครั้ง แต่ศาลอาญาก็ปฏิเสธทุกครั้ง ครั้งหนึ่งเคยมีอาจารย์มหาวิทยาลัยของรัฐ 7 คนยอมเป็นนายประกันให้กับอากงพร้อมเงินสด ฿2 ล้าน ศาลอาญายังคงปฏิเสธ
ปลายปี พ.ศ. 2554 ศาลอาญาพิพากษาให้จำคุกอากง 20 ปี โทษจำคุกนี้ถือเป็นโทษจำคุกในคดี ม.112 ที่สูงที่สุดในยุคนั้น
ต้นปี พ.ศ. 2555 อากงมีอาการทรุดลง ตัวเหลือง ตาเหลือง และปวดท้องอย่างรุนแรง เขาเคยผ่าตัดเนื้องอกใต้โคนลิ้น แต่ยังไม่ทันที่แพทย์จะตรวจร่างกายหลังการผ่าตัด อากงก็ต้องเข้าเรือนจำ ส่งผลให้เนื้อร้ายมางอกที่ตับของเขาแทน
8 พ.ค. 2555 อากงเสียชีวิตจากมะเร็งตับใน รพ.ราชทัณฑ์ ด้วยขั้นตอนการส่งตัวที่ล่าช้าของเรือนจำพิเศษกรุงเทพทำให้เขาเพิ่งถูกส่งตัวมาที่นี่ในวันที่ 4 พ.ค. (วันศุกร์) อากงต้องรอพบแพทย์จนถึงวันอังคาร (8 พ.ค.) เขาจึงเสียชีวิตโดยยังไม่ทันได้พบแพทย์ในตอนเช้าวันนั้น
วันนั้นผมเป็น 1 ใน 5 บุคคลที่เข้าดูศพของอากงใน รพ.ราชทัณฑ์ ศพของเขานอนบนเตียงคนไข้ในลักษณะท่านอน ตาปิดไม่สนิท
ข่าวการเสียชีวิตของอากงแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ทุกคนตกใจกับการเสียชีวิตอย่างกระทันหันของอากง แต่สำหรับ อานนท์ นำภา ต่างจากคนอื่นอย่างลิบลับ
ช่วงปี พ.ศ. 2553-2554 อานนท์ นำภา ทำคดี ม..112 หลายคดี ทุกคดีแพ้หมด สิ่งนี้บั่นทอนจิตใจของเขาอย่างมาก ยิ่งคดีอากงกลายเป็นคดี ม.112 ที่ต้องโทษจำคุกมากที่สุดในยุคนั้น ยิ่งบั่นทอนจิตใจของเขายิ่งขึ้นไปอีก พอเขาทราบข่าวการเสียชีวิตในเรือนจำของอากง จิตใจของเขาจึงแทบแหลกสลาย
หลังงานศพอากง ผมได้พบกับ อานนท์ นำภา อีกครั้ง ครั้งนี้เขาแตกต่างจากที่ผมเจอเขาก่อนหน้านี้ เขาบอกกับผมว่า คดี ม.112 ของผมจะเป็นคดีสุดท้ายที่เขารับทำคดี หลังจากนี้เขาจะไม่รับทำคดี ม.112 อีก
ผมไม่ถามเหตุผลจาก อานนท์ นำภา เพราะผมเข้าใจความรู้สึกของเขา ผมได้แต่ปลอบใจ ถ้าเขาไม่รับทำคดี ม.112 แล้วใครจะรับทำคดีนี้ เพราะแทบไม่มีทนายความคนไหนอยากทำคดีนี้ แต่เขายังคงยืนยันคำเดิม
28 มี.ค. 2556 ศาลอาญาพิพากษาจำคุกผมในคดี ม.112 เป็นเวลา 3 ปี 4 เดือน ผมถูกส่งเข้าเรือนจำพิเศษในวันนั้น ผมยังคงสู้คดีในเรือนจำต่อจนถึงศาลฎีกา
ปลายปี พ.ศ. 2558 อานนท์ นำภา เยี่ยมผมในเรือนจำ เขาแจ้งว่าศาลฎีกามีคำพิพากษาแล้ว แต่เกิดความผิดพลาด คำพิพากษาของผมถูกส่งไปศาลอาญา จ.ธัญญบุรี มีคำสั่งศาลให้เรียกตัวผมจากเรือนจำ จ.ธัญญบุรี แต่ผมไม่อยู่ที่นั่นคำพิพากษาของผมจึงถูกส่งกลับศาลฎีกา
ผมประหลาดใจที่คำพิพากษาศาลฎีกาในคดีของผมถูกส่งไปศาลอาญา จ.ธัญญบุรี เพราะผมไม่เคยต้องคดีที่ศาลนั้น อำนนท์ นำภา แจ้งว่า เขายื่นคำร้องต่อศาลฎีกาว่า คดีของผมอยู่ศาลอาญา ไม่ใช่ศาลอาญา จ.ธัญญบุรี
หลายวันต่อมาศาลอาญาเรียกผมไปฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ครั้งนี้ศาลลดโทษจำคุกของผมเป็น 2 ปี 8 เดือน ผมจึงได้รับการปล่อยตัวในเดือนต่อมา
หลังจากที่ผมออกจากเรือนจำก็กลายเป็นยุค คสช. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนกำเนิดขึ้น การสู้คดี ม.112/คดีทางการเมืองเริ่มดีขึ้น
ผมพบ อานนท์ นำภา อีกครั้ง ครั้งนี้เขาช่วยทำคดี ม.112 กับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน สำนักงานกฎหมายราษฎรประสงค์ยุบตัวไปแล้ว ทนายความ 2 คนที่เคยช่วยเขาแยกย้ายไปตามทางของตนเอง ผมดีใจที่เขายังคงรับทำคดี ม.112 ต่อ
กว่า 10 ปีที่ผมรู้จัก อานนท์ นำภา ผมยังคงเห็นจุดยืนของเขาไม่เคยเปลี่ยนแปลง ต่างจากหลายคนที่ผมเคยรู้จักไล่ๆกับเขาที่ทยอยเดินหายไป บางคนเปลี่ยนสีไปเป็นอีกฝ่าย
แว่วว่า อานนท์ นำภา ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ปกติผมไม่เคยอวยใคร ไม่ว่าจะสีไหน แต่สำหรับเขา เขาเป็นเพียงคนเดียวที่ผมเห็นด้วยแบบสนิทใจ ไม่มีข้อสงสัยแม้แต่น้อย